ข้อกังวลเรื่องน้ำท่วมอุบลราชธานีซึ่งท่วมทุกปี ถ้ามีเขื่อนอยู่ท้ายน้ำแบบนี้ ก็น่าจะส่งผลกระทบต่อการระบายน้ำด้วย…
“ข้อกังวลเรื่องน้ำท่วมอุบลราชธานีซึ่งท่วมทุกปี ถ้ามีเขื่อนอยู่ท้ายน้ำแบบนี้ ก็น่าจะส่งผลกระทบต่อการระบายน้ำด้วย…” ชุมลาภ เตชะเสน ผู้อำนวยการกองการต่างประเทศ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติกล่าวในเวทีเสวนาหัวข้อ “เชื่อมความรู้สู่นโยบาย : การสร้างผลกระทบข้ามพรมแดน กรณีเขื่อนภูงอย” โครงการ Science and Policy Interface: Young People Engagement in Environmental Action Mekong Academic Consortium 2024 เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา
เวทีเสวนาครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลทางวิชาการ และสถานการณ์ในพื้นที่ร่วมกับวิทยากร ได้แก่ ศ.ดร.ทวนทอง จุฑาเกตุ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี, รศ.ดร.กนกวรรณ มะโนรมย์ ประธานศูนย์วิจัยสังคมอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี, ผศ.ดร.สุเชาว์ มีหนองหว้า เลขานุการศูนย์พัฒนาการเมืองภาคพลเมือง สถาบันพระปกเกล้า จังหวัดอุบลราชธานี,สมปอง เวียงจันทร์ สมัชชาคนจน, สดใส สร่างโศก เครือข่ายภาคประชาชนฯ, ผศ.ดร.พงษ์ศักดิ์ สุทธินนท์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, Dr. Bruce Missingham Monash University, Australia, บุญเลิศ แสงระวี ตัวแทนการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และชัยรัตน์ พงศ์พีระ พลังงานจังหวัดอุบลราชธานี ดำเนินรายการโดย กมล หอมกลิ่น
ชุมลาภ เตชะเสน กล่าวถึงความคืบหน้าในการดำเนินการเขื่อนภูงอยของ สปป.ลาว ว่าอยู่ในขั้นตอนการเจรจา ซึ่งหน่วยงานต่างก็มีความห่วงกังวลต่อผลกระทบต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นสอดคล้องตรงกันกับภาคประชาสังคม
“เขื่อนภูงอยอยู่ในแผนพัฒนาเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำของแม่น้ำโขงมานานแล้ว แต่ว่าข้อมูลที่ผู้พัฒนาโครงการจะเอามาให้ประเทศสมาชิกในประเทศที่มีความร่วมมือแม่น้ำโขงร่วมกันอยู่ 4 ประเทศ (MRC) เพิ่งได้มาเมื่อปี 2565 ขณะนั้นเองทาง สปป.ลาว ซึ่งเป็นการเข้าสู่การหารือกระบวนการล่วงหน้าของแม่น้ำโขง เช่น ประเทศใดที่จะดำเนินโครงการที่จะกระทบแม่น้ำโขงที่สำคัญจะต้องข้อมูลมาให้ประเทศสมาชิก 4 ประเทศได้ทำเป็นความเห็นกลับไป เบื้องต้นต้องใช้เวลาประมาณ 6 เดือน ซึ่งแต่ละประเทศจะต้องดูข้อมูลว่าเจ้าของโครงการส่งมาเป็นอย่างไรบ้าง
ซึ่งจากข้อมูลก็เป็นรายงานการศึกษาความเหมาะสม รายงานศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม และรายงานมาตรการบรรเทาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นสามส่วนหลัก ๆ ที่แต่ละประเทศจะกลับไปพิจารณา ประเทศไทยก็มีการพิจารณาข้อมูล เราพิจารณาโดยใช้คณะกรรมการ เขาเรียกว่าภายใต้คณะอนุกรรมการวิชาการ ภายใต้คณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งประเทศไทย ซึ่งประกอบไปด้วยนักวิชการจากหน่วยงานต่าง ๆ กว่า 30 หน่วยงาน ซึ่งเราเห็นว่าตามรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมไม่ได้ระบุมาถึงประเทศไทย เพราะมีขอบเขตการศึกษาใน สปป.ลาว เท่านั้น ไม่ได้มีการศึกษาว่าจะกระทบประเทศไทย ซึ่งเป็นที่มาว่าคณะกรรมการจึงเสนอว่าโครงการนี้ไม่ควรเข้าสู่การหารือกระบวนการล่วงหน้าของแม่น้ำโขง
ด้านสิ่งแวดล้อมจะมีผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมไหม ระดับน้ำที่สูงขึ้นจะกระทบแหล่งท่องเที่ยวหรือไม่ เช่น แก่งตะนะ และมีแหล่งที่มีความเหมาะสมด้านระบบนิเวศ ด้านเศรษฐกิจสังคมจะกระทบอย่างไร อันนี้เป็นสิ่งที่เราสังเกตว่า ถ้าประเทศสมาชิกจะเป็นอย่างไรเราต้องการรับรู้ก่อน ซึ่งหน้าที่นี้อยู่ระหว่างการเจรจาของคณะกรรมการแม่น้ำโขงของไทย วันนี้อยู่ในขั้นตอนนี้ นี่เป็นสถานการณ์ความก้าวหน้าของเขื่อนภูงอย ซึ่งท่านที่มามีความกังวลคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทยเราอยู่ในความเป็นห่วงเดียวกับท่าน และกำลังอยู่ในการเคลื่อนไหว เพื่อให้ได้ความชัดเจนมา
เรื่องที่อยู่ภายใต้ความร่วมมือของแม่น้ำโขงก็อยู่ภายใต้ความร่วมมือ แต่ไม่ใช่เวทีที่จะไปหยุดยั้งการพัฒนาของประเทศอื่นได้ แต่เป็นพื้นที่เจรจาร่วมกัน เพราะฉะนั้นที่ประเทศไทยกำลังทำ คือ การเจรจาให้เกิดความร่วมมือ แต่ด้วยกรอบความร่วมมือที่เรามีจะทำให้ปัญหาที่จะเกิดขึ้นเบาบางลง”
เขื่อนภูงอยไม่ใช่แค่หายนะของคนอุบลราชธานี แต่เป็นหายนะของคนภาคอีสาน และนี่คือหายนะของคนยากคนจน
ขณะที่ สดใส สร้างโศก เครือข่ายประชาชนจับตาน้ำท่วมอุบล-เขื่อนแม่น้ำโขง ยืนยันไม่เอาเขื่อนภูงอยเพราะมีบทเรียนจากเขื่อนปากมูลที่ส่งผลกระทบจนถึงปัจจุบัน และย้ำว่าเขื่อนภูงอยไม่ใช่แค่หายนะของคนอุบลราชธานี แต่เป็นหายนะของคนภาคอีสาน และนี่คือหายนะของคนยากคนจน
“พอเรารู้ว่ามีเขื่อนภูงอยเราก็รู้อนาคตของอุบลราชธานีทันที ข้อมูลที่เห็นชัดเจนคือข้อมูลทางวิชาการด้านป่าที่เป็นข้อมูลเห็นชัดเจนว่าคนกับลุ่มน้ำโขง หรือ เขื่อนภูงอย มันเป็นตัวชี้สำคัญให้เห็นว่าเราควรจะมีเขื่อนไหม แม้แต่ทางการไฟฟ้ายังมีความกังวล ข้อมูลของพลังงานเป็นข้อมูลที่จะทำให้เราสามารถพูดได้เต็มปากว่าความจริงของเขื่อนภูงอยมีความจำเป็นหรือไม่ ทางเลือกมันมีเยอะ ข้อมูลข้อเท็จจริงของเขื่อนภูงอยที่เรายังไม่รู้มันยิ่งจะรุนแรงกว่าที่ทุกคนพูด ทำอย่างไรข้อมูล ข้อเท็จจริง EIA ที่ประเทศลาวทำเป็นภาษาลาว เป็นภาษาอังกฤษ จะถูกเปิดเผยออกมาจริงจัง
ยืนยันว่า “ไม่เอา” เพราะว่าเราไม่ใช้ความรู้สึกพูด เราเอาบทเรียนจากเขื่อนปากมูล เอาข้อมูลทางวิทยาศาสตร์มายืนยัน มันมีงานวิจัยเก็บข้อมูลปลาก่อนที่จะมีเขื่อนปากมูล และหลังมีเขื่อนปากมูลแล้วจนถึงปัจจุบัน และข้อมูลเชิงประจักษ์ของชาวบ้านที่บ้านห้วยหมากใต้ และพี่น้องบ้านเวินบึก เขาจับปลาไม่ได้แล้ว อันนี้แค่เขื่อนมีปากมูล
ฉะนั้น อยากจะชวนทุกคนมาช่วยกันหยุดเขื่อนภูงอยก่อนที่จะเกิดเวที เราจะล่า 50,000 รายชื่อ แล้วนำไปเสนอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและนำไปเสนอรัฐบาล มันไม่ใช่แค่น้ำท่วมเมืองอุบลราชธานี เขื่อนภูงอยไม่ใช่แค่หายนะของคนอุบลราชธานี แต่เป็นหายนะของคนภาคอีสาน และนี่คือหายนะของคนยากคนจน”
ด้านผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพและสิ่งแวดล้อม ศ.ดร.ทวนทอง จุฑาเกตุ นักวิชาการด้านประมง คณะเกษตรศาสตร์ และรองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ระบุว่า การสร้างเขื่อนภูงอยจะส่งผลต่อการอพยพของปลาและความหลากหลายทางธรรมชาติของแม่น้ำโขง ซึ่งจะกระทบต่อแม่น้ำสาขา เช่น แม่น้ำมูลและแม่น้ำสงคราม
ความหลากหลายของแม่น้ำมูลไม้ได้เกิดจากแม่น้ำมูล แต่เกิดจากการเชื่อมต่อกับแม่น้ำโขง เพราะฉะนั้นการพัฒนาใดก็แล้วแต่ที่กระทบแม่น้ำโขงก็จะส่งผลต่อทรัพยากรปลาในแม่น้ำมูล
“เราถอดองค์ความรู้จากกลุ่มวิจัยเรา ความหลากหลายของแม่น้ำมูลไม้ได้เกิดจากแม่น้ำมูล แต่เกิดจากการเชื่อมต่อกับแม่น้ำโขง เพราะฉะนั้นการพัฒนาใดก็แล้วแต่ที่กระทบแม่น้ำโขงก็จะส่งผลต่อทรัพยากรปลาในแม่น้ำมูล
องค์ความรู้ทางธรรมชาติวิทยานั้น คนที่จะรู้ดีกว่านักวิชาการคือคนที่ใช้ชีวิตริมฝั่งน้ำ จากนั้นนักวิชาการจะไปถอดความรู้ ลักษณะของงานทางนิเวศวิทยาแม่น้ำออกมา ซึ่งแม่น้ำจะมีลักษณะเป็นพื้นที่สูงชัน เมื่อยิ่งต่ำลงมาเท่าไรยิ่งมีความหลากหลายมากขึ้น เพราะฉะนั้นถ้ามีการพัฒนาเขื่อน หรือ การพัฒนาที่กระทบต่อแม่น้ำ เราก็สามารถบอกได้เลยว่า ถ้ายิ่งสร้างต่ำลงมาเท่าไร ยิ่งมีผลกระทบมากเท่านั้น เช่น ถ้าเขื่อนไซยะบุรีสร้างผลกระทบคูณ 5 เท่า เขื่อนภูงอยก็อาจจะคูณ 10 เท่า
ถ้าระบบการอพยพของปลาถูกกีดขั้นด้วยเขื่อนภูงอย แนวทางในการแก้ไขปัญหา คือ อาจจะมีทางผ่านของปลาที่จะให้ปลาผ่านได้ที่ต้องคำนึงถึงเรื่องสรีระวิทยาในการว่ายน้ำ ถ้าในกรณีที่จะมีเขื่อนภูงอยจริง ๆ ไม่ใช่แค่ไซส์ปลาเล็ก ๆ แต่เรามีข้อมูลว่า ปลาสวายหางเหลืองในช่วงตัวเต็มวัยที่เราศึกษาจากกระดูกหูปลา เราพบว่าถึงฤดูเขาจะมีการอพยพ ดังนั้นจะต้องมีการคำนึงถึงการอพยพของปลาขนาดใหญ่ที่ต้องเดินทางไกล ๆ ซึ่งก็ไกลจริง ๆ จนถึงแม่น้ำสงคราม ซึ่งเหล่านี้จะเชื่อมโยงการสร้างเขื่อนกับแม่น้ำโขงสายประธาน แม้เราจะไม่สามารถไปห้ามการพัฒนาแต่เราจะหาข้อมูล”
นอกจากความกังวลใจจากผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพ รศ.ดร.กนกวรรณ มะโนรมย์ ประธานศูนย์วิจัยสังคมอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีมีข้อสังเกตถึงผลกระทบข้ามพรมแดน ทั้งการเปลี่ยนแปลงต่อวิถีชุมชนท้องถิ่น เศรษฐกิจและสังคมของชาวบ้านในพื้นที่ว่าถูกให้ความสำคัญน้อยมาก
การประเมินผลกระทบข้ามพรมแดนซึ่งเขื่อนภูงอยไม่ชัดเจน เรื่องปลา เรายังไม่รู้ละเอียดเกี่ยวกับปลา การอพยพ หรือ การน้ำท่วมข้อมูลแต่ละคนก็ยังไม่ชัด เรื่องความทุกข์ของผู้คนที่ไม่สามารถแปรเป็นตัวเงินได้ 33 ปี ที่ผ่านมา การรู้สึกไม่มีตัวตน สิ่งเหล่านี้ต้องอยู่ในระบบการประเมินผลกระทบข้ามพรมแดน รวมถึงผลกระทบเรื่องสุขภาพกายและสุขภาพจิต
“เขื่อนภูงอยเป็นเขื่อนที่น่าวิตกกังวลมาก สทนช.บอกว่า ไม่มีข้อมูลพูดถึงแม่น้ำสาขาเลย แล้วตอนนี้ยังไม่มีข้อมูลจากทางฝั่งไทยเลย เราต้องมีข้อเสนอทางนโยบายให้กับรัฐบาลและผู้เกี่ยวข้อง
เขื่อนแม่น้ำโขงให้ความสำคัญผลกระทบข้ามพรมแดนแม่น้ำสาขาน้อยมาก อย่าลืมว่าจังหวัดอุบลราชธานีมีปัญหาเรื่องน้ำท่วม ซึ่งเขื่อนภูงอยละเลยปัญหาเดิมโดยเฉพาะเรื่องน้ำท่วมอุบลราชธานีซึ่งยังแก้ไม่เสร็จ แล้วยังละเลยปัญหาเขื่อนปากมูลที่แก้ไขมาแล้ว 33 ปี ยังไม่เสร็จ ยังมีเรื่องความมั่นคงทางอาหาร เรื่องรายได้ ชาวบ้านจะอยู่อย่างไร
การอพยพของคนอีสานที่ไปอยู่ กทม.เยอะมาก กลับมาจะกินอะไร ประเด็นเรื่องการย้ายถิ่นกลับภูมิลำเนา เขาจะอยู่อย่างไร ประเด็นที่สี่คือการประเมินผลกระทบข้ามพรมแดนซึ่งเขื่อนภูงอยไม่ชัดเจน เรื่องปลา เรายังไม่รู้ละเอียดเกี่ยวกับปลา การอพยพ หรือ การน้ำท่วมข้อมูลแต่ละคนก็ยังไม่ชัด เรื่องความทุกข์ของผู้คนที่ไม่สามารถแปรเป็นตัวเงินได้ 33 ปี ที่ผ่านมา การรู้สึกไม่มีตัวตน สิ่งเหล่านี้ต้องอยู่ในระบบการประเมินผลกระทบข้ามพรมแดน รวมถึงผลกระทบเรื่องสุขภาพกายและสุขภาพจิต”
นอกจากเวทีเสวนาแลกเปลี่ยนข้อมูลร่วมกับหน่วยงานและนักวิชาการ โครงการ Science and Policy Interface: Young People Engagement in Environmental Action Mekong Academic Consortium 2024 ซึ่งดำเนินการภายใต้ความร่วมมือของ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มหาวิทยาลัยมหาสารคาม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยนครพนม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน และเครือข่ายนักวิชาการแม่น้ำโขง (Mekong Academic Consortium) ซึ่งสนันสนุนกิจกรรมโดย U.S.Embassy, Bangkok ได้พาเยาวชนคนรุ่นใหม่และนักศึกษาที่เข้าร่วมกิจกรรม ลงพื้นที่เรียนรู้การผลิตสื่อและพูดคุยกับชาวบ้านริมฝั่งโขง ที่บ้านห้วยหมากใต้ และบ้านเวินบึก อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี พร้อมด้วยชาวบ้านในพื้นที่บ้านหัวเห่ว ที่ได้รับผลกระทบจากเขื่อนปากมูล ซึ่งต่างแสดงความกังวลใจ หากมีการดำเนินการก่อสร้างเขื่อนภูงอย (Phu Ngoy) ที่จะมีกำลังการผลิต 728 เมกะวัตต์ ใน สปป.ลาว ตามรายงานของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) โดยชาวบ้านยืนยันไม่ต้องการเขื่อนบนสายน้ำโขง