คนจนเมืองอุบลฯ เสนอรัฐบาล แก้ปัญหา “ที่ดิน ที่อยู่อาศัย ในพื้นที่ภัยพิบัติ”อย่างยั่งยืน

คนจนเมืองอุบลฯ เสนอรัฐบาล แก้ปัญหา “ที่ดิน ที่อยู่อาศัย ในพื้นที่ภัยพิบัติ”อย่างยั่งยืน

อุบลราชธานี เครือข่ายชุมชนบ้านมั่นคงอุบลราชธานี ร่วมกับ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหาชน) หรือ พอช. ในสังกัด กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และภาคีการพัฒนา จัดงานวันที่อยู่อาศัยโลก ปี 2566  (World Habitat Day 2023)   ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ในการจัดงานครั้งนี้ ชูประเด็นในการแก้ไขปัญหา “ที่ดิน ที่อยู่อาศัย และคุณภาพชีวิตในพื้นที่ภัยพิบัติ” อย่างยั่งยืน  เพื่อยื่นข้อเสนอให้กับรัฐบาลชุดปัจจุบัน โดยมี นายคำพอง เทพาคำ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล พร้อมด้วยตัวแทน สส.ในพื้นที่ เป็นตัวแทนรับข้อเสนอจากทางเครือข่าย

เป้าหมายสำคัญในการจัดงาน คือ นำเสนอพื้นที่ การจัดพื้นที่อยู่อาศัยในพื้นที่ภัยพิบัติ จังหวัดอุบลราชธานี สื่อสารต่อสาธารณะและผลักดันเชิงนโยบายการแก้ไขและพัฒนาความมั่นคงด้านที่ดินที่อยู่อาศัยและคุณภาพชีวิตของประชาชนในเขตชุมชนพิเศษพื้นที่ภัยพิบัติอย่างมีส่วนร่วม มีโดย  นายนคร ศิริปริญญานันท์ ปลัดจังหวัดอุบลราชธานี   เป็นประธานในการเปิดงาน พร้อมด้วย นางสาวเฉลิมศรี ระดากูล รองผู้อำนวยการ พอช. นางอัฐฌาวรรณ  พันธุ์มี ตัวแทนเครือข่ายลุ่มน้ำมูล จังหวัดอุบลราชธานี  นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ประธานมูลนิธิพิทักษ์ธรรมชาติเพื่อชีวิต นายจำนงค์  จิตรนิรัตน์ กรรมการมูลนิธิชุมชนไท เครือข่ายชุมชนบ้านมั่นคงอุบลราชธานี และผู้แทนเครือข่ายชุมชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เข้าร่วมงานกว่า 400 คน ณ ห้องประชุมประชาวาริน อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี

นายนคร ศิริปริญญานันท์ ปลัดจังหวัดอุบลราชธานี   กล่าวว่า จังหวัดอุบลราชธานีเป็นพื้นที่รับน้ำที่มีสถานการณ์ปัญหาอย่างต่อเนื่อง ทุกภาคส่วนของจังหวัดอุบลราชธานีจึงได้ร่วมกันแก้ไขอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะแนวนโยบายของจังหวัดที่ได้ประสานเชื่อมโยงความร่วมมือ งบประมาณ จากทุกภาคส่วนในการบูรณาการอย่างเป็นระบบและในขณะเดียวกันเครือข่ายการจัดการภัยพิบัติโดยภาคประชาชนเป็นอีกกลไกสำคัญในการแก้ไขปัญหาและมีรูปธรรมการจัดการภัยพิบัติ อาทิ การจัดตั้งศูนย์ภัยพิบัติ การจัดตั้งครัวกลาง การมีกองทุนภัยพิบัติ การต่อแพจากภูมิปัญญาท้องถิ่น การฝึกและเตรียมความพร้อมการอพยพผู้เดือดร้อน รวมไปถึงการพัฒนาฟื้นฟูคุณภาพชีวิตหลังน้ำท่วม อีกทั้งยังมีนวัตกรรมการสร้างบ้านลอยน้ำ ซึ่งล้วนเป็นกิจกรรมที่นำไปสู่ความร่วมมือในการจัดการภัยพิบัติอย่างมีส่วนร่วม

นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ  ประธานมูลนิธิพิทักษ์ธรรมชาติเพื่อชีวิต กล่าวว่า การพัฒนานโยบายสาธารณะการบริหารจัดการน้ำ ประเด็นสำคัญคือ เรื่องการจัดการน้ำ เนื่องจากน้ำเป็นสิ่งสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อทุกชีวิตในสังคม ทั้งผลกระทบจากปัญหาน้ำแล้ง น้ำท่วม โดยปัญหาเหล่านี้จะส่งผลกระทบถึงความมั่นคงทางด้านอาหาร ด้านเศรษฐกิจ และกระทบถึงความเป็นอยู่ของผู้คนในชุมชน/สังคม ฯลฯ ซึ่งปัญหาน้ำกระทบไปถึงการเข้าถึงโอกาส อำนาจ สิทธิ รายได้ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ทั้งเรื่องความเสมอภาค ความเป็นธรรม และความยุติธรรม ทั้งนี้การจัดการน้ำหากเป็นการจัดการของคนในสังคมนั้นอาจจะไม่เพียงพอ แต่ต้องเป็นความร่วมมือของทั้งคนในสังคม ชุมชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงรัฐบาลที่จะสนับสนุนนโยบายที่จะสามารถเข้ามาช่วยเหลือและดูแลในเรื่องเหล่านี้ได้    การสร้างกลไกการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ชุมชน และคนในชุมชน (เป็นสิทธิทางการเมือง) ที่จะเข้ามารวมตัวกันเพื่อยื่นข้อเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมไปถึงรัฐบาล โดยในแต่ละจังหวัดมีหน่วยงานที่ดูแลเกี่ยวกับการจัดการเรื่องน้ำ ประมาณ 40 กว่าหน่วยงาน โดยในแนวทางปฏิบัตินั้นต้องมีการสร้างการขับเคลื่อนร่วมกันทั้งหน่วยงานภาคีเครือข่ายต่าง ๆ หน่วยงานรัฐ หน่วยงานเอกชน รวมถึงชุมชนท้องถิ่นด้วย

นางสาวเฉลิมศรี ระดากูล รองผู้อำนวยการ พอช. กล่าวว่า  พอช. มีบทบาทสำคัญในการหนุนเสริมและพัฒนาชุมชนท้องถิ่นให้มีความเข้มแข็งเต็มพื้นที่ ซึ่งพอช. มีความเชื่อว่าชุมชนจะสามารถทำได้ เนื่องจากคนในชุมชนเป็นเจ้าของปัญหาที่รู้ความเป็นมา ความเป็นอยู่และรู้ถึงปัญหาของตนเองดีที่สุด คนในชุมชนจึงเป็นส่วนสำคัญที่จะสามารถแก้ไขปัญหาของตนเองได้ แต่ทั้งนี้จะต้องได้รับการสนับสนุนและหนุนเสริมจากหน่วยงานร่วมด้วย ซึ่งการจัดการภัยพิบัติของชุมชนที่ได้รับการสนับสนุนจาก พอช. สามารถเข้าไปช่วยเหลือชุมชนได้เป็นอย่างมาก โดยโครงการต่าง ๆ ทั้งการสร้างระบบร้านค้าลอยน้ำ การหนุนเสริมระบบบริหารจัดการกองทุน การออมทรัพย์ ฯลฯ ช่วยเข้าไปต่อยอดและพัฒนาความเป็นอยู่ของคนในชุมชน สามารถทำให้ชุมชนมีระบบการบริหารจัดการได้อย่างเป็นระบบมากขึ้น  ทั้งนี้กระบวนการที่คนในชุมชนเข้ามาจัดการแก้ไขปัญหาของตนเอง เป็นกระบวนการพัฒนาอีกรูปแบบหนึ่ง นั้นเพราะคนในชุมชนที่เป็นเจ้าของปัญหา จะสามารถลุกขึ้นมาจัดการปัญหาของตนเองได้ อย่างไรก็ตามสิ่งที่ยากก็คือ คน ที่จะเข้ามาเชื่อมโยงการทำงานร่วมกัน เนื่องจากตั้งมีการพูดคุย และพัฒนาศักยภาพ ความรู้ ซึ่งหากสามารถเชื่อมโยงใจคนได้ ก็จะสามารถทำทุกอย่างได้

นายจำนงค์  จิตรนิรัตน์ กรรมการมูลนิธิชุมชนไท กล่าวว่า “การยกระดับการจัดการภัยพิบัติสู่การแก้ไขปัญหาภัยพิบัติระดับชาติ”   บทเรียนจากภัยพิบัติน้ำท่วมซ้ำซากของภาคอีสาน  ไม่ถูกจัดการแบบเบ็ดเสร็จโดยภาครัฐ ไม่มีการจัดตั้งคณะทำงานระดับชาติด้านการจัดการภัยพิบัติ   เป็นเพียงการเยียวยาในช่วงระยะเร่งด่วนเท่านั้น (การแจกถุงยังชีพ) มีการทำข้อเสนอและการทำประชามติให้ภาครัฐแก้ไข ว่าด้วยเรื่องการจัดการภัยพิบัติ โดยมีภาคประชาชนลงนามกว่าหนึ่งหมื่นรายชื่อ  จากปัญหาที่เกิดขึ้น สู่การร่วมกันคิดของภาคประชาชน โดยคำนึงถึงความต้องการที่แท้จริงของภาคประชาชน คือการ “ทำบ้านยกสูง” “เรือและแพลอยน้ำ” “กระชังปลา” โดยเสนอมีการจัดตั้งคณะกรรมการ เพื่อสำรวจข้อมูลชุมชน การจัดการน้ำ แนวทางการแก้ไขปัญหา ทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ จึงนำมาสู่การทำข้อเสนอเชิงนโยบายต่อภาครัฐ  “การออกแบบการแก้ไขปัญหาภัยพิบัติ อย่างมีส่วนร่วมโดยภาคประชาชน

นางอัฐฌาวรรณ  พันธุ์มี ตัวแทนเครือข่ายลุ่มน้ำมูล จังหวัดอุบลราชธานี  กล่าวว่า  “กระบวนการจัดการตนเองโดยภาคประชาชน” จากการนำกระบวนการโครงการบ้านมั่นคง มาใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างการมีส่วนร่วม ร่วมคิด ร่วมวิเคราะห์ ร่วมกันทำ สู่การออมทรัพย์โดยคนในชุมชน เพื่อพัฒนาความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัย และคุณภาพชีวิต และมีภาคีหนุนเสริม พอช.   สู่การขยายเครือข่ายองค์กรชุมชน จากความเชื่อมั่นและการสร้างการยอมรับ มีการเชื่อมเครือข่ายบ้านมั่นคง โดยมีกองทุนรักษาดินและบ้าน ร่วมกันขับเคลื่อนที่ไม่มีต้องรอภาครัฐเพียงอย่างเดียว แต่เป็นภาคประชาชนที่ลุกขึ้นมาจัดการด้วยตนเองได้ ร่วมคิด ร่วมทำและเชื่อมั่นในภาคประชาชน  จากสถานการณ์ภัยพิบัติ เป็นพื้นที่รับน้ำ น้ำท่วมซ้ำซาก สู่การทำ “ครัวกลาง” ทีได้งบประมาณจากการออมทรัพย์ของสมาชิกบ้านมั่นคง ที่ช่วยเหลือทุกคนในชุมชน ไม่เพียงแต่สมาชิกบ้านมั่นคงเท่านั้น นอกจากกนี้ยังมีการประสานเชื่อมโยงกับท้องที่ ท้องถิ่น ที่เข้ามาหนุนเสริมด้านอาหาร และมีการสื่อสาร ประชาสัมพันธ์ “อีสานคอนเนค” ที่เป็นศูนย์กระจายข่าวสาร   หลังน้ำลด เครือข่ายชุมชนร่วมคิดแนวทางแก้ไขสู่นวัตกรรม “ผักลอยน้ำ” เพื่อเป็นพันธุ์ผัก และได้รับการหนุนเสริมจาก มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีการทำผักลอยน้ำ  การเยียวยาหลังน้ำลด เครือข่ายองค์กรชุมชนมีการสำรวจครัวเรือนผู้ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ  เพื่อจัดทำข้อมูลเสนอรับสนับสนุนด้านที่อยู่อาศัยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายการจัดการภัยพิบัติของชุมชน เสนอต่อภาครัฐ

ยื่น 7 ข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อการจัดการภัยพิบัติอย่างยั่งยืน

การจัดงานในครั้งนี้  เครือข่ายการภัยพิบัติภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้ทำหนังสือยื่นข้อเสนอต่อรัฐบาล  มีเนื้อหาดังต่อไปนี้     

1.ปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติบรรเทาสาธารณะภัยและ พระราชบัญญัติอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ที่จะนำไป    สู่การแก้ไขและพัฒนาอย่างยั่งยืน   

2.ผลักดันให้จังหวัดอุบลราชธานีและจังหวัดที่เป็นพื้นที่รับน้ำ เป็นเมืองต้นแบบในการจัดการน้ำท่วมอย่างมีส่วนร่วมและครอบคุลมทุกมิติ บนฐานข้อมูลข้อเท็จจริงที่รอบด้าน โดยมีการเตรียมความพร้อมด้านข้อมูลเพื่อให้การช่วยเหลืออย่างทันท่วงที สร้างเมืองที่มีความยืดหยุ่นพร้อมรับมือภัยพิบัติและ        การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่อาจทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยอาจกำหนดนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมและการจัดการผังเมืองที่คำนึงถึงชุมชนที่มีความเสี่ยงในการเผชิญภัยพิบัติน้ำท่วม

3.จัดตั้งศูนย์บริหารจัดการภัยพิบัติเป็นศูนย์กลางข้อมูลข่าวสาร (data center) ที่เกิดจากการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ส่งเสริมให้มีการจัดการความรู้ ถอดบทเรียนการทำงานร่วมกัน มีชุดบทเรียนและประสบการณ์เรื่องการวางแผนการใช้น้ำอย่างเป็นระบบ ประชาชนทุกคนสามารถเข้าใจ เข้าถึง เข้าร่วม การใช้ประโยชน์จากข้อมูล เช่น ปริมาณน้ำ เป็นต้น

4. ส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาความมั่นคงในที่ดิน ที่อยู่อาศัยและคุณภาพชีวิตเขตชุมชนพิเศษในพื้นที่ภัยพิบัติแบบมีส่วนร่วม พร้อมงบประมาณ

4.1 ด้านกลไกการทำงาน 

4.1.1 มีองค์ประกอบ ทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคม ตัวแทนเครือข่ายองค์กรชุมชนและ สถาบันการศึกษา ร่วมเป็นคณะกรรมการฯ ในทุกจังหวัดและต้องมีผู้แทนเข้าร่วมการประชุมกับคณะกรรมการฯ ในระดับจังหวัด   

4.1.2 โดยคณะกรรมการฯ ชุดนี้ มีบทบาทหน้าที่ – สนับสนุนให้มีการรวบรวมข้อมูลสถานการณ์ปัญหา ข้อเท็จจริง เพื่อนำไปสู่การแก้ไขและพัฒนาอย่างบูรณาการ  – จัดทำแผนผังการอพยพ ตั้งศูนย์อพยพ ในระดับชุมชน และมีการฝึกอบรมอาสาชุมชน      ป้องกันภัยพิบัติ และสนับสนุนอุปกรณ์ที่จำเป็น – การจัดทำแผนแก้ไขและพัฒนาอย่างเป็นระบบครอบคลุมทุกมิติ ทั้งด้านการจัดการ  ภัยพิบัติ ที่ดินที่อยู่อาศัย สุขภาวะ ด้านสิ่งแวดล้อม และด้านความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน  – จัดทำแผนปฏิบัติการ ในระยะป้องกัน ระยะเผชิญน้ำท่วม ระยะเยี่ยวยาฟื้นฟู และสร้างพื้นที่จังหวัดนำร่อง – คณะกรรมการฯ สามารถแต่งตั้งอนุกรรมการ ที่จำเป็นในการสนับสนุนการแก้ไขและ   พัฒนาตามความเหมาะสม  

5. ส่งเสริมนวัตกรรมการรับมือภัยพิบัติโดยชุมชน

5.1 จัดตั้งศูนย์เฝ้าระวังน้ำท่วม โดยสนับสนุนอุปกรณ์และเรือเพื่อเตรียมความพร้อมในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างทันท่วงที และเน้นช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางในระหว่างเผชิญเหตุ   

5.2 พัฒนาจุดเตือนภัยในระดับหมู่บ้าน/ชุมชนให้ครอบคลุม มีจุดวัดระดับน้ำที่เข้าใจง่าย เช่น  หมู่บ้าน 1 ระบบเตือนภัย โดยคำนึงถึงบริบทสภาพภูมิศาสตร์ของพื้นที่ 

5.3 ส่งเสริมและสนับสนุนการตั้งกองทุนภัยพิบัติ  เพื่อให้ชุมชนได้ดำเนินงานช่วยเหลือเกื้อกูลกันด้วยตนเองในระยะยาว และสามารถที่จะดำเนินการได้ทันทีโดยไม่ต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากภาครัฐที่มีข้อจำกัดด้านกำลังคนและงบประมาณ ทั้งนี้ กองทุนดังกล่าวให้ชุมชนเป็นผู้บริหารจัดการในการระดมทุน  เพื่อสร้างนวัตกรรมทางสังคมที่หลากหลายระดับไม่ว่าจะเป็นการต่อเรือ การทำแพ หรือการทำครัวกลาง เมื่อเผชิญเหตุ 

5.4 ด้านการฟื้นฟู ส่งเสริมให้เกิดระบบเกษตรกรรมยั่งยืน  เพื่อให้ชุมชนมีความสามารถในการรับมือและฟื้นฟูตนเองหลังเกิดภัยพิบัติ เช่น กองทุนเมล็ดพันธุ์ พันธุกรรมท้องถิ่น การให้ความรู้ทางการเกษตรที่ไม่ผูกกับระบบทุนนิยม รวมไปถึงการส่งเสริมอาชีพทางเลือก ที่เหมาะสมสอดคล้องกับชุมชนท้องถิ่นนั้น ๆ  

5.5 จัดตั้งกองทุนภัยพิบัติระดับชุมชน สำหรับพื้นที่พิเศษที่ประสบปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก ให้มีงบช่วยเหลือฉุกเฉินเมื่อเกิดเหตุน้ำท่วมครัวเรือนละ 10,000 บาท โดยจากประสบการณ์ที่ผ่านมา ชาวชุมชนหลายครัวเรือนสะท้อนว่า พวกเขาต้องเผชิญกับปัญหาหนี้สินนอกระบบอย่างต่อเนื่อง เพราะไม่มีความสามารถหรือ   ไม่มีเครดิตในการยืมเงินในระบบที่มีดอกเบี้ยต่ำ และระยะเวลาในการถูกน้ำท่วมทำให้พวกเขาไม่สามารถผ่อนอย่างต่อเนื่องได้เนื่องจากไม่สามารถประกอบอาชีพได้ตามปกติ  

5.6 จัดสรรงบประมาณสำหรับการเตรียมความพร้อมและวางแผนรับมือน้ำท่วมในระดับชุมชนโดยเฉพาะชุมชนที่เป็นจุดเสี่ยง ทั้งเขตเมืองและชนบทในทุกปี รวมทั้งต้องมีการประเมินความเสียหายหลังน้ำท่วม (Post Disaster Need Assessment) ที่ครอบคลุมความเสียหายที่แท้จริงของประชาชน ได้แก่ ประเมินการสูญเสียรายได้ระหว่างน้ำท่วม ประเมินค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นระหว่างน้ำท่วม และความเสียหายของทรัพย์สิน   ทั้งส่วนตัวและส่วนรวม

5.7 ผลักดันให้มีการชี้แจงงบประมาณภายหลังการดำเนินการจัดการภัยพิบัติทุกครั้ง มีการสรุปชี้แจงเงินช่วยเหลือจากรัฐ เงินบริจาค ให้ชัดเจน โปร่งใส ตรวจสอบได้

6. ดำเนินการความมั่นคงด้านที่ดิน ที่อยู่อาศัยในพื้นที่ประสบภัยอย่างเป็นธรรมมอบหมายกระทรวงที่เกี่ยวข้องในการสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมที่อยู่อาศัยที่สอดคล้องกับพื้นที่ภัยพิบัติอย่างยั่งยืน  

7. ด้านการบริหารจัดการพื้นที่  

7.1 ส่งเสริมการจัดการน้ำโดยชุมชน ที่สามารถแก้ไขปัญหาน้ำแล้งโดยไม่ต้องทำโครงการขนาดใหญ่      ที่ส่งผลกระทบต่อการเกิดภัยพิบัติที่ทวีความรุนแรง เช่น การใช้โซลาร์เซลล์กับการรักษาแก้มลิง การพัฒนาและปรับปรุงแหล่งน้ำขนาดเล็ก ควรมีการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างมีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการน้ำเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่

7.2 ควรมีการจัดระบบการกักเก็บน้ำ การพร่องน้ำ การส่งน้ำ การระบายน้ำ ที่สอดคล้องกับบริบทและความต้องการบนฐานข้อมูลของพื้นที่อย่างมีส่วนร่วม  

7.3 ยกเลิกหรือทบทวนแนวคิดการทำคลองผันน้ำเลี่ยงเมืองหรือสิ่งก่อสร้างอื่น ๆ ที่เป็นการโยน     ความเสี่ยงให้กับพื้นที่ชนบทรอบนอก ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ และทำให้คนจนอีกกลุ่มกลายเป็น      ผู้ที่ต้องรับมือกับภัยพิบัติอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ทั้งนี้ ในการจัดงานฯ ยังได้มีการเดินรณรงค์ไปรอบเมืองวารินชำราบเพื่อสร้างการรับรู้ต่อสาธารณะ และลงพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้การจัดการภัยพิบัติโดยชุมชน ฐานเรียนรู้ 3 ฐาน สรุปกระบวนการเรียนรู้ที่อยู่อาศัยและคุณภาพชีวิต  ฐานการเรียนรู้ที่ 1  การพัฒนาที่อยู่อาศัย (บ้านลอยน้ำ)  และนวัตกรรมการสร้างเครื่องมือรับมือภัยพิบัติเรือ แพ และบ้านยกสูง ณ ชุมชนหาดสวนสุข อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี ฐานการเรียนรู้ที่ 2  กองทุนและการพัฒนาคุณภาพชีวิตอาชีพในพื้นที่ภัยพิบัติ        ผักลอยน้ำที่ชุมชนวังสว่างและเลี้ยงปลาดุก ณ สหกรณ์เคหะสถานเมืองดอกบัว     ตำบลแจระแม อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี ฐานการเรียนรู้ที่ 3 การจัดการศูนย์อพยพและการทำนาในบ่อปูนซีเมนต์ ลงพื้นที่บ้านหนองยาง ตำบลท่าเมือง อำเภอดอนมดแดง จังหวัดอุบลราชธานี

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ