31 ต.ค.57 ชาวชุมชนบ่อแก้ว ต.ทุ่งพระ อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ กว่าหลายสิบคนได้ร่วมกันพัฒนาพื้นที่แปลงผักเกษตรอินทรีย์ ด้วยการปรับหน้าดิน จำกัดหญ้าวัชพืช ที่ขึ้นตามร่องแปลงพืชผักสวนครัว ขุดลอกคลองคู จัดการผักตบชวา จากที่เริ่มคลายความกังวลใจลงไปบ้าง หลังคำสั่ง คสช.ที่ 64/57 ให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากพื้นที่นั้น ได้ชะลอและยุติเอาไว้ชั่วคราว สืบเนื่องจากรัฐบาลกับตัวแทน “ขบวนการประชาชน เพื่อสังคมที่เป็นธรรม” (พีมูฟ) ร่วมประชุม ซึ่งที่ประชุมมีมติให้ชะลอและยุติการดำเนินการใดๆ ที่จะส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตอันปกติสุขของประชาชน เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2557
นายนิด ต่อทุน ประธานโฉนดชุมชนบ้านบ่อแก้ว บอกว่า พูดง่ายๆ ว่า พวกเราปลูกพืชผักในสิ่งที่กินได้ พวกเราไม่เอาสวนป่ายูคาฯ และพวกเราไม่ใช่ผู้บุกรุก หากเป็นผู้บุกเบิกที่ดินทำกิน และร่วมใช้ประโยชน์ด้วยการพัฒนาพลิกฟื้นทั้งชีวิตและผืนดิน โดยการปลูกพืชผักในรูปแบบเกษตรอินทรีย์ ไม่ทำลายธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และเป็นการแสดงให้สังคมเข้าใจว่าพืชเศรษฐกิจ เช่น ไม้ยูคาฯที่ ออป.นำเข้ามาปลูก นอกจากผลกระทบจากความเสื่อมโทรมของหน้าดิน และอพยพพวกเราออกจากพื้นที่มานับจากปี 2521 แล้วนั้น ยังไม่สอดคล้องกับการดำเนินชีวิต กระทั่งนำมาสู่การจัดที่ดินในรูปแบบโฉนดชุมชน ที่มีทั้งแปลงรวมและแปลงส่วนบุคคล พร้อมได้มีการพัฒนาในรูปแบบชุมชนเกษตรกรรมอินทรีย์ มาตลอดระยะเวลา 6 ปี ที่กลับเข้าไปยึดพื้นที่ทำกินเดิมคืน
“แม้ความกังวลใจได้สร้างให้เกิดขึ้นมาอีกครั้ง เพราะคล้อยหลังไปไม่กี่วัน นับจากมีการประชุมร่วมกันระหว่างภาครัฐกับพีมูฟ ก็ได้ข่าวว่านายอำเภอคอนสารมีการประชุมวางแผนขอทวงคืนผืนป่าสงวนแห่งชาติภูซำผักหนาม และมีมติให้ทั้งสองชุมชนโคกยาว และบ่อแก้ว รื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง และผลอาสินออกเองภายในวันที่ 25 ต.ค.57 หากไม่ดำเนินตาม จะส่งเจ้าหน้าที่เข้ามารื้อถอนเอง จึงได้เดินทางเพื่อเข้าพบนายอำเภอคอนสารหลายครั้ง แต่ไม่เจอ กระทั่งวันที่ 24 ตุลาคม จึงได้พบกับนายอำเภอ พร้อมได้ยื่นหนังสือชี้แจงให้เข้าใจร่วมกันว่า ขณะนี้ปัญหาอยู่ระหว่างการแก้ไข จนกว่าจะมีการตั้งคณะกรรมการอำนวยการขึ้นมาแก้ไขปัญหาร่วมกัน
“จากผู้บุกเบิก ถูกเบียดขับให้กลายเป็นผู้บุกรุกมาโดยตลอด และกว่า 3 เดือนที่มีคำสั่ง 64/57 ให้ไล่รื้อตามมาอีก การดำเนินชีวิตขาดความสุข เกิดความหวั่นเกรงภัยจะถูกเจ้าหน้าที่เข้ามาไล่รื้อ การทำมาหากินขาดช่วง ก่อนหน้านี้พวกเราก็พัฒนาพื้นที่มาตลอด แต่อาจไม่ค่อยต่อเนื่อง มาวันนี้เมื่อเริ่มคลี่คลายไปบ้าง จึงได้รวมกันมาพัฒนาพื้นที่ ทำความสะอาดแปลงผักกันต่อไป แม้ปัญหายังไม่มีการแก้ไขที่ถูกต้อง พวกเราต่างก็หวังอย่างยิ่งว่า จะดำเนินชีวิตได้ตามปกติสุขขึ้นมาอีกครั้ง ขอความเข้าใจให้ผู้มีอำนาจเห็นว่า ที่ผ่านมาพี่น้องเราถูกปิดกั้นสิทธิในการถือครองที่ดินทำกินมาโดยตลอด หากถูกไล่ออกไปอีกครานี้ พวกเราจะไม่มีที่อยู่ ไม่มีที่ทำกินกันอีก การคืนความสุข คืนสิทธิในที่ดินทำกิน คืนแปลงผักสวนครัวเกษตรอินทรีย์ ถือเป็นการคืนความสุขให้ประชาชนอย่างอย่างแท้จริงและยั่งยืน เพราะหากไม่มีที่ดินทำกิน ถูกไล่รื้อ พวกเราก็จะขาดทั้งที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัย และไม่มีผลผลิตให้สามารถนำมาหล่อเลี้ยงความสุขให้ชีวิตได้ ” นายนิด กล่าว
ด้านนายเด่น คำแหล้ ประธานโฉนดชุมชนโคกยาว บอกเช่นกันว่า นับแต่ปี 2528 หน่วยงานภาครัฐเข้ามาปลูกยูคาฯ และดำเนินการเคลื่อนย้ายชาวบ้านออกจากพื้นที่ ภายหลังตนและผู้เดือดร้อนได้กลับเข้ามาบนผืนดินทำกินเดิม ก็ได้มีการบริหารจัดการที่ดินด้วยการทำเกษตรอินทรีย์ เช่นเดียวกับบ้านบ่อแก้ว แต่ติดปัญหาบนพื้นที่ขาดแคลนน้ำ รวมทั้งไฟฟ้าก็ยังไม่มี กว่า 20 ครัวเรือน ต้องเก็บน้ำฝน เอาไว้เพื่อบริโภค และนำมารดแปลงผัก อย่างไรก็ตามในพื้นที่ก็ยังมีการผลิตกันมาต่อเนื่อง เพื่อเป็นการลดปัจจัยจากภายนอก เพราะพวกตนเป็นคนจน ไม่มีเงินมากพอที่จะไปหาซื้อของกินได้มาก และสิ่งที่พวกตนปลูก ล้วนเป็นพืชผักสวนครัว หาเก็บกินเลี้ยงชีพได้ไปตลอดชีวิต ส่วนหนึ่งก็นำไปขายไว้เป็นค่าใช้จ่ายให้กับครอบครัวได้ด้วย
นายเด่น กล่าวต่อว่า แม้วันนี้จะลดความกังวลใจลงไปได้บ้าง แต่ปัญหาที่สั่งสมมานาน จะถูกแก้ไขเพื่อให้ความปกติสุขของชาวบ้าน คืนความปลอดภัยในการดำเนินชีวิตคืนกลับมา ยังไม่มีใครสามารถยืนยันให้คำตอบได้ แต่หากรัฐบาลมองตามเงื่อนไขที่ระบุว่า การดำเนินการใดๆ ต้องไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้ยากไร้ ผู้ที่มีรายได้น้อย และผู้ไร้ที่ดินทำกิน ซึ่งได้อาศัยอยู่ในพื้นที่เดิมมาก่อน เหล่านั้นจะถือว่าเป็นความโชคดีของชาวบ้านที่เป็นเพียงเกษตรกร ผืนดินอันน้อยนิดที่ทำการเกษตรจะได้มีความมั่นคง ยั่งยืนตลอดไป และแน่นอนว่า นั่นคือความปกติสุข ถือเป็นความสุขที่ได้กลับคืนมาอีกครั้ง
รายงานโดย ศรายุทธ ฤทธิพิณ
สำนักข่าวปฎิรูปที่ดินภาคอีสาน