‘เศรษฐา’ ช้างเหยียบนาพระยาเหยียบเหมือง

‘เศรษฐา’ ช้างเหยียบนาพระยาเหยียบเหมือง

เมื่อวันที่ 19 ก.พ.67 เวลาประมาณ 14.00 น. ที่ถนนซึ่งเป็นจุดตั้งด่านคัดกรองผู้เข้าไปในบริเวณพื้นที่ก่อสร้างโรงงานและโรงแต่งแร่ โครงการเหมืองแร่โปแตช จ.อุดรธานี บ้านหนองตะไก้ ต.หนองไผ่ อ.เมือง จ.อุดรธานี กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี ประมาณ 100 คน เดินทางมาปักหลักชูป้าย และใช้เครื่องขยายเสียงพูดปราศรัยคัดค้านโครงการฯ เพื่อเรียกร้องขอเข้าไปยื่นหนังสือร้องเรียนกับ นายเศรษฐา  ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.กระทรวงการคลัง ซึ่งเดินทางมาตรวจราชการและลงพื้นที่ติดตามแผนการฟื้นฟูเหมืองแร่โปแตช จ.อุดรธานี

ต่อมาเวลาประมาณ 14.30 น. นายสมคิด เชื้อคง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ได้เดินทางมาเจรจากับกลุ่มชาวบ้าน พร้อมแจ้งว่านายกฯ มีความประสงค์ที่จะรับฟังปัญหาของชาวบ้าน แต่ต่อรองขอตัวแทนจำนวน 10 คน เพื่อเข้าไปยื่นหนังสือกับนายกฯ ในพื้นที่ที่มีการจัดเตรียมไว้ให้ ซึ่งเป็นบริเวณพื้นที่จะสร้างอุโมงค์ลงเหมืองใต้ดิน ถัดออกไปอีกประมาณ 500 เมตร เมื่อตกลงกันได้เจ้าหน้าที่จึงนำรถตู้ของส่วนราชการมารับตัวแทนเข้าไปรอยื่นหนังสือในพื้นที่ดังกล่าว

กระทั่งเวลาประมาณ 15.00 น. นายเศรษฐา  ทวีสิน นายกรัฐมนตรี พร้อมคณะเดินทางมาถึงบริเวณพื้นที่จะสร้างอุโมงค์ลงเหมืองใต้ดิน ก็ได้ดูสภาพพื้นที่โครงการฯ และพบปะประชาชนที่มารอต้อนรับ ก่อนจะมาถึงตัวแทนกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี จำนวน 10 คน ซึ่งเป็นชุดสุดท้าย โดยมีนางมณี  บุญรอด และนางพิกุลทอง  โทธุโย เป็นตัวแทนยื่นหนังสือ พร้อมกับเล่าถึงเหตุผลของการคัดค้าน และปัญหาการดำเนินโครงการฯ ให้กับนายกฯ ฟัง

นางมณี  บุญรอด  กล่าวกับนายกฯ ว่า กลุ่มอนุรักษฯ ต่อสู้มาเป็นเวลา 25 ปี ไม่เคยมีนายกรัฐมนตรีคนไหนลงมาดูพื้นที่เหมืองแร่โปแตชว่าเป็นอย่างไร มีท่านเป็นคนแรก ตนจึงคิดว่าเป็นโอกาสอันดีที่จะมาเล่าปัญหาให้นายกฯ ฟัง เนื่องจากชาวบ้านมีความหวั่นวิตกว่าจะได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะปัญหาแผ่นดินจะทรุดบ้านจะพัง เพราะมาขุดใต้ถุนบ้านของเรา นอกจากนี้เขาก็จะเอาเกลือขึ้นมากองบนลานกว้างขนาดใหญ่ ซึ่งจะเกิดปัญหาดินเค็ม น้ำเค็ม และปัญหาอื่นๆ ตามมาอีกมากมาย

ช่วงหนึ่งนายกฯ ได้ถามชาวบ้านว่า แล้วเขาบอกไหมว่าจะมีมาตรการป้องกันปัญหาแผ่นดินทรุดอย่างไร

ชาวบ้านได้ตอบว่า ไม่มีค่ะ เขาบอกว่ามันเป็นเหตุสุดวิสัย

นายกฯ จึงกล่าวว่า อย่างนี้ก็แย่ ใช้ไม่ได้

“อยากขอให้นายกฯ ยกเลิกโครงการ เพราะมันมีปัญหาหลายอย่าง เช่น เรื่องละเมิดสิทธิชุมชน เรื่อง EIA ชาวบ้านไม่มีส่วนร่วม และการประชาคมหมู่บ้านก็ขนคนไปทำกันในค่ายหาร ซึ่งชาวบ้านก็ได้ไปฟ้องศาลปกครอง และตอนนี้ศาลก็ได้รับฟ้องแล้ว จึงอยากให้นายกฯ ยกเลิกไปก่อน แล้วให้ทำตาม พ.ร.บ.แร่ ปี 2560” นางมณี กล่าว

นางมณี ยังกล่าวต่อว่า เรื่องสัญญาก็ไม่เป็นธรรม เพราะรัฐบาลถือหุ้นแค่ 10 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือตั้ง 90 เปอร์เซ็นต์ เป็นของบริษัท ซึ่งที่นายกฯ มาวันนี้ก็รู้ดีว่านายกฯ เป็นนักธุรกิจใหญ่ ถ้าจะทำเหมืองแร่ก็อยากให้นายกฯ ไปดูที่ อ.บำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ และ อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา ที่ลงมือทำมาแล้วมีผลกระทบอย่างไรบาง ส่วน จ.อุดรธานี ก็อยากให้นายกฯ ยกเลิกไปก่อน

หลังใช้เวลาพูดคุยประมาณ 10 นาที ตัวแทนชาวบ้านจึงได้ยื่นหนังสือร้องเรียนให้กับนายเศรษฐา นายกรัฐมนตรี เมื่อรับหนังสือแล้ว นายกฯ พร้อมคณะก็เดินทางกลับไปทันที

ในหนังสือร้องเรียนของกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี มีเนื้อหาว่า

ที่ผ่านมารัฐบาลได้อนุมัติ อนุญาตออกประทานบัตรโครงการเหมืองแร่โปแตช ในภาคอีสาน ไปแล้ว 3 พื้นที่ ได้แก่ 1.) พื้นที่อ.บำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ 2.) พื้นที่อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา และ 3.) พื้นที่จังหวัดอุดรธานีดังกล่าว พร้อมทั้งเร่งรัดให้ผู้ประกอบกิจการเร่งดำเนินการขุดเอาแร่โปแตชขึ้นมาขายด้วยข้ออ้างด้านเศรษฐกิจ และเพื่อให้เกษตรกรได้ใช้ปุ๋ยในราคาที่ถูกลง

แต่กลับเพิกเฉย ละเลย ในประเด็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและผลกระทบต่อชุมชน ซึ่งโดยข้อเท็จจริง คือเหมืองทั้งหมดตั้งอยู่ในชุมชนและปรากฏผลกระทบเกิดขึ้นแล้ว ดังกรณีในพื้นที่อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา ได้เกิดปัญหาการแพร่กระจายของน้ำเค็ม ดินเค็มจากการทำเหมือง สู่แหล่งน้ำสาธารณะของชุมชน และบ้านเรือนราษฎรถูกเกลือกัดกร่อน ทรุด ผุพัง ตลอดจนเรือกสวนไร่นาได้รับความเสียหายอย่างรุนแรงจนยากแก่การแก้ไขเยียวยา กระทั่งไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่และทำมาหากินอย่างปกติสุขได้ดังเดิม

จะเห็นได้ว่า บทเรียนผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการทำเหมืองแร่โปแตช ในพื้นที่อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง นำโดย นายเศรษฐา  ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ต้องฟังเสียงของประชาชนผู้ได้รับความเดือดร้อนและนำไปสู่การหาแนวทางแก้ไข รวมทั้งป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำรอยขึ้นอีก

ดังนั้น กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี จึงกราบเรียนมาเพื่อขอให้ท่านได้โปรดพิจารณาทบทวนมติคณะรัฐมนตรี เพื่อยกเลิกโครงการเหมืองแร่โปแตช จังหวัดอุดรธานี และในภาคอีสาน ซึ่งมีปัญหามาตั้งแต่เริ่มต้น กล่าวคือกระบวนการขออนุญาตประทานบัตร ที่ไม่ดำเนินการให้เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติเอาไว้ จนนำไปสู่การฟ้องคดีปกครอง ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างกระบวนพิจารณาวินิจฉัยของศาล ณ ปัจจุบันนี้ด้วย

การเดินทางมาตรวจราชการภาคอีสานของนายกรัฐมนตรีและคณะในครั้งนี้ ยังได้เดินทางไปที่จ.สกลนคร ซึ่งเป็นอีกจังหวัดหนึ่งที่มีแหล่งแร่โปแตชมีศักยภาพสูงในประเทศไทย และอยู่ในแผนพัฒนาโครงการเหมืองแร่โปแตช ภาคอีสานด้วย ปัจจุบันบริษัท ไชน่า หมิ่งต๋า โปแตช คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ได้ยื่นคำขออาชญาบัตรพิเศษเพื่อสำรวจแร่ ในพื้นที่อ.วานรนิวาส จ.สกลนคร ประมาณ 120,000 ไร่ แต่ก็มีกลุ่มชาวบ้านลุกขึ้นมาคัดค้านเช่นเดียวกัน

โดยเมื่อวันที่ 18 ก.พ.ที่ผ่านมา นักปกป้องสิทธิ กลุ่มรักษ์อำเภอวานรนิวาส ทราบข่าวว่านายเศรษฐา  ทวีสิน นายกรัฐมนตรี พร้อมคณะจะลงพื้นที่มาตรวจราชการ ที่บริเวณอ่างน้ำห้วยโทง อ.วานรนิวาส  จึงได้ไปดักรอยื่นหนังสือร้องเรียนให้กับนายกฯ ที่นี่

เวลา 15.30 น. นายสมพาศ นิลพันธ์ ที่ปรึกษาสำนักงานปลัดนายกรัฐมนตรี ได้มาเจรจากับชาวบ้านว่า ตนเป็นตัวแทนนายกรัฐมนตรีที่มาจากสำนักนายกฯ รู้ว่าชาวบ้านต้องการยื่นหนังสือกับนายกฯ อยากให้ชาวบ้านยื่นหนังสือกับตนไปเลย แล้วให้บอกกับนายกฯ ว่าได้ยื่นหนังสือกับตนแล้ว ไม่เช่นนั้นเรื่องที่ยื่นจะหายเพราะตนเป็นศูนย์กลางในการรับเรื่องร้องทุกข์ แต่ถ้าไม่สบายใจก็รออยู่ตรงนี้เพื่อยื่นหนังสือกับนายกฯ ซึ่งกลุ่มรักษ์อำเภอวานรนิวาส ได้ยืนยันไปว่าต้องการยื่นกับมือนายกรัฐมนตรีเท่านั้น และกลุ่มก็ได้ทำการประสานกับนายอำเภอวานรนิวาสเพื่อให้อำนวยความสะดวกให้แล้ว

กระทั่งเวลาประมาณ 17.30 น. คณะของนายกรัฐมนตรีตรวจราชการแล้วเสร็จ ขณะที่นายเศรษฐา กำลังจะเดินไปขึ้นรถเพื่อเดินทางกลับ ตัวแทนกลุ่มรักษ์อำเภอวานรนิวาส ก็ได้มีโอกาสยื่นหนังสือต่อนายเศรษฐา และเล่าถึงสถานการณ์ปัญหาการทำเหมืองแร่โปแตช โดยเนื้อหาในหนังสือระบุว่า

กลุ่มทราบว่าบริษัท ไชน่า หมิ่งต๋า โปแตช คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ได้ยื่นคำขออาชญาบัตรพิเศษใหม่ในเขตพื้นที่เพื่อขุดเจาะสำรวจแร่โปแตชอีกครั้ง ตลอดระยะหลายปีที่ผ่านมากลุ่มได้ติดตามสถานการณ์การขุดเจาะสำรวจแร่โปแตชในพื้นที่พบประเด็นปัญหาสำคัญ ดังนี้ (1) การขุดเจาะสำรวจแร่โปแตชของบริษัทฯ มีการทำผิดข้อตกลงท้ายอาชญาบัตรพิเศษ ในข้อที่ 6 พบว่ามีการเข้าเจาะสำรวจในพื้นที่ที่ไม่ได้รับอนุญาต (2) การขุดเจาะสำรวจแร่โปแตชของบริษัทฯทำให้ประชาชนวานิวาสเกิดความหวาดกลัวที่จะเกิดผลกระทบจากขั้นตอนการขุดเจาะสำรวจและการทำเหมืองใต้ดินในอนาคต (3) การเข้ามาของบริษัทฯทำให้เกิดความแตกแยกภายในชุมชน ทั้งยังมีการกระทำที่เข้าข่ายละเมิดสิทธิมนุษยชน ด้วยการฟ้องปิดปาก (SLAPP) กลุ่มผู้คัดค้าน และ (4) ตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 ได้ระบุการบริหารจัดการแร่ต้องอยู่ภายในเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมือง ดังนั้นต้องทำตามขั้นตอนพระราชบัญญัติแร่ใหม่ ที่ระบุให้มีการทำข้อมูล ตามมาตรา 16 ให้ครบถ้วน คือ การประเมินคุณค่า ทางเศรษฐกิจและสังคม ผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และต้องกันเขตพื้นที่ต้องห้ามตามมาตรา 17 วรรคสี่ ออก ซึ่งที่ผ่านมาก็ไม่ได้มีการทำข้อมูลดังกล่าวแต่อย่างใด จึงให้นายกรัฐมนตรีมีคำสั่งยกเลิกการยื่นคำขออาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่และทำเหมืองแร่โปแตช ในพื้นอำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร โดยเด็ดขาด

ระหว่างยื่นหนังสือนางสมบูรณ์ ดวงพรมยาว ตัวแทนกลุ่มรักษ์อำเภอวานรนิวาส ก็ได้กล่าวย้ำต่อนายเศรษฐาว่า การทำเหมืองแร่โปแตชเป็นอุตสาหกรรมที่ใหญ่มาก พวกตนกังวลว่าจะเกิดแผ่นดินเค็ม กระทบถึงพื้นที่ทางการเกษตร ชุมชนจึงไม่ต้องการให้มีการทำเหมืองแร่โปแตชเกิดขึ้นในพื้นที่อ.วานรนิวาส และจะคัดค้านการทำเหมืองแร่โปแตชให้ถึงที่สุด

“กลุ่มรักษ์อำเภอวานรนิวาส จะยังคงยืนหยัดเพื่อปกป้องพื้นที่อ.วานรนิวาส ไม่ให้มีการทำเหมืองแร่โปแตชโดยเด็ดขาด เพราะหากมีการทำเหมืองแร่โปแตชเกิดขึ้นหายนะครั้งยิ่งใหญ่ก็จะเกิดขึ้นกับคนวารนนิวาสอย่างแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบต่อวิถีชีวิต ระบบนิเวศ สิ่งแวดล้อม สุขภาพ และอาชีพของคนในพื้นที่ ซึ่งในประเทศไทยได้มีตัวอย่างผลกระทบจากการทำเหมืองแร่โปแตชในเห็นแล้วที่อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา” นางสมบูรณ์ กล่าว

ปัจจุบันได้มีบริษัทเอกชน มากกว่า 40 บริษัท ยื่นขออาชญาบัตรพิเศษและประทานบัตรทำเหมืองแร่โปแตช ครอบคุลมพื้นที่ 10 จังหวัดภาคอีสาน อาทิ อุดรธานี สกลนคร มหาสารคาม กาฬสินธุ์ ขอนแก่น ชัยภูมิ นครราชสีมา เป็นต้น รวมพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 3,500,000 ไร่ โดยในจำนวนนี้มีบริษัทได้รับใบอนุญาตประทานบัตรแล้ว 3 บริษัท ได้แก่

1.) บริษัท เหมืองแร่โปแตชอาเซียน จำกัด (มหาชน) ในอ.บำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ พื้นที่จำนวน 9,700 ไร่ แผนการผลิต 1.1 ล้านตันต่อปี  2.) บริษัท ไทยคาลิ จำกัด ในอ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา พื้นที่จำนวน 9,005 ไร่ แผนการผลิต 1 แสนตันต่อปี และ3.) บริษัท เอเซีย แปซิฟิค โปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ บริษัท อิตาเลียนไทยฯ  ในอ.เมือง และอ.ประจักษ์ศิลปาคม จ.อุดรธานี พื้นที่จำนวน 26,446 ไร่ แผนการผลิต 2 ล้านตันต่อปี

อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เคยกล่าวหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ได้สั่งการในเรื่องเหมืองโปแตช โดยขอไปเร่งรัดให้ผู้ได้รับสัมปทานเหมืองแร่โปแตชทั้ง 3 ราย ดำเนินการขุดเจาะแร่โปแตช เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีการดำเนินการเลย และหากไม่สามารถทำได้ ก็ให้ดำเนินการหาผู้รับประมูลรายใหม่เข้ามาดำเนินการเหมืองแร่โปแตช

“โปแตชเซียมถือว่าเป็นสารตั้งต้นสำคัญของการทำปุ๋ยเคมี และประเทศไทยมีโปแตชมากเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากแคนาดา สารนี้เมื่อขุดเจาะมาแล้ว สามารถนำไปขายได้ ให้ราคาได้ดีในต่างประเทศ มีความต้องการสูงที่ประเทศจีน ปัจจุบันนี้มีผู้ได้รับสัมปทานแล้ว 3 ราย แต่ยังไม่มีการดำเนินงานเลย ฉะนั้น เรื่องนี้จึงให้ไปเร่งรัดว่า ต้องมีการดำเนินงาน ถ้าไม่สามารถทำได้ ก็ให้หาผู้รับประมูลมาทำงานใหม่อีกที”นายเศรษฐา กล่าว

(อ้างอิง : https://www.isranews.org/article/isranews-news/123550-gov-PM-mining-Potash-news.html)

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ