ประเพณี “ผีสุ่ม” จากลูกหลานชาวชัยภูมิถึงบรรพบุรุษผู้ล่วงลับ

ประเพณี “ผีสุ่ม” จากลูกหลานชาวชัยภูมิถึงบรรพบุรุษผู้ล่วงลับ

ภาคอีสานเป็นพื้นที่ที่ความเชื่อแบบท้องถิ่นหรือความเชื่อเรื่องผียืดครองมาก่อน แม้ว่าในตอนหลังจะมีคติแบบพราหมณ์และพระพุทธศาสนาเข้ามาเผยแผ่ แต่ความเชื่อเรื่องผีก็มิได้สูญหายหรือลดความสำคัญลง แต่มีการผสมผสานที่เป็นลักษณะพิเศษระหว่างความเชื่อที่หลากหลายทั้งพราหมณ์ พุทธและผีซึ่งปรากฏอยู่ในวิถีชีวิตที่กลมกลืนอย่างไม่สามารถแยกออกจากกันได้ชัดเจน

ผีจึงเป็นสัญลักษณ์แทนอำนาจเหนือธรรมชาติที่ยังมีความสำคัญมากของชาวอีสาน ความเชื่อเรื่องผีผูกพันอยู่กับการดำเนินชีวิตของคนอีสานในทุกช่วงขณะของชีวิต ดังเช่น พิธีกรรมต่าง ๆ ตลอดทั้งปีหรือที่เรียกว่า ฮีตสิบสอง เพื่อการปฏิบัติตามจารีตประเพณีของสังคม การประกอบอาชีพทางการเกษตรที่มีความเชื่อเกี่ยวกับผีเข้ามาเชื่อมโยงการรักษาโรค หรือพิธีสู่ขวัญ แต่งแก้เสียเคราะห์ที่นำมาซึ่งความรู้สึกมั่นคงทางจิตใจ และพิธีกรรมการเซ่นไหว้บูชาผีปู่ตาหรือผีบรรพบุรุษที่จัดขึ้นอย่างสม่ำเสมอทุกปี พิธีกรรมเหล่านี้สะท้อนให้เห็นการผสมผสานกลมกลืน ระหว่างความเชื่อเดิมในท้องถิ่นกับความเชื่อกระแสหลักที่เข้ามาในภายหลังซึ่งมีการเลือกรับและปรับเข้าหากัน เป็นความเชื่อทับซ้อนในพื้นที่จนเป็นอัตลักษณ์เฉพาะของแต่ละท้องถิ่น

ที่ จ.ชัยภูมิ เองก็เช่นกัน ในช่วงบุญข้าวสาก หรือ บุญเดือน 10 ประเพณีของชาวอีสาน ลูกหลานจะไปทำบุญเพื่ออุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้กับบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว ส่วนผีที่ไม่มีญาติ ลูกหลานไม่ได้ไปทำบุญให้ จะไปขอรับส่วนบุญหรืออาหารจากผีตนอื่น แต่ด้วยความอับอาย เลยเอาสุ่มไก่มาคลุมหัวคลุมตัว จึงเป็นที่มาของการละเล่น “ผีสุ่ม“ เพื่อเตือนใจ ให้ลูกหลาน เมื่อถึงบุญข้าวสาก บุญเดือน 10 ให้กลับบ้านมาทำบุญใหญ่ ระลึกถึงบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว

มีผีสุ่มทั้งประเภทสวยงาม และประเภทความคิดสรรค์ จาก 15 หมู่บ้านของตำบลบ้านเล่า จัดขบวนแห่ ขบวนการละเล่น การแสดงของผีสุ่ม การทำบุญทำทาน อุทิศส่วนกุศลให้บรรพชน ที่ล่วงลับไปแล้ว แห่ขบวนผีสุ่ม ไปตามหมู่บ้านต่างๆ ในพื้นที่ตำบลบ้านเล่า ก่อนจะวกกลับมายังวัดสมศรี เพื่อร่วมกันนำข้าวสาร อาหารแห้ง ที่ได้รับบริจาคมารวมที่จุดรวมข้าสาก ทำพิธีถวายข้าสาก และอุทิศส่วนกุศลให้ผีบ้าน ผีปู่ย่าตายาย ผีไม่มีญาติ การละเล่นพื้นบ้านต่างๆ ตลอดทั้งวัน

ไฮไลท์ของการจัดแห่ผีสุ่มคือการนำอุปกรณ์ในการทำการเกษตรมาเคาะตี ให้เกิดจังหวะ แล้วร่วมกันเต้นรำ ผีสุ่มแต่ละตัวจะโยกย้าย สายเอว สายหัวที่ครอบด้วยผีสุ่ม รูปลักษณ์แปลกตาในเชิงสรรค์ สวยงาม ไปตามเส้นทางในหมู่บ้าน ซึ่งชาวบ้านต่างๆ จะออกมาร่วมทำบุญ นำเอาข้าวของ อาหาร น้ำดื่มมาให้ผีสุ่มที่แห่มากับขบวนแห่ พร้อมกับอธิษฐานแผ่เมตตาให้กับผีปู่ย่าของตน เจ้ากรรมนายเวร และผีไม่มีญาติทั้งหลาย โดยข้าวของที่นำมาวางไว้นั้น ทางญาติ ๆ จะแจ้งให้พระแม่ธรณีทราบไว้แล้วว่าเป็นของผีตนใด

ในงานวิจัยบทบาทของความเชื่อเรื่องผีต่อสังคมอีสาน ของวารสารศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต (2563) มีใจความสำคัญท่อนหนึ่งบอกว่า ความเชื่อเรื่องผีเป็นความเชื่อดั้งเดิมที่มีการปรับเปลี่ยนให้เข้ากับความเชื่อกระแสหลักหรือความเชื่อทางศาสนา ประกอบกับการปลูกฝั่งสั่งสอนจากรุ่นสู่รุ่น ผ่านการดำเนินชีวิต การขัดเกลาทางสังคม ประเพณีและพิธีกรรมที่มีความผูกพันอยู่ในทุกช่วงขณะของชีวิตของชาวอีสาน ปัจจุบันสังคมมีการเปลี่ยนแปลงไปทำให้ความเชื่อเรื่องผีและพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องปรับเปลี่ยนและต่อรองระหว่างความเชื่อดั้งเดิมและความเชื่อหรือวัฒนธรรมสมัยใหม่ผ่านการทำให้เป็นอุตสาหกรรมท่องเที่ยวหรือการนำวิธีการและรูปแบบที่ทันสมัยเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในพิธีกรรม

ซึ่งประเพณีและพิธีกรรมมีบทบาทที่การ แสดงถึงความกตัญญู การเคารพบูชา และตอบสนองความต้องการพื้นฐานทางด้านจิตใจหรือทำให้เกิดเชื่อมั่นในการดำเนินชีวิต นอกจากนั้นยังช่วยให้เกิดความสามัคคี ความผูกพันระหว่างบุคคลในชุมชน และเนื่องด้วยการส่งเสริมและความร่วมมือกันของหลายภาคส่วนในสังคมทั้งผู้นำในชุมชน สมาชิกในชุมชน ผู้นำด้านศาสนา การปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยในการอนุรักษ์ความเชื่อเรื่องผีที่ปรากฎผ่านประเพณีและพิธีกรรมของท้องถิ่น

ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่า ชาวอีสานยังให้ความสำคัญต่อความเชื่อและพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับผี เนื่องจากความเชื่อเรื่องผียังคงมีบทบาทสำคัญต่อสังคมและความพยายามและการ่วมมือกันเพื่ออนุรักษ์ประเพณีและพิธีกรรมของท้องถิ่นซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่ควรอนุรักษ์ให้คงอยู่ ความเชื่อเรื่องผีจึงสามารถดำรงอยู่ได้ในสังคมอีสานในปัจจุบันท่ามกลางโลกาภิวัตน์และวัฒนธรรมที่หลากหลาย

ประเพณีแห่ผีสุ่มเป็นประเพณีที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนานของชาวบ้านที่บ้านเสี้ยวน้อย ตำบลบ้านเล่า อำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ ซึ่งจะจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 9–10 กันยายน 2566 ปีนี้เป็นการจัดงานที่ยิ่งใหญ่ โดยในวันที่ 9 กันยายน 2566 จะมีขบวนแห่ผีสุ่มเพื่อบอกกล่าวและบอกบุญที่บริเวณชุมชนตลาดในเขตเทศบาลเมืองชัยภูมิ โดยเริ่มต้นจากหน้าอนุสาวรีย์เจ้าพ่อพญาแล ไปตามถนนบรรณาการ ถึงสี่แยกเลี้ยวขวาไปตามถนนโนนม่วง ถึงสี่แยกโรงเลื่อยเลี้ยวขวาผ่านมูลนิธิ สว่างคุณธรรม ถึงสี่แยกหนองบ่อ เลี้ยวขวาผ่านตลาดสดเทศบาล และสิ้นสุดขบวนแห่ที่อนุสาวรีย์เจ้าพ่อพญาแล ในระหว่างขบวนแห่ผ่านก็ขอเชิญชวนผู้สนใจร่วมทำบุญกับผีสุ่ม โดยนำข้าวสาร อาหารแห้ง ใส่ในตะกร้าผีสุ่มเพื่อนำไปทำพิธีอุทิศส่วนกุศลให้กับญาติผู้ล่วงลับที่วัดสมศรี

ส่วนวันที่ 10 กันยายน เริ่มตั้งแต่เวลา 06.30 น. พิธีไหว้ผีบ้าน ผีปู่ย่าตายาย บวงสรวงผีสุ่มและทำบุญบุญเดือนสิบ บุญข้าวสาก บริจาคทานให้กับญาติ ผู้ล่วงลับ จากนั้นจะเป็นขบวนแห่ผีสุ่มของชาวบ้านทั้ง 15 หมู่บ้านของตำบลบ้านเล่า และจากตำบลใกล้เคียง ตั้งต้นจากโรงเรียนบ้านเสี้ยวน้อยไปยังวัดสมศรี เพื่อเข้าสู่พิธีเปิดงานประเพณีแห่ผีสุ่ม บุญเดือนสิบ นอกจากนี้ยังมีการแสดงเล่าขานตำนานผีสุ่ม การประกวดชุดผีสุ่ม ประกวดวาดภาพ สาธิตการทำหน้ากากผีสุ่ม พร้อมตลาดนัดชุมชน สอยดาวชิงโชคชิงรางวัล

ขอบคุณข้อมูลจาก นที นิลกลัด

บทความวิชาการ บทบาทของความเชื่อเรื่องผีต่อสังคมอีสาน (วารสารศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต (2563))

เรียบเรียงโดย ธันวา ศรีสุภาพ

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ