9 ข้อเสนอถึงรัฐบาล สมัชชาป่าไม้ภาคพลเมือง 2566 ย้ำสิทธิชุมชนคือสิทธิพื้นฐานเพื่อการจัดการป่า

9 ข้อเสนอถึงรัฐบาล สมัชชาป่าไม้ภาคพลเมือง 2566 ย้ำสิทธิชุมชนคือสิทธิพื้นฐานเพื่อการจัดการป่า

การประชุมเวทีสมัชชาป่าไม้ภาคพลเมือง ปี 2566 และข้อเสนอต่อรัฐบาลใหม่ เมื่อวันที่ 14-15 กันยายน 2566 ณ ห้องไมดาส 1 โรงแรมไมด้า ดอนเมือง แอร์พอร์ต โดยเครือข่ายป่าไม้ภาคพลเมือง หรือ Citizen Forest Network จาก 38 จังหวัดและศูนย์วนศาสตร์ชุมชนเพื่อคนกับป่า ประเทศไทย  (RECOFTC Thailand) ภายใต้การสนับสนุนจากกองทุนรวมธรรมาภิบาลไทย (THAI CG Fund)

นิพนธ์ วงศ์กาฬสินธุ์ คณะกรรมการป่าชุมชนสกลนคร และเด่นนภา สกลธนาวัฒน์ เครือข่ายป่าไม้ภาคพลเมือง จ.ประจวบคีรีขันธ์ เป็นตัวแทนสมัชชาป่าไม้ภาคพลเมือง 2566 ในการนำเสนอเนื้อหา ความคิดเห็นของภาคประชาสังคม ชุมชนและพลเมือง ต่อสถานการณ์ป่าไม้และสิทธิชุมชน และข้อเสนอ 9 ประการ จากการระดมความคิดของผู้เข้าร่วมเวทีสมัชชาฯ ต่อรัฐบาลใหม่ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน

นิพนธ์ วงศ์กาฬสินธุ์ กล่าวว่า เวทีสมัชชาป่าไม้ภาคพลเมืองนี้ เป็นเวทีประจำปีที่องค์กรภาคประชาสังคมและชุมชนที่ทำงานในเรื่องป่าชุมชน ซึ่งครอบคลุมป่าประเภทต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นป่าอนุรักษ์ ป่าชายเลน ป่าชุมชนตาม พ.ร.บ.ป่าชุมชน และที่ดินทำกินในพื้นที่ป่าของรัฐ ได้มาร่วมแลกเปลี่ยนเพื่อติดตามสถานการณ์และสะท้อนความคิดเห็นต่อการดำเนินงานเรื่องป่าชุมชน และจัดทำข้อเสนอเพื่อนำเสนอต่อภาครัฐ เพื่อส่งเสริมสิทธิของชุมชนและพลเมืองในการมีส่วนร่วมในการจัดการป่าไม้ทุกประเภท และเพื่อให้เกิดความเท่าเทียมในกระบวนการตัดสินใจและบริหารจัดการทรัพยากรป่าไม้แก่คนทุกกลุ่ม

ในเวทีสมัชชาฯ ครั้งนี้ พวกเราได้เริ่มจากการสะท้อนความคิดเห็นต่อสถานการณ์ ทั้งด้านนโยบาย กฎหมาย และกระแสความเปลี่ยนแปลงของสังคมและทุน พวกเรามีความเห็นว่า ช่วงเวลา 4 ปี ที่ผ่านมา เป็นช่วงที่การมีการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญทางด้านกฎหมายป่าไม้ รวมถึงการเกิดขึ้นมาของ พ.ร.บ.ป่าชุมชน ความเปลี่ยนแปลงนี้เป็นสัญญาณหนึ่งของการยอมรับว่า “คนกับป่า” คือสิ่งที่เป็นไปได้

อย่างไรก็ดี ในขณะที่เรามีความก้าวหน้าทางด้านการบัญญัติ พ.ร.บ.ต่าง ๆ  เรากลับพบกับข้อจำกัดและข้อน่ากังวลเกี่ยวกับกฎหมายลำดับรอง ซึ่งมีการกำหนดระเบียบมากมายที่ซับซ้อน ไม่สอดคล้องกับการปฏิบัติจริงและทำให้การดำเนินงานต่าง ๆ ล่าช้า ชุมชนในหลายพื้นที่จึงยังคงตกอยู่ในสถานะที่คลุมเครือและขาดการรับรองสิทธิที่สมควรจะได้รับตามกฎหมาย  นอกจากนี้ ยังพบว่าระเบียบข้อบังคับบางส่วน เช่น มาตรา 65 ของ พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาตินั้นขัดแย้งกับกฎหมายหลัก ทำให้ชุมชนไม่สามารถใช้ประโยชน์จากทรัพยากรป่าไม้ได้ตามสิทธิที่กฎหมายระบุไว้

นอกจากนี้ ยังพบว่าบุคคลที่มีหน้าที่ตามกฎหมายและตัวชุมชนเองนั้นยังขาดความรู้และความเข้าใจต่อเนื้อหาในกฎหมาย และยังไม่ได้รับการพัฒนาศักยภาพอย่างเต็มที่ต่อการปฏิบัติงาน รวมถึงยังขาดการส่งเสริมให้มีการจัดทำแผนการจัดการป่าชุมชนที่สอดคล้องกับบริบทและการใช้ประโยชน์ของชุมชน ในขณะที่รายละเอียดข้อกำหนดด้านการใช้ประโยชน์นั้นมีความยุ่งยากไม่เอื้อต่อการสร้างฐานเศรษฐกิจของชุมชนจากป่าชุมชนและวิถีชีวิต

อีกทั้งยังมีพื้นที่ที่เคยเป็นป่าชุมชนที่เข้มแข็งในพื้นที่ “ป่าชายเลน” ซึ่งตกอยู่ในภาวะสุญญากาศ และ “สิทธิของชุมชน” ในการจัดการป่าต้องขาดหายไปและขาดความชัดเจน ส่วนหนึ่ง เกิดจากการแยกการทำงานระหว่างกรมและการบริหารของภาคราชการ นอกจากนี้ ป่าชายเลนเป็นพื้นที่ที่ถูกบริหารและควบคุมอยู่ด้วยกฎหมายอย่างน้อย 3 ฉบับ ซึ่งรับผิดชอบโดยหน่วยงานรัฐที่แตกต่างกัน

ขณะเดียวกัน การบังคับใช้กฎหมายกับชุมชนนั้นมีความเข้มงวด ทำให้พื้นที่สาธารณะของชุมชนที่เคยได้ใช้ประโยชน์ร่วมกันถูกทวงคืน แต่ด้านหนึ่งกลับมีการจัดสรรพื้นที่ป่าชายเลนที่รัฐทวงคืน ไปให้กับเอกชน เพื่อทำโครงการฟื้นฟูและโครงการคาร์บอนเครดิตโดยขาดการมีส่วนร่วมของชุมชน

ที่สำคัญ เราพบกับสภาวะความแปรปรวนของธรรมชาติที่หนักหน่วงยิ่งขึ้น ภาวะภัยแล้ง ฝนฟ้าไม่ตกต้องตามฤดูกาล ชุมชนชายเลนพบว่าระดับน้ำทะเลนั้นเพิ่มสูงขึ้นและอาจกระทบต่อที่อยู่อาศัยของชุมชนชายฝั่ง แต่การหนุนเสริมให้ชุมชนเหล่านี้เข้าถึงความช่วยเหลือในการรับมือกับภัยธรรมชาติจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกลับไม่ได้ถูกจัดเป็นงานที่ได้รับความสำคัญเป็นอันดับต้น

ส่วนชุมชนที่กำลังรอการดำเนินงานจัดสรรที่ดินภายใต้นโยบายคณะกรรมการที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ซึ่งมีที่ดินมากถึง 12.5 ล้านไร่นั้น พบว่ามีจำนวนชุมชนที่ได้รับเอกสารยืนยันสิทธิเป็นอัตราส่วนที่น้อยมากราวร้อยละ 5 เท่านั้น การดำเนินการยังคงขาดการให้ข้อมูลแก่ชุมชนอย่างทั่วถึง  และเงื่อนไขการดำเนินการและการใช้ที่ดินนั้นซับซ้อนมาก สิทธิการจัดการไม่ได้ถูกส่งต่อสู่ชุมชน และการกำกับการใช้ประโยชน์จากที่ดินและต้นไม้ที่ปลูกขึ้นในพื้นที่นั้นยังคงเต็มไปด้วยขั้นตอนที่ยังไม่ถูกปลดล็อค

พวกเราตระหนักถึงสภาวะของสังคมที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยแต่ขาดการส่งต่องานป่าชุมชนสู่คนรุ่นใหม่ และบทบาทของผู้หญิงที่จะมีอำนาจสูงขึ้นในการจัดการป่าชุมชน แต่ด้วยภาระทางเศรษฐกิจและการดูแลครอบครัว และวัฒนธรรมที่ตีกรอบบทบาทของผู้หญิงนั้น ทำให้ผู้หญิงที่พึ่งพิงป่าไม่สามารถเข้ามามีส่วนร่วมตัดสินใจเรื่องการจัดการป่าชุมชนได้อย่างเต็มที่ สัดส่วนที่นั่งในการตัดสินใจอย่างเป็นทางการสำหรับเรื่องป่าชุมชนนั้น ยังมีจำนวนผู้หญิงเข้าไปร่วมในจำนวนน้อย

พวกเราได้เห็นความตื่นตัวของภาคธุรกิจต่อบทบาทของภาคป่าไม้ในการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะการจัดทำโครงการคาร์บอนเครดิต ในด้านหนึ่ง ถือเป็นเรื่องน่ายินดีที่จะเกิดความร่วมมือระหว่างภาคธุรกิจกับชุมชนที่ดูแลป่า แต่ในอีกด้านหนึ่ง พวกเราพบว่าชุมชนจำนวนมากไม่ได้มีโอกาสรับรู้ข้อมูลและเป็นส่วนหนึ่งของการตัดสินใจอย่างเต็มที่

โดยชุมชนได้สะท้อนว่าต้องการร่วมสนับสนุนในการประเมินผลดีผลเสียของการจัดทำโครงการคาร์บอนเครดิตด้วยข้อมูลที่ครบถ้วน มากกว่าข้อมูลด้านเดียว และต้องการได้รับการแบ่งปันผลประโยชน์ที่เป็นธรรม นอกจากนี้ กลไกการเงินเพื่อสนับสนุนป่าชุมชนนั้นไม่ควรมุ่งไปเพียงการจัดทำคาร์บอนเครดิต แต่ควรมีเครื่องมือหลากหลายที่ทำให้ชุมชนเข้าถึงได้ง่ายและได้รับประโยชน์อย่างชัดเจน

นิพนธ์ กล่าวว่า ณ เวทีสมัชชาป่าไม้ภาคพลเมือง ปี 2566 นี้ ได้มีการแลกเปลี่ยนและร่วมกันกำหนดเป้าหมาย สิ่งที่ต้องการดำเนินการต่อไปในอนาคต โดยสิ่งที่พวกเราคาดหวัง คือการขับเคลื่อนงานผลักดันให้ “สิทธิชุมชน” ในการจัดการป่านั้นเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของชุมชนในทุกพื้นที่ป่า และมุ่งเน้นการทำงานเชิงพื้นที่ โดยครอบคลุมที่ดินป่าไม้ทุกประเภท หรือที่เรียกว่าภูมิทัศน์ป่าไม้ เพื่อทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชนนั้นสามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่งเสริมการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ และการสร้างเศรษฐกิจที่มั่นคงได้อย่างครอบคลุม             

พวกเรายังต้องการยกระดับการจัดการป่าของชุมชน โดยทำให้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิของชุมชน ขยายผลการทำงานออกไปในวงกว้าง และสร้างความร่วมมือกับภาคธุรกิจบนฐานความร่วมมือที่เท่าเทียมกัน เพื่อทำให้ป่าชุมชนเป็นแหล่งงานและรายได้ โดยที่ผู้หญิงและคนรุ่นใหม่นั้นได้เข้ามามีส่วนร่วมผลักดัน นอกจากนั้นยังต้องนำเครื่องมือและเทคโนโลยีการสื่อสาร และการตรวจสอบติดตามผลมาใช้สนับสนุนการทำงานของป่าชุมชน เพื่อสร้างระบบมาตรฐานการทำงานป่าชุมชน มีการสื่อสารและรายงานผลการทำงานสู่สาธารณะอย่างชัดเจน

จากนั้น เด่นนภา สกลธนาวัฒน์ กล่าวถึงข้อเสนอทางนโยบายและกฎหมาย และสิ่งที่ต้องการฝากถึงรัฐบาล นายกเศรษฐา ดังนี้

1. ในพื้นที่อนุรักษ์ ควรเร่งออกกฎหมายลูก มาตรา 64, 65 เพื่อทำให้เกิดความชัดเจนในการรับรองสิทธิและบังคับใช้กฎหมาย เนื่องจากการขาดความชัดเจนทางกฎหมายอาจนำไปสู่ปัญหาการรุกล้ำพื้นที่ โดยระหว่างนี้ รัฐควรมีมาตรการป้องกันปกป้องป่า ไม่ให้เกิดการบุกรุกเพิ่ม ไม่ควรกำหนดอนุบัญญัติที่ขัดแย้งกับกฎหมายแม่ และควรมอบอำนาจในการอนุมัติอนุญาตแก่เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ เช่น หัวหน้าอุทยานหรือเจ้าหน้าที่ภาคสนามที่อยู่ใกล้ชิดกับชุมชน แทนการส่งเรื่องเข้าส่วนกลาง เพื่อทำให้การดำเนินงานนั้นรวดเร็วและมีความเข้าใจบริบทพื้นที่

2.พื้นที่คทช. ซึ่งมีจำนวนมากถึง 12.5 ล้านไร่ นั้น ควรมีการตั้งเป้าที่ชัดเจนว่าจะสามารถดำเนินการให้ลุล่วงในจำนวนเท่าไร และมีการกำหนดระยะเวลาที่จะดำเนินการเสร็จให้ชัดเจน รวมถึงยกเลิกเงื่อนไขที่ยิบย่อยมากเกินไปที่อาจก่อภาระกับเจ้าหน้าที่และชุมชน อาทิ การยกเลิกการใช้เกณฑ์ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำในการจัดสรรที่ดินทำกิน และเงื่อนไขในการใช้ที่ดิน และควรมีการสนับสนุนบทบาทขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่นในการสำรวจการถือครอง ซึ่งเป็นภารกิจที่มีความสอดคล้องกัน

3.ควรปรับปรุงให้กฎหมายป่าชุมชนเป็นกฎหมายที่อยู่บนฐานสิทธิชุมชน ควรมีการปรับปรุงกฎหมายแม่และกฎหมายลูก เพื่อลดความยุ่งยากและเงื่อนไขที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง ซึ่งจะเป็นภาระทั้งต่อเจ้าหน้าที่รัฐและชุมชน

4.ควรมีการปรับปรุงกฎหมายทางทะเล ซึ่งกฎหมายบางอย่างเป็นการบังคับที่มากเกินไป เช่น การห้ามเรือประมงขนาดเล็กใช้เครื่องมือจับสัตว์น้ำหลายประเภท ควรยกเลิกโครงการก่อสร้างที่จะไปทำลายระบบนิเวศชายฝั่ง และแก้ไขพ.ร.บ.อุทยานทางทะเล มาตรา 65 ซึ่งในปัจจุบันมีการกำหนดขอบเขตของการเก็บหา ซึ่งไม่เอื้อให้ชุมชนสามารถเก็บหาทรัพยากรที่ทดแทนได้

5.ควรทำนโยบายการส่งเสริมการจัดทำป่าชุมชนในพื้นที่ชายเลน ให้ได้รับการรับรองอย่างถูกต้องโดยกฎหมายและได้รับสิทธิประโยชน์

6.รัฐควรยกเว้นการส่งเสริมโครงการคาร์บอนเครดิตที่ทำลายความหลากหลายทางชีวภาพและการฟอกเขียว และกำกับให้ภาคธุรกิจที่จะชดเชยคาร์บอนจากภาคป่าไม้นั้นทำการลดหรือมุ่งมั่นที่จะลดจากภาคการผลิตของตนเองก่อนที่จะใช้ภาคป่าไม้ชดเชยทางเดียว รวมถึงสร้างความเป็นธรรมในการแบ่งปันผลประโยชน์และการปรึกษาหารือกับชุมชนอย่างครบถ้วนก่อน

7.รัฐควรจัดสรรงบประมาณในการสนับสนุนแผนการจัดการป่า ดังนั้น ต้องมีกองทุนในการสนับสนุนชุมชนให้สามารถดำเนินการตามแผนได้ พร้อมกับทำให้งบประมาณที่นำมาใช้ในงานป่าไม้นั้นเกิดความโปร่งใสและตรวจสอบได้

8.ควรมุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นบนฐานทรัพยากรชีวภาพโดยใช้เทคโนโลยี ยกระดับให้สามารถไปได้ไกล สู่วิสาหกิจในท้องถิ่น

9.ควรมุ่งเน้นด้านการให้ความรู้และการพัฒนาศักยภาพแก่บุคลากร ทั้งภาครัฐและคณะกรรมการ ป่าชุมชนทั้งระดับจังหวัดและระดับชุมชน ให้มีความรู้เรื่องกฎหมายและการจัดการป่าชุมชนอย่างแท้จริง โดยรัฐสร้างความร่วมมือและเครือข่ายการพัฒนาศักยภาพร่วมกับภาคประชาสังคมเพื่อลดภาระของภาครัฐ และมีการจับมือกันทำงานระหว่างรัฐและชุมชน รวมถึงให้มีกลไกการทำงานร่วมกันระหว่างรัฐและชุมชน และกลไกการทำงานร่วมกันระหว่างรัฐ ประชาสังคม และชุมชน

“พวกเรา ในนามของภาคประชาสังคม ชุมชน และพลเมืองที่มารวมกันในเวทีสมัชชาป่าไม้ภาคพลเมืองนี้ ขอแสดงความตั้งใจและความยินดีที่จะร่วมมือทำงานกับภาครัฐและรัฐบาล ในฐานะของพลเมือง พวกเราต้องการมีส่วนร่วมดูแลและรักษาทรัพยากรป่าไม้ของประเทศให้คงอยู่ต่อไป และทำให้ภาคป่าไม้เป็นรากฐานที่สำคัญในการพัฒนาประเทศได้ตามที่ภาครัฐและทุกภาคส่วนคาดหวัง” เด่นนภากล่าว

ทั้งนี้ หลังจากการนำเสนอผลการประชุมฯ ได้มีการจัดวงเสวนา “ป่าชุมชน ความหมายและความสำคัญ และประเด็นฝากถึงรัฐบาลใหม่” โดยตัวแทนชุมชน ภาควิชาการ และภาคประชาสังคมจากป่าหลากหลายประเภท

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ