22 ม.ค. 2559 ชาวบ้าน 8 จังหวัดแม่น้ำโขง เตรียมยืนยันอุทธรณ์ ต่อศาลปกครองสูงสุด คดีที่ชาวบ้าน 37 คน ฟ้อง กฟผ.และ 4 หน่วยงานรัฐ กรณีการลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจากเขื่อนไซยะบุรี โดยมิชอบด้วยกฎหมาย ในวันจันทร์ที่ 25 ม.ค. 2559 เวลา 10.30 น ที่ศาลปกครองกลาง ถนนแจ้งวัฒนะ
หลังจาก เมื่อวันที่ 25 ธ.ค. 2558 ศาลปกครองมีคำพิพากษายกฟ้อง เพราะเห็นว่าเจ้าหน้าที่รัฐไม่ได้ละเลยต่อหน้าที่ ซึ่งนายนิวัฒน์ยืนยันว่าทางกลุ่มจะยื่นอุทธรณ์อย่างแน่นอน เพราะหากเกิดเขื่อนไซยะบุรีขึ้นในแม่น้ำโขง ก็จะทำให้มีอีกหลายเขื่อนเกิดขึ้นตามมา เช่น เขื่อนปากแบ่ง เขื่อนดอนสะโฮง อีกทั้งจะมีการอ้างกระบวนการขั้นตอน การแจ้งการปรึกษาหารือล่วงหน้า และข้อตกลง (Procedures for Notification, Prior Consultation and Agreement : PNPCA) ตามข้อตกลงแม่น้ำโขงปี 2538 มาใช้สร้างความชอบธรรม ทำให้ประชาชนกลายเป็นแค่หุ่นของรัฐ แต่เสียงของประชาชนกลับไม่ได้ถูกรับฟัง
ชาวบ้าน 8 จังหวัดแม่น้ำโขงยืนยันอุทธรณ์ต่อ ประกาศเรียกร้องยกเลิกกระบวนการ PNPCA (กระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้าและข้อตกลง) การันตีให้สร้างเขื่อนแม่น้ำโขง
Posted by นักข่าวพลเมือง (ThaiPBS) on Thursday, December 24, 2015
“ผิดหวังในคำพิพากษา” แต่ที่เสียใจที่สุดคือกระบวนการรับฟังที่ละเลยความเห็นของประชาชนคนเล็กคนน้อยถูกรับรอง… อ้อมบุญ ทิพย์สุนา ตัวแทนเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนตำบลลุ่มน้ำโขง 7 จังหวัดภาคอีสาน หนึ่งในผู้ฟ้องคดี
Posted by นักข่าวพลเมือง (ThaiPBS) on Thursday, December 24, 2015
ส.รัตนมณี พลกล้า ทนายความ สรุปคำพิพากษาคดีเขื่อนไซยะบุรี เจ้าหน้าที่รัฐไม่ได้ละเลยต่อหน้าที่ พิพากษายกฟ้อง
Posted by นักข่าวพลเมือง (ThaiPBS) on Thursday, December 24, 2015
ทั้งนี้ คดีเขื่อนไซยะบุรีถือเป็นคดีแรก ที่มีการพยายามใช้กฎหมายในไนการกำกับควบคุมการลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งจะสร้างผลกระทบข้ามพรมแดนสู่ชุมชนในประเทศไทย ในขณะที่อาเซียนกำลังเดินหน้าการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ
ทบทวนคดี
เมื่อวันที่ 24 มิ.ย.2557 ศาลปกครองกลางได้อ่านคำสั่งศาลปกครองสูงสุด ตามคำสั่งที่ 8/2557 ให้มีคำสั่งรับคำฟ้องไว้พิจาณาบางส่วน โดยศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัย ในข้อหาที่สาม ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 5 ปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และมติของรัฐบาล รวมทั้งการแจ้งข้อมูลและการเผยแพร่ข้อมูลอย่างเหมาะสม การรับฟังความคิดเห็นอย่างเพียงพอและจริงจัง และการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ สังคม ทั้งในฝ่ายไทยและประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งจะได้รับผลกระทบจากอันตรายข้ามพรมแดน ก่อนที่จะดำเนินการใดๆเกี่ยวกับการจัดซื้อไฟฟ้าโครงการเขื่อนไซยะบุรี
ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ผู้ฟ้องทั้ง 37 คน เป็นผู้มีส่วนได้เสียหรือได้รับผลกระทบโดยตรงและมากเป็นพิเศษกว่าบุคคล ทั่วไปที่ไม่ได้อยู่อาศัยหรือประกอบอาชีพในพื้นที่ 8 จังหวัดริมแม่น้ำโขง จึงเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนเสียหายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากการงดเว้นการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 5 และการแก้ไขหรือบรรเทาความเดือดร้อน หรือเสียหาย ที่ผู้ฟ้องคดีทั้ง 37 คน ได้รับ จำต้องมีคำบังคับโดยสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 5 ปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และมติของรัฐบาล รวมทั้งการแจ้งข้อมูลและการเผยแพร่ข้อมูลอย่างเหมาะสม รวมทั้งรับฟังความคิดเห็นอย่างเพียงพอและจริงจัง และประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และสังคมตามคำขอของผู้ฟ้องคดีทั้ง 37 คน ตามมาตรา 72 วรรค 1(2) แห่งพ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครอง และวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542
โครงการเขื่อนไซยะบุรีสร้างในแม่น้ำนานาชาติ ต้องปฎิบัติตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ เช่น PNPCA เนื่องจากเป็นกติกาที่ใช้ในการจัดการแม่น้ำนานาชาติร่วมกัน โครงการไซยะบุรีเป็นโครงการที่กั้นแม่น้ำที่อาจจะส่งผลกระทบต่อประเทศไทย ลาว กัมพูชา และเวียตนาม ซึ่งเป็นผลกระทบข้ามพรมแดน จึงทำให้ผู้ฟ้องคดีที่ฟ้องโดยใช้สิทธิชุมชนในการฟ้องคดีเป็นการใช้สิทธิ เพื่อคุ้มครองไม่ให้ตนได้รับผลกระทบ จึงใช้สิทธิในการฟ้องได้
ศาลจึงมีคำสั่งแก้คำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น เป็นให้รับคำฟ้องของผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 37 คน เฉพาะข้อหาที่ 3 ในส่วนที่ฟ้อง ขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 5 ปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และมติของรัฐบาล รวมทั้งการแจ้งข้อมูลและการเผยแพร่ข้อมูลอย่างเหมาะสม การรับฟังความความคิดเห็นอย่างเพียงพอและจริงจัง การประเมินผลกระทบ ด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และสังคม ไว้พิจารณา นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำสั่งของศาลชั้นต้น
ต่อมา วันที่ 25 ธ.ค. 2558 ศาลนัดอ่านคำพิพากษาคดี ผลการพิจารณาคดีคือ พิพากษายกฟ้อง สรุปได้ว่า โดยศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่าการเผยแพร่ข้อมูลการดำเนินการสัญญาชื้อขายไฟฟ้า เขื่อนไซยะบุรีบนเว็บไซต์ www.eppo.go.th และบนเว็บไซต์ของสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ถือได้ว่าได้มีการเผยแพร่ขอมูลการดำเนินการสัญญาชื้อขายไฟฟ้าเขื่อนไซยะบุรี ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 แล้ว ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 และที่ 5 (คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ และคณะรัฐมนตรี) จึงไม่ได้ละเลยต่อหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ กรณีการดำเนินการสัญญาชื้อขายไฟฟ้าเขื่อนไชยะบุรี และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และที่ 3 (การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และกระทรวงพลังงาน) จึงไม่ได้ละเลยต่อหน้าที่ตามมติของคณะรัฐมนตรีและดามรัฐธรรมนูญ กรณีการดำเนินการสัญญาชื้อขายไฟฟ้าเขื่อนไชยะบุรีเช่นกัน
อ่านสรุปคำพิพากษาได้ที่ http://www.mymekong.org/mymekong/?p=909
คำพิพากษาฉบับเต็ม http://www.mymekong.org/mymekong/?p=897