การเปิดตัวห้องสมุดและศูนย์โฮมฮักแม่น้ำโขง เป็นหนึ่งในกิจกรรมของเครือข่ายฮักแม่น้ำโขง(Hug Mekong Network) ในงาน รวมพลคนฮักแม่น้ำโขงครั้งที่ 2 เพื่อแสดงพลังเครือข่าย ณ ศูนย์โฮมฮักแม่น้ำโขง ณ จุดชมวิวพันโขดแสนไคร้ บ้านภูเขาทอง ต.บ้านม่วง อ.สังคม จ.หนองคาย ภายใต้ความร่วมมือกับองค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา (United States Agency for International Development – USAID) องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) สภาองค์กรชุมชนลุ่มน้ำโขง 7 จังหวัดภาคอีสาน สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต และภาคีเครือข่าย เพื่อให้ศูนย์ได้ทำหน้าที่เป็นบ้านหลังใหม่ของเครือข่ายฮักแม่น้ำโขง ซึ่งก่อตั้งขึ้นในเดือนสิงหาคม 2566 โดยได้รับการสนับสนุนจากโครงการแม่โขงเพื่ออนาคต (Mekong for the Future) ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง USAID และ WWF ที่มีจุดประสงค์เพื่อเพิ่มการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ เมื่อวันที่ 27-29 ก.พ. 2567 ที่ผ่านมา
เครือข่ายฮักแม่น้ำโขงจะเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างสองฝั่งแม่น้ำโขงให้เข้มแข็ง ผ่านความร่วมมือระหว่างประชาชน ภาคเอกชน และหน่วยงานภาครัฐที่มากขึ้น โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่ออนุรักษ์และพัฒนาทรัพยากรของแม่น้ำโขงอย่างยั่งยืน คำว่า
“ฮัก” ในภาษาไทยในทางภาคเหนือ-ตะวันออกเฉียงเหนือ และภาษาลาว สามารถแปลว่า “ความรัก” ได้ด้วย ชื่อของเครื่อข่ายดังกล่าวจึงสื่อถึงความรักอันลึกซึ้งของชุมชนที่มีต่อแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นสายใยหล่อเลี้ยงชีวิตของผู้คน
ผู้ทรงคุณวุฒิที่ให้เกียรติเข้าร่วมงานและร่วมแสดงความชื่นชมในความร่วมมือครั้งนี้ ได้แก่ ที่ปรึกษา รมต.ว่าการกระทรวงพลังงาน คุณอรพินทร์ เพชรทัตและคณะ นายชาญชัย คงทัน รองผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย ลินดา แมคเอลรอย รองผู้อำนวยการ USAID สำนักงานภาคพื้นเอเชีย นายวีรวิชญ์ เธียรชัยนันท์ ผู้อำนวยการโครงการแม่น้ำโขงเพื่ออนาคต และภาคีองค์กรภาคประชาสังคมซึ่งมาจาก สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต สถาบันชุมชนลุ่มน้ำโขง กลุ่มรักษ์เชียงคาน Green Community Alliance (GCA), สปป. ลาว, Lao National Resources & River Network สปป. ลาว โดยสมาคมเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนลุ่มน้ําโขง 7 จังหวัดภาคอีสาน เป็นผู้ดำเนินการจัดงานในครั้งนี้ รวม 3 วัน
“USAID ตระหนักดีว่า ในการเผชิญหน้ากับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงนั้น เราจำเป็นต้องทำงานร่วมกับผู้นำในชุมชนอย่างแข็งขัน เพื่อให้สามารถพัฒนาแนวทางการแก้ไขปัญหาร่วมกันได้อย่างยั่งยืน ซึ่งสิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเป็นการลงมือทำที่ท้องถิ่นเป็นผู้ริเริ่ม เป็นเจ้าของ นำไปปฏิบัติ และปรับให้เข้ากับบริบทเฉพาะของพื้นที่ที่เราทำงาน” ลินดา แมคเอลรอย รองผู้อำนวยการ USAID สำนักงานภาคพื้นเอเชีย กล่าว
“โครงการแม่โขงเพื่ออนาคต” เป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเป้าหมายภายใต้กรอบความร่วมมือหุ้นส่วนลุ่มน้ำโขง-สหรัฐฯ (Mekong-U.S. Partnership) ซึ่งประกาศไปเมื่อเดือนสิงหาคม 2563 และแสดงถึงความมุ่งมั่นของสหรัฐฯ ในเรื่องของความโปร่งใสและธรรมาภิบาล เพื่อยกระดับภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง โดยความร่วมมือผ่านโครงการต่าง ๆ เช่น โครงการแม่โขงเพื่ออนาคต ซึ่งช่วยเพิ่มความโปร่งใสและการแบ่งปันข้อมูลสำหรับความร่วมมือด้านการจัดการทรัพยากรน้ำในระดับภูมิภาค เสริมสร้างความสัมพันธ์แบบบูรณาการระหว่างภาครัฐและชุมชนท้องถิ่น และสร้างเครือข่ายข้ามพรมแดนเพื่อความพร้อมในการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
“ภายใต้พันธกิจร่วมของเราในการอนุรักษ์ทรัพยากรแบบมีส่วนร่วม การเปิดตัวเครือข่ายฮักแม่น้ำโขงสนับสนุนบทบาทสำคัญของเครือข่ายภาคประชาสังคมระดับภูมิภาคในการรับมือกับความท้าทายข้ามพรมแดนเพื่อรักษาความหลากหลายทางชีวภาพและการดำรงชีวิตของชุมชน เราร่วมกันวางแนวทางสู่อนาคตที่ทุกเสียงจะถูกรับฟัง และระบบนิเวศของแม่น้ำทุกแห่งจะได้รับการปกป้อง ทั้งนี้ก็เพื่อเฉลิมฉลองความหลากหลายอันอุดมสมบูรณ์ภายในระบบนิเวศและชุมชนของเรา” นายวีรวิชญ์ เธียรชัยนันท์ ผู้อำนวยการโครงการแม่โขงเพื่ออนาคต กล่าว
นายธีระพงษ์ โพธิ์มั่น ผู้แทนเครือข่าย Hug Mekong จากภาคเหนือ ได้บอกเล่าถึงทิศทางการขับเคลื่อนความร่วมมือในครั้งนี้ว่า ในระยะสั้นนี้ก็คาดหวังหลายด้าน ทั้งการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารและประสบการณ์ระหว่างกันเพื่อการทำงานและแก้ไขปัญหาในแต่ละพื้นที่มีประสิทธิภาพขึ้น สร้างกำลังใจในการทำงาน การพัฒนาศักยภาพการทำงานขององค์กรสมาชิก การระดมทุนร่วมกัน การร่วมกันสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายในระดับท้องถิ่นและประเทศ การเป็นองค์กรตัวแทนที่จะมีพลังมากขึ้นในการร่วมมือหรือต่อรองกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ในระยะยาวก็คาดหวังว่าเครือข่ายนี้จะขยายความร่วมมือและพัฒนาเป็นกลไกระดับภูมิภาคของคนลุ่มน้ำโขง ที่มีบทบาทในการเป็นองค์กรตัวแทนของภาคประชาสังคมลุ่มน้ำโขงร่วมกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทำงานตามประเด็นยุทธศาสตร์ของเครือข่ายที่วางไว้ เพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆตั้งแต่ระดับชุมชนไปจนถึงการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายในระดับต่างๆไปจนถึงระดับภูมิภาค นั่นเป็นความท้าทายขององค์กรเครือข่ายฮักแม่น้ำโขงที่ต้องเผชิญร่วมกันในเวลาอันใกล้
นอกจากนี้ในงานยังมีการจัดเสวนาวาระชูธงบทบาทเครือข่ายบนสายน้ำที่เปลี่ยนไป แลกเปลี่ยน สถานการณ์การตั้งรับปรับตัวของชุมชน และข้อเสนอทิศทางการแก้ไขปัญหา โดยเครือข่ายฮักแม่น้ำโขงที่เดินทางมาเข้าร่วมและผู้เชี่ยวชาญหลายด้านรวมทั้งตัวแทนจากหน่วยงานกรมประมง โดย นายประพันธ์ ลีปายะคุณ รองอธิบดีกรมประมงและคณะ ผู้แทนจากสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ดร.วินัย วังพิมูล ได้ร่วมเวทีเสวนาด้วย นอกจากผู้ร่วมงานจะเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ เบื้องต้นแล้ว ผู้เข้าร่วมงานยังได้เข้าร่วมกิจกรรมฟื้นฟูระบบนิเวศแม่น้ำโขง คือการร่วมกันปลูกต้นไคร้น้ำซึ่งเป็นพืชประจำถิ่นแม่น้ำโขงบริเวณพื้นที่พันโขดแสนไคร้ที่เริ่มทะยอยลดลงจากการเปลี่ยนแปลงที่มาจากปัญหาต่างๆ รวมทั้งการปล่อยลูกพันธ์ปลาคืนสู่แม่น้ำโขง ซึ่งมีปลายี่สกไทยเป็นหลัก จำนวน 20,000 ตัว อีกทั้งในงานนี้ยังมีกิจกรรมเชื่อมโยงผู้คนจากทั้งสองฝั่งแม่น้ำโขงในรูปแบบต่าง ๆ เช่น ตลาดชุมชน นิทรรศการภาพถ่าย การฉายหนังกลางแปลง และการแสดงดนตรีพื้นบ้าน โดยศิลปิน หมอลำ ดร.ราตรี ศรีวิไล หมอลำซิ่งประยุกต์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง ปี 2565 และ หมอลำสมพงษ์ มาพร นายกสมาคมศิลปินหมอลำจังหวัดหนองคาย และยังมีดนตรีอีสานร่วมสมัยจากศิลปินคนรุ่นใหม่ในงานที่จะมาปิดท้ายสำหรับภาคความบันเทิงของงานรวมพลคนฮักแม่น้ำโขงอีกด้วย
ภาพบรรยากาศงานรวมพลคนฮักแม่น้ำโขง