แม่น้ำสงคราม : ยามน้ำมาเอาปลามาฝาก ยามน้ำจากเอาปลาฝากไว้

แม่น้ำสงคราม : ยามน้ำมาเอาปลามาฝาก ยามน้ำจากเอาปลาฝากไว้

แม่น้ำสงคราม มีที่มาจาก “ต้นคราม” หรือที่คนท้องถิ่นเรียกว่า “ต้นคาม” เป็นไม้พุ่มมีความสูงประมาณ 4-6 ฟุต จะปรากฏขึ้นอยู่ทั่วไปในบริเวณแม่น้ำแห่งนี้ ชาวบ้านมักนิยมนำใบและต้นมาย้อมสีผ้า ซึ่งจะให้สีน้ำเงินเข้มเรียกว่าสีคราม โดยเฉพาะผ้าฝ้ายย้อมครามซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่นของชาวสกลนคร จนกลายมาเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชนที่สามารถสร้างรายได้และเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย

แม่น้ำสงคราม เป็นลำน้ำสาขาสายหลักของแม่น้ำโขง ตั้งอยู่ในขอบเขตลุ่มน้ำสงคราม แบ่งออกเป็นลุ่มน้ำสงครามตอนบน และลุ่มน้ำสงครามตอนล่าง มีพื้นที่ลุ่มน้ำรวมกันประมาณ  6,472 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 4,045,000 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ใน 5 จังหวัด คือ จังหวัดสกลนคร อุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ และนครพนม มีต้นกำเนิดจากเทือกเขาภูพาน บริเวณภูผาหัก ภูผาเพลิน และภูผาเหล็ก ในท้องที่ตำบลท่าศิลา อำเภอส่องดาว จังหวัดสกลนคร และตำบลคำเลาะ อำเภอไชยวาน จังหวัดอุดรธานี ก่อนจะไหลไปบรรจบกับแม่น้ำโขงที่บ้านไชยบุรีและบ้านตาลปากน้ำ ตำบลไชยบุรี อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม มีความยาวโดยประมาณ 420 กิโลเมตร นับว่าเป็นแม่น้ำสายสำคัญและมีความยาวที่สุดในเขตภูมิภาคอีสานตอนบน

เครือข่ายนักวิจัยไทบ้านลุ่มน้ำสงคราม อำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม ได้ทำงานวิจัยไทบ้านและสำรวจข้อมูลพบว่า บริเวณป่าบุ่งป่าทามดังกล่าว มีความหลากหลายของระบบนิเวศย่อย ถึง 28 ระบบ ได้แก่ กุด แก้ง ดง ดอน ทาม บุ่ง โพน วัง โสก ฯลฯ ซึ่งมีความเหมาะสมสำหรับเป็นที่อยู่อาศัยของพันธุ์ปลากว่า 124 ชนิด อาทิ ปลาบึก ปลากระเบนแม่น้ำโขง ปลาหมากผาง ปลาซิวแก้ว ปลาซิวแคระ ปลาซิวหางกรรไกรเล็ก ปลาเอินฝ้าย  ปลาข้าวสารแม่น้ำโขง ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีพรรณพืชในป่าทามที่ใช้ประโยชน์ได้จำนวนถึง 208 ชนิด พันธุ์นกชนิดต่าง ๆ ไม่ต่ำกว่า 136 ชนิด อาทิ เป็ดดำหัวดำ นกกระสาแดง นกอ้ายงั่ว เหยี่ยวตีนแดง เป็นต้น

นอกจากนี้บริเวณลุ่มน้ำสงครามตอนล่างยังมีเอกลักษณ์เฉพาะทางธรรมชาติที่เป็น “ป่าบุ่งป่าทาม” (Flood Forest) คือ มีป่าชนิดต่าง ๆ โดยเฉพาะป่าไผ่พื้นบ้าน ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า “ไผ่กะซะ” ขึ้นอยู่ตามที่ราบน้ำท่วมถึงริมแม่น้ำและห้วยสาขาที่ทนต่อน้ำท่วม 3-4 เดือน พื้นที่บริเวณนี้จึงกลายเป็นแหล่งวางไข่ เพาะพันธุ์ปลานานาชนิด รวมถึงการอนุบาลสัตว์น้ำต่างๆ ซึ่งจากความมหัศจรรย์ที่ธรรมชาติสร้างขึ้นนี้ได้นำมาซึ่งความหลากหลายทางชีวภาพและระบบนิเวศอันอุดมสมบูรณ์ จนถูกขนานนามว่า “มดลูกแห่งแม่น้ำโขง” และได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับนานาชาติ หรือ พื้นที่ชุ่มน้ำแรมซาร์ไซต์ (Ramsar Site) ลำดับที่ 2420 เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2562

วิถีการหาอยู่หากินของคนลุ่มน้ำสงคราม

ลักษณะดังกล่าวทำให้วิถีชีวิตของคนลุ่มน้ำสงครามมีความผูกพันกับแม่น้ำสงครามและป่าบุ่งป่าทามอย่างแยกกันไม่ออก สีสมพร  ทองนาง พรานปลาวัยเก๋า อายุ 64 ปี อดีตผู้ใหญ่บ้านท่าแร่ ตำบลโพนงาม อำเภออากาศอำนวย จังหวัดสกลนคร เล่าย้อนอดีตให้ฟังว่า

ตนเติบโตมากับแม่น้ำสงคราม เพราะตั้งแต่เกิดพ่อแม่ก็พามาทำมาหากินบริเวณนี้ สมัยนั้นหมู่บ้านท่าแร่ มีเพียง 7-8 หลังคาเรือน ซึ่งย้ายมาจากบ้านโพนงาม คือเอาวัวควายมาปล่อยเลี้ยงไว้ในป่าแล้วก็ทำกระท่อมเป็นเพิงพักอาศัยอยู่ก่อนจะสร้างบ้านเรือนถาวรและมีการขยายจนกลายเป็นหมู่บ้านจำนวน 51 หลังคาเรือนในปัจจุบัน โดยมีแม่น้ำสงครามเป็นแหล่งหาอยู่หากินหลักและคอยทำหน้าที่หล่อเลี้ยงผู้คนบนพื้นที่ลุ่มน้ำแห่งนี้จากรุ่นสู่รุ่น

ส่วนอาชีพหลักเคยทำนาปีแต่ไม่ได้ผล เพราะถึงช่วงฤดูน้ำหลากจะท่วมนาข้าวเสียหายหมดชาวบ้านจึงปรับเปลี่ยนการผลิตมาทำนาปรังในช่วงน้ำลด

“แม่น้ำสงครามหล่อเลี้ยงมาตลอด เพราะเป็นแม่น้ำสายหลักของหมู่บ้านเรา เวลาน้ำแก่งขึ้นมาท่วม (น้ำนองท่วมไปหมด) หมู่บ้านก็จะกลายเป็นเกาะเลย เหลือพื้นที่ประมาณ 80-100 ไร่ พอให้ควายเดินกินหญ้า เพราะน้ำจะเอ่อล้นดันมาจากน้ำโขง ฉะนั้นวิถีการหาอยู่หากินที่พ่อแม่พาทำมาก็คือหาปลาใส่เบ็ด วางตาข่าย หลังจากหาปลาน้ำลดก็ไปทำนาแซง (นาปรัง) เสร็จนาเราก็ลงหาปลาสลับกันไปมาอยู่แบบนี้ล่ะ”

หากจะพรรณนาถึงความอุดมสมบูรณ์ของแม่น้ำสงครามเมื่อก่อน ชาวบ้านที่นี่จะเปรียบเปรยว่า ถ้าเมียอยากจะกินปลาอยู่ที่บ้านให้ต้มน้ำรอไว้เลย ผู้เป็นผัวถือเบ็ด ถือตาข่าย เดินลงน้ำสงครามเพียงชั่วหม้อน้ำเดือดก็ได้ปลาชะโด ปลาค้าวตัวเขื่อง นำมาประกอบอาหารเป็นกับข้าวในมื้อนั้นอย่างอิ่มหนำสำราญ ซึ่งคนสมัยก่อนจะจับปลาแต่พอกินไม่มีคนซื้อคนขาย เพราะทุกคนต่างก็หาอยู่หากินในน้ำสงคราม

“วิถีชีวิตของชาวบ้านก็เป็นแบบนี้ แบบว่ามันสะดวกสบาย ก็คือว่า ‘ยามน้ำมามันเอาปลามาฝาก ยามน้ำจากกะเอาปลาฝากไว้’ หมายความว่าตอนน้ำมาปลาก็มากับน้ำตอนน้ำลดปลาก็ยังอยู่ชาวบ้านก็ได้มีปลากิน ไม่เพียงเฉพาะคนในชุมชนนี้นะพ่อว่า คนอุดรธานี หนองคาย นครพนม สกลนคร คือลูกหลานทั้งลุ่มน้ำสงครามได้มาหาอยู่หากิน”

แม้ว่าพ่อสีสมพรจะถอดหมวกผู้นำชุมชนที่สวมใส่มาแล้ว 4 ปี แต่ความทรงจำของวิถีพรานปลาไม่มีคำว่าเกษียณอยู่ในหัวเลย

การเข้ามาของการพัฒนาและผู้คนภายนอก

“แต่ก่อนขอกันกินเฉยๆ เพราะไม่มีที่จะขาย ไม่มีคนซื้อ คนแลก เอาตาข่ายมาดักล้อมตามป่าบุ่งป่าทามแล้วใช้ไม้ตีน้ำไล่ปลาก็ได้แล้ว 4-5 กิโลฯ ซึ่งเลือกจับเอาแต่ตัวใหญ่ๆ ถ้าได้ตัวเล็กจะปล่อยให้มันโตก่อนค่อยจับ สมัยนั้นทางรถทางเรือก็ไม่สะดวกมันเป็นหินเป็นทรายสัญจรไปมาลำบาก ไม่มีคนนอกเข้ามา ไม่มีเถ้าแก่มารับซื้อปลาเหมือนทุกวันนี้” อดีตผู้ใหญ่บ้านท่าแร่บรรยายให้เห็นภาพความมั่งคั่งและมั่นคงทางอาหาร ก่อนจะมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในชุมชน

เมื่อประมาณปีพ.ศ.2520 เริ่มมีการพัฒนาเข้ามาในหมู่บ้าน โดยทางการได้นำหินลูกรังมาเททำเป็นถนนให้รถและเกวียน สามารถสัญจรไปมาหาสู่กันได้ จึงเป็นจุดเริ่มต้นจากการหาอยู่หากินเป็นการทำมาค้าขายสร้างอาชีพและมีรายได้จากการหาปลา ซึ่งนับแต่นั้นมาก็ได้มีเถ้าแก่ขับรถมอเตอร์ไซค์ใส่ถังน้ำแข็งติดท้ายทยอยพากันเข้ามาซื้อปลาเพื่อไปขายที่ตลาดอำเภออากาศอำนวย หมู่บ้านท่าแร่จึงเป็นที่รู้จักโจษขานและทำให้คนรู้ว่าที่นี่มีปลา โดยเฉพาะบรรดาเถ้าแก่พ่อค้าแม่ค้าปลาทั้งหลาย

กระทั่งปีพ.ศ.2525 มีโครงการทำคลองส่งน้ำจากแม่น้ำสงครามไปถึงพื้นที่การเกษตรเรือกสวนไร่นาของชาวบ้าน ซึ่งทางการได้นำเครื่องสูบน้ำเข้ามาพร้อมกับการเดินเสาและสายส่งไฟฟ้า จากที่เคยจุดไต้ ใช้ตะเกียงเพื่อประทังความมืดมิดก็ทำให้หมู่บ้านท่าแร่ได้รับอานิสงส์มีไฟฟ้าใช้ และได้รู้จักคำว่าความเจริญที่ย่างกรายเข้ามากับวัตถุนิยมและผู้คนภายนอก

“พอมีพ่อค้าแม่ค้าเข้ามาซื้อปลาที่นี่ คนก็เริ่มลงหาปลาในน้ำสงครามกันมากขึ้นจากที่เคยจับแค่ 4-5 ตัว หรือเอามาพอกินในครอบครัว ก็กลายเป็นว่าต้องหาให้ได้เยอะๆ เหลือกินก็แบ่งขายได้เงินมาเอาไปซื้อพริก น้ำปลา ผงชูรส และเป็นค่าไฟ จนทุกวันนี้เขาทำกันเป็นอาชีพเลย อย่างเช่นลูกหลานผู้ใหญ่บ้าน (คนปัจจุบัน) เขาก็หาปลามาขาย”

ทุกวันนี้จะมีเถ้าแก่จากเมืองสกลฯ จากอุดรฯ เข้ามาติดต่อและแวะเวียนมารับซื้อปลากับพรานปลาถึงท่าแพของชาวบ้านไม่ได้ขาด

จากความมั่นคงทางอาหารสู่เศรษฐกิจฐานราก

แม่น้ำสงครามและป่าบุ่งป่าทามเป็นแหล่งทรัพยากรที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ เลี้ยงดูชุมชนรอบ ๆ มาอย่างยาวนาน และชาวบ้านได้พึ่งพาความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรในลุ่มน้ำสงคราม จนสร้างความมั่นคงด้านอาหาร และช่วยสร้างเศรษฐกิจชุมชนอีกด้วย เรียกได้ว่าจากยุคที่หาปลาเพื่อเอามาแบ่งปันลูกหลานกิน มาถึงยุคของการจับปลาเป็นล่ำเป็นสันเพื่อขายสร้างรายได้

ไพรัช  คุณบุราณ อายุ 55 ปี ผู้ใหญ่บ้านท่าแร่คนปัจจุบัน ซึ่งเป็นอีกคนหนึ่งที่สืบทอดอาชีพประมงพื้นบ้านและวิถีการพึ่งพาทรัพยากรในลุ่มน้ำสงครามมาจากบรรพบุรุษ โดยผู้ใหญ่ไพรัช เล่าให้ฟังว่า

แต่ก่อนไม่ได้ทำนาปรังทำแต่นาปีซึ่งก็เกิดปัญหาน้ำหลากมาท่วมเสียหายหมด ดังนั้นพ่อแม่จะพาลูก ๆ ลงหาปลาในแม่น้ำสงครามเพื่อนำมาแปรรูปย่าง แล้วเอาปลาย่างออกไปเร่หาแลกข้าวเปลือกมาสะสมเก็บไว้กินในแต่ละปี กระทั่งหลายปีต่อมาชาวบ้านที่นี่ก็เริ่มเรียนรู้ เข้าใจสภาพพื้นที่ และปรับวิถีการผลิตโดยการลงมือทำนาปรัง ปรากฏว่าได้ผลดีทำให้มีข้าวกินสลับกับการหาปลาขาย ชุมชนจึงมีความมั่นคงมากขึ้น

“ราคาปลาก็มีตั้งแต่กิโลกรัมละ 50-200 บาท เช่น ปลาขาวไทยตัวใหญ่ 50 บาท/กิโลกรัม ปลากด 120-150 บาท/กิโลกรัม แล้วแต่ขนาด และปลาเซือม (ปลาเนื้ออ่อน) 200 บาท/กิโลกรัม วันหนึ่งก็มีรายได้ประมาณ 1,000-2,000 บาท” ผู้ใหญ่ไพรัช ให้ข้อมูล

ทุกวันนี้ชาวบ้านท่าแร่เริ่มมีเงินมีทองขึ้นมาบ้านเรือนที่เคยเป็นเพียงเพิงพักหรือกระท่อมปลายนาก็ขยับขยายสร้างหลังใหญ่ขึ้น เครื่องมือจับปลาก็เช่นเดียวกันเพื่อเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการหาปลาให้ได้ปริมาณมากและเท่าทันต่อความต้องการของตลาดและเถ้าแก่ที่เข้ามารับซื้อ จึงเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมที่เคยใช้เบ็ด ใช้ตาข่าย โดยมีการประยุกต์ทำเป็นที่ดักปลาซึ่งชาวบ้านเรียกว่า ‘ขา’ คือ การนำไม้มาประกอบเป็นโครงสี่เหลี่ยมและมีตาข่ายปูที่พื้น ขนาดกว้างยาว 3 เมตร หรือ 5 เมตร แล้วแต่การออกแบบและวัสดุที่ใช้ประกอบ เมื่อได้โครงแล้วก็จะตัดกิ่งไม้มาใส่ให้เต็มเพื่อหลอกล่อให้ปลาเข้ามาอาศัยอยู่ ก่อนจะนำไปวางไว้ในจุดที่คาดว่าเป็นแหล่งปลาฉุกชุม

หลังจากขาถูกปล่อยลงในแม่น้ำสงครามเพื่อทำหน้าที่ดักปลาให้เข้ามาอยู่ ทิ้งไว้นาน 2-3 วัน หรือเป็นสัปดาห์ ขึ้นอยู่กับคนขยันหา เมื่อถึงเวลาเก็บกู้พรานปลาจะใช้แพล่องไปตามแม่น้ำจนถึงที่หมายก็เอาเชือกมัดและใช้รอกดึงขาขึ้นมา พอเก็บและแยกปลาเสร็จก็ปล่อยขาลงน้ำอีกแล้วไปขาอื่นต่อ ซึ่งชาวบ้านบอกว่าเครื่องมือหรือวิธีการจับปลาแบบนี้ไม่ผิดกฎหมายและถือว่าเป็นเชิงอนุรักษ์ด้วยซ้ำ เนื่องจากปลาจะเข้ามาอาศัยอยู่ชั่วคราวมีอิสระสามารถที่จะเข้าจะออกได้ตลอดเวลาตามธรรมชาติ ซึ่งไม่ได้ปิดตาย ขณะที่เราก็จับปลาเฉพาะตัวที่ติดขึ้นมากับขาเท่านั้น

ผู้ใหญ่ไพรัช มีแพหาปลา 1 ลำ และขาดักปลาจำนวน 10 หลัง เพื่อประกอบอาชีพประมงพื้นบ้านในแม่น้ำสงคราม ซึ่งเป็นรายได้หลักของครอบครัว ทุกครั้งที่เขาลงแพหาปลาก็จะมีลูกชายที่เป็นเรี่ยวแรงสำคัญและเรียนรู้ที่จะสืบทอดความเป็นพรานปลาต่อจากผู้เป็นพ่อติดตามไปด้วย

“วันนี้ได้ปลากด ปลาขาวไทย ปลานาง ปลาเซือม ปลาตอง ปลาก่า ปลาเสือ ฯลฯ เนื่องจากน้ำยังเยอะอยู่ปลาจึงไม่เข้าที่ดักเท่าไร แต่ก็ถือว่าได้หลายกิโลฯ ถ้าคิดเป็นเงินก็กว่า 1,000 บาท ซึ่งมีแม่ค้านัดจะเข้ามาเอาปลาตอนเย็น” ผู้ใหญ่ไพรัชกล่าว ขณะกำลังนำปลาส่วนหนึ่งไปประกอบอาหาร โดยที่เมียและลูกสะไภ้ของเขาง่วนอยู่กับการแยกปลาสำหรับขายและแพ็คใส่ถุงไว้ต่างหาก

ทุกวันนี้แม่น้ำสงครามยังมีความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศ รวมถึงในมิติสัมพันธ์ทางธรรมชาติป่าบุ่งป่าทาม และบ่อเกลือใต้แม่น้ำสงคราม ดังนั้นปลาแม่น้ำสงครามจึงเป็นที่หมายปองของคนทั่วไปที่จะได้ลิ้มรสสัมผัสความอร่อย ซึ่งกล่าวขานกันว่ามีความแซ่บเหนือกว่าปลาจากแหล่งน้ำอื่น   

ปลาน้ำสงครามกับบ่อเกลือหัวแฮด คือเคล็ดลับของความนัว

“ป่าบุ่งป่าทามมีความสำคัญกับสัตว์น้ำทุกอย่างและกับชีวิตของคนเราทั้งหมด เพราะว่าเราได้ใช้ทำประโยชน์หาอยู่หากิน ไม่ว่าจะเป็นหน่อไม้ พืชผัก ไข่มดแดง แมลงและสัตว์ต่าง ๆ ทุกสิ่งทุกอย่างอยู่ในป่าบุ่งป่าทามทั้งหมด ถึงฤดูวางไข่ปลาก็ได้ขึ้นมาวางไข่” ผู้ใหญ่ไพรัช อธิบายให้เห็นความเชื่อมโยงของระบบนิเวศในลุ่มน้ำสงคราม

บริเวณอำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม และอำเภออากาศอำนวย จังหวัดสกลนคร เป็นที่ลุ่ม โดยเฉพาะในตำบลโพนงาม และตำบลสามัคคี มีพื้นที่ป่าบุ่งป่าทามกว้างใหญ่ซึ่งเป็นไผ่กะซะหนาเต็มไปหมด จึงเป็นความสมดุลทางธรรมชาติที่ทำให้เกิดแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำที่สำคัญ นั่นก็คือเวลาน้ำหลากปลาจะหลบเข้าไปวางไข่ในป่าบุงป่าทาม ซึ่งช่วงเวลานี้เองคือการอนุบาลสัตว์น้ำต่าง ๆ ให้แพร่พันธุ์และเจริญเติบโต เนื่องจากคนไม่สามารถเข้าไปจับได้

“ป่าบุ่งป่าทามของบ้านผมนี้มีพื้นที่ 6,000 ไร่ ซึ่งจะมีป่าไผ่อยู่ประมาณ 4,000 ไร่ เป็นป่าไผ่หนาๆ เลย ช่วงน้ำท่วมปลาจะเข้าไปวางไข่ในนั้น และอยู่ตรงนั้น 2-3 เดือน ก่อนที่น้ำจะลดปลาโตหมดแล้ว และถึงเวลาน้ำลงปลาก็เยอะขึ้น”  

ปลาแม่น้ำโขงจะว่ายขึ้นมาอยู่แม่น้ำสงครามช่วงน้ำท่วมหรือฤดูวางไข่ พอน้ำลดก็จะว่ายกลับลงน้ำโขง ซึ่งว่ากันว่าถ้าปลาขึ้นมาอยู่ในน้ำสงครามเนื้อปลาจะเปลี่ยนเป็นอีกรสชาติและมีความอร่อยกว่า เนื่องจากว่าถัดขึ้นไปบริเวณบ้านท่าสะอาด อำเภอเซกา จังหวัดบึงกาฬ จะมีบ่อเกลือชื่อว่า ‘บ่อหัวแฮด’ ซึ่งดินเอียดและน้ำเกลือมีผลให้น้ำสงครามมีความกร่อย ดังนั้นเนื้อปลาน้ำสงครามจึงมีความแซบนัวตามไปด้วย

“ปลาน้ำสงครามเขาบอกว่าอร่อย เวลาแม่ค้าเอาไปวางขายเปรียบเทียบกันระหว่างปลาน้ำสงครามกับปลาเขื่อน ลูกค้าจะถามซื้อปลาน้ำสงครามก่อน เพราะปลาเขื่อนมันกินวัชพืชที่อยู่ในน้ำเขื่อนทำให้มันมีกลิ่น เอามาทำอาหารไม่ว่าจะต้ม หรือปิ้งย่างก็อร่อยต่างกัน ปลาเขื่อนเวลาเอาไปปิ้งจะแห้งกรอบเหมือนใบตองลองสังเกตดู” พ่อสีสมพร ผู้ซึ่งมีความผูกพันกับปลามาทั้งชีวิตให้ข้อมูลเสริม

หลังเสร็จจากฤดูกาลเก็บเกี่ยวตั้งแต่ปลายเดือนพฤศจิกกายน-ต้นธันวาคม คือช่วงหน้าแล้งชาวบ้านจะมีการต้มเกลือยาวไปจนกระทั่งถึงต้นเดือนพฤษภาคม หรือก่อนเข้าสู่ฤดูฝนและทำการผลิต ช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม น้ำสงครามจะกลายเป็นสีแดง สีขุ่น เพราะฝนตกน้ำจะเริ่มเอ่อขึ้น พวกปลาน้ำโขงก็จะรีบขึ้นมาก่อนช่วงฤดูน้ำหลาก และว่ายไปจนสุดสายแม่น้ำสงครามเพราะว่าปลาได้กลิ่นน้ำเค็ม เพื่อมากินส่าเกลือ (ดินเอียด) กินตะไคร่น้ำตรงที่เค็ม โดยเฉพาะพวกปลาบึกจะชอบมาก

“ปลาก็รู้วิถีของมันเหมือนคนเรานี่ล่ะ ถึงฤดูน้ำขึ้นมันจะรีบมาเลย ชาวบ้านก็จะพากันมาใส่เบ็ดใส่ตาข่ายดักไว้ เมื่อปีกลายพ่อได้เกือบ 30 กิโลกรัม และปีก่อนเคยได้ตัวเดียวหนักถึง 40 กิโลกรัม” พ่อสีสมพร อธิบายต่อ

ทุกอย่างผูกพันกันทั้งหมด คือมีบ่อเกลือ และมีการต้มเกลืออยู่ข้างบน เราก็ไปเอาเกลือมาทำปลาร้า โดยปลาตัวเล็กที่คัดเลือกไว้ หรือปลาที่พ่อค้าเขาไม่รับซื้อ เราก็เอามาทำปลาร้าหมักเกลือใส่ไห แล้วก็จะมีพ่อค้ามารับซื้อปลาร้าอีกที ซึ่งขนาดโอ่งมังกร 1 ไห ราคาประมาณ 1,700-1,800 บาท หรือถ้าเป็นชนิดปลาดีๆ ที่หายาก ก็มีราคาสูงถึง 2,000 บาท ต่อไหกันเลยทีเดียว

แม่น้ำสงครามกับอนาคตที่อยากจะเห็น

เมื่อเทคโนโลยีเข้ามามีส่วนสำคัญในการดำเนินชีวิต ทำให้เครื่องมือหาปลามีความทันสมัยและสามารถจับปลาได้ปริมาณมากขึ้น ขณะที่คนหาอยู่หากินก็เยอะขึ้นเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตาม แม่น้ำสายนี้นับได้ว่ายังคงความอุดมสมบูรณ์และมีความหลากหลายทางชีวภาพ เพราะไม่ถูกขวางกั้นแบบเต็มรูปแบบ แม้จะมีอยู่ด้านบนแต่ถ้าไล่ลงมาตอนล่าง แม่น้ำสงครามยังไม่มีเขื่อนหรือฝายมากั้น ซึ่งส่งผลให้จำนวนปลาในแม่น้ำสงครามลดลงไปบ้างแต่ก็เพียงพอสำหรับหล่อเลี้ยงคนทั้งลุ่มน้ำแห่งนี้

“คนเยอะขึ้นชุมชนก็ขยายตัวมาก การหาอยู่หากินจับปูจับปลาเขาก็ทำแบบทันสมัย อย่างเมื่อก่อนเราเคยใช้ตาข่ายทำเป็นแบบตอนเดียว แต่ทุกวันนี้เขาก็ใช้เครื่องผลิตทำติดกันให้เป็นผืนเดียว นี่ล่ะคือการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย” พ่อสีสมพร ผู้เฒ่าที่ผ่านการเปลี่ยนแปลงมาอย่างโชกโชนในแต่ละยุคเล่าย้ำ

“น้ำสงครามยังไหลปกติตามธรรมชาติ ปู ปลา และผักต่างๆ ตามลุ่มน้ำยังคงอุดมสมบูรณ์ดี แต่ถ้าเมื่อไรถูกเขื่อนมากั้นก็จบเกมเลย เราจะมองเห็นแต่น้ำที่ไม่มีชีวิต ความเป็นอยู่ก็จะลำบาก เพราะไม่เหลือแหล่งหาอยู่หากิน” ผู้ใหญ่ไพรัช บอกเล่าถึงมีความกังวลใจหากว่าวันหนึ่งแม่น้ำซึ่งเป็นสายเลือดใหญ่ของคนลุ่มน้ำจะถูกทำให้เปลี่ยนแปลง

นอกจากนี้ก็เห็นบทเรียนและประสบการณ์จากการมีเขื่อนกั้นแม่น้ำโขง ซึ่งส่งผลกระทบมาถึงแม่น้ำสงครามด้วยเช่นกัน กล่าวคือโดยธรรมชาติน้ำโขงจะหนุนน้ำสงคราม ดังนั้นการขึ้นลงของแม่น้ำทั้งสองสายจึงมีความผันแปรไปในทิศทางเดียวกัน แต่เมื่อมีการสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขงที่ผ่านมา ได้เกิดปัญหาน้ำขึ้นลงผิดธรรมชาติและฤดูกาล โดยลักษณะแบบนี้ได้กระทบต่อการขึ้นลงของแม่น้ำสงคราม ซึ่งยังส่งผลต่อการแพร่พันธุ์ของปลาและสัตว์น้ำอื่น ๆ รวมไปถึงระบบนิเวศในลุ่มน้ำด้วย

ปกติน้ำโขงจะหนุนน้ำสงครามตอนหน้าแล้ง แต่ตอนนี้หน้าแล้งน้ำสงครามไม่มีน้ำหนุน ยกเว้นว่าเขื่อนจะมีการปล่อยน้ำมา นอกจากนี้ถ้าน้ำโขงแห้งเร็วก็ทำให้น้ำสงครามลดลงอย่างรวดเร็ว ตามตลิ่งตรงไหนที่มีความชื้นมากมันจะอุ้มน้ำด้านล่างไว้ทำให้ตลิ่งพังได้ง่าย พอน้ำโขงมีน้อยน้ำสงครามจะไหลแรงขึ้นมันจะกัดเซาะตลิ่งพังเป็นทางยาว ทำให้ก่อไผ่พังทลายลงไปพร้อมกับดิน ซึ่งเกิดปัญหาต่อเนื่องมาทุกปี

“ถ้าน้ำน้อยปลาก็จะวางไข่ตามฝั่งเพราะมันขึ้นบุ่งขึ้นทามไม่ได้ ซึ่งพอวางไข่แล้วปลาก็อพยพกลับน้ำโขงหมด ลูกปลาก็ต้องลงตามพ่อแม่มันไป เพราะไม่มีป่าบุงป่าทามให้ปลาอาศัยหลบซ่อนอยู่ ดังนั้นพอถึงฤดูจับปลาจึงดูเหมือนว่ามันเหลือน้อยลง” ผู้ใหญ่ไพรัช กล่าวจบก็ชักชวนทุกคนกินข้าว ซึ่งเป็นเมนูต้มปลาและปิ้งปลาที่หาได้จากแม่น้ำสงคราม

ขณะที่พ่อสีสมพร ยังสนทนาต่อว่า ถ้ามีเขื่อนวิถีชีวิตของชาวบ้านจะเปลี่ยนไปทันทีเลย เพราะการไหลของน้ำจะไม่เป็นไปตามธรรมชาติ ซึ่งทางรัฐบาลเคยเสนอทำโครงการเพื่อให้เกษตรกรมีน้ำใช้อุปโภคบริโภค แต่ชาวบ้านบอกว่าไม่จำเป็น ไม่สำคัญ เพราะว่าน้ำสงครามไม่แห้งมันมีน้ำตลอดทั้งปี ถึงฤดูกาลปลาก็จะขึ้นมาตามธรรมชาติ

“ถ้ามีการปิดกั้นแม่น้ำสงครามวิถีชีวิตของชาวบ้านเปลี่ยนทันทีนะพ่อว่า ปลาจะไม่เหมือนเดิม รสชาติก็ไม่อร่อย นอกจากนี้ยังจะมีสารเคมีเจือปนมากับน้ำทำให้น้ำเสีย พ่อเคยเห็นมาแล้วที่เขื่อนราษีไศล และเขื่อนต่าง ๆ ชาวบ้านเขาได้รับความเดือดร้อน”

พ่อสีสมพรกำลังนั่งอยู่ตลิ่งริมแม่น้ำสงครามได้ทอดสายตาออกไปมองเรือยนต์ของสองหนุ่มจากต่างถิ่น ที่ขนอุปกรณ์หาปลาจำพวกเบ็ดฝรั่ง เมื่อเสียงดังก้องของเรือยนต์ค่อย ๆ เลือนหายไป เหมือนจะหยุดครุ่นคิดสักพักจึงหยิบไฟแช็คจุดยาสูบที่มวนเอง ก่อนจะพ่นควันโขมงแล้วกล่าวทิ้งท้าย

อนาคตของแม่น้ำสงครามก็อยากให้เป็นแบบนี้ คงสภาพเดิมแบบนี้ เพื่อลูกหลานในภายหน้าได้พึ่งพาแม่น้ำสงคราม ซึ่งเป็นเส้นเลือดใหญ่ของภาคอีสานตอนบนที่ยังไม่ถูกทำลายให้สูญเสียความอุดมสมบูรณ์ อยากปล่อยให้แม่น้ำไหลอิสระและเป็นไปตามธรรมชาติ

“เพราะวิถีของคนอีสานกับการพึ่งพาทรัพยากร เกลือ ปลา นาข้าว มันแยกจากกันบ่ได้ดอก”

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ