เสียงชุมชนท้องถิ่น : รูปธรรมการแก้ปัญหา ‘หนี้สินครัวเรือน’ สู่ ชุมชนเข้มแข็ง

เสียงชุมชนท้องถิ่น : รูปธรรมการแก้ปัญหา ‘หนี้สินครัวเรือน’ สู่ ชุมชนเข้มแข็ง

ชุมชนท้องถิ่นเป็นองค์กรระดับฐานราก มีการช่วยเหลือเกื้อกูล และแก้ปัญหาต่างๆ ที่เข้ามากระทบ ในส่วนปัญหาเศรษฐกิจ มีการรวมกลุ่มกันเพื่อสร้างงานสร้างอาชีพ ลดค่าใช้จ่ายครัวเรือนที่สำคัญเช่น ค่าใช้จ่ายอาหาร ค่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยาสูบ และการพนัน และพัฒนางานที่จะเป็นกำลังในการเสริมสร้างเศรษฐกิจครัวเรือน เช่น กองทุนการเงิน สถานบันการเงิน การจัดการตลาดในรูปแบบต่างๆ และการส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชน รวมทั้งการมีกลไกในการช่วยเหลือทั้งให้คำปรึกษาและแก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจครัวเรือน เช่น คลินิกแก้หนี้ การฟังเสียงชุมชน คือการสร้างการเรียนรู้รูปธรรม ความสำเร็จในการจัดการปัญหาของชุมชนท้องถิ่น บนสถานการณ์ความท้ายทายของ “ปัญหาหนี้สินครัวเรือน” ที่สูงขึ้น ซึ่งในการขับเคลื่อนชุมชนสุขภาวะยึดหลักการ พัฒนาคน กลไก และการนำใช้ข้อมูลให้เกิดการทำงานแบบมีส่วนร่วม สามารถแก้ปัญหาและพัฒนางานใหม่ๆ จนเกิดเป็นนวัตกรรมหรือรูปธรรมบนวิธีการตามบริบทของพื้นที่

การแลกเปลี่ยนในห้องย่อยที่ 4 : เฝ้าระวังและแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนโดยชุมชนท้องถิ่น ช่วง “ฟังเสียงชุมชนท้องถิ่น…เศรษฐกิจดี มีรายได้ มีเงินทุน = ชุมชนเข้มแข็ง” เป็นการสร้างความมั่นใจว่าชุมชนท้องถิ่นจะเป็นกำลังสำคัญในการจัดการปัญหาทางเศรษฐกิจและหนี้สินครัวเรือนได้ ด้วยการมีมาตรการในการลดหนี้ครัวเรือนดังนี้ 1) การลดค่าใช้จ่ายครัวเรือนนำไปสู่การลดหนี้ 2) การสร้างงาน สร้างอาชีพลดหนี้มีงานทำ 3) การแก้ไขปัญหาหนี้โดยชุมชนท้องถิ่น 4) การจัดการท่องเที่ยวชุมชนหนุนเสริมเศรษฐกิจ โดยใช้ศักยภาพของชุมชน ที่สามารถจัดการในระดับกลุ่ม ชุมชน หน่วยงานและ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จากการมีส่วนร่วมของประชาชน ชุมชน และสังคม อันเป็นการสะท้อนถึงความเสริมความเข้มแข็งของเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าที่จะทำให้เกิดสร้างรายได้ ครัวเรือนมีเงิน ชุมชนเข้มแข็งและ “ลดหนี้” ได้

คนหัวใจเพชร ‘ชุมชนบ้านหม้อ’ งดดื่ม ลดหนี้

“ด้วยความที่เราเป็นภาพวิชาการ อาจจะฟังเสียงสะท้อนจากชุมชนแล้วก็เป็นการถอดบทเรียนมากกว่าที่มองเขาเข้าไปในชุมชน ก็ได้มีโอกาสเข้าไปทำงานวิจัยแล้วก็เก็บข้อมูล จึงได้เห็นว่าชุมชนนี้จะเป็นต้นแบบของคนหัวใจเพชร”

ผศ.ดร. กรรณิการ์ อินต๊ะวงศ์ ที่ปรึกษาชมรมคนหัวใจเพชรชุมชนบ้านหม้อ ตำบลสันโป่ง อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ได้กล่าวถึงการใช้งานวิจัยและบทบาทของนักวิชาการลงไปทำงานร่วมกับชุมชน

เริ่มจากการเข้าพรรษาถ้าใครมีการปฏิญาณตนจากผู้ใหญ่บ้านแล้ว ในชุมชนถ้าครบ 3 เดือน ก็จะเป็นคนหัวใจเพชร รวมทั้งมีการใช้กุศโลบายหรือนโยบายต่างๆ ในการที่จะให้ชุมชนมีความเข้มแข็งมีร่วมด้วยช่วยกัน นอกจากนี้ไม่ใช่จากการลดเหล้าเข้าพรรษา ในชุมชนเองจะมีงานตลอดทั้งปี เช่น ช่วงงานศพเขาก็จะมีนโยบายที่ว่างดดื่ม และช่วงหลังมีการลดหวาน ลดเค็มด้วย

จากผู้ใหญ่บ้านหรือว่าชุมชนที่เราถอดบทเรียน เราไม่เพียงแต่ไปสำรวจชุมชน เรามีการโฟกัสกรุ๊ปเอาคนที่เป็นชาวบ้านหรือว่าเป็นผู้นำท้องถิ่นมาแลกเปลี่ยนพูดคุย เขาบอกว่า

“การจัดงานศพแต่ละครั้งไม่ต่ำกว่า 100,000-200,000 บาท ส่วนใหญ่เป็นค่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ต้องมาเลี้ยงคนที่มาช่วยงาน”

ผศ.ดร. กรรณิการ์ ชี้ให้เห็นข้อมูลเชิงตัวเลขเปรียบเทียบ และกล่าวถึงกระบวนการทำงานด้วยว่า หลังจากนั้นจึงมีการปรับเปลี่ยน พร้อมชวนเทศบาลเข้ามาเป็นส่วนร่วมและมีการประชาคมกันต้องเป็นนโยบายสาธารณะเลยว่า งานศพงดดื่ม

ดังนั้นงานศพช่วงหลังๆ นี้ก็คือมีการลดค่าใช้จ่ายจัดงานศพ จากหลักแสนเป็นหลักหมื่น หรือแม้กระทั่งถ้าสมมุติว่าใครที่เป็นบ้านที่ไม่ค่อยมีรายได้ก็จะไปจากที่วัด ซึ่งก็จะได้ความอนุเคราะห์จากเจ้าอาวาสเช่นเดียวกัน ซึ่งก็จะเป็นการลดระดับชุมชน

ส่วนลดค่าใช้จ่ายถ้าเป็นช่วงเข้าพรรษาเขาก็จะมีอย่างที่บอกคือเป็นคนหัวใจเพชร แล้วก็ไม่เพียงแต่ที่จะลดค่าใช้จ่ายเพื่อที่จะจุนเจือครอบครัว เขาก็ยังมีเงินเก็บด้วย ทีนี้เราสำรวจชุมชนพบว่า คนที่ไม่ดื่มของบ้านหม้อ ช่วงปกติอยู่ที่ 62% พองดเหล้าเข้าพรรษาปุ๊บขึ้นมาเป็น 94% เราเห็นถึงความเข้มแข็งของชุมชน ส่วนรายได้ก็คือพอเรารู้ว่า 62% ก็คือจะมีอยู่ประมาณ 30 กว่าเปอร์เซ็นต์ เขาก็บอกว่าก็ยังมีความเพียงพออยู่ที่ประมาณ 8-13%

“ถ้าช่วงงดเหล้าเข้าพรรษาเขาบอกว่า 6% ของคนดื่มก็ยังมีรายได้เพียงพอกับค่าใช้จ่าย ซึ่งอาจจะเป็นตัวเลขที่น้อย แต่มันสะท้อนให้เห็นว่าชุมชนมีการเปลี่ยนพฤติกรรมในการลดดื่ม แล้วก็ลดค่าใช้จ่ายได้เช่นเดียวกัน”

ปกติแล้วบ้านหม้อจะดื่มอยู่ เราเช็คเรทออกได้ว่า น้อยกว่า 100 บาท, 100 – 300 บาท,  300-500 บาท, หรือว่ามากกว่า 1,000 ปกติ 30 กว่าเปอร์เซ็นต์ก็จะมีทุกเรทเลย แต่ว่าพองดเหล้าปุ๊บส่วนใหญ่อยู่ไม่ถึง 100 อาจจะกินเพราะเป็นกระสัยเพราะว่าคนส่วนใหญ่รับจ้างเขาบอกว่าแก้เมื่อยแก้ปวด แล้วก็อาจจะมีคนหรือสองคนที่เกิน 100 บาท ซึ่งก็ไม่เยอะ อันนี้ก็จะเป็นเคส study ที่เราได้จากงานวิจัยของเรา

การจัดการแหล่งน้ำของ ‘ชุมชนน้ำกุ่ม’ เปลี่ยนวิถีเกษตรเชิงเดี่ยว ลดหนี้ในครัวเรือน

ชาวตำบลน้ำกุ่ม มีอาชีพทำการเกษตร 90 กว่าเปอร์เซ็นต์ โดยเฉพาะการปลูกข้าวโพด ซึ่งเป็นการปลูกตามฤดูกาล จากการลงพื้นที่สำรวจขององค์การบริหารส่วนตำบลน้ำกุ่ม ตำบลน้ำกุ่ม อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก ก็พบว่า ในส่วนของพื้นที่มีความแห้งแล้ง ทำอะไรก็ไม่ได้ ปลูกข้าวโพดก็ปลูกได้แค่ฤดูฝนฤดูเดียว ในส่วนของภาระตั้งแต่ส่งบุตรหลานเรียน ค่าปุ๋ย ค่ายา มันก็หมดแล้ว ดังนั้น หลังเสร็จจากเก็บเกี่ยวข้าวโพดชาวบ้านจึงเข้ากรุงเทพฯ ไปทำมาหากิน ซึ่งก็แสดงให้เห็นว่า ชาวบ้านยิ่งปลูกเยอะ ก็ยิ่งเป็นภาระหนี้สินตามมา

นายณัฐพงศ์ ระโส ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลน้ำกุ่ม ตำบลน้ำกุ่ม อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก เริ่มต้นด้วยการให้ข้อมูลและสภาพปัญหาของพื้นที่

หลังจากนั้นเราก็ลงพื้นที่สอบถามและเห็นว่า พื้นที่มีการรวมกลุ่มที่ทำการเกษตรหรือมีจุดเด่นที่ตั้งอยู่ต่ำกว่าแหล่งน้ำ ซึ่งอาศัยตรงนี้ เราจึงคุยกับทางผู้นำท้องถิ่น ในส่วนของอบต. มีเงินหรืองบประมาณ แต่ในส่วนของการนำน้ำจากที่สูงลงสู่พื้นที่ทางการเกษตรมันก็เป็นสิ่งที่สำคัญ

“ถ้ามีน้ำเราก็จะมีงาน มีเงิน สามารถเพาะปลูกได้ตลอดทั้งปี อบต. ก็เริ่มเห็นจุดเด่นจะดำเนินการในส่วนของการจัดซื้อท่อประปาเพื่อปั๊มน้ำภูเขา ปั๊มน้ำลงพื้นที่ทางการเกษตร”

เลยคุยกับชาวบ้านว่า ในส่วนของกลุ่มพี่น้องต้องลดพื้นที่เพาะปลูกพืชผลทางการเกษตรคือข้าวโพด พี่น้องต้องมีข้าวกินไว้ก่อน เสร็จจากข้าวกินแล้วก็ในส่วนของการผันจากแปลงข้าว ซึ่งพื้นที่ที่เราจะดำเนินการให้ เดิมทีเราทำแค่ 1-2 ไร่ ทำมากไม่ได้ เพราะว่าในส่วนของต้นทุน อบต. น้ำกุ่ม ไม่มีต้นทุนที่จะไปเดินในส่วนของระบบชลประทาน

หลังจากที่มีน้ำชาวบ้านเขาก็ดีใจ เรื่องข้าวก็ไม่ต้องซื้อแล้ว ทำนาปีละ 1-2 ไร่ ครัวเรือนนี้ก็เพียงพอที่จะเก็บไว้กินทั้งปี เขาก็ไปทำการปลูกและเก็บเกี่ยวข้าว แต่ในทางกลุ่มก็ดำเนินการในส่วนของการปลูกแตงกวา ปลูกถั่วฝักยาว หมุนเวียนอยู่อย่างนี้ ถึงฤดูปลูกข้าวเสร็จก็มาปลูกแตง ปลูกถั่ว ปลูกผัก ในส่วนของที่ดินที่เหลือก็ไปปลูกพืชผัก ปลูกทุกสิ่งที่เขากินได้

เราพยายามปรับพฤติกรรมให้เขาเข้ามาดูแล้วรู้สึกว่ามันลด มันทำได้ โดยเฉพาะในส่วนของเงินที่มันหมดไปกับค่าใช้จ่ายพวกอาหารในแต่ละวัน ลองคิดดูว่าในส่วนของแต่ละคน ถ้า 1 ครัวเรือนมีสมาชิกในครัวเรือน 3 คน ถ้ากินไข่หมดไปแล้วใบละ 7 บาท แสดงว่าวันนี้เฉพาะไข่เวลาเดียว 20 กว่าบาทแล้ว ถ้าในส่วนของการกิน 3 มื้อหมดไปเท่าไหร่ ก็ต้องเยอะขึ้น

“เราพยายามให้เห็นว่าพี่น้องในชุมชน เราต้องดำเนินการปลูกเอง กินเอง เพื่อเป็นการลดรายจ่าย นอกจากนี้ในส่วนของการทำเกษตรได้ตลอดทั้งปี อาชีพเสริมท้องถิ่นจะตามมา”

ปลัดณัฐพงศ์ เล่าให้เห็นรูปธรรมของการปรับเปลี่ยนวิถีการทำเกษตรแบบเชิงเดี่ยว สู่การสร้างแหล่งอาหารของชุมชน และยังนำไปสู่การแก้ปัญหาหนี้สินครัวเรือนได้อีกด้วย

‘บ้านคลองตาจ่า’ จากปัญหาหนี้นอกระบบ สู่วิสาหกิจชุมชนเกษตรวิถีใหม่

เริ่มต้นจากเราเป็นหนี้นอกระบบมาก่อน โดยรัฐบาลนำเข้าสู่ในระบบในการแจ้งข่าวกับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ของเทศบาล แล้วก็นำสู่ผู้ใหญ่บ้านเรา หลังจากนั้นจึงมีการรวมกลุ่มทำตลาดเกี่ยวกับชุมชนเป็นตลาดปลอดสาร

จากที่ว่าแต่ละบุคคลที่เป็นหนี้เราก็มาเรียนรู้การทำศาสตร์พระราชา การน้อมนำเอาศาสตร์พระราชามาใช้วิชาความรู้ต่างๆ โดยองค์ความรู้ทั้งหมดที่เรามี ที่เราอบรมจากหน่วยงานรัฐต่างๆ ที่เข้ามาช่วยพวกเรา ในกลุ่มเรา ก็น้อมนำมาใช้ทั้งหมดทั้งมวล

“มันจะมีวิชาหนึ่งคือการทำบัญชีครัวเรือน ให้ทุกคนรู้จักทำบัญชีครัวเรือน แล้วทีนี้เราจะมาวางแผนกันว่าบ้านไหนใช้เงินไปเท่าไหร่ วันนี้ อาทิตย์นี้ เดือนนี้ เราก็จะรู้จุดบกพร่องของเรา”  

นางดุษฎี วรรณศิลป์ ประธานวิสาหกิจชุมชนเกษตรวิถีใหม่ร่วมใจพัฒนาบ้านคลองตาจ่า ตำบลบางยี่รงค์ อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม อธิบายถึงการเริ่มต้นจากการสำรวจปัญหาหนี้สินในครัวเรือนของตนเอง

ทุกคนก็เป็นเกษตรกรและประสบปัญหาหนี้สินเป็นหนี้นอกระบบมาก่อน พอรู้จุดบกพร่องของเราก็จะมาประชุมกันว่าควรจะทำอย่างไร ในทุกบ้าน ทุกครัวเรือน ทุกกลุ่ม ก็จะได้รับความรู้จากหน่วยงานรัฐที่มาบ่มเพาะพวกเราอยู่แล้ว เอาวัตถุในท้องถิ่นมาทำประโยชน์ อย่างเช่นที่บ้านก็มี กะลามะพร้าว มีทางมะพร้าว มีเศษเหลือใช้จากในพื้นบ้าน เนื่องจากที่หมู่บ้านจะเป็นหมู่บ้านที่ปลูกมะพร้าวใหญ่และมะพร้าวเล็ก เราจะเอาเศษเหลือใช้ตามสวนมาสร้างตลาด โดยที่สมัยโบราณไปบ้านใครก็จะมีกะลามะพร้าว มีทางมะพร้าววางอยู่หน้าบ้าน อันนี้เราก็มาจำลองเป็นตลาดบ้านสวนให้ทุกคนในกลุ่มได้เข้ามาขายได้มีรายได้

โดยในกลุ่มจะมีบางท่านมีองค์ความรู้และมาช่วยกัน มาแชร์กัน เดือนไหนใครมีปัญหาก็จะคุยกัน เหมือนคนอายุ 70-80 ปี ถ้ามันมีปัญหาหนี้แล้วสุขภาพจะแย่ เราก็ชวนกันคิดว่าจะดำเนินการอย่างไร วันนี้รายได้เท่านี้ ใช้ไปเท่านี้มากกว่ารายได้ รายรับมันได้น้อยกว่ารายจ่าย ก็จะมาช่วยดูว่าควรจะทำอย่างไรดี เช่น ปลูกกล้วยทำอะไรบ้าง จากกล้วยนภาร้อยละ 40 บาท เราไม่ขายเป็นร้อยแล้วเราเอามาแปรรูป เพื่อให้ราคาสูงขึ้น  เป็นต้น

พวกเราโชคดีที่มีหน่วยงานรัฐที่เข้มแข็ง เนื่องจากกลุ่มเราเป็นกลุ่มที่อยู่ในเส้นแดง เป็นคนก้าวผ่านหนี้นอกระบบมาสู่ในระบบแล้วก็มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ถ้าเราเป็นกลุ่มแบบนี้ ถ้าไม่ได้กำลังใจจากหน่วยงานรัฐ หรือ อปท. เราก็คงล้มไปแล้ว เจ้าหน้าที่ทุกคนมีความสำคัญกับกลุ่มเรา ช่วยดึงความสัมพันธ์แต่ละคนแต่ละงานของเราออกมา ทำให้เรามีพลังว่าเราต้องสู้ต่อไป

แม้แต่ผู้ใหญ่บ้านก็ออกมาช่วยขายของในวัดทุกวันเสาร์-อาทิตย์ แล้วก็เทศบาล สาธารณสุข ก็จะมาดูแลผู้สูงอายุในกลุ่มเราว่าเป็นอย่างไรบ้าง เพราะว่าสุขภาพจิตเราก็ผ่านการเป็นหนี้นอกระบบมา ว่าแต่ละคนแต่ละท่านเป็นอย่างไร มาดูให้เห็นความจริงใจ เอาใจมาให้เรา ซึ่งที่ผ่านมาเราไม่ได้รับแบบนั้น

ประธานวิสาหกิจชุมชนเกษตรวิถีใหม่ร่วมใจพัฒนาบ้านคลองตาจ่า เธอกำลังบอกว่า แม้ปัญหาเรื่องหนี้นอกระบบจะเป็นเรื่องเฉพาะตัวบุคคล แต่มันส่งผลกระทบต่อการพัฒนาชุมชนและสังคมโดยรวม ดังนั้น ความร่วมมือแก้ไขจากทุกภาคส่วนจะนำไปสู่ความสำเร็จ

จากการดำเนินงานของกลุ่มมาได้ 4 ปี ถูกนำมาสื่อสารให้คนทั้งประเทศได้รู้จักว่า ตลาดบ้านสวนหน้าคลองกระจ่าง มาจากบางยี่รงค์ ผลไม้ที่บางยี่รงค์ เป็นผลไม้ที่อร่อยและมีคุณค่าทางโภชนาการมากที่สุดแหล่งหนึ่งของประเทศ

“เนื่องจากในตำบลบางยี่รงค์นั้น มีน้ำกร่อยมาก ซึ่งทำให้ผลไม้มีคุณค่าทางโภชนาการมากที่สุด เราจึงมีความภูมิใจตรงนี้ของบางยี่รงค์”

‘ตลาดเขียวมหาสารคาม’ ช่วยลดภาระหนี้สินเกษตรกร

“พวกเราทำมากิจกรรมก็คือว่าเป็นการลดภาระหนี้ให้กับพี่น้องเกษตรกร ชาวบ้านสามารถที่จะเลี้ยงครอบครัว ส่งลูกเรียนจบ จนได้ฉายาว่าปริญญาลูกแม่ค้า สามารถที่จะลดภาระหนี้ได้เลย”  

นายรังสรรค์ เดชพลมาตย์ ประธานกลุ่มตลาดเขียว เทศบาลเมืองมหาสารคาม เริ่มต้นกล่าว ก่อนที่เล่าถึงความเป็นมาของการดำเนินงานกลุ่มตลาดเขียว

‘ตลาดเขียวมหาสารคาม’ เป็นตลาดที่สร้างขึ้นมาเพื่อสุขภาพ ทุกคนซึ่งเป็นสมาชิกที่จะมาขาย และมีแปลงปลูกเป็นของตัวเอง ผลิตเอง มาขายเอง จะไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง ซึ่งถือเป็นความภาคภูมิใจที่เราทำ เพราะตลาดเขียวมหาสารคามเป็นมากกว่าคำว่าเป็นตลาด หมายความว่าตลาดเขียวมหาสารคามเป็นแหล่งเรียนรู้ของหลายชุมชนหลายจังหวัดหลายพื้นที่ที่เข้ามาเรียนและมาศึกษาดูงาน แล้วก็เป็นสถานที่ที่เด็กนิสิตนักศึกษาเข้ามาเก็บข้อมูลเพื่อจัดทำวิทยานิพนธ์จบมาแล้วหลายรุ่น พวกเราจากพ่อค้าแม่ค้าเกษตรกร จึงเป็นทั้งอาจารย์ เป็นทั้งครู และเป็นพ่อแม่ของเขา คือเป็นได้ทุกอย่าง

ตลาดของพวกเรามันมีเสน่ห์ คือ เป็นตลาดแห่งสุขภาพด้วย ถ้าคนรักสุขภาพจะไปตรงนี้จะไปซื้อของที่ตลาดนี้ เพราะว่าสินค้าของพวกเราจะเป็นประเภทผลิตเอง แล้วก็เป็นสินค้าตามฤดูกาล ถึงฤดูฝนตก ก็จะมีอึ่ง มีกบ ฯลฯ มาขาย เป็นสินค้าบ้านๆ ซึ่งตลาดของพวกเราจะเป็น 2 ระบบ คือ พวกหนึ่งเป็นตลาดขาโคก คือประเภทของหรือสินค้าที่อยู่หรือหาได้บนบกและในป่า เช่น หมู เห็ด เป็ด ไก่ แมลงต่างๆ และตลาดขาทาม คือแหล่งน้ำท่วม เป็นพื้นที่น้ำท่วม ได้แก่ จำพวกก กุ้ง หอย ปู ปลา ต่างๆ เป็นต้น

ประธานกลุ่มตลาดเขียว เทศบาลเมืองมหาสารคาม จะเน้นกับสมาชิกกลุ่มเสมอว่า ให้เห็นความสำคัญของการเก็บออมรายได้จากการขาย และจัดการรายจ่ายให้สอดคล้อง สมดุลกับรายรับ

การนำเสนอให้กับพี่น้องในพื้นที่ พี่น้องชุมชนรอบนอก และให้คนมหาสารคามมีสุขภาพที่ดี มีอาหารที่มีความมั่นคง มีอาหารที่บริโภคอย่างเพียงพอมันคือสิ่งที่เราทำมา ดังนั้นในดำเนินงาน นอกจากจะมีอาหารที่ดี ต้องมีเศรษฐกิจที่ดีสามารถที่จะสร้างรายได้ให้กับสมาชิกด้วย ซึ่งเราเปิดตลาดทุกวันอาทิตย์ เราจะเก็บข้อมูลในการขายว่าที่นี่ขายได้เท่าไร สามารถที่จะไปจุนเจือครอบครัวได้เท่าไร และเราก็พยายามให้ความรู้ด้วยว่าใครได้มาก แต่ถ้าคุณจ่ายมากคุณก็ไม่พอ ก็เป็นหนี้เหมือนเดิม

“ผมพยายามที่จะพูดกับสมาชิก คือ ให้รู้จักการเก็บการออม โดยใช้หลักของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเข้ามาด้วย คุณถึงจะลดหนี้สินได้ เหมือนกับว่าให้อุดรูรั่ว เพราะได้มาเท่าไรหาก ไม่มีการออมก็ไม่มีเหลือนะครับ ดังนั้น ต้องมีวินัยในเรื่องของการเงินด้วย”

นอกจากนี้ พื้นที่ตลาดตรงนี้ แม่ค้ายังสามารถที่จะเอาลูกเอาหลานมาขายได้ด้วย เพื่อเป็นการให้เด็กมาเรียนรู้ในเรื่องของการขาย แล้วได้มารู้ว่าเงินทุกบาทที่พวกเขาเคยขอพ่อแม่มันหายากขนาดไหน อยากให้เขาเรียนรู้ เพราะบางคนมาขายแรกๆ หรือ แม่ค้ามาใหม่ ทอนตังค์ยังไม่ถูกเลย อันนั้นคือชาวบ้านจริงๆ ต้องเข้าใจ แต่ตอนนี้เริ่มเก่งมากขึ้น 20 ปีผ่านไปเริ่มมีออร่า  ดูหน้าตาดีขึ้น

ตอนนี้รู้สึกว่าดีขึ้นเป็นตลาดสร้างเศรษฐกิจสร้างรายได้ให้กับสมาชิกชุมชนเป็นอย่างดี แล้วโดยเฉพาะอย่างยิ่ง มีเครือข่ายทั้งหมดแล้ว 5 เครือข่าย เรียกได้ว่า ช่วยส่งเสริมในพื้นที่กระจัดกระจายอยู่ได้มีโอกาสรวบรวมสินค้ามานำเสนอต่อชุมชนและผู้บริโภค ที่ใส่ใจในเรื่องของสุขภาพด้วย

บางคนเขาไม่ได้รู้ว่า ผักแบบนี้กินแล้วดีต่อสุขภาพอย่างไร ที่ตลาดก็จะมีพิธีกรให้ความรู้ว่าผักแต่ละอย่างมีประโยชน์อะไรบ้าง นั่นคือสิ่งที่ ตลาดเขียวมหาสารคาม กำลังทำอยู่ในขณะนี้

กองทุนการเงิน ‘ชุมชนหารเทา’ ช่วยบรรเทาหนี้

ก่อนหน้านี้มีการจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เป็นการระดมทุน ซึ่งกลุ่มออมทรัพย์ก่อตั้งมาประมาณ 30 ปี หลังจากก่อตั้งกลุ่มออมทรัพย์ก็เปิดธนาคารหมู่บ้านเมื่อปี 2549 ณ วันนี้มีการเปิดเป็นศูนย์จัดการกองทุนชุมชน เพราะว่าหลายช่องทางที่มีเงินอยู่ในชุมชนมันหลากหลายกลุ่ม หลังจากนั้นก็มาบูรณาการทุน 1 ครัวเรือน 1 บัญชี เพราะว่าถ้าปล่อยให้ทุกคนมีสิทธิ์ในการกู้ในครอบครัว ไม่ว่าจะสามีภรรยาหรือลูก มันจะเยอะ แล้วหนี้ไปค้างอยู่ที่พ่อแม่ ลูกกู้เสร็จก็ไม่รับผิดชอบหนี้

นายรื่น แจ้งกระจ่าง กำนันตำบลหารเทา ตำบลหารเทา อำเภอปากพะยูน จังหวัดพัทลุง อธิบายไทม์ไลน์ของการรวมกลุ่มเพื่อจัดการปัญหาหนี้สินในชุมชน

ในส่วนของการจัดการทุนก่อนหน้านี้ เราเคยทำออมทรัพย์ ออมทรัพย์มีสมาชิกไปกู้เงินรายวัน ภาษาไทยเรียกว่า “ไอ้โม่ง” หมวกไอ้โม่งเป็นรายวัน ดอกร้อยละ 5 และ 7 ต่อวันนะ เขากู้ไม่เยอะหรอก กู้ประมาณ 20,000-30,000 บาท แต่ว่าต้องเสียดอกวันละ 500 บาท ถามว่าเขาหนักไหม ถ้าตกดอกวันละ 500 บาท ต้นเขาไม่ได้ส่งเลย พอวันไหนไม่ได้ส่งแสดงว่าเอาดอกไปบวกกับต้นก็ทำดอกเพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ พอรู้ว่ามีประมาณ 7-8 ราย ที่เป็นสมาชิกกลุ่มออมทรัพย์ ครอบครัวเขากำลังจะแตกสลายแล้ว คือคนที่บ้านก็ไม่รู้ หลังจากนั้นจึงมีการประชุมคณะกรรมการพูดคุยกับเขาว่า จะแก้หนี้ให้เขาอย่างไร คณะกรรมการกลุ่มออมทรัพย์บอกว่าไม่อยากให้มีการแตกแยกไม่อยากให้ทิ้งลูกทิ้งหลานไว้กับคนข้างหลัง เราต้องซื้อหนี้โดยกลุ่มออมทรัพย์ให้กู้หนี้ตอนนั้น 7 รายอยู่ที่ประมาณ 470,000 บาท คือ ให้เขามาผ่อนกับออมทรัพย์ดีกว่า

“ถ้าผ่อนกับกลุ่มออมทรัพย์ต้นดอกตัดไปเรื่อยๆ มันไม่มีภาระผูกพันอะไร แล้วก็ไม่นอนแบบผวา ไม่ต้องทิ้งบ้าน หรือช่วงหนักๆ จะต้องยกครัวไปอยู่ที่สวน ไม่กล้าอยู่ที่บ้าน เพราะว่าเจ้าหนี้จะยังวนเวียนอยู่ กลัวจะไม่ปลอดภัย”

กำนันรื่น กล่าวถึงการดำเนินงานของกองทุนการเงินชุมชนว่า นอกจากการช่วยแก้ปัญหาหนี้สินของชาวตำบลหารเทาแล้ว ยังสามารถยกระดับกองทุนให้มีเงินหมุนเวียนหลายสิบล้านบาทอีกด้วย

หลังจากนั้นเราก็มาทำกิจกรรมในเรื่องของศูนย์จัดการปัญหาหนี้สิน ปรากฏว่าสมาชิกก็มากขึ้นเรื่อยๆ คือ สมมุติว่าสมาชิกกลุ่มออมทรัพย์กู้ได้คนหนึ่งไม่เกิน 300,000 บาท และกู้ธนาคารอีกไม่เกิน 300,000 บาท แล้วก็เงินกองทุนอื่นๆ อีกก็เยอะ เพราะฉะนั้นครอบครัวไหนที่จะกู้ซื้อรถยนต์กู้คราวเดียวก็ได้ 1 คันเลย แล้วมันก็จะหนักคือว่า เดือนหนึ่งมันส่งพร้อมกัน ส่งสหกรณ์บ้าง ส่งกลุ่มออมทรัพย์บ้าง ส่งธนาคารหมู่บ้านบ้าง ส่งกองทุนหมู่บ้านบ้าง มันไม่ทัน พอไม่ทันแล้วจะทำอย่างไร ปรับสภาพปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้กลุ่มอยู่ได้ สมาชิกอยู่รอดทำแบบเอื้อ อันนี้เป็นเรื่องของการจัดการทุนชุมชน เพิ่งเปิดมาได้ประมาณ 8-9 เดือน ตอนนี้ซื้อที่ไว้ทั้งหมด 6 ราย มีเงินกองทุนหมุนเวียนอยู่ประมาณ 30 กว่าล้านบาท

“ถ้าในชุมชนไม่ร่วมแก้ปัญหาให้กับครัวเรือน จะรอให้ทางหน่วยงานอื่นมาดูแลก็ยาก เพราะว่าคนที่จะรู้เรื่องชุมชนได้ดีที่สุดมันสู้คนในชุมชนไม่ได้ แล้วเราอยู่แบบเครือญาติ คนทุกคนอยู่ในหมู่บ้านคือลูกหลานของเรา ถ้าเราไม่ดูแลแล้วจะให้ใครมาดูแล”

คลินิกแก้หนี้ เทศบาล ‘ตำบลวังผาง’ ให้คำปรึกษาปัญหาเรื่องหนี้

จริงๆ ปัญหาเกี่ยวกับหนี้สินในเขตของเทศบาล มันมีปัญหาหนี้สินที่เป็นหนี้สินครัวเรือน หนี้สินครัวเรือนต้องแบ่งออกอีกว่าเป็นหนี้สินที่มีความเร่งด่วนไหม หรือไม่เร่งด่วน เพราะหนี้สินของคนเรามันมีความหนักหน่วงต่างกัน ถ้าจะคิดถึงตัวเลขบางคนอาจจะคิดว่ามันเป็นเรื่องที่หนักหนามากในชีวิต แต่สำหรับบางคนอาจจะคิดว่าชิลๆ ไม่เป็นอะไรสบายๆ ไปตามขั้นตอนใช่ไหม แต่ในส่วนของงานเทศบาลวังผาง เราเป็นเหมือนกับที่ปรึกษาทางกฎหมายอยู่แล้ว

นางสาวณัฐกานต์ ฉางข้าวคำ นิติกรชำนาญการเทศบาลตำบลวังผาง อำเภอเวียงหนองล่อง จังหวัดลำพูน ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการทำงานของคลินิกแก้หนี้ เทศบาลตำบลวังผาง ร่วมกับภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

บางคนอาจจะคิดว่าทำไมวิทยากรมาทำงานเกี่ยวกับการแก้หนี้ จริงๆ ต้องเป็นฝ่ายที่เร่งรัดหนี้ เมื่อทำไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งเจ้าหนี้เขาก็มีสิทธิ์ที่จะได้รับการชำระหนี้ ลูกหนี้ก็มีหน้าที่ต้องชำระหนี้เหมือนกัน ดังนั้นที่ผ่านมาเจ้าหนี้กับลูกหนี้อาจจะคุยกันแค่กระดาษไม่ได้พูดคุยกัน อาจจะส่งจดหมายไปแจ้งเตือนทวงหนี้ทวงถามอะไรอย่างนี้ค่ะ บางครั้งลูกหนี้เขาก็เครียด เขาอาจจะมีเหตุผลส่วนตัวก็ได้ จะหนักหนาอย่างไรเราก็จะให้คำปรึกษา แล้วเราก็เป็นตัวกลางว่าจะมีพูดคุยกันไหม

“เทศบาลของเรามีศูนย์อัยการคุ้มครองสิทธิ์ พอมีการมายื่นเรื่องผ่านให้เราแล้ว เราก็จะเป็นตัวเชื่อมไปถึงสำนักงานอัยการ ทางสำนักงานอัยการคุ้มครองสิทธิ์ท่านยินดีที่จะให้เจ้าหนี้กับลูกหนี้มาทำการไกล่เกลี่ยกัน”

ปัญหามีทางออกอย่างอื่นไหม มีขั้นตอนไหน อย่างชาวบ้านเวลาเป็นหนี้แล้วเขาคิดอะไรไม่ออก มันเหมือนทางตัน ถ้าหากเขาได้พูดได้คุยกับใครสักคนหนึ่ง ซึ่งเรามีความจริงใจและก็ตั้งใจที่จะช่วยเขาแก้ไขเรื่องหนี้สินได้ มันทำให้มีความรู้สึกว่ามีความสุข บางคนถึงขั้นที่ว่าอยู่ในขั้นตอนที่จัดเตรียมการฆ่าตัวตาย กำลังจะฆ่าตัวตายแล้ว พื้นที่ที่มีส่งผลต่อความรุนแรงต่อชีวิตต่อทรัพย์สิน

หน่วยงานเราไม่ได้มีแค่นี้ ไม่ได้ทำให้หนี้หมดไป แต่จะทำอย่างไรให้อยู่กับหนี้แล้วมีความรู้สึกว่าฉันต้องอยู่ต่อนะ มันอยู่ได้มันไม่ได้จบลงด้วยการฆ่าตัวตาย แต่ทางเราโชคดีที่ว่าเราได้รับความร่วมมือจากหลายภาคส่วนด้วยกัน ทั้งภาครัฐ ภาคท้องที่ ท้องถิ่น แล้วก็ภาคประชาชน ซึ่งทางท้องที่อย่างผู้ใหญ่บ้านแต่ละหมู่บ้านจะเป็นผู้ให้ข้อมูลกับเราว่ามีลูกบ้านรายไหนบ้าง ที่อยู่ในภาวะซึมเศร้าถึงขั้นที่จะต้องคิดถึงฆ่าตัวตายด้วยจากปัญหาหนี้สิน จากนั้นเราก็ได้รับความร่วมมือจากทางโรงพยาบาลด้วยในการที่จะให้ยาคลายเครียด  แล้วก็ส่งต่อมาที่เรา

นิติกรชำนาญการเทศบาลตำบลวังผาง ยังเล่าประสบการณ์ที่ได้ช่วยคลี่คลายหาทางออกให้กับประชาชนในพื้นที่ ซึ่งมีบางรายถึงขนาดคิดสั้นฆ่าตัวตายจากปัญหาหนี้สินที่รุมเร้า

ยกตัวอย่างเคสที่ประสบความสำเร็จไปแล้วเป็นกลุ่มสตรีที่เป็นหนี้เร่งด่วน ก็มีการไกล่เกลี่ยเจรจากันเรียบร้อยแล้ว ทางเจ้าหนี้ก็ยินดีที่จะขยายระยะเวลาให้มีทางออกร่วมกัน คือนำไปพูดคุยนำชาวบ้านไปพูดคุยกันที่สำนักงานอัยการ

แล้วก็อีกเคสนึงก็คือมันเป็นความประทับใจที่ว่า เหมือนเราช่วยคนที่มีความรู้สึกอยากจะฆ่าตัวตายในเรื่องของการเป็นหนี้สิน มีความคิดที่ไม่อยากมีชีวิตอยู่ต่อ เราก็ช่วยกันหาทางออก เขาก็รู้สึกสบายใจขึ้น ความคิดที่จะฆ่าตัวตายก็หมดไป

“เขาบอกว่าที่ผ่านมาไม่สามารถพูดคุยกับใคร หรือไม่สามารถจะปรึกษากับใครได้เลย แต่พอมาเจอเรา เราก็บอกว่า เรามีความจริงใจที่จะช่วยให้เขาผ่านพ้นตรงนี้ไปได้” นางสาวณัฐกานต์ กล่าวด้วยความภูมิใจ

หมายเหตุ : เนื้อหาจากเวที “สานพลัง สร้างนวัตกรรม สู่สุขภาวะชุมชนที่ยั่งยืน” ปี 2567 วาระ: ชุมชนท้องถิ่นร่วมแก้ปัญหาประเทศ ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 3-5 กรกฎาคม 2567 ณ อาคารอิมแพ็ค ฟอรั่ม ชั้น 1 และชั้น 2 เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี

เรื่อง : เดชา คำเบ้าเมือง / ภาพ : จักรพันธ์ จันทร์ปัญญา และนพพล ช่วยตั้ว

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ