บ้านรมณีย์ จากปัญหาหนี้นอกระบบ สู่หมู่บ้านปลอดหนี้ ด้วย “วินัยทางการเงิน”

บ้านรมณีย์ จากปัญหาหนี้นอกระบบ สู่หมู่บ้านปลอดหนี้ ด้วย “วินัยทางการเงิน”

หนี้นอกระบบ” ที่เกิดจากความเชื่อผิด ๆ สู่เส้นทางปลอดหนี้ของคนชุมชนรมณีย์ พังงา

หนี้นอกระบบ เป็นปัญหาใหญ่ของชาวบ้านชุมชนรมณีย์ ต.รมณีย์ อ.กะปม จ.พังงา จากความเชื่อผิด ๆ ที่คิดว่าเงินกองทุนหมู่บ้านล้านบาทเป็นเงินให้เปล่า ชาวบ้านจึงต้องกู้นอกระบบเพื่อนำเงินมาคืนกองทุนฯ ขณะเดียวกัน กัลยา โสภารัตน์ หรือ พี่เหมีย ก็ประสบปัญหาไม่แตกต่างกัน แต่ที่เลวร้ายกว่านั้น สามีได้เสียชีวิตอย่างกะทันหัน ซึ่งเธอไม่มีแม้แต่เงินทำศพสามี 

ด้วยแรงกดดันจากมรสุมชีวิตที่ถาโถมเข้ามา ผลักดันให้พี่เหมียมุ่งมั่นตั้งใจที่อยากจะให้เพื่อน ๆในชุมชน มีเงินกองกลางที่สามารถถอนออกมาใช้ยามฉุกเฉินได้ ขณะเดียวกัน การสร้างวินัยทางการเงิน ก็จะเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะทำให้ทุกคนหลุดพ้นจากวงจรหนี้นอกระบบได้และนี่คือเรื่องราวของ   “สถาบันการเงินรมณีย์ จัดสรรทรัพย์ แบ่งปันสุข”

พี่เหมีย (กัลยา โสภารัตน์) ประธานสถาบันการเงินชุมชนบ้านรมณีย์ ต.รมณีย์ อ.กะปง จ.พังงา

ย้อนกลับไปราวปี พ.ศ.2549 ความทุกข์แสนสาหัสได้เกิดขึ้นกับพี่เหมีย เมื่อได้สูญเสียสามีในขณะที่ลูกคนโตอายุเพียง 7 ขวบ และลูกคนเล็กที่ยังอยู่ในท้อง การสูญเสียเสาหลักของครอบครัวไปอย่างปัจจุบันทันด่วน ทำให้เธอต้องบากหน้าไปพึ่งพาหนี้นอกระบบ เพียงเพื่อได้จัดงานศพให้สามี และมีเงินสักก้อนต่อชีวิตแม่เลี้ยงเดี่ยวและลูก ๆ สิ่งนี้คือก้อนความระทมทุกข์ที่ขมขื่นอยู่ภายใน เธอไม่อยากให้เกิดขึ้นกับใคร ๆ และต้องการกำจัดมันทิ้ง

ขณะเดียวกัน โครงการกองทุนหมู่บ้านเงินล้าน ได้เข้ามาสร้างความสับสนในหมู่ประชาชน ความเข้าใจผิดได้ลุกลามเป็นอุปทานหมู่ว่า เป็นเงินฟรีจากรัฐบาล หากแต่เมื่อครบกำหนดระยะเวลา ทั้งเงินกู้และดอกเบี้ยต้องถูกใช้คืนกองทุน นั่นจึงเป็นเหตุให้ชาวรมณีย์ต้องใช้บริการเงินกู้นอกระบบ ร้อยละ 15 บ้าง ร้อยละ 20 บ้าง แล้วแต่ตกลง

“ถ้าชุมชนเรายังเป็นแบบนี้ต่อไปแล้วคนรุ่นหลังจะทำอย่างไร เพราะเขาอาจจะไม่เข้มแข็งเหมือนกับคนรุ่นเรา และจะทำอย่างไรให้คนในชุมชนของเรามีเงินออมไว้ใช้ตอนอายุเยอะ” พี่เหมียได้ไปปรึกษากับทางธนาคาร ธกส. ขอให้ธนาคารมาเก็บเงินที่รมณีย์ เพราะระยะทางจากชุมชนไปยังธนาคารซึ่งอยู่ในตัวจังหวัดนั้นห่างไกลถึง 30-40 กม. ชาวบ้านไม่สะดวกในการเดินทาง ธนาคารจึงเสนอให้มีการรวมกลุ่มสมาชิก โดยธนาคารอาสาจะเป็นพี่เลี้ยงให้ และนี่คือจุดเริ่มต้นในการจัดตั้ง สถาบันการเงินชุมชนบ้านรมณีย์”

ธนิตา มากแก้ว คณะกรรมการสถาบันการเงินชุมชนบ้านรมณีย์ ต.รมณีย์ อ.กะปง จ.พังงา

สถาบันการเงินที่มีคณะกรรมการวุฒิการศึกษา ป.4

กว่าจะมาเป็นสถาบันการเงินชุมชนบ้านรมณีย์ อย่างที่เห็นนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย การที่จะเชิญชวนชาวบ้านมารวมกลุ่มสมาชิกเพื่อฝากเงิน ในขณะที่คณะกรรมการกองทุนฯ เป็นชาวบ้านธรรมดาที่จบแค่ ป.4 ป.6 ทำให้ชาวบ้านไม่เชื่อมั่น กลุ่มจึงจำเป็นที่จะต้องสร้างความเชื่อมั่น ให้ชาวบ้านเชื่อว่าเมื่อนำเงินมาฝากกับกลุ่มแล้ว เงินจะไม่หายไปไหน ซึ่งทางกลุ่มก็มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่าง กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และธนาคารเข้ามาช่วยดูแลเรื่องการออม ซึ่งถือเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับชาวบ้านได้เป็นอย่างมาก

เมื่อคุณจะเป็นหนี้

คุณจะนำเงินไปทำอะไร

กติกาการออม สมาชิกทุกคนจะต้องมาฝากเงินออมขั้นต่ำ วันละ 1 บาท โดยต้องออมทุกวัน และฝากทุกเดือน โดยต้องฝากเดือนละสองครั้งทุกวันที่ 10 กับวันที่ 20 ของเดือน ซึ่งเป็นการสร้างวินัยในการออมให้กับสมาชิก นอกจากนี้สมาชิกยังสามารถกู้เงินจากทางกลุ่มเพื่อไปซื้อทรัพย์สิน หรือต่อเติมซ่อมแซมบ้านได้ โดยทางกลุ่มจะดูที่วินัยในการออม ซึ่งต้องออมติดต่อกันอย่างน้อย 6 เดือน และที่สำคัญทางกลุ่มจำเป็นต้องรู้ว่า “เมื่อคุณเป็นหนี้ คุณจะนำเงินไปทำอะไร?” นี่คือสิ่งสำคัญ ไม่ใช่ว่าใครจะสามารถกู้เท่าไหร่ก็ได้ ทุกคนมีหนี้ได้แต่ก็ต้องมีวินัยในการออมด้วย ซึ่งสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ทางกลุ่มได้ดำเนินการมาตลอด 20 ปี

สมุดฝากสัจจะออมเงิน “เพื่อนช่วยเพื่อน”
สมุดฝากสัจจะออมเงิน “เพื่อนช่วยเพื่อน

นำเงินกองทุนไปซื้อหนี้นอกระบบ หนี้สมาชิกลดลง ขณะที่เงินออมเพิ่มมากขึ้น

“เมื่อกลุ่มเริ่มมีเงิน ก็เริ่มคิดว่าจะช่วยชาวบ้านจากการเป็นหนี้นอกระบบได้อย่างไร ทางกลุ่มจึงได้นำเงินในส่วนนี้ไปซื้อหนี้นอกระบบ” นั่นคือความคิดของพี่เหมีย ที่มุ่งมั่นและทำให้เป็นจริง หนี้นอกระบบของสมาชิกได้กลับเข้ามาอยู่ในกองทุน  โดยให้สมาชิกผ่อนชำระโดยตรงกับกองทุน ซึ่งมีอัตราดอกเบี้ยเพียงร้อยละ 1 บาทต่อเดือน ต่างจากเดิมที่ต้องเสียให้กับนายทุนร้อยละ 10 – 20 ต่อเดือน

กองทุนต่อสู้ภัยพิบัติ

ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 อย่างที่ทุกคนทราบกันดีว่าทั่วประเทศต่างล้อกดาวน์ ขาดแคลนทั้งอาหารและรายได้ แต่กองทุนกลุ่มนี้ไม่ต้องรอการช่วยเหลือจากภาครัฐ สถาบันการเงินได้แปรสภาพเป็นศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัย ข้าวสารอาหารแห้งถุงยังชีพ ถูกบรรจุให้ทุกบ้านทุกครอบครัวได้พอกิน 10 วัน และทุก ๆ 10 วันก็จะมีการส่งถุงยังชีพไปที่บ้านสมาชิก นอกจากนั้นยังมีเงินช่วยเหลือสมาชิกอีกรายละ 1,000 บาท ทดแทนการขาดรายได้ในช่วงเวลาที่ต้องกักตัวห้ามออกเด็ดขาด ซึ่งในช่วงโควิดนี้ กองทุนต้องใช้เงินมากกว่า 300,000 บาท เพื่อประคับประคองสถานการณ์ร่วมกับทางภาครัฐ แต่สิ่งนี้ก็ได้พิสูจน์ความแข็งแรงในนโยบายทางการเงินของกองทุนฯ ที่สามารถจัดการเงินได้ด้วยตัวเอง และยังสามารถรองรับภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้นอีกในอนาคต  

กองทุนเติบโต ขยายโครงการ สร้างรายได้เข้ากองทุน

ปัจจุบันกลุ่มได้นำเงินไปต่อยอดเพื่อสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนอีกทางด้วย เช่น จัดตั้งกองทุนปุ๋ย เพื่อให้ชาวบ้านสามารถซื้อปุ๋ยได้ในราคาที่ถูกลง รับซื้อผลผลิตปาล์มน้ำมันของสมาชิกในราคาที่สูงกว่าพ่อค้าคนกลาง ทำสบู่จากน้ำมันพืชที่ใช้แล้ว รวมถึงการแปรรูปกล้วยน้ำว้าที่มีเยอะในพื้นที่ ซึ่งกำไรที่เกิดขึ้นนี้ได้ปันผลกลับไปสู่เพื่อน ๆ สมาชิก

ความฝันที่เป็นจริง เงินสวัสดิการสังคมของชาวบ้านเกษตรกร จากทุนเริ่มต้นแค่ 8,000 บาท เพิ่มขึ้นถึง 14 ล้านบาทในปัจจุบัน

และด้วยวินัยทางการเงินที่เข้มแข็งนี้เอง ทำให้กองทุนหมู่บ้านเล็ก ๆ ขยายตัวเป็นสถาบันการเงินระดับตำบล จากสมาชิกเริ่มต้น 56 คน เพิ่มขึ้นกว่า 1,500 คน จากทุนเริ่มต้นแค่ 8,000 บาท เพิ่มขึ้นถึง 14 ล้านบาทในปัจจุบัน แต่ที่สำคัญกว่านั้น สมาชิกกองทุนฯชาวบ้านชาวสวนเหล่านี้ มีสวัสดิการสังคมที่น่าอิจฉาสำหรับคนไทยทั่วประเทศ พวกเขามีเงินเก็บให้ลูกๆ มีบำนาญใช้ยามชรา มีค่ารักษาพยาบาล มีค่านอนโรงพยาบาลชดเชยให้จากการขาดรายได้ 100 บาทต่อคืน ไม่ต้องกังวลเรื่องงานศพของตัวเอง ลูกหลานไม่ต้องเป็นหนี้ เพราะกองทุนจะจัดสรรเงินทำศพให้รายละ 5 ถึง 6 หมื่นบาท นอกจากนั้น ยังมีโบนัสประจำปีจากเงินปันผลกำไรที่เกิดจากทั้งดอกเบี้ย และรายได้ของกองทุน

ความยั่งยืนในอนาคต คือการร่วมกันตรวจสอบของเพื่อนสมาชิก

อย่างไรก็ตาม การจะขยายจากสถาบันการเงินไปสู่ผู้ประกอบการที่ยั่งยืนและประสบความสำเร็จได้นั้น ยังคงต้องใช้เวลาในการเรียนรู้ หากแต่ถ้าเพื่อน ๆสมาชิกและคณะกรรมการทุกคน ยังคงยึดมั่นในรากฐานวินัยทางการเงิน สามารถตรวจสอบได้ตลอดเวลาเหมือนดั่งเช่นทุกวันนี้ เชื่อแน่ว่า สถาบันการเงินชุมชนบ้านรมณีย์ จะสามารถขยายตัวจนเป็นที่พึ่งให้กับประชาชนได้มากขึ้น และเข้มแข็งจนเป้นที่พึ่งให้กับประชาชนได้ตลอดไป

ภาพและเรื่องราวโดย เมธาปวัฒน์ เชิงทวี
บรรณาธิการโดย แลต๊ะแลใต้

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ