จากเชียงใหม่ถึงบิลลี่ที่แก่งกระจาน : ชีวิตคนอยู่ป่ากับเส้นทางจัดการทรัพยากรของรัฐ

จากเชียงใหม่ถึงบิลลี่ที่แก่งกระจาน : ชีวิตคนอยู่ป่ากับเส้นทางจัดการทรัพยากรของรัฐ

จากเชียงใหม่ถึงบิลลี่ที่แก่งกระจาน : ชีวิตคนอยู่ป่ากับเส้นทางจัดการทรัพยากรของรัฐ

การหายตัวไปของบิลลี่ หรือนายพอละจี รักจงเจริญ ผู้นำชุมชนกะเหรี่ยงบางกลอย   ไม่เพียงแต่ชาวกะเหรี่ยงที่จังหวัดเพชรบุรีจะพยายามติดตามให้เขากลับมาอย่างปลอดภัยเท่านั้น  เรื่องราวของเขายังเป็นภาพสะท้อนถึงสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์ กับแนวนโยบายจัดการทรัพยากรของประเทศโดยรัฐที่จะต้องทบทวนและหาคำตอบ   โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือ ที่เกิดเป็นประเด็นการไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการการจัดการทรัพยากรในเขตป่ากับกลุ่มชาติพันธุ์หลายกรณี

วันนี้ (21 เมษายน 2557) ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กลุ่มนักศึกษาจำนวนหนึ่งพยายามแสดงออกถึงความรู้สึกที่มีต่อเหตุการณ์  นายพอละจี รักจงเจริญ หรือบิลลี่ แกนนำกะเหรี่ยงแก่งกระจาน จ.เพชรบุรีหายตัวไป  โดยจัดทำป้ายประกาศว่า บิลลี่อยู่ที่ไหน  และเดินรณรงค์ด้วยการปิดปาก เพื่อแสดงสัญญาลักษณ์ว่าต้องการคำตอบจากผู้เกี่ยวข้องว่า เขาหายไปไหน  

นักศึกษากลุ่มนี้บอกว่า แม้จะอยู่ที่เชียงใหม่ แต่ก็เห็นว่าเรื่องนี้สำคัญ เพราะเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนของคนที่เคลื่อนไหวเพื่อความเป็นธรรมในสังคม

กนกวรรณ มีพรม ตัวแทนนักศึกษาที่ทำกิจกรรมครั้งนี้บอกว่า การที่คนคนหนึ่งหายตัวไปโดยที่เขาทำงานเพื่อสังคม ที่มากกว่าตอบโจทย์ของตัวเอง แล้วหายตัวไปเป็นสิ่งที่สังคมหรือเราน่าจะออกมาเคลื่อนไหวอะไรสักอย่างหนึ่ง ในกรณีนี้ก็เห็นความไม่เป็นธรรมหลายอย่าง เช่น เมื่อเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นสื่อกระแสหลักก็จะเงียบมาก  เห็นเฉพาะเป็นสื่อออนไลน์ ในเฟสบุ๊คส่วนบุคคลเท่านั้น   

กนกวรรณ มีพรม

 

“ 28 คนแล้วของนักสิทธิมนุษยชนที่หายตัวไปหายตัวไป  ไม่ว่าจะถูกฆ่า หรือถูกอุ้ม เราไม่อยากให้พี่บิลลี่เป็นคนที่ 29 …ส่วนตัวอยากให้กระบวนการสืบสวนหรือตำรวจออกมาค้นหา อย่างในกรณีนี้ของคนที่หายตัวไป คนคนหนึ่ง เขาหายตัวไปเพราะอะไร มันเป็นคำตอบที่จะให้กับลูกกับเมียเขา แต่เป็นคำตอบที่จะให้กับสาธารณะ ที่ต้องให้ความเป็นธรรม ไม่ใช่การเป็นข่าวแล้วก็เงียบหายไป” 

การหายตัวไปของบิลลี่ ส่งผลให้เรื่องราวของกะเหรี่ยงบางกลอย ปรากฏขึ้นสู่สังคมอีกครั้ง หลังจาก 3 ปีที่ผ่านมาที่พวกเขาต้องถูกอพยพออกจากใจแผ่นดิน ป่าต้นน้ำเพชร มาอยู่บริเวณบ้านบางกลอยซึ่งเป็นพื้นราบ  แม้ว่าตลอด 10 ปีที่ผ่านมาพวกเขาจะพยายามยืนยันว่าได้อยู่พื้นที่ป่านี้ก่อนการประกาศเป็นเขตอุทยาน

 

อ. มาลี สิทธิเกรียงไกร จากศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  ซึ่งรู้จักบิลลี่ เพราะเคยทำงานร่วมกัน  บอกว่า ได้รู้จักบิลลี่เมื่อ 3 ปีที่ผ่านมาหลังจากชาวบ้านแก่งกระจานที่อยู่บนพื้นที่ต้นน้ำเพชร บางกลอยบน ถูกไล่ลงมาอยู่ด้านล่าง แล้วชาวบ้านก็ไม่มีที่ดินทำกิน  ทางอุทยานก็บอกว่าจะจัดสรรที่ดินทำกินให้ แต่เมื่อเราก็เข้าไปดู พบว่าที่ดินมันไม่เพียงพอต่อการทำกิน และอีกอย่างที่ดินก็ทับซ้อนกับที่ดินของชาวบ้านเดิมแล้วก็บางพื้นที่ก็เป็นหิน มันไม่เหมาะแก่การทำการเกษตร

“เราก็รู้จักบิลลี่ในตอนนั้น โดยบิลลี่เป็นคนที่สนใจและใสใจกับความทุกข์ร้อนของการอพยพลงมาของคนที่นั้น เขาก็พยายามว่าจะทำอย่างไรที่จะขอความช่วยเหลือกับพี่น้องกะเหรี่ยง นอกพื้นที่แก่งกระจาน ว่าจะช่วยกันทำอย่างไรดี ว่าจะทำอย่างไรให้คนกะเหรี่ยงดำรงอยู่ได้”

อ. มาลี สิทธิเกรียงไกร 

การช่วยเหลือที่ทำกินของชาวบ้านบางกลอยในช่วงเวลาต่อมาได้มีมูลนิธิปิดทองหลังพระมีโครงการทำนาขั้นบันใดเพื่อช่วยเหลือชาวกะเหรี่ยงบางกลอย  แต่ก็ไม่สามารถผลิตข้าวให้กับชาวบ้านที่นั่นได้มากเพียงพอ เพราะทักษะการทำนาแบบขั้นบันใดไม่ใช่วิถีของชาวปกาเกอญอ สิ่งที่พวกเขาต้องการและเห็นว่าเป็นสิทธิของตนเองคือการกลับไปยังใจแผ่นดิน ที่เป็นผืนที่ดินดั้งเดิมของตนเอง  

“กรณีที่ชาวบ้านพยายามเรียกร้องสิทธิของตนเอง  บิลลี่ก็เป็นคนใส่ใจกับปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องกะเหรี่ยงแก่งกระจาน ก็ไม่คิดว่า มันจะนำไปสู่การขัดแย้งผลประโยชน์ หรือทำให้ใครเสียประโยชน์

อ.มาลี กล่าวด้วยว่า  มีมติครม.วันที่ 3 สิงหาคม 2553 ## ที่เป็นแนวนโยบายครอบคลุมประเด็นปัญหา อัตลักษณ์ ชาติพันธุ์ วัฒนธรรม การจัดการทรัพยากร สิทธิในสัญชาติ  กรณีนี้เราพูดถึงเรื่องสิทธิการดำรงชีวิตอยู่ในพื้นที่นี้  โดยที่จริงแล้วชาวบ้านที่นี่อยู่มาตั้งแต่ยังไม่ประกาศเป็นเขตอุทยาน ตามมติครม.นี้ ถ้าพิสูจน์ได้ว่าชาวบ้านอยู่ที่นี่มาตั้งแต่ก่อนประกาศเขตอุทยานฯ  ก็คงต้องถอนการประกาศเขตอุทยาน ณ ที่ตรงนั้น แต่ตรงนี้ก็ยังไม่ได้ดำเนินการไปได้เท่าที่ควร  อีกกรณีคือสิทธิชุมชนตามรัฐธรรมนูญ 2540 ก็ยังไม่ได้เอามาใช้ในกรณีนี้เท่าที่ควร การช่วยเหลือชาวบ้านบางกลอยที่ผ่านมาเป็นการช่วยเหลือแบบสังคมสังเคราะห์ แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าไป และเป็นการช่วยเหลือสิทธิมนุษยชน   แต่ด้านสิทธิความเป็นพลเมืองไทยยังไม่ได้รับการช่วยเหลืออย่างเต็มที่ อย่างเช่น กรณีการหายตัวไปของบิลลี่หายไปสามสี่วันแล้ว เราก็ไม่พบอะไร นอกจากเจ้าหน้าที่อุทยานออกมาพูดว่าได้จับตัวไป และได้ปล่อยตัวไปแล้ว ก็ยังไม่เห็นว่าเจ้าหน้าที่รัฐคนไหนที่ออกมาพูดเรื่องของการคุ้มครองสิทธิของคนตัวเล็กตัวน้อย ที่ถูกจับตัวไป แล้วจะให้ความมั่นคงตัวชีวิตคนเหล่านี้ได้อย่างไร

“ ไม่คิดว่าการที่คนคนหนึ่งลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิ ในการที่จะอยู่อาศัยตามภูมิปัญญาของตัวเอง ไม่อยากจะคิดว่าการที่บิลลี่ลูกขึ้นมาเรียกสิทธิของตัวเองและชาวบ้าน การลุกขึ้นมาใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญไทย และสิทธิความเป็นพลเมืองไทย จะถูกละเมิดสิทธิและหายตัวไป ก็ขอภาวะนาว่า การหายตัวไปของบิลลี่ ไม่ใช่เป็นเพราะกรณีนี้ ที่บิลลี่ลุกขึ้นมา เรียกร้องสิทธิให้กับคนที่ถูกเบียดขับ คนที่มีชีวิตที่อยู่ตามภูมิปัญญา รัฐน่าจะเข้ามาสงเสริม ให้เขาเป็นส่วนหนึ่งของการช่วยกันดูแลรักษาป่า”

อ.มาลีกล่าวด้วยว่า  ตรงป่าที่ต้นน้ำเพชรเป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์มาก ชาวบ้านก็ตั้งคำถามว่า ถ้าพวกเขาตัดไม้ทำลายป่า บริเวรป่าที่พวกเขาอยู่ทำไมป่าถึงสมบูรณ์ และทำไม่ที่ที่พวกเขาไม่อยู่ป่าถึงถูกทำลาย คิดว่าเราต้องมีใคร่ครวญเกี่ยวกับตรงนี้ แล้วนโยบายทำอย่างไรที่จะให้คนเหล่านี้อาศัยอยู่ที่นี่ และร่วมกันดูแลรักษาป่า ตลอดเวลาที่ผ่านมา มันก็เป็นบทสะท้อนว่า ลำพังเจ้าหน้าที่รัฐไม่สามารถที่จะดูแลรักษาได้ และมากกว่านั้นก็คือ คนเหล่านี้อยู่กับพื้นที่มาก่อน อย่างที่เรารู้ว่า คนกะเหรี่ยง อยู่กับน้ำรักษาน้ำ อยู่กับป่ารักษาป่า แล้วเขาได้ได้ประโยชน์จากป่า ไม่มีเหตุผลไรที่เขาจะไปทำลาย มีแต่คนข้างนอกที่จะมาใช่ทรัพยากร หรือจะมาเอาทรัพยากรไปใช้เพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง

เมื่อป่าคือชีวิต …และชีวิตของคนที่อยู่กับป่าต้องสูญหายไปบนเส้นทางการจัดการทรัพยากรของรัฐเช่นชะตากรรมของบิลลี่   ทำให้กลุ่มเครือข่ายชาติพันธุ์ในภาคเหนือที่ไม่เฉพาะชนเผ่ากะเหรี่ยง เตรียมรวมตัวกันเพื่อมีข้อเสนอหาทางออกต่อการจัดการทรัพยากรที่เหมาะสมและเป็นธรรมกว่าที่เป็นอยู่ .

                                                                                             ////////

หมายเหตุ 1 –## มติครม.วันที่ 3 สิงหาคม 2553 ที่เป็นแนวนโยบายครอบคลุมประเด็นปัญหา อัตลักษณ์ ชาติพันธุ์ วัฒนธรรม การจัดการทรัพยากร สิทธิในสัญชาติ โดยมีสาระสำคัญ เช่น การส่งเสริมและสนับสนุนชาวกะเหรี่ยงในเรื่องอัตลักษณ์ชาติพันธุ์ และวัฒนธรรมกะเหรี่ยงว่าเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมชาติที่มีความหลากหลาย ส่งเสริมให้มีความเข้าใจในการอยู่ร่วมกันแบบพหุวัฒนธรรม ยุติการจับกุมและให้ความคุ้มครองกับชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงที่เป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมที่อยู่ในพื้นที่ข้อพิพาทเรื่องที่ทำกินในพื้นที่ดั้ง เดิม รวมทั้งการเร่งรัดสิทธิในสัญชาติให้ชาวกะเหรี่ยงที่ได้รับบัตรประจำตัวคน ซึ่งไม่มีสัญชาติไทย (บัตรประจำตัวบุคคลบนพื้นที่สูงและบัตรสำรวจชุมชนบนพื้นที่สูงเดิม) ที่อพยพเข้าตั้งแต่วันที่ 3 ต.ค.2528

หมายเหตุ  2  กำหนด จัดการเสวนา ป่าคือชีวิต  ชีวิตที่สูญหาย (กระเหรี่ยงต้นน้ำเพชร) บนเส้นทางการจัดการทรัพยากรของรัฐ  ในวันที่ 23 เมษายน 2557  เวลา 13.00-15.30 น. โดยจะมีการประกอบพิธีกรรม คุ้มครองให้บิลลี่ปลอดภัยโดยตัวแทนศาสนาและผู้อาวุโสปกาเกอญอ  (สถานที่อยู่ระหว่างประสานงาน)

 

 

 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ