รมว.อุตสาหกรรมแจง ‘เอกสารยกเลิกมติ ครม.’ ของจริง เหตุปัญหาเรื่องเสนอ ‘วีดิทัศน์’ ด้าน ‘สรรเสริญ’ ยันปิดเหมืองอัคราฯ สิ้นปี 59 เผยคณะกรรมการร่วมตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ไขปัญหาฯ 4 กระทรวง มีอำนาจในการสั่งยุติเหมืองแร่ทองคำอยู่แล้ว หนังสือคำสั่งเป็นเรื่องเทคนิคเท่านั้น ส่วนทนายความมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชนตั้งคำถามมติ ครม.ใหม่ครอบคลุมทุกเหมืองทอง หรือเฉพาะเหมืองอัคราฯ
Infographic-ผลการประชุมคณะรัฐมนตรี : ยุติการอนุญาตการสำรวจและการทำเหมืองแร่ทองคำ
11 มิ.ย. 2559 จากการเผยแพร่ข้อมูลในโซเชียลมีเดีย ถึงเอกสารจากเว็บไซต์ของสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (คลิกดูหน้าเว็บไซต์) เป็นหนังสือด่วนที่สุด 2 ฉบับ ที่ นร.0505/ 20618 และที่ นร.0505/ 20618 ลงวันที่ 8 มิ.ย. 2559 เรื่อง “ยกเลิกมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2559 เรื่อง รายงานการตรวจสอบข้อเท็จจริง และการแก้ปัญหาสุขภาพและสิ่งแวดล้อม จากการทำเหมืองแร่ของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน)” ถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
ส่วนอีกฉบับมีเนื้อหาเดียวกัน ส่งถึงหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง คือ รัฐมนตรีว่าการกระทวงการคลัง, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข, ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ, เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา และประธานคณะกรรมการติดตามตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ
หนังสือดังกล่าวมีรายละเอียดว่า ตามที่ยืนยันมติคณะรัฐมนตรี (10 พ.ค. 2559) เกี่ยวกับเรื่อง รายงานการตรวจสอบข้อเท็จจริงและการแก้ไขปัญหาสุขภาพและสิ่งแวดล้อมจากการทำเหมืองแร่ของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) มาเพื่อทราบ ความละเอียดแจ้งแล้วนั้น
ในคราวประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 7 มิ.ย. 2559 คณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 10 พ.ค. 2559 เรื่อง รายงานการตรวจสอบข้อเท็จจริงและการแก้ไขปัญหาสุขภาพและสิ่งแวดล้อมจากการทำเหมืองแร่ของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นรายงานของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเกี่ยวกับผลการตรวจสอบของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ไขปัญหาข้อขัดแย้ง ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และสุขภาพจากการทำเหมืองแร่ทองคำของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ในรูปแบบวิดีทัศน์ โดยไม่มีเอกสารเสนอคณะรัฐมนตรี จึงให้ยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว และมีมติเป็นดังนี้
1.รับทราบตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมรายงานในรูปแบบวีดิทัศน์ และให้กระทรวงอุตสาหกรรมประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบเกี่ยวกับการดำเนินการของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ไขปัญหาข้อขัดแย้ง ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และสุขภาพ จากการทำเหมืองแร่ทองคำของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ให้เป็นที่เข้าใจถูกต้องตรงกัน
2.ให้กระทรวงอุตสาหกรรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการเรื่องนี้ให้เป็นไปตามข้อกฎหมาย และระเบียบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องต่อไป
หนังสือดังกล่าวทำให้เกิดคำถามเป็น 2 กระแส ด้านหนึ่งคือเป็นหนังสือราชการจริงหรือไม่ เนื่องจากไม่มีตราครุฑและการลงนามชื่อ
ขณะที่อีกด้านหนึ่งตั้งคำถามว่าเอกสารนี้จะมีผลอย่างไรต่อกรณีการยุติการอนุญาตอาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ทองคำ และประทานบัตรทำเหมืองแร่ทองคำ รวมถึงคำขอต่ออายุประทานบัตรของเหมืองแร่ทั่วประเทศ อีกทั้งกรณีการประกอบการเหมืองแร่ทองคำ บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ที่ขยายเวลาโรงประกอบโลหกรรมให้ถึงปลายปี 2559 ซึ่งมีการประกาศตามมติ ครม. 10 พ.ค. 2559
ภาพ: เว็บไซต์ของสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี
‘สรรเสริญ’ ยันปิดเหมืองอัคราฯ สิ้นปี 59
พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวอิศราว่า ได้สอบถามไปยังนางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ระบุหนังสือฉบับนี้ไม่ได้เป็นคำสั่งยกเลิกการปิดเหมืองแร่ทองคำของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ในสิ้นปี 2559 ตามที่เข้าใจและมีการเผยแพร่ในสื่อสังคมออนไลน์ขณะนี้ แต่เป็นขั้นตอนทางเทคนิคเท่านั้น
“ก่อนหน้านี้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการร่วมตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ไขปัญหาฯ 4 กระทรวง คือ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งมีอำนาจในการสั่งยุติการดำเนินกิจการเหมืองแร่ทองคำอยู่แล้ว ฉะนั้นคณะรัฐมนตรีจึงไม่ต้องมีมติสั่งการใด ๆ แต่เป็นเพียงการรับทราบมติตามที่เสนอเท่านั้น” โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว
รมว.อุตสาหกรรมแจง ‘เอกสารเลิกยกมติ ครม.’ ของจริง เหตุปัญหาเรื่องเสนอ ‘วิดีทัศน์’
ด้านอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ให้สัมภาษณ์ ภัทราพร ตั๊นงาม ผู้สื่อข่าว ThaiPBS ถึงกรณีดังกล่าวว่า เอกสารใหม่ เป็นมติครม. ที่สั่งยกเลิก มติ ครม.เก่า เมื่อวันที่ 10 พ.ค.59 จริง โดยสาระสำคัญที่ทำให้ต้องยกเลิก อยู่ที่การใช้ภาษาในเอกสาร เพราะการเสนอ ครม.ครั้งที่แถลงเมื่อวันที่ 10 พ.ค.นั้น กระทรวงอุตสาหกรรมไม่ได้เสนอ ครม.เป็นเอกสารต่อที่ประชุมแต่เป็นการรวบรวมเนื้อหาเสนอในรูปแบบวีดิทัศน์ หรือ VTR หรือ คลิปวีดีโอ ให้ ครม.รับชมแทนเอกสาร ซึ่งภาษาในเอกสารมีปัญหาเพราะมติข้อที่ 1 จบลงท้ายโดยไม่มีการระบุว่ากระทรวงอุตสาหกรรมรายงาน “วีดิทัศน์” เลขาธิการ ครม. จึง แจ้งยกเลิก มติ 10 พ.ค.59 และทำเอกสารมติใหม่ดังกล่าวซึ่งมีการเพิ่มเติมคำว่าวีดิทัศน์คำเดียวเท่านั้น
“นโยบาย ปิดเหมืองทองคำยังมีต่อไปตามเดิม บ.อัคราฯ ยังประกอบโลหะกรรม ถึงแค่สิ้นปี 2559 เท่านั้น ไม่ว่าคำสั่งเก่าหรือใหม่ ท่านนายกรัฐมนตรียังปิดหมือนเดิม” รมว.อุตสาหกรรม กล่าว
ภาพ: เทียบเอกสารมติใหม่ – มติเก่า ซึ่งจะเห็นความแตกต่างที่ไม่ใช่แค่เทคนิค โดยเฉพาะในข้อ 2 ที่มติเดิมระบุว่า ภายหลังสิ้นปี 2559 ภาครัฐจะไม่อนุญาตให้สำรวจและทำแร่ทองคำอีกต่อไป แต่มติใหม่ไม่มี ซึ่งจะทำให้ไม่ผูกมัดทำเรื่องนี้อีกต่อไป
ตั้งคำถามมติ ครม.ใหม่ครอบคลุมทุกเหมืองทอง หรือเฉพาะเหมืองอัคราฯ
ส.รัตนมณี พลกล้า ทนายความมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน กล่าวถึงผลในทางกฎหมายว่า มติฉบับใหม่มีผลในการยกเลิกมติฉบับเก่า และเปลี่ยนมติใหม่เป็น 1.รับทราบตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมรายงานในรูปแบบวิดีทัศน์ และให้กระทรวงอุตสาหกรรมประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบเกี่ยวกับการดำเนินการของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ไขปัญหาข้อขัดแย้ง ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และสุขภาพ จากการทำเหมืองแร่ทองคำของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ให้เป็นที่เข้าใจถูกต้องตรงกัน
2.ให้กระทรวงอุตสาหกรรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการเรื่องนี้ให้เป็นไปตามข้อกฎหมาย และระเบียบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องต่อไป
อย่างไรก็ตาม ถึงปัจจุบันประชาชนทั่วไปยังไม่ทราบถึงเนื้อหาของวีดิทัศน์ดังกล่าว แต่สิ่งที่ประชาชนเข้าใจคือมติ ครม.วันที่ 10 พ.ค. 2559 นั้นคือมติครม.ที่ให้ยกเลิกไม่ให้มีการทำเหมืองต่อได้ถูกยกเลิก ส่วนหากจะมีข้อเสนอในรายงานรูปแบบวีดิทัศน์ว่าให้มีการปิดเหมืองและไม่ให้ต่อใบอนุญาต แต่ก็อาจไม่สามารถปิดไปได้เลยทันทีเพราะในข้อ 2 เขียนไว้ว่าให้เป็นไปตามข้อกฎหมายและระเบียบ
ส.รัตนมณี กล่าวว่า สิ่งสำคัญคือต้องไปหาว่าวีดิทัศน์ของกระทรวงอุตสาหกรรมที่รายงานผลการตรวจสอบของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ไขปัญหาข้อขัดแย้ง ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และสุขภาพจากการทำเหมืองแร่ทองคำของบริษัทอัคราฯ รายงานและมีข้อเสนอว่าอย่างไร เพื่อจะได้รู้ว่าความจริงแล้วตอนนี้มติเรื่องเหมืองทองของบริษัทอัคราฯ คืออะไร
ส.รัตนมณี กล่าวด้วยว่า ต้องย้อนกลับไปอีก ตามที่มีผู้สรุปออกมาว่ามติ ครม.วันที่ 10 พ.ค. ไม่ได้มีแค่กรณีบริษัทอัคราฯ แต่มีการพูดถึงในเรื่องที่ว่าสำหรับเหมืองทองทั้งหมดที่กำลังมีการขอสำรวจอยู่ให้หยุดดำเนินการ แต่ในมติ ครม.วันที่ 7 มิ.ย. เหมืองทองอื่น ๆ อาจดำเนินการต่อได้ เพราะเจาะจงเพียงประเด็นเหมืองทองของบริษัทอัคราฯ
ย้อนดูคำชี้แจง กพร.ต่อประกาศนโยบายยุติสัมปทานเหมืองแร่ทองคำทั่วประเทศ
สิ่งที่เป็นที่ฮือฮาสำหรับ มติ ครม. 10 พ.ค. 2559 คือ การประกาศนโยบายยุติสัมปทานเหมืองแร่ทองคำทั่วประเทศ ซึ่งทำให้เกิดคำถามมากมายถึงการดำเนินการและความเป็นไปได้ ต่อมาเมื่อวันที่ 12 พ.ค. 2559 กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กระทรวงอุตสาหกรรม จึงได้มีเอกสารชี้แจงเพิ่มเติม กรณีการยุติการอนุญาตการสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำทั้งหมดทั่วประเทศ และกรณีการประกอบการเหมืองแร่ทองคำ บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ดังนี้
1. เหตุผลในการยุติสัมปทานเหมืองแร่ทองคำ
การดำเนินการในครั้งนี้เป็นการดำเนินการตามมติร่วมกันของ 4 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งได้มีการหารือร่วมกันถึงผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงด้านต่าง ๆ สรุปว่า ปัจจุบันยังคงมีปัญหาเรื่องร้องเรียนและข้อขัดแย้งของประชาชนในพื้นที่ แม้จะยังไม่สามารถสรุปได้อย่างชัดเจนว่าปัญหาข้อร้องเรียนและผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพอนามัยของประชาชน เกิดจากการทำเหมืองแร่ทองคำของบริษัท อัคราฯ หรือไม่ แต่เพื่อประโยชน์ของสังคมและประชาชนเป็นส่วนรวมและแก้ปัญหาความแตกแยกของประชาชนในชุมชน ประกอบกับมีคำสั่งของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติเกี่ยวกับเหมืองแร่ทองคำไว้เมื่อเดือนกรกฎาคมและสิงหาคม 2557 ว่าการดำเนินการจะต้องโปร่งใส ไม่สร้างมลพิษ ประชาชนไม่ต่อต้าน และยังไม่อนุมัติ จึงมีมติร่วมกัน ดังนี้
1) ยุติการอนุญาตอาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ทองคำและประทานบัตรทำเหมืองแร่ทองคำ รวมถึงคำขอต่ออายุประทานบัตรด้วย
2) ในกรณีของบริษัท อัคราฯ เพื่อบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของพนักงาน และเพื่อเตรียมการเลิกประกอบกิจการ จึงเห็นควรให้ต่ออายุใบอนุญาตประกอบโลหกรรมไปจนถึงสิ้นปี 2559 เพื่อให้สามารถนำแร่ ที่เหลืออยู่ไปใช้ประโยชน์ได้ พร้อมทั้งให้บริษัท อัคราฯ เร่งดำเนินการปิดเหมืองและฟื้นฟูพื้นที่ที่ผ่านการทำเหมือง ให้เป็นไปตามเงื่อนไขการอนุญาต
3) ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลประชาชนและบรรเทาปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น ภายหลังสิ้นสุดการประกอบกิจการเหมืองแร่และโลหกรรมของบริษัท อัคราฯ ดังนี้
-กระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กำกับดูแล การปิดเหมืองและฟื้นฟูพื้นที่
-กระทรวงสาธารณสุข ดูแลสุขภาพของประชาชนในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง
-กระทรวงแรงงาน ดูแลพนักงานที่ได้รับผลกระทบจากการปิดกิจการ
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีอนุมัติให้กระทรวงอุตสาหกรรมดำเนินการตามข้อกฎหมาย ระเบียบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง และบูรณาการส่วนราชการต่าง ๆ เพื่อให้เป็นไปตามมติร่วมกันของทั้ง 4 กระทรวงข้างต้นแล้ว และกระทรวงอุตสาหกรรมได้รายงานให้คณะรัฐมนตรีรับทราบ เมื่อวันที่ 10 พ.ค. 2559 แล้ว
2. แนวทางในการดำเนินการปิดกิจการของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน)
นโยบายการยุติสัมปทานเหมืองแร่ทองคำนี้ไม่ได้เป็นการยุติการทำเหมืองแร่ทองคำของบริษัท อัคราฯ หรือเพิกถอนประทานบัตรของบริษัท อัคราฯ โดยทันที หากแต่ บริษัท อัคราฯ จะสามารถประกอบกิจการได้ถึงสิ้นปี 2559 เพื่อบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของพนักงาน และเพื่อให้บริษัท อัคราฯ สามารถนำแร่ที่เหลืออยู่ไปใช้ประโยชน์ พร้อมทั้งเตรียมการเลิกประกอบกิจการ และเร่งดำเนินการปิดเหมืองและฟื้นฟูพื้นที่ที่ผ่านการทำเหมือง
ทั้งนี้ ในช่วงเวลา 7 เดือนนี้ นอกจากบริษัท อัคราฯ จะสามารถประกอบกิจการได้ตามปกติแล้ว บริษัท อัคราฯ จะต้องเริ่มดำเนินการฟื้นฟูพื้นที่ให้เป็นไปตามแผนการปิดเหมือง โดยการปรับสภาพและฟื้นฟูพื้นที่ต่าง ๆ ซึ่งได้มีการกำหนดไว้ในมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) โดยกำหนดไว้แล้วตั้งแต่ขั้นตอนการพิจารณาอนุญาตให้ประกอบกิจการเหมืองแร่
ภาครัฐโดยกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้อง จะทำหน้าที่ตรวจสอบและกำกับดูแลการปิดเหมืองและการฟื้นฟูพื้นที่ให้เป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้
3. เหตุผลในการอนุญาตให้บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ประกอบโลหกรรมถึงสิ้นปี 2559 ทั้งที่ประทานบัตรทำเหมืองแร่ทองคำของบริษัท อัคราฯ ยังมีอายุเหลืออยู่
แม้ว่าประทานบัตรเหมืองแร่ของบริษัท อัคราฯ จะสิ้นอายุในเดือนมิถุนายน 2563 และเดือนกรกฎาคม 2571 แต่ที่ผ่านมาบริษัท อัคราฯ ได้เร่งการผลิตมาอย่างต่อเนื่อง จนถึงปัจจุบันหากพิจารณาในทางเทคนิคและวิศวกรรมแล้ว บริษัท อัคราฯ จะสามารถทำเหมืองได้ไม่เกินสิ้นปี 2559 จึงอนุญาตให้ประกอบโลหกรรมได้ถึงสิ้นปี 2559 เพื่อให้สอดคล้องกับการประเมินตามหลักการทางเทคนิคและวิศวกรรมดังกล่าว
4. ผลที่จะเกิดขึ้นจากนโยบายการยุติสัมปทานเหมืองแร่ทองคำ
กระทรวงอุตสาหกรรมจะดำเนินการตามกฎหมาย ระเบียบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในการยุติการดำเนินการที่เกี่ยวกับการทำเหมืองแร่ทองคำ 3 ประการ ได้แก่
1) ยุติการอนุญาตอาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ทองคำ ซึ่งปัจจุบันมีคำขออาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ทองคำ จาก 12 บริษัท ครอบคลุมพื้นที่ 10 จังหวัด ได้แก่ เพชรบูรณ์ พิจิตร จันทบุรี ระยอง พิษณุโลก ลพบุรี สระบุรี สระแก้ว นครสวรรค์ และสตูล จำนวน 177 แปลง พื้นที่ประมาณ 1,539,644 ไร่
2) ยุติการอนุญาตประทานบัตรทำเหมืองแร่ทองคำ ซึ่งปัจจุบันมีคำขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ทองคำ จากเพียงบริษัทเดียว คือ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ที่จังหวัดเลย จำนวน 107 แปลง พื้นที่ประมาณ 28,780 ไร่
3) ยุติการอนุญาตคำขอต่ออายุประทานบัตร ซึ่งปัจจุบันมีคำขอต่ออายุประทานบัตรทำเหมืองแร่ทองคำ มีเพียงบริษัทเดียว คือ บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ที่จังหวัดเพชรบูรณ์ 1 แปลง พื้นที่ 93 ไร่