เหตุระทึก “ยิงปืนข่มขู่” กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดฯ จ.เลย กระทุ้งรัฐปกป้องความปลอดภัยประชาชน

เหตุระทึก “ยิงปืนข่มขู่” กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดฯ จ.เลย กระทุ้งรัฐปกป้องความปลอดภัยประชาชน

“ปิดเหมืองฟื้นฟู” ยังไม่คืบหน้า แต่สถานการณ์ความไม่ปลอดภัยของชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน​ ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย กลายเป็นประเด็นร้อนขึ้นมาอีกระลอก

วันนี้ (12 ม.ค. 2564) เมื่อเวลาประมาณ 17.00 น. เพจเฟซบุ๊ก UNME of Anarchy ของกลุ่มคนรุ่นใหม่ UNME OF ANARCHY ซึ่งลงพื้นที่สังเกตุการณ์ความเคลื่อนไหวในพื้นที่เหมืองแร่ทองคำ​ ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย ได้ถ่ายทอดสดเหตุการณ์ชุลมุนและมีเสียงปืนดังขึ้น 1 นัด ในบริเวณพื้นที่ตั้งแคมป์จัดเวรยามเฝ้าระวังสินแร่ของกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน ที่สี่แยกกำแพงใจซึ่งเป็นเส้นทางเข้า-ออกเหมืองแร่ทองคำซึ่งหยุดประกอบกิจการไปแล้ว โดยมีเจ้าหน้าที่รัฐทั้งชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน และกำนัน รวมทั้งองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนอยู่ร่วมในเหตุการณ์ด้วย

เพจเฟซบุ๊ก UNME of Anarchy ให้ข้อมูลว่า ผู้ก่อเหตุเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง (ความมั่นคง) ที่มีอาการมึนเมาแอลกอฮอล์ พร้อมระบุโปรดติดต่อสถานการณ์ต่อไป ประชาชนและนักศึกษาในพื้นที่กำลังตกอยู่ในอันตราย

แม้เหตุการณ์ดังกล่าวจะไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ แต่ก็สร้างความตื่นตระหนกให้กับผู้อยู่ร่วมในเหตุการณ์

00000

ร้อง ผบ.ตร. สั่งการมาตรการคุ้มครองความปลอดภัย

ก่อนหน้านี้ เมื่อช่วงเช้า ชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน​ ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย พร้อมนักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชน ได้เข้าแจ้งความลงบันทึกประจำวัน หลังพบความผิดปกติของกองสินแร่ทองคำบริเวณหน้าโรงงานแต่งแร่ทองคำ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ที่ยังไม่ได้มีการตีตราจากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ และยื่นหนังสือถึงผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ผ่าน พ.ต.ท.วัชระพงษ์ จักรโนวัน รองผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรวังสะพุง เพื่อให้มีมาตรการคุ้มครองความปลอดภัยแก่กลุ่มชาวบ้าน นักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่ถูกชายฉกรรจ์ข่มขู่คุกคาม และให้หาแนวทางในการป้องกันการขนแร่และสินทรัพย์ในพื้นที่เหมืองทองคำอย่างไม่ถูกต้องที่อาจเกิดขึ้น

น.ส.รจนา กองแสง ตัวแทนกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดฯ กล่าวถึงเนื้อหาในหนังสือว่า ทางกลุ่มฯ ได้มีข้อเรียกร้องถึงผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ดังนี้

(1) ขอให้ ผบ.ตร. ได้สั่งการมาที่ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดเลย และ สภ.วังสะพุง เพื่อเร่งรัดหามาตรการสร้างความปลอดภัยและมีประสิทธิผลเพื่อดูแลความปลอดภัยของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน จังหวัดเลย และองค์กรสิทธิมนุษยชนต่างๆ ที่สนับสนุนการทำงานของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน เพื่อให้มั่นใจว่า จะไม่มีเหตุการณ์ความรุนแรงใด ๆ ที่มากระทำต่อนักปกป้องสิทธิฯ ที่ทำหน้าที่ดูแลปกป้องสิ่งแวดล้อม และเฝ้าเวรยามเพื่อพิทักษ์ทรัพย์สินและสินแร่ในเหมืองทอง ในฐานะหนึ่งในคณะกรรมการเจ้าหนี้ และหนึ่งในคณะกรรมการพิทักษ์ทรัพย์ ในขั้นตอนของการประมูลสินทรัพย์เพื่อนำเงินมาชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ของบริษัททุ่งคำจำกัด โดยเริ่มจากการมาติดตู้แดงเป็นทางการและส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจมาตรวจตราดูแลความปลอดภัยประจำวัน และประสานงานกับทีมความปลอดภัยของกลุ่มฯ เพื่อร่วมหามาตรการความปลอดภัยในขั้นต่อไป

(2) ขอให้ ผบ.ตร. ได้สืบสวนและหาข้อเท็จจริงถึงการเข้ามาของกลุ่มชายฉกรรจ์ที่อ้างว่ามาจากบริษัททุ่งคำ จำกัด ที่มีพฤติการณ์ข่มขู่สมาชิกในชุมชน ทำให้กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดรู้สึกไม่ปลอดภัยและเกรงว่าจะตกอยู่ในอันตรายดังที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในที่ผ่านมา รวมถึงสืบค้นข้อเท็จจริงต่อในการหามาตรการการป้องกันความรุนแรงที่อาจจะเกิดขึ้นและหามาตรการปกป้องความปลอดภัยของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน

และ (3) ขอให้ ผบ.ตร. ได้สอบข้อเท็จจริงของพฤติกรรมเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.วังสะพุง ที่ได้เดินทางเข้ามาพร้อมกับกลุ่มชายฉกรรจ์ดังกล่าว และมาติดตู้แดงบริเวณหน้าเหมืองพิพาทเมื่อวันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2564 ว่าเข้ามาด้วยจุดประสงค์ใด ใครสั่งมา และเป็นไปด้วยมาตรการใด

ด้าน พ.ต.ท.วัชระพงษ์ จักรโนวัน รองผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรวังสะพุง ก็ได้กล่าวหลังจากรับหนังสือจากตัวแทนชาวบ้านว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจจะดำเนินการตามที่กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดได้ยื่นหนังสือมาทั้ง 3 ข้อ และจะดำเนินการในเรื่องความปลอดภัยให้เร็วที่สุดและให้ความยุติธรรมกับทุกฝ่ายเกี่ยวกับเรื่องกฎหมายต่าง ๆ และจะดำเนินการในการไปตรวจด้วยการเพิ่มความถี่ในการตรวจของเราเพิ่มมากขึ้นเพื่อความปลอดภัยของทุกฝ่าย

ขอรับรองว่าหลังจากนี้จะมีมาตรการในการเพิ่มความถี่ในการออกตรวจเพื่อความปลอดภัยของกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดฯ ที่รักษาสิทธิอยู่ที่นั่น และในส่วนของการขนย้ายแร่เถื่อนที่ชาวบ้านมาลงบันทึกประจำวันนั้น ตำรวจก็ยังไม่ทราบเรื่อง หลังจากวันนี้ก็จะจัดเจ้าหน้าที่ลงไปตรวจสอบตามการร้องเรียกร้องของชาวบ้าน

00000

ยื่นหนังสือผู้ว่าฯ – อธิบดี กพร. ชี้ต้องกำกับดูแลการขนย้ายทรัพย์สินและชี้แจงข้อมูลให้ชัดเจน

นอกจากนี้ กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดฯ ยังได้ยื่นหนังสื่อถึงอุตสาหกรรมจังหวัดเลย สำนักงานพิทักษ์ทรัพย์ และผู้ว่าราชการจังหวัดเลย

นางมล คุณนา ตัวแทนกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดฯ มอบหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดเลย ผ่านนายณรงค์ จีนอ่ำ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเลย ขอให้ชี้แจงข้อมูลเกี่ยวกับขั้นตอนและกระบวนการในการขนย้ายสินแร่ของห้างหุ้นส่วนจำกัด ไขนภาสตีล ผู้ประมูลสินแร่จำนวน 190 ถุงได้

หนังสือดังกล่าวระบุว่า ภายหลังจากที่ศาลพิพากษาให้บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ล้มละลาย และให้พิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ซึ่งกรมบังคับคดีได้ตีตรายึดทรัพย์ ชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดได้รับมอบอำนาจจากคณะกรรมการเจ้าหนี้ ให้ทำหน้าที่เฝ้าเวรยาม ดูแลสินทรัพย์และสินแร่ภายในเหมืองทองคำ ซึ่งสถานการณ์ในพื้นที่ตอนนี้ กำลังตกอยู่ในสภาวะความเสี่ยงที่จะเกิดความรุนแรงขึ้น เนื่องจากบริษัทเอกชนหลายราย สนใจสินทรัพย์นอกรายการ ที่ไม่ได้ถูกตีตรายึดทรัพย์สินจากกรมบังคับคดีเป็นจำนวนมาก

นอกจากนี้ยังมีความไม่ชอบมาพากลและมีกระบวนการลับลมคมในในการจัดการขนย้ายสินแร่ 190 ถุงดังกล่าวมากมาย ซึ่งไม่มีความชัดเจนใด ๆ ในการจัดการสินแร่ว่าจะมีดำเนินการขนย้ายสินแร่ออกไปเมื่อไหร่ อย่างไร แล้วเสร็จกี่วัน และขนส่งสินแร่ดังกล่าวไปที่ไหน อย่างไร และได้มีการเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับสินทรัพย์อื่นในพื้นที่ โดยเข้าไปเคลื่อนย้ายและปรับแต่งกองสินแร่ที่อยู่บริเวณหน้าโรงงานแต่งแร่ที่ไม่ถูกตีตรายึดทรัพย์ ซึ่งเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย

กลุ่มฅนรักษ์บ้าน 6 หมู่บ้าน จ.เลย ขอให้ชี้แจงข้อมูลเกี่ยวกับขั้นตอนและกระบวนการในการขนย้ายสินแร่ของห้างหุ้นส่วนจํากัด ไขนภาสตีล และดำเนินการตรวจสอบขั้นตอนและกระบวนการดังกล่าวว่าดำเนินการถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ อย่างไร พร้อมทั้งขอทราบข้อมูลเกี่ยวกับขั้นตอนและกระบวนการในการขนย้ายสินแร่ออกจากพื้นที่เหมืองทองคำของห้างหุ้นส่วนจํากัด ไขนภาสตีล ดังนี้

  1. ห้างหุ้นส่วนจํากัดฯดังกล่าวจะมีการดำเนินการเปลี่ยนถ่ายถุงบิ๊กแบ็ค (BIG BAG) เสร็จสิ้นเมื่อไหร่ วันไหน อย่างไร โดยจะดำเนินการไปอีกกี่วันจึงจะแล้วเสร็จสิ้น
  2. ห้างหุ้นส่วนจํากัดฯดังกล่าวจะดำเนินการขนย้ายสินแร่ 190 ถุงบิ๊กแบ็ค (BIG BAG) ออกจากพื้นที่เหมืองทองคำวันไหน เมื่อไหร่ อย่างไร
  3. ห้างหุ้นส่วนจํากัดฯดังกล่าวได้รับใบอนุญาตครอบครองสินแร่แล้วหรือไม่ อย่างไร เมื่อไหร่ โดยขอเอกสารหลักฐานการครอบครองสินแร่ดังกล่าว
  4. ห้างหุ้นส่วนจํากัดฯดังกล่าวได้รับใบอนุญาตขนสินแร่และใบอนุญาตขายแร่แล้วหรือไม่ เมื่อไหร่ อย่างไร โดยขอเอกสารหลักฐานดังกล่าวทั้งหมด และถ้ายังไม่ได้รับใบอนุญาตดังกล่าวห้างหุ้นส่วนจํากัดฯกำลังดำเนินการอยู่ในขั้นตอนและกระบวนการใด อย่างไร

ส่วนหนังสือถึงอธิบดีกรมบังคับคดี ที่ยื่นผ่าน น.ส.สายพิรุณ วัฒนวงศสันติ ผู้อำนวยการสำนักงาน บังคับคดีจังหวัดเลย ขอให้มีการตรวจสอบขั้นตอนและกระบวนการในการขนสินแร่ออกจากเหมืองทองคำ และเฝ้าระวังรักษาความปลอดภัยให้กับประชาชนในพื้นที่ 6 หมู่บ้าน รอบเหมืองแร่ทองคำ พร้อมทั้งยังได้ร้องเรียนการปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมายอย่างร้ายแรง ของนายภาณุ ศรีจริยา เจ้าหน้าที่บังคับคดีกองล้มละลาย 3 ที่ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ โดยไม่ได้ดำเนินการตีตราทรัพย์สินทั้งหมดของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ซึ่งอาจนำมาสู่การทุจริตหรือเอื้อผลประโยชน์ให้เกิดการทุจริต ในการประมูลขายสินทรัพย์ทั้งในและนอกรายการของ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด อย่างผิดกฎหมาย

และได้ยื่นหนังสือต่ออธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ผ่านนายมานิต นวลพับ หัวหน้ากลุ่มอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดเลย ขอให้ชี้แจงข้อมูลเกี่ยวกับขั้นตอนและกระบวนการในการขนย้ายสินแร่ของห้างหุ้นส่วนจำกัด ไขนภาสตีล

00000

ย้อนร้อยความรุนแรง บาดแผลของนักต่อสู้เพื่อชุมชน

ข้อมูลจากเพจเหมืองแร่เมืองเลย V2 ระบุว่า เมื่อวันที่ 2 ม.ค. ที่ผ่านมา ได้มีบุคคลอ้างตัวว่าเป็นทนายความคนใหม่ของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ผู้ประกอบกิจการเหมืองทอง พร้อมด้วยกลุ่มชายฉกรรจ์ 15 คน บุกไปหาแกนนำกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดฯ ถึงบ้านพักอาศัย เพื่อขอเข้าพื้นที่เหมืองทองไปทำการฟื้นฟูและจะไปสำรวจพื้นที่รอบ ๆ เหมืองทองคำ และมีคนอ้างตัวว่าเป็นทหารร่วมกับคนของบริษัทฯ เดินทางไปหาชาวบ้านที่เฝ้าเวรยามรักษาความปลอดภัยอยู่ที่ประตูแดง เพื่อขอเข้าไปในพื้นที่เหมืองทองคำ ซึ่งชาวบ้านได้ยืนยันไม่ให้กลุ่มชายฉกรรจ์ดังกล่าวเข้าพื้นที่เพราะไม่ได้มาพร้อมเจ้าหน้าที่พิทักษ์ทรัพย์และไม่มีเอกสารยืนยัน จึงยอมถอยกลับไป

แต่ต่อมาพบว่า กลุ่มชายฉกรรจ์ดังกล่าวได้จับตาดูความเคลื่อนไหวของชาวบ้านที่บริเวณสี่แยกกำแพงใจ และลาดตระเวนรอบ 6 หมู่บ้านตลอดเวลา

ความรุนแรงที่เกิดในพื้นที่ทั้งแต่อดีตที่ผ่านมา ทำให้ชาวบ้านเกิดความกังวลใจ จากกรณีเมื่อวันที่ 15 พ.ค. 2557 ซึ่งชุมชนถูกกองกำลังของกลุ่มชายฉกรรจ์กลุ่มหนึ่งพร้อมอาวุธเข้าปิดล้อมและทำร้ายชาวบ้าน เพื่อขนย้ายสินแร่ออกจากพื้นที่ ในเหตุการณ์ครั้งนั้น สามารถติดตามจับกุมดำเนินคดีผู้เกี่ยวข้องได้เพียง 2 คน แต่มีชาวบ้านบาดเจ็บถึง 40 คน กลายเป็นความทรงจำในฐานะ “15 พฤษภา วันขนแร่เถื่อนแห่งชาติ”

สำหรับการฟื้นฟูเหมืองทองเลยเป็นไปตามคำสั่งศาล เนื่องจากเมื่อวันที่ 13 ธ.ค. 2561 ศาลจังหวัดเลยมีคำพิพากษาให้บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ชดใช้ค่าเสียหายจากการกระทำละเมิดตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และ พ.ร.บ.การสาธารณสุข เพื่อให้ดำเนินการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมทั้งในและนอกพื้นที่เหมืองทองคำจนกว่าพื้นที่ดังกล่าวจะมีสภาพที่ใช้อุปโภคบริโภคได้ตามเกณฑ์มาตรฐานของทางราชการ และต้องชดเชยค่าเสียหายจากการได้รับผลกระทบเป็นค่าหาอยู่หากิน ค่าน้ำ และค่าเสียหายด้านสุขภาพทั้งร่ายกายและจิตใจ เป็นจำนวนเงิน 104,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดฯ จำนวน 149 ครอบครัว

บรรยากาศหลังศาลอ่านคำพิพากษา ชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดฯ ต่างแสดงความยินดี เนื่องจากคำพิพากษาดังกล่าวถือเป็นการยืนยันว่าผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพที่ชุมชนได้รับกว่า 10 ปี เกิดจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำของบริษัทเอกชนดังกล่าว เพราะตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาบริษัทฯ อ้างว่าผลกระทบต่อชุมชนไม่ได้เกิดจากการทำเหมืองและปฏิเสธความรับผิดชอบมาโดยตลอด

อย่างไรก็ตาม 2 ปีที่ผ่านมา การดำเนินการฟื้นฟูและเยียวยาความเสียหายแก่ชาวบ้านยังไม่คืบหน้า

ขณะที่บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ถูกศาลพิพากษาให้มีสถานะล้มละลายและให้พิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด สินทรัพย์เข้าสู่กระบวนการขายทอดตลาด แต่สัญญาว่าด้วยการสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำระหว่างกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่กับบริษัท ทุ่งคาฮาเบอร์ จำกัด (มหาชน) และกับบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ซึ่งเป็นสัญญาให้สิทธิสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำในพื้นที่ขนาดใหญ่มากถึง 545 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 340,615 ไร่ ที่ยังคงอยู่

นั่นคือความกังวลใจของชาวบ้านในพื้นที่ หากบริษัทเอกชนเอกชนยังเล็งเห็นว่า ยังมีสินแร่ทองคำและสินแร่อื่น ๆ ที่มีมูลค่ามหาศาลอยู่ในสัญญาดังกล่าว และอยากจะเปิดการทำเหมืองแร่ทองคำในพื้นที่ต่อไปอีก การปิดเหมืองฟื้นฟูคืนธรรมชาติสู่ชุมชน คงไม่ใช่เรื่องง่าย

ที่มาภาพและข้อมูล

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ