กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด จ.เลย หวั่นกำจัดสารพิษเหมืองทองไม่ได้มาตรฐาน, อุตสาหกรรมปูด เตรียมประมูลกองแร่ต่อ

กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด จ.เลย หวั่นกำจัดสารพิษเหมืองทองไม่ได้มาตรฐาน, อุตสาหกรรมปูด เตรียมประมูลกองแร่ต่อ

เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2567 เวลาประมาณ 09.00-12.00 น. ที่บริเวณประตูทางเข้า-ออก พื้นที่เหมืองแร่ทองคำ บ้านนาหนองบง ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย หรือชาวบ้านที่นี่เรียกว่า “ประตูแดง” ได้มีหน่วยงานราชการและเจ้าหน้าที่จากหลายภาคส่วน อาทิ สำนักงานบังคับคดีจังหวัดเลย อุตสาหกรรมจังหวัดเลย ผู้แทนสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเลย ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดเลย ผู้แทนสถานีตำรวจภูธรวังสะพุง ผู้แทนอำเภอวังสะพุง สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ประจำพื้นที่ภาคอีสาน และมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน เดินทางมาประชุมร่วมกับชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้านรอบเหมืองแร่ทองคำจังหวัดเลย และลงดูพื้นที่เพื่อติดตามความคืบหน้าการรื้อถอนโรงงานถลุงและแต่งแร่ทองคำ ของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด หลังหยุดประกอบกิจการ โดยมีตัวแทนของบริษัทบริหารและการพัฒนาเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม จำกัด (มหาชน) หรือบริษัท เจนโก้ ซึ่งเป็นผู้ได้รับการประมูลงานรื้อถอน เข้าร่วมชี้แจงด้วย

น.ส.รจนา  กองแสน  กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้านรอบเหมืองแร่ทองคำจังหวัดเลย กล่าวว่า ตั้งแต่บริษัท เจนโก้ ได้รับการประมูลไปเมื่อ 22 กันยายน ในราคา 2,300,000 บาท เราก็รู้สึกดีใจว่าเขาจะรับผิดชอบบำบัด กำจัดสารพิษด้วย แล้วเราคุยกันว่าน้ำทุกอย่าง สารเคมีทุกถัง จะต้องเอาไปบำบัดข้างนอกไม่ว่าจะเกินหรือไม่เกินค่ามาตรฐานก็ตาม แต่พอมาช่วงตุลาคม ก็ปรากฎว่ามีน้ำในถัง 13 ถัง โดนลักปล่อยทิ้ง ซึ่งเราก็เข้าใจว่าเป็นน้ำสารพิษทั้งหมดแล้วมันก็ปนเปื้อนในดิน ลงมาในนาข้าวของชาวบ้าน ชาวบ้านก็ตกใจมาก เพราะข้อตกลงบอกว่าบริษัทเจนโก้ จะต้องเอาออกไปกำจัดและบำบัดข้างนอก

“ตอนนี้กลายเป็นว่า ชาวบ้านเขากลัวการฟื้นฟูแล้ว และทำให้เราคิดว่าเจนโก้มาตราการไม่เพียงพอกับการฟื้นฟู เพราะว่าเพียงขั้นตอนการขนย้ายโรงงานยังปนเปื้อนขนาดนี้แล้ว ถ้าไปถึงกระบวนการฟื้นฟูทั้งเหมือง รวมถึงบ่อเก็บกากมันจะเละเทะขนาดไหน ดังนั้นเราอยากเห็นพนักงงานของเจนโก้ที่รู้จักสารเคมีอยู่หน้างาน แล้วก็ช่วยดูแลเรื่องสารเคมีด้วย” รจนา กล่าว

นางภรณ์ทิพย์  สยมชัย กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้านรอบเหมืองแร่ทองคำจังหวัดเลย ได้กล่าวเสริมว่า กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด ฯ เป็นชาวบ้านที่เฝ้าระวังเรื่องผลกระทบสิ่งแวดล้อม ด้วยความวิตกกังวลการดำเนินงานของบริษัทเจนโก้ จึงร่วมเฝ้าดูแลการทำงานของเจนโก้มาโดยตลอดตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนจนถึงวันนี้ ทั้งเรื่องของการขนย้ายเศษเหล็ก และตะกอนจากการปนเปื้อนสารพิษ รวมถึงน้ำที่ปนเปื้อนสารพิษสารโลหะหนักออกจากพื้นที่ นอกจากนี้ชาวบ้านยังได้เก็บข้อมูลต่างๆ และคุยกับเจนโก้ในการทำงานทุกวัน

“ชาวบ้านเป็นผู้ที่ดูแลเคร่งครัดมากและเห็นว่า เจ้าหน้าที่ของเจนโก้มีน้อย จึงอยากให้เจนโก้ส่งคนลงมาทำงานมากกว่านี้ โดยเฉพาะผู้ที่มีความชำนาญเรื่องกากตะกอน สารพิษที่ปนเปื้อน ซึ่งเจนโก้ก็ยอมรับว่ามีความบกพร่องในการทำงาน โดยเจ้าหน้าที่ที่มาวันนี้จะได้รับทราบถึงการดำเนินงาน และเป็นสักขีพยานรับรู้รับทราบถึงการทำงานของเจนโก้ด้วย” ภรณ์ทิพย์ หรือแม่ป๊อบ กล่าว

ด้านผู้แทนจากสำนักงานบังคับคดีจังหวัดเลย กล่าวว่า มาเป็นเหมือนตัวแทนของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในคดีล้มละลาย เนื่องจากเป็นการซื้อทรัพย์สินล้มละลายของบริษัททุ่งคำ เป็นการซื้อในที่ประชุมเจ้าหนี้ ก็คือผู้ซื้อเขาก็มีเงื่อนไขว่า ต้องมีการกำจัด บำบัดของเสียตามค่ามาตราฐานด้วย พอเกิดปัญหาขึ้นมาทางหน่วยงานก็ได้มาช่วยประสานงานดำเนินการให้ แล้วก็มีการเข้าที่ประชุมในจังหวัด

“ในส่วนของบังคับคดีได้ประสานทางเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เพื่อให้คณะกรรมการที่ตั้งโดย กพร. (กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่) ส่วนกลางได้ลงมาช่วยดู เพราะว่าก็จะมีผู้เชี่ยวชาญมาช่วยดูว่าการทำอะไรต่างๆ เป็นไปตามมาตรฐานไหม อันนี้ก็จะเป็นระหว่างที่เจนโก้กำลังปฏิบัติหน้าที่อยู่ เราก็จะช่วยกันดูตรงนี้ไป พอเจนโก้ปฏิบัติหน้าที่เสร็จ ทีนี้ก็จะเป็นเรื่องของระยะยาวแล้วจะติดตามเรื่องให้ ซึ่งตอนนี้ก็ได้ส่งไปที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แล้ว ให้ช่วยทำหนังสือถึง กพร. ก็ติดตามให้เป็นระยะ”

ระหว่างนั้นทางกลุ่มชาวบ้าน ได้สอบถามอุตสาหกรรมจังหวัดเลยถึงเรื่องกองหิน ซึ่งอยู่ภายในเหมืองแต่ไม่ได้อยู่ในของส่วนของการได้รับการประมูลซื้อขายของบริษัทเจนโก้ ว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อ

โดยนายตรีทิพย์  ศุภสุนทรกุล อุตสาหกรรมจังหวัดเลย ชี้แจงว่า กองหินตรงนี้มันเกิดมาจากบริษัท ทุ่งคำ ซึ่งเป็นเจ้าของประทานบัตรเดิม แล้วบริษัทล้มละลาย พอล้มละลายกองหินตรงนี้ ตาม พ.ร.บ.แร่ คือเจ้าของประทานบัตรพอสิ้นอายุ ภายใน 180 วัน ไม่มาแสดงสิทธิ์ขอครอบครอง ก็จะถือว่าแร่ตกเป็นของแผ่นดิน

“กรณีนี้บริษัทล้มละลายเขามาขอครอบครองไม่ได้ ดังนั้นหินหรือแร่กองนั้นจึงตกเป็นของแผ่นดิน ซึ่งมันก็จะเข้าสู่กระบวนการประมูล จะต้องมีการเปิดประมูล และก็อยู่ในกระบวนการ หลังเจนโก้ทำงานเสร็จ ทางอุตสาหกรรมจะเปิดประมูลอีกรอบหนึ่ง ซึ่งตอนนั้นต้องมาดูว่าใครจะยื่นซองของประมูล” นายตรีทิพย์ กล่าว

นายอัศวิน  หินเธาว์  ปลัดอำเภอวังสะพุง

ในส่วนของนายอัศวิน  หินเธาว์  ปลัดอำเภอวังสะพุง ได้เปิดเผยถึงผลสรุปจากการประชุมว่า เนื่องจากกลุ่มอนุรักษ์และชาวบ้านได้ร้องเรียนไป เกี่ยวกับปัญหาในการขนย้ายทรัพย์สินและสารเคมีที่ทางบริษัทเจนโก้ได้ประมูลไว้ ว่ามันมีสารเคมีบางส่วนได้ตกหล่นลงบนพื้นถนน ได้สร้างความวิตกกังวลให้กับชาวบ้าน ซึ่งกลัวว่าจะได้รับผลกระทบจากสารเคมีที่ตกหล่นนั้น วันนี้หลายหน่วยงานได้ลงมาตรวจสอบพื้นที่ร่วมกัน รวมทั้งทางบริษัทเจนโก้ ก็ได้มาชี้แจงและยอมรับว่าในช่วงแรกของการขนสารเคมีก็มีตกหล่นไปบ้าง แต่ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหานั้นแล้ว

นอกจากนี้ก็ยังมีสารเคมี คือ ไซยาไนด์ ซึ่งเป็นสารเคมีหลักประมาณ 30 ตัน ที่ยังไม่ได้ขน รวมถึงเครื่องจักรบางส่วนที่ยังมีสารเคมีอันตรายที่ยังไม่ได้ขนด้วย

“วันนี้ได้ข้อสรุปว่าให้บริษัทเจนโก้ ทำแผนการขนย้ายสารเคมีอันตรายและกำหนดวันเวลามา แล้วทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะประสานงานช่วยดูแล ว่าได้ดำเนินงานขนย้ายสารเคมี เครื่องจักรที่ยังมีสารเคมีอยู่ ถูกต้องตามหลักวิชาการหรือไม่ เพื่อให้ทางชาวบ้านไม่วิตกกังวล ซึ่งการพูดคุยก็เป็นไปด้วยดี กลุ่มอนุรักษ์ฯ เองก็รับทราบยินที่จะดำเนินการและช่วยดูแลด้วย” นายอัศวิน 

ในเวลาต่อมาน.ส. ส.รัตนมณี  พลกล้า  ผู้ประสานงานและผู้บริหารมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน ได้เปิดเผยกรณีกองสินแร่ที่อุตสาหกรรมจังหวัดเลยกล่าวถึงว่า ตามกฎหมายเมื่อบริษัทยกเลิกประกอบกิจการจะต้องแจ้งสงวน ว่าอันนี้เป็นแร่ของเขา ภายใน 180 วัน แต่ตอนที่บริษัททุ่งคำ ล้มละลาย ปรากฏว่าทางบริษัทและเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ จากที่ถูกสั่งให้เป็นบริษัทล้มละลายไม่ได้มีการดำเนินการในการที่จะสงวนไว้ อันเนื่องมาจากมีการประเมินว่าแร่ตรงนี้ไม่มีมูลค่า

น.ส. ส.รัตนมณี  พลกล้า  ผู้ประสานงานและผู้บริหารมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน

“กพร. เข้ามาตรวจสอบ มีการมารางวัด เอาตัวอย่างไปตรวจ แล้วเจ้าหน้าที่มีรายงานออกมาว่า กองแร่มีมูลค่าน้อยมาก คือเป็นหินมากกว่าที่จะเป็นแร่ ก็เลยไม่มีใครที่อยากจะยึด เพราะว่าถ้ายึดจะมีกระบวนการหลายอย่าง และมีค่าใช้จ่าย ตอนนั้นก็เลยไม่มีการยึดเพื่อเป็นทรัพย์สินที่ต้องเอามาขายทอดตลาด” น.ส. ส.รัตนมณีกล่าว

น.ส. ส.รัตนมณี กล่าวอีกว่า พอตอนนี้มันผ่านกระบวนการประมูลและกำลังรื้อถอนแล้ว อุตสาหกรรมจังหวัดเลย กลับบอกว่ากองแร่ตรงนี้มันมีราคาและจะมีการประมูลเพื่อเอาเงินเข้ารัฐ ปัญหาคือชาวบ้านที่เดือดร้อน จากการที่ บริษัทล้มละลาย แล้วก็มีทรัพย์สินไม่เพียงพอ ที่จะมาเฉลี่ยให้ชาวบ้านก็กลายเป็นว่าชาวบ้านไม่ได้อะไร แล้วกองสินแร่ตรงนี้ ต้องบอกว่าชาวบ้าน เป็นปู่โสมเฝ้าทรัพย์ อยู่ตั้งแต่แรกเลย เพราะว่าเรารู้ว่าจริงๆ แล้วนี่ มันเป็นสินแร่ที่ใครควรจะเอาไป

ช่วงระหว่างการล้มละลายพิทักษ์ทรัพย์ปรากฏว่า มีคนเข้ามาขอดูแร่หลายรายจะมาขนเอา จนชาวบ้านก็ระแวงและคิดว่า เราไม่ควรจะให้เขา เพราะว่าอันนี้เป็นของหลวงเป็นของรัฐมันควรตกเป็นของแผ่นดิน แต่พอเจ้าหน้าที่ มาบอกเป็นมีราคาขึ้นมา ก็เลยกลายเป็นว่าชาวบ้านได้อะไร แล้วชาวบ้านเสียเวลาเสียค่าใช้จ่ายในการมาปกป้องทรัพย์สินอยู่อย่างนี้แล้วรัฐเห็นอะไรกับชาวบ้านบ้างไหม

“ถ้าประมูลขายได้จริงรัฐจะเอาเงินเหล่านั้นมาช่วยชาวบ้านอย่างไรบ้าง คืออันนี้ก็ต้องเป็นคำถามต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไปว่า ชาวบ้านมาเฝ้าระวังอยู่ตลอดเวลาตรงนี้ เพื่อไม่ให้มีใครมาเอาของที่ไม่ควรเอาไป ชาวบ้านได้อะไรจากตรงนี้ นอกจากชาวบ้านได้เรื่องของเมืองหยุดไป ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนใครจะมาฟื้นฟู ใครจะมาเยียวยา ซึ่งตอนนี้การเยียวยาโดยรัฐยังไม่เกิดขึ้นเลยไม่ว่าจะเป็นการเยียวยาด้วยค่าเสียหายหรือการเข้ามาฟื้นฟูก็ตาม” น.ส. ส.รัตนมณีกล่าวทิ้งท้าย

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ