จับตาการเยือนพม่าของฮิลลารี กลุ่มชาติพันธุ์ในพม่าที่เชียงใหม่เคลื่อนย้ำจุดยืนด้านสิทธิมนุษยช

จับตาการเยือนพม่าของฮิลลารี กลุ่มชาติพันธุ์ในพม่าที่เชียงใหม่เคลื่อนย้ำจุดยืนด้านสิทธิมนุษยช

จับตาการเยือนพม่าของฮิลลารี  ! กลุ่มชาติพันธุ์ในพม่าที่เชียงใหม่เคลื่อนย้ำจุดยืนด้านสิทธิมนุษยชน ปล่อยนักโทษการเมืองและย้ำประเด็นความขัดแย้งกับกลุ่มชาติพันธุ์ หวังการเจรจาไม่มุ่งผลเฉพาะชนชั้นนำและรัฐบาล ขณะที่นักวิชาการไทยมองการทูตด้านพลังงานของสหรัฐและเกมถ่วงดุลมหาอำนาจของพม่าเอง

      

                 

วันนี้ 1 ธ.ค. นางฮิลลารี่ คลินตัน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ กำลังเพิ่มขนาดกิจกรรมการทูตของสหรัฐอเมริกาในพม่าที่น่าสนใจมาก   เพราะเป็นการเยือนครั้งประวัติศาสตร์ในรอบ 50 ปีที่คาดหวังว่าจะผลักดันพม่าสู่การปฏิรูป
ภารกิจของเธอในกรุงนอร์ปิดอร์ เมืองหลวงใหม่ของพม่าคือประธานาธิบดีเต็ง เส่ง อดีตนายพลแห่งกองทัพ จากนั้นจะมายังกรุงร่างกุ้ง เพื่อพบกับนางอองซาน ซูจี  สัญลักษณ์ของการเรียกร้องประชาธิปไตยในพม่า

นางคลินตันให้สัมภาษณ์ถึงการเดินทางครั้งนี้ว่า เธอต้องการไปประเมินด้วยตัวเองว่า พม่ามีความจริงใจในการปฏิรูปแค่ไหน เและยืนกรานให้พม่าปล่อยตัวนักโทษการเมืองที่คาดว่ามีประมาณ  500 -1,600 คน และผลักดันให้ยุติความขัดแย้งกับกลุ่มชาติพันธุ์ ที่ทำให้ประชาชนหลายพันคนต้องอพยพออกจากถิ่นฐาน

มีรายงานความเคลื่อนไหวจากจังหวัดเชียงใหม่  พื้นที่ที่มีกลุ่มชาติพันธุ์หลากหลายที่ต้องถูกเคลื่อนย้ายมาจากพม่า รวมทั้งนักเคลื่อนไหวชาวต่างชาติ นัดหมายรวมตัวกันเวลา 10.00 น. วันที่ 1 ธ.ค.2554 สวมเสื้อสีขาวมาที่หน้าด้านหน้าของสถานกงสุลสหรัฐอเมริกาในเชียงใหม่เรียกร้องให้สหรัฐอเมริกาและทุกประเทศที่มีส่วนร่วมกับรัฐบาลทหารพม่าต้องยุติการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพื้นที่กลุ่มชาติพันธุ์ และปล่อยนักโทษการเมืองทั้งหมด

“เราหวังว่า โลกจะมีส่วนร่วมและสร้างความสัมพันธ์ที่สร้างสรรค์กับรัฐบาลทหารพม่า ในสิ่งที่จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนทั้งหมดของประเทศพม่า ไม่เพียง แต่ชนชั้นทางธุรกิจและการทหารและรัฐบาลเท่านั้น   นี่คือโอกาสที่จะยกระดับประเด็นของกลุ่มชนกลุ่มน้อยไปสู่เปลี่ยนแปลง นั่นคือสิ่งที่ยังคงต้องทำในพม่าเพื่อสันติภาพและการเปลี่ยนแปลงประชาธิปไตยที่แท้จริง”

 กลุ่มผู้ชุมนุมนัดหมายกันใส่เสื้อยืดสีขาว  มีกิจกรรมการเขียนข้อความเกี่ยวกับประเด็นของกลุ่มชาติพันธุ์และมีไมโครโฟนที่จะให้ตัวแทนของกลุ่มชาติพันธุ์ที่หรือใครก็ตามที่ต้องการจะพูดเกี่ยวกับความรู้สึกของตนเกี่ยวกับสถานการณ์ปัจจุบันในพม่าอีกด้วย
 
กลุ่มผู้ชุมนุมระบุว่า มีรายงานข้อเท็จจริงต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนและความขัดแย้งในพื้นที่ของกลุ่มชาติพันธุ์
 มากขึ้น  เกิดเหตุการณ์ข่มขืน, การทรมานและฆาตกรรมพลเมืองที่รายงานโดยองค์กรต่างๆทั่วโลกมากมาย
 การยังมีการคุมขังของนักโทษการเมือง ซึ่งบ่งชี้ให้เห็นว่ายังคงจำกัดการแสดงออกด้านประชาธิปไตยเพราะนักโทษส่วนใหญ่ถูกคุมขังเพราะแสดงออกทางการเมืองที่แตกต่าง  รวมถึงประเด็นการแก้ไขความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ โอกาสที่นางฮิลลารีไปเยือนพม่าครั้งนี้ควรได้เน้นย้ำในประเด็นเหล่านี้

 ด้านแอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนล ได้ออกแถลงการณ์เมื่อ 29 พ.ย. ต่อกรณีที่นางฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เดินทางเยือนพม่าของนางฮิลลารี คลินตันว่า ความสำเร็จในการเดินทางเยือนพม่าของนางคลินตันควรวัดจากสถานการณ์สิทธิมนุษยชนที่ดีขึ้น  โดยพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่ว่าทางการพม่ามีการตอบสนองโดยทันที อย่างเช่นการผลักดันการปฏิรูปด้านสิทธิมนุษยชนอย่างจริงจังและกว้างขวางหรือไม่ 

 “การเดินทางไปเยือนพม่าของรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ นับเป็นการท้าทายอย่างชัดเจนเพื่อให้รัฐบาลพม่าต้องตอบสนองด้วยการดำเนินมาตรการอย่างจริงจังและกล้าหาญ รวมทั้งการปล่อยตัวนักโทษด้านความคิดที่เหลืออยู่ทุกคนและยุติการทารุณพลเรือนที่เป็นชาติพันธุ์กลุ่มน้อย โดยต้องทำอย่างจริงจังและทันที” ” เบนจามิน ซาวัคกี้ (Benjamin Zawacki) ผู้เชี่ยวชาญเรื่องพม่า แอมเนสตี้อินเตอร์เนชันแนลกล่าว

ในแถลงการณ์ของแอมเนสตี้ระบุว่าพม่าได้ปล่อยตัวนักโทษการเมืองอย่างน้อย 318 คนในปีนี้ แต่ยังมีนักโทษการเมืองอีกกว่าพันคนที่ยังคงถูกจองจำ  ควรเป็นสิ่งที่กระทำโดยทันทีและโดยไม่มีเงื่อนไข

ในพื้นที่ชนชาติพันธุ์กลุ่มน้อยหลายแห่ง ในบางส่วนของรัฐ กะเหรี่ยง กะฉิ่น และฉาน ยังคงมีการสู้รบที่เริ่มขึ้นเมื่อปีที่แล้วหรือมีความเข้มข้นมากขึ้น ในขณะที่กองทัพพม่ายังคงละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อพลเรือนอย่างกว้างขวาง

“นางคลินตันควรแสดงอย่างชัดเจนต่อทางการพม่าว่า ในเบื้องต้นมีความคาดหวังที่จะเห็นการปล่อยตัวนักโทษการเมือง และการคุ้มครองพลเรือนที่เป็นชนชาติพันธุ์กลุ่มน้อย” เบนจามิน ซาวัคกี้กล่าว

นอกจากนั้นรัฐบาลสหรัฐฯ ได้สนับสนุนการจัดตั้งคณะกรรมาธิการสากลเพื่อไต่สวนกรณีอาชญากรรมสงครามและอาชญากรรมต่อมนุษยชาติที่กระทำต่อพลเรือนชนชาติพันธุ์กลุ่มน้อยในพม่ามาเป็นเวลานาน มาตรา 445 ของรัฐธรรมนูญพม่าบัญญัติความคุ้มครองให้เจ้าพนักงานไม่ต้องถูกดำเนินคดีในข้อหาละเมิดสิทธิมนุษยชนสำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมาในอดีต

“นางคลินตันควรเน้นย้ำเจตจำนงของสหรัฐฯ เพื่อให้เกิดการตรวจสอบได้ในพม่า ทั้งนี้โดยผ่านคณะกรรมาธิการไต่สวนสากล หากทางการพม่ายังคงไม่ต่อต้านการลอยนวลพ้นผิดที่เกิดขึ้นมากว่าทศวรรษ” เบนจามิน ซาวัคกี้กล่าวและว่าสหรัฐฯ จะต้องไม่ปล่อยให้พม่าบิดเบือนภาพของการเดินทางมาเยือนของนางคลินตันว่าเป็นเหมือนการให้รางวัลกับพวกเขา แต่ควรถือเป็นความท้าทายอย่างหนึ่ง เหมือนกับสหรัฐฯ กำลังเดิมพัน แต่ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจะขึ้นอยู่กับความพยายามอย่างต่อเนื่องของสหรัฐฯ เองเพื่อกดดันให้เกิดความก้าวหน้าด้านสิทธิมนุษยชนในพม่า
 
 อ.ดุลภาค ปรีชารัชช์ อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้สัมภาษณ์ที่จังหวัดเชียงใหม่ เชื่อว่า  การไปเยือนพม่าของนางคลินตันเป็นการเพิ่มขนาดกิจกรรมทางการทูตของสหรัฐอเมริกาที่น่าสนใจต่อการถ่วงดุลอำนาจกับประเทศจีน  เพราะสหรัฐอเมริกาเหินห่างกับประเทศแถบอินโดจีนมานาน นอกจากนั้นเชื่อว่าได้เริ่มมองเรื่องของการทูตพลังงานด้วย เพราะมีความจำเป็นจะต้องหาแหล่งทรัพยากรพลังงานในแถบเอเชีย  เนื่องจากการรุกคืบด้านพลังงานในแถบนี้เดินหน้าไปโดยจีนและอินเดียมากแล้ว ขณะที่สหรัฐอเมริกาแทบไม่มี
แต่สิ่งที่สหรัฐอเมริกาจะต้องพิสูจน์และอธิบายคือ บทบาทจากการคว่ำบาตรรัฐบาลทหารพม่า แต่เปลี่ยนมาเป็นการจับมือกันนั้นข้อเท็จจริงหรืออะไร
“การทบทวนบทบาทตนเองของสหรัฐต่อพมาครั้งนี้เป็นการปรับโฉมจากด่ามาจับมือ  ที่จะต้องอธิบายระหว่างสิทธิมนุษยชนกับผลประโยชน์”
 
       

อ.ดุลภาค กล่าวว่าในมุมของพม่า ที่ผ่านมามีความสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศเพื่อนบ้านคือจีนและอินเดีย ขณะที่ประเทศจากตะวันตกยังมีปมเรื่องอาณานิคมกับอังกฤษ และปมที่ถูกก่นด่าจากสหรัฐอเมริกามายาวนาน  ความไว้วางใจจะมีไม่มาก สังเกตุจากการเกิดเหตุการพายุนากีสจะม่ายอมให้ประเทศตะวันตกเข้ามาช่วยเหลือ แต่การขยับตัวครั้งนี้มีความน่าสนใจต่อการถือไพ่ในแวดวงระหว่างประเทศที่หนุนและถ่วงดุลย์กันได้แต้มกว่า

ขณะที่บทบาทของนางอองซานซูจีนั้น อ.ดุลภาพมองว่า  หลังการเลือกตั้งของพม่า และนางได้รับการปล่อยตัว และขณะนี้เสมือนจะกลับเข้ามาสู่เส้นทางการเมืองและจับมือกับรัฐบาลพม่าโดยอาจมองเรื่องความพยายามสร้างสันติภาพแต่เธอก็ถูกท้าทายต่อจิตวิญญานประชาธิปไตยที่ชาวโลกคาดหวัง

ทั้งนี้สิ่งที่น่าจับตามองในพม่าคือวิถีการเมืองที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้นำ  กรณีประธานาธิบดีเต็งเส่งพยายามสร้างบรรยากาศการปรองดง สมานฉันท์  มีบทบาทในเวทีโลก เช่นการเป็นประธานซีเกมส์ หรือมุ่งสู่อาเซียน แต่ก็มีระดับผู้นำที่คัดค้านโครงการบางอย่างและมองความสำคัญของกองทัพ ซึ่งสะท้อนรอยปริแยกของชนชั้นนำอำนาจในพม่าว่าจะก้าวไปสู่จุดใด

กรณีพิพาทระหว่างพม่ากับกลุ่มชาติพันธุ์ที่แม้จะพยายามให้เกิดการเจรจาหยุดยิง  แต่ก็ยังคงมีรายงานการสะสมกำลังพล เพิ่มกำลังทหารปราบปรามพร้อมไปกับการเจรจา  พม่าพยายามสะท้อนว่าเป็นปัญหาภายใน แต่กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆยังคงต้องการพื้นที่ในการปกครองซึ่งประเด็นนี้จะไม่จบง่ายๆ

“สิ่งที่จะกระทบกับไทยคือการปรับกระบวนทัศน์ทางการทูตใหม่ เพราะภาคธุรกิจจำนวนไม่น้อยอยากจะลงทุนในพม่า แหล่งทรัพยากรในพม่ามีมหาศาล  ส่วนภาคความมั่นคงจะปรับตัววางนโยบายตามแนวชายแดนอย่างไร แท้จริงแล้วมีแนวเขตแดนที่มีปัญหาซุกอยู่ใต้พรม มีการสะสมกำลังอาวุธเพิ่มขึ้น  เราจะเห็นแง่มุมใหม่ของพม่ามากขึ้นและต้องปรับตัวรับให้ทัน”

             

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ