นิทรรศการลบไม่เลือน 20 ปี ตากใบ รอมฎอนในความทรงจำของคุณคือ?
นิทรรศการลบไม่เลือน 20 ปี ตากใบ ในเดือนรอมฎอนปีที่ 20 และคดีความจากเหตุการณ์ที่ใกล้จะสิ้นลงทุกที เตือนความทรงจำกับเหตุการณ์ตากใบ 2547 ผ่านวัตถุความทรงจำที่เป็นภาพแทนของผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ตากใบที่ญาติยังคงเก็บรักษาเอาไว้เพื่อระลึกถึงคนรักที่จากไปอย่างไม่มีวันกลับมา
ผู้เขียนได้มีโอกาสพูดคุยกับทั้งคนที่แวะเวียนเข้ามาชมนิทรรศการเกี่ยวกับความน่าสนใจของนิทรรศการกับคุณเอกภพ สิทธิวรรณธนะ จาก Peaceful Death ซึ่งเป็นคนที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรมของนิทรรศการลบไม่เลือน 20 ปีตากใบ เช่น กิจกรรมปักผ้าเสวนาดูแลความสูญเสียในนิทรรศการความทรงจำตากใบ คุณเอกภพพูดคุยในฐานะผู้เข้ามาเยี่ยมชมนิทรรศการและสนใจประเด็นการเยียวยาการสูญเสียจากเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองที่เกิดขึ้นในสังคมไทย
คุณเอกภพ สิทธิวรรณธนะ จาก Peaceful Death เล่าว่าสนใจตั้งแต่ประเด็นความรุนแรงทางการเมือง สิ่งที่สนใจคือจะดูแลความสูญเสีย ความโศกเศร้า จากเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองได้อย่างไร มางานนี้มาอยู่ในมุมมองจากงานที่ทำอยู่ก็คือ การดูแลสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเจ็บป่วย ตาย และการดูแลการความสูญเสีย ซึ่งเหตุการณ์นี้ก็เป็นการสูญเสียร่วมกันในสังคม เป็นประเด็นที่มีคนได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม
ปีที่แล้วคุณเอกภพจัดกิจกรรมปักผ้าดูแลความสูญเสียในนิทรรศการความทรงจำตากใบ ทำให้ได้มีพื้นที่ในการสนทนาเรื่องนี้กันมากขึ้น มีพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้ รวมทั้งยังได้สนทนากับเจ้าของประเด็นในพื้นที่ ทำให้มีมุมมองและเรื่องราวที่มากกว่าประเด็นการจัดการในทางการเมือง แต่เป็นเรื่องของการดูแลชีวิตประจำวัน เปิดโอกาสให้เรื่องราวของคนที่ได้รับผลกระทบได้พูดถึงมิติอื่น ๆ ที่เขาเผชิญอยู่และใช้ชีวิตอยู่ด้วย ค่อนข้างที่จะสอดคล้องกับธีมในวัตถุความทรงจำที่จัดแสดงในนิทรรศการตากใบด้วย
คุณเอกภพมองว่าการสนใจเรื่องตากใบถือเป็นเป้าหมายในการอยู่ร่วมกันในสังคม คนในสังคมอยู่ด้วยกันก็อยากที่จะอยู่กันอย่างดี มีความผาสุก ไม่ขัดแย้งและนำไปสู่ความรุนแรง สันติภาพก็เป็นสิ่งที่เราตามมากันอยู่แล้ว คิดว่าคนในพื้นที่ก็ปรารถนาสิ่งนี้กันอยู่แล้ว มันเป็นเป้าหมายที่ดีงามในตัวเองอยู่แล้ว สันติภาพ ความสงบสุข ความเป็นปกติของชีวิตประจำวัน
สำหรับคุณเอกภพ กลไกสำคัญที่จะทำให้เกิดสันติภาพต้องเริ่มจากการสร้างพื้นที่พูดคุยปัญหาความขัดแย้งจากหลายฝ่าย ตั้งโต๊ะพูดคุยเจรจาทำให้ได้รับรู้ความต้องการของแต่ละฝ่ายและหาทางออกที่ดีที่สุดในแก้ปัญหาต่าง ๆ ร่วมกัน ต้องใช้กระบวนการทางประชาธิปไตย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเลือกตัวแทน และความเป็นเจ้าของประเด็น เอาปัญหามาดูว่าใครต้องทำอะไร และกลไกการแก้ปัญหาที่จะเกิดขึ้นคืออะไร เพื่อลดระดับของความขัดแย้งความรุนแรงที่เกิดขึ้น ถึงจะสามารถสร้างสันติภาพที่เกิดขึ้นได้
0000
คุณมูฮัมมัดอามาล อาเก็บอุไร นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาวิชามานุษยวิทยา คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร จากการพูดคุยพบว่าคุณอามาลอายุ 23 ปี อายุเกือบเทียบเท่ากับเหตุการณ์ตากใบซึ่งคือ 20 ปี ถึงแม้อามาลไม่ได้เป็นคนที่อยู่ในเหตุการณ์โดยตรงแต่คนรอบตัวและครอบครัวได้เล่าให้ฟังถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นในเหตุการณ์ตากใบ ซึ่งอามาลมาเยี่ยมชมนิทรรศการตากใบเนื่องด้วยความมสนใจของตัวเองที่สนใจเกี่ยวมานุษยวิทยาและมาในฐานะคนมุสลิมซึ่งเหตุการณ์ตากใบเกี่ยวข้องกับคนมุสลิมในจังหวัดชายแดนใต้ และเกิดขึ้นในช่วงเดือนรอมฎอน และผู้เสียชีวิตทั้งหมดคือคนมุสลิม
คุณมูฮัมมัดอามาล อาเก็บอุไร นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาวิชามานุษยวิทยา คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวว่า ถ้าพูดในมุมมองคนมุสลิม ตากใบเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงเดือนรอมฎอน ซึ่งในช่วงเดือนรอมฎอนมันช่วงเดือนที่พวกเรา (คนมุสลิม) ถือศีลอด ไม่สามารถดื่มน้ำหรือกินอาหารได้ ทำให้ความอ่อนแอของเราก็ลดถอยลง ซ้ำเหตุการณ์นี้เข้ามาปะทุความเป็นมนุษย์ในพื้นที่ ดังนั้นตากใบเป็นโศกนาฏกกรรมทางการเมืองเรื่องนึงที่ทุกคนไม่ควรละเลย เพราะมันเป็นเหตุการณ์ที่มีความรุนแรงเกิดขึ้นอย่างมาก ถึงแม้ว่ามันจะผ่านมาตั้ง 20 ปีแล้ว ดังนั้นการเกิดขึ้นของนิทรรศการตากใบ ถือเป็นสิ่งย้ำเตือนว่าเรื่องนี้ไม่เคยเก่าเลย
อามาลพูดถึงเรื่องการใช้กฎหมายพิเศษในพื้นที่มันเป็นความปกติที่ไม่ปกติของพื้นที่และคนในพื้นที่ เพราะว่ากฎหมายพิเศษทำให้พื้นที่จังหวัดชายแดนใต้พิเศษกว่าพื้นที่อื่น เช่น เจ้าหน้าที่สามารถเข้าบ้านคนในพื้นที่ได้โดยไม่ต้องมีหมายค้น หรือเจ้าหน้าที่สามารถตรวจสอบบัตรประชาชนของคนในพื้นที่ได้ ซึ่งถ้าคนนอกมารับรู้เหตุการณ์เหล่านี้ มันทำให้รู้ว่ามันไม่ใช่เรื่องปกติ ซึ่งคนในพื้นที่ต้องเจอกับเรื่องราวแบบนี้อยู่ 20 กว่าปีแล้ว หรืออาจจะมากกว่านั้น มันทำให้รู้สึกว่ามันไม่สามารถทำให้เรื่องอะไรพวกนี้เป็นเรื่องปกติได้ ในขณะเดียวกันก็ไม่รู้จะทำอะไรได้มากกว่านี้ เพราะในการสร้างกฎหมายเป็นการสร้างความชอบธรรมในเชิงรูปธรรมให้กับเจ้าหน้าที่รัฐได้มากกว่า
สันติภาพในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้พูดกันมาตลอดหลาย 10 ปีมาก แต่ไม่เคยถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นหรือแก้ปัญหาจริง ๆ เพราะว่ายังมีอำนาจกดทับเรื่องราวบางอย่างอยู่จึงทำให้เรื่องสันติภาพกลายเป็นเรื่องลม ๆ แล้ง ๆ ทั้งที่จริงคนในพื้นที่ปรารถนาที่จะทำให้สันติภาพเกิดขึ้นจริงในพื้นที่มาก ๆ แต่ในขณะเดียวกันยังไม่เห็นลู่ทางที่จะทำให้สันติภาพเกิดขึ้น ถ้าเจ้าหน้าที่รัฐยังคุกคาม หรือทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ต่อเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นหรือแม้แต่ความรู้สึกของคนในพื้นที่ โดยเฉพาะเหตุการณ์คนมุสลิมใส่ชุดมลายูในช่วงเวลาที่ผ่านมา ทำให้เห็นว่าเรื่องสันติภาพยังไม่สามาถจับต้องได้เลย สันติภาพคงจะเป็นชีวิตธรรมดาที่สามารถอยู่ภายใต้ความสบายใจในพื้นที่ได้ เราสามารถพูดคุยกันในเรื่องการเมือง เรื่องอัตลักษณ์ได้โดยไม่ต้องกังวลว่าเราจะโดนอะไรหลังจากนั้น
0000
นิทรรศการเกิดขึ้นจากทีมทำงานของ DSMA การพูดคุยกับ คุณวลัย บุปผา ภัณฑารักษ์นิทรรศการตากใบ คณะทำงานพิพิธภัณฑ์และหอจดหมายเหตุชายแดนใต้ The Deep South Museum and Archives : DSMA เป็นการถ่ายทอดเบื้องหลังการทำงานอย่างลึกซึ้งพอสมควร เพราะถือเป็นคนทำงานที่อยู่กับประเด็นตากใบมานานตั้งแต่ต้นทางของข้อมูลคือการพูดคุยกับเจ้าของวัตถุความทรงจำมาจนถึงการจัดนิทรรศการตากใบสัญจรไปหลาย ๆ พื้นที่ พี่มะหนึ่งพูดคุยในฐานะคนที่จัดนิทรรศการ ทีมทำงาน DSMA และคนที่เห็นการเปลี่ยนแปลงไปของตัววัตถุความทรงจำและบทสนทนาที่เกิดขึ้นอย่างธรรมชาติของเจ้าของวัตถุกับผู้ที่มาเยี่ยมชมที่นิทรรศการ
คุณวลัย บุปผา ภัณฑารักษ์นิทรรศการตากใบ คณะทำงานพิพิธภัณฑ์และหอจดหมายเหตุชายแดนใต้ The Deep South Museum and Archives : DSMA กล่าวว่า นิทรรศการลบไม่เลือน 20 ปี ตากใบ จัดโดยพิพิธภัณฑ์และหอจดหมายเหตุชายแดนใต้ ต้นทางของนิทรรศการเกิดจากการเก็บเรื่องราว เรื่องเล่าของญาติผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ตากใบ นิทรรศการถ่ายทอดความทรงจำของผู้คนที่มีต่อคนที่รักจากเหตุการณ์ตากใบนั้น มันเล่าผ่านวัตถุความทรงจำง่าย ๆ ที่เขาใช้อยู่ในชีวิตประจำวันของเขา วัตถุสามัญเหล่านี้ถ่ายทอดออกมาผ่านบทสนทนาระหว่างเจ้าของวัตถุความทรงจำกับผู้ชม รวมถึงคณะผู้จัดด้วย
สำหรับพี่ การได้มาซึ่งวัตถุความทรงจำมีสิ่งที่คำนึงอยู่ 2 อย่าง คือ เรื่องทางเทคนิคว่าเราจะจัดแสดงยังไงให้วัตถุไม่พัง ไม่ชื้น และอีกเรื่องคือเราจะสามารถนำเสนอวัตถุความทรงจำที่เป็นของธรรมดาสามัญให้คนที่มาชมเห็นถึงความสำคัญของวัตถุแต่ละชิ้นได้ยังไง สิ่งสำคัญคือเราต้องรักษา คงรูป และถ่ายทอดสิ่งที่ญาติเจ้าของวัตถุความทรงจำต้องการที่จะถ่ายทอดให้ได้มากที่สุด เพราะสิ่งที่ได้รับมามันเป็นทั้งความไว้ใจของญาติที่มีต่อเราและวัตถุเหล่านั้นเป็นวัตถุแทนใจของการสูญเสียที่เกิดขึ้นด้วย
คุณวลัย บุปผา
สำหรับทีมผู้จัด นิทรรศการลบไม่เลือน 20 ปีตากใบ กำลังจะตั้งคำถามว่าเรื่องราวที่ถูกทำให้เลือน หรือแท้จริงมันไม่ได้ถูกลบเลือนไปหรอก แต่ว่าเสียงที่เล่าอาจจะยังไม่ดังพอหรือเปล่า เส้นทางการเดินทางของนิทรรศการพบว่าผู้คนเริ่มเปิดรับและสนใจนิทรรศการมากขึ้น ในขณะเดียวกันมันก็จะมีกิจกรรมประกอบนิทรรศการที่ทำให้ผู้คนที่แวะเวียนเข้ามาเยี่ยมชมที่เข้าใจและเห็นภาพความทรงจำจากวัตถุหรือกิจกรรมต่าง ๆ ได้ชัดเจนมากขึ้นด้วย
คุณวลัยเล่าว่า นิทรรศการแรก ชื่อสดับเสียงเงียบ จดจำตากใบ 2547 จัดขึ้นในปีที่ 19 ของการรำลึกถึงเหตุการณ์ตากใบ นิทรรศการแรกยังไม่ได้รับอนุญาตให้จัดที่ จ.นราธิวาส เพราะว่าในเรื่องราวของตากใบมันยังสร้างความกลัวและความกังวลให้กับผู้เกี่ยวข้องอยู่ ดังนั้นนิทรรศการครั้งแรกจึงจัดที่มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้เชิญเจ้าของวัตถุความทรงจำบางท่านมา และพวกเขาก็พบว่ามันโอเค สิ่งที่สำคัญคือ เจ้าของวัตถุเห็นผู้คนกำลังทำความเข้าใจเรื่องราวของเขาผ่านวัตถุเรียบง่าย พวกเขาจึงเข้าใจว่าวัตถุเหล่านั้นมันทำงานอย่างไร หลังจากนั้นจึงมีการชักชวนกันว่าให้เอานิทรรศการตากใบให้ไปจัดที่บ้านพวกเขาได้ ก็คือที่นราธิวาส
หลังจากนั้นเมื่อเกิดบทสนทนาแลกเปลี่ยนระหว่างทีมงาน DSMA กับเจ้าของวัตถุมากขึ้น ข้าวของที่เป็นวัตถุความทรงจำก็เลยเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันก็เกิดบทสนทนาระหว่างเจ้าวัตถุแต่ละเรื่อง ยกตัวอย่างเช่น ในเรื่องซุปเป็ด บ้านอื่น ๆ ก็มาเห็นซุปเป็ดเป็นเมนูหลัก อีกบ้านแลกเปลี่ยนว่ามีเรื่องปลาดุก แล้วมันก็นำไปซึ่งเบ็ดตกปลาดุกที่เป็นหนึ่งในวัตถุ กลายเป็นว่านิทรรศการในปีที่ 2 ซึ่งเป็นวาระครบ 20 ปีตากใบจึงได้วัตถุจัดแสดงเพิ่มขึ้น การเปลี่ยนแปลงของเจ้าของวัตถุความทรงจำ หลังจากที่เขาได้พบกัน เขาเริ่มคิดกันว่า เขาน่าจะได้พบปะกันในวาระอื่น ๆ ด้วย ที่ไม่ใช่แค่แลกเปลี่ยนเรื่องความเศร้า ความเจ็บปวด หรือเรื่องคดีจากเหตุการณ์ตากใบ จากที่เขาเคยเจอกันเมื่อ 19 – 20 ปีที่แล้ว พวกเขาอยากจะไปเยี่ยมเยือนกันในฐานะผู้มีความทรงจำเดียวกัน มันเลยทำให้เห็นการเปลี่ยนแปลงของเจ้าของวัตถุ
เรื่องราวของตากใบ ตั้งแต่ปีที่แล้วจนถึงปีนี้ เราก็รู้สึกว่านิทรรศการน่าจะทำให้เรื่องตากใบเป็นเรื่องราวที่ถูกจดจำได้มากขึ้น ความหลังมันย้อนคืนกลับมาอาจจะทำให้ผู้ชมได้ทบทวนว่าเกิดอะไรขึ้น ความรุนแรงเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริง แต่สาระสำคัญของนิทรรศการคือกำลังจะสื่อว่าเพื่อให้บทเรียนนั้นเป็นบทเรียนที่ทำให้เราได้ทบทวนและเฝ้าระวังไม่ให้เกิดเหตุการณ์ที่รัฐกับประชาชนกระทำแบบนั้นซ้ำอีก
คุณวลัย บุปผา
มุมมองผู้จัดที่มีต่อเรื่องราวของผู้สูญเสียที่สะท้อนผ่านความทรงจำ
คุณวลัยเล่าย้อนถึงครั้งแรกที่จัดที่มหาวิทยาลัยศิลปากร ด้วยความที่ระยะเวลาสั้น คนที่มาก็จะเป็นคนที่สนใจประเด็นอย่างชัดเจน เป็นนักศึกษาหรือเป็นเครือข่ายของคนทำงาน DSMAเครือข่ายของคนทำงานจังหวัดชายแดนใต้ เป็นเครือข่ายของคนที่สนใจประเด็นจังหวัดชายแดนใต้อย่างชัดเจน มีบ้างที่เข้ามาแล้วรู้สึกว่าเจ็บปวดรุนแรง โดยที่ไม่ใช่ญาติหรือเจ้าของวัตถุ
สิ่งที่เกิดขึ้นคือหลังจากเดินทางไปหลายที่พบว่า พลวัตของผู้ชมมันนำไปสู่การสร้างบทสนทนาระหว่างผู้ชมด้วยกันเอง ยกตัวอย่างนิทรรศการที่ไปจัดที่นราธิวาส นอกจากคนในพื้นที่ซึ่งเป็นคนมุสลิมอยู่แล้ว กล่าวคือเหตุการณ์ตากใบผู้สูญเสียทั้งหมดเป็นคนมุสลิม แต่มีครั้งนึงที่ได้พบครอบครัวของคนไทยพุทธจากหาดใหญ่ขับรถไปชมนิทรรศการที่นราธิวาส โดยคนรุ่นนั้นมี 3รุ่นอยู่ในครอบครัว มีคนรุ่นคุณตา รุ่นพ่อแม่ และรุ่นลูก สิ่งที่น่าสนใจคือคุณตาจำเหตุการณ์ได้ รุ่นพ่อแม่จำได้ แต่เด็กถามว่านี่คืออะไร ที่น่าสนใจคือ คุณตาจำได้ว่าตั้งแต่รุ่นอดีตมามันมีความรุนแรงเกิดขึ้น กลายเป็นการว่าชมนิทรรศการวันนั้น พ่อแม่ค่อย ๆ คลี่คลายเรื่องให้ลูกฟัง เพราะลูกก็ถามว่าอันนี้มันของคนเสียชีวิตไม่ใช่หรือ แม่บอกใช่ เป็นเรื่องของความรุนแรงที่เกิดขึ้นสมัยนั้น อันนี้คือเราว่านี่มันเป็นบทสนทนาที่มันเกิดขึ้นกับคน 3 รุ่น
เช่นเดียวกัน ในนิทรรศการมันมีพลวัตอย่างนึงคือนิทรรศการ 20 ปี มันมีเรื่องราวของคนที่อายุเท่ากับเหตุการณ์ ซึ่งเขาเป็นลูกชายที่ไม่เคยเห็นหน้าพ่อซึ่งจากไปในเหตุการณ์ แต่ว่าเขามีบทสนทนากับพ่อเขาผ่านวัตถุในชีวิตประจำวันของเขาอยู่ ซึ่งพลวัตของผู้ชมเปิดกว้างมากขึ้น และผู้ชมจะเข้าใจว่าภาพความรุนแรงนั้นมันเกิดขึ้นจริง และว่าความทรงจำที่ยังมีอยู่
20 ปีผ่านไป กะยะห์ทำนา มีน้องชาย ลูกสาวและลูกเขย รวมถึงหลานมาช่วยกันปักดำ ข้าวที่ได้แบ่งให้ทุกคนไว้กิน
ในภาพ- พักกลางวันระหว่างถกกล้าเพื่อปักดำ ครอบครัวล้อมวงกินข้าวริมทุ่งนาที่ปักดำไปได้ครึ่งหนึ่ง
DSMA กำลังจะแลกเปลี่ยนและบันทึกเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนใต้ หรือความทรงจำที่เป็นความทรงจำความรุนแรงที่รัฐกระทำต่อประชาชนในประเทศ หรืออาจจะเป็นประชาชนด้วยกันรึป่าว ความรุนแรงแบบนั้นเป็นความรุนแรงที่รัฐกระทำต่อประชาชน เหตุการณ์ในจังหวัดชายแดนใต้มันชัดเจนอยู่พอสมควร แต่ในขณะเดียวกันสิ่งที่จะบันทึกนอกจากให้มันเป็นจดหมายเหตุของประเทศเกี่ยวกับเรื่องที่มันเกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนใต้ที่เป็นความรุนแรงในจังหวัดชายแดนใต้ มันยังบันทึกความทรงจำของผู้คนที่ได้รับผลกระทบ มันยังบันทึกเรื่องราวบริบทแวดล้อมทางสังคมวัฒนธรรมรวมไปถึงทางมานุษยวิทยาใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับผู้คนเหล่านั้นด้วย
ทำไมสังคมไทยต้องสนใจความรุนแรง เราเคยเปลี่ยนความรุนแรงเป็นบทเรียนได้หรือไม่ อย่างไร เราถอดบทเรียนความรุนแรงกันมากี่บท แล้วเราสร้างสามัญสำนึกต่อสาธารณะในเรื่องความรุนแรงที่เกิดขึ้นทั้งปัจเจกและสังคมโดยรวมแบบไหน อย่างไร เราจะส่งผ่านเรื่องราวของความรุนแรงไปถึงคนรุ่นหลังอย่างไร ถ้าเราส่งต่อเรื่องราวความรุนแรง บันทึกเพื่อเป็นบทเรียนไม่ให้มันเกิดขึ้น นั่นคือเรากำลังบอกเล่าเรื่องแบบนั้น แต่ไม่ได้หมายความว่าเรากำลังจะถ่ายทอดความรุนแรงปลูกฝังความรุนแรงในอนาคต แต่การบันทึกเรื่องราวที่กำลังเกิดขึ้น บันทึกความขัดแย้ง บันทึกความรุนแรง เพื่อหวังว่ามันจะไม่เกิดขึ้นซ้ำในอนาคต
คุณวลัย บุปผา
สันติภาพชายแดนใต้ถ้าในโต๊ะเจรจาทางการเมืองคงกำลังทำการเจรจากันอยู่ คำถามคือสันติภาพสำหรับชาวบ้านทั่วไปเขาต้องการอะไร ชีวิตที่อยู่อย่างดี มีความสุข ในสภาวะที่เขาแสวงหามาได้ด้วยตนเอง เศรษฐกิจการดูแลปากท้อง การศึกษาที่ดี สวัสดิการที่ดีที่จะได้จากรัฐ รวมไปถึงเรื่องการดูแลสุขภาพร่างกายมันก็ไม่พ้นปัจจัย 4
คุณวลัยกล่าวว่า สันติภาพคือสิ่งที่อำนวยให้ปัจจัย 4 เกิดขึ้นกับบุคคลได้อย่างดี ทั้งตัวเขาเองที่เป็นผู้รับผิดชอบตัวเอง ทั้งรัฐที่รับผิดชอบประชาชนด้วย สำหรับนิทรรศการจะนำไปสู่สันติภาพได้อย่างไร คำถามคือว่ากำลังทบทวนเรื่องความรุนแรงที่ปีนี้ครบ 20 ปี ของกรือเซะ ตากใบ ปล้นปืน แล้ว 20 ปีที่ผ่านมา สันติภาพเปลี่ยนหน้าตาจากคำว่าสันติภาพบนโต๊ะเจรจา มาสู่ชีวิตที่สงบสุขแล้วหรือไม่ อย่างไร
สำหรับ DSMA เชื่อว่าการนำเสนอเรื่องราวของความทรงจำที่ไม่ผลิตซ้ำความรุนแรง จะเป็นปัจจัยหนึ่ง แต่ไม่ได้บอกว่าจะเป็นสะพานอันนึงที่จะนำไปสู่สันติภาพ แต่ปัจจัยนึงที่จะอธิบายได้ว่า บทเรียนที่มันเกิดขึ้นซ้ำ มันควรจะยับยั้งและมันควรจะไม่เกิดขึ้นอีกในอนาคต ซึ่งอันนั้นก็จะนำไปสู่ความปกติสุขของชีวิต อันนั้นอาจจะเป็นสันติภาพด้านนึงของจังหวัดชายแดนใต้ หรือเหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ก็ได้
คุณวลัยเล่าว่าจากที่ไปพูดคุยกับครอบครัวผู้สูญเสียว่าปีนี้ครบ 20 ปีแล้วเป็นยังไง หลายครอบครัวบางท่านบอกว่า แม้ 20 ปีแล้วก็ยังไม่อยากไปหน้าสถานีตำรวจภูธรตากใบ หลายครอบครัวบอกว่า คดีจะครบอายุความปีนี้ไม่รู้เหมือนกันว่าจะเป็นอย่างไร แต่ก็จะไม่มีแรงลุกมาขึ้นศาลอีกแล้ว เพราะว่าการขึ้นโรงขึ้นศาล หรือใช้คำง่าย ๆ ว่ามีเรื่องกับเจ้าหน้าที่ มันทำมาสู่ความยุ่งยากในชีวิตหลายอย่าง มันมีคนมาเยี่ยมเยียนที่บ้าน มันมีความกลัวเกิดขึ้น มันมีความวิตกกังวล มันมีเสียงถามจากคนนั้นคนนี้ คดีมันจบไปแล้วก็จริง ในทางนึงมีคนบอกว่ามันเป็นลิขิตไว้แล้วคดีมันจบไปแล้ว ในขณะที่บางท่านอย่างเช่นของพี่ชายของวัตถุความทรงจำเสื้อของน้องบอกว่า “แม้เขาสู้ด้วยกฎหมายไม่ได้ เขาจะสู้ด้วยความทรงจำ” คำนั้นจะทำให้เรื่องของตากใบไม่ถูกลบเลือนไป
หลังจากนี้นิทรรศการลบไม่เลือนตากใบจะยังคงจัดแสดงอยู่ที่ศูนย์มานุษยวิทยาต่อไป และจะยังมีกิจกรรมที่ทำให้ผู้ที่แวะเวียนมาเยี่ยมชมนิทรรศการและรับรู้ถึงเหตุการณ์ร่วมกับวัตถุความทรงจำที่จัดแสดงภายในนิทรรศการ รวมทั้งยังผลิตซ้ำความทรงจำที่คอยเตือนสติว่ามีเหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้นในสังคมไทยที่เป็นประวัติศาสตร์บาดแผลที่ไม่มี่ใครอยากจำแต่มีคนจำนวนมากที่ไม่เคยลืม