กลับมาย้อนรอย 19 ปี ความทรงจำจากโศกนาฏกรรมตากใบในช่วงเดือนรอมฎอน
ตากใบในความทรงจำของคุณคืออะไร?

ย้อนลำดับเหตุการณ์ตากใบ
ตากใบ เป็นชื่ออำเภอเล็ก ๆ ชายแดนไทย – มาเลเซีย ในจังหวัดนราธิวาส
วันที่ 25 ตุลาคม 2547 ตรงกับ 11 รอมฏอน วันธรรมดาวันหนึ่งของเดือนถือศีลอดในปีนั้น
08:00 น. ประชาชนทั่วสารทิศเดินทางมายัง สภ.ตากใบ จ.นราธิวาส เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน 6 คนที่ถูกควบคุมตัวและสอบสวนมากกว่าสัปดาห์ เนื่องจากโดนข้อหายักยอกอาวุธปืนของทางราชการ ซึ่งพวกเขาไม่เชื่อตามข้อกล่าวหา
09:00 น. เฮลิคอปเตอร์กองทัพบินวนเหนือศีรษะ
10:00 น. สถานการณ์เริ่มตึงเครียด เสียงปืนนัดแรกดังขึ้น!
15:00 น. มีคำสั่งสลายการชุมนุม ยิงแก๊สน้ำตา ฉีดน้ำแรงดันสูงใส่ฝูงชน ใช้กำลัง ทุบ ต่อย กระทืบ และพานท้ายปืน ฯลฯ ใส่ผู้ชุมนุม ปรากฏผู้ชุมนุมเสียชีวิตทันที 7 ศพ (5 ศพถูกกระสุนปืนที่ศีรษะ)
ผู้ชุมนุมถูกควบคุมตัว 1,370 คน ถูกมัดมือไขว้หลังและคลานไปจุดต่าง ๆ
ใช้รถลำเลียง รวม 24 – 28 คัน ให้นอนคว่ำหน้าทับซ้อน 3 – 4 ชั้น นำผู้ชุมนุมทั้งหมดเคลื่อนย้ายจากสถานีตำรวจ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส ไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร จ.ปัตตานี โดยมีระยะทางประมาณ 150 กิโลเมตร (ซึ่งปกติใช้การเดินทางราว ๆ 2 ชั่วโมง)
19:00 น. รถคันแรกเดินทางมาถึงค่ายอิงคยุทธบริหาร จ.ปัตตานี
03:00 น. รถคันสุดท้ายเดินทางมาถึงค่ายอิงคยุทธบริหาร จ.ปัตตานี (รถต่างมาถึงราว เฉลี่ย 5 – 6 ชั่วโมง) พบผู้เสียชีวิต 78 คน ระหว่างเคลื่อนย้าย
6 พฤศจิกายน 2549
อัยการถอนฟ้องผู้ชุมนุม 59 คน ข้อหายั่วยุ ปลุกปั่นให้เกิดความวุ่นวาย ศาลนัดไกล่เกลี่ยและประนีประนอมยอมความโดยกองทัพบกยอมจ่ายสินไหมทดแทน 42.2 ล้านบาท
29 พฤศจิกายน 2552
ศาลจังหวัดสงขลามีคำสั่งไต่สวนการตายว่า ‘สาเหตุการตายเป็นเพราะขาดอากาศหายใจ’
17 สิงหาคม 2555
รัฐจ่ายเยียวยาและค่าเสียหายให้แก่ครอบครัวผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บประมาณ700 ล้านบาท

กระตุ้นความทรงจำจากประสบการณ์ของผู้สูญเสีย
ในเมื่อความทรงจำบาดแผลยังคงอยู่ นิทรรศการ สดับเสียงเงียบ : จดจำตากใบ 2547 จึงทำหน้าที่สดับเสียงที่เงียบหายไปนานสำหรับคนอื่น แต่เสียงเหล่านี้ยังคงดังกังวานอยู่ในหัวของครอบครัวผู้สูญเสียคนรักไปอย่างไม่มีวันกลับมา
นิทรรศการสดับเสียงเงียบ : จดจำตากใบ 2547 เป็นนิทรรศการชุดแรกของโครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์และหอจดหมายเหตุจังหวัดชายแดนใต้ เพื่อความเงียบได้เปล่งเสียง เพื่อถ้อยคำได้สื่อสารและวัตถุพยานได้บอกเล่าเรื่องราวเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้วัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด และเพื่อไม่ให้อาชญากรรมของรัฐเกิดขึ้นซ้ำ
ภายในนิทรรศการจะเป็นการจัดข้าวของเครื่องใช้และวัตถุทางความทรงจำ 17 คน 17 ชิ้น ที่มาจากการทำงานภาคสนามกับครอบครัวผู้เสียชีวิต สูญหาย และบาดเจ็บจากเหตุการณ์ตากใบ รวมทั้งผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอื่น ๆ ประสบการณ์และความทรงจำของผู้คนเหล่านี้สะท้อนความเงียบ ความคับข้องใจ ความกลัว และไร้สุ่มเสียงของผู้ได้รับผลกระทบ ตลอดจนความอยุติธรรม ความรุนแรง และความสามารถในการลอยนวลพ้นผิดของรัฐ
ภาพแทนเศษเสี้ยวความทรงจำที่ยังคงอยู่

กระเป๋าสตางค์ของอาดูฮา
อาดูฮามีพี่น้อง 6 คน เขาเป็นคนที่ 5 เรียนจบชั้นมัธยม 6 และจบชั้นที่ 10 โรงเรียนศาสนา เขาเสียชีวิตตอนอายุ 20 ปี ขณะนั้นอาดูฮากำลังเตรียมเอกสารเพื่อเรียนต่อที่ประเทศจอร์แดน
“วันเกิดเหตุ ลูกบอกว่า จะไปละหมาดฮายัตกับเพื่อนที่ตากใบ เย็นแล้ว ลูกยังไม่กลับมา เพื่อนบ้านมาบอกว่ามีเหตุการณ์ที่ตากใบ พวกเราดูโทรทัศน์ช่วงประมาณ 5 โมงเย็น เห็นว่ามีการประท้วงและเห็นเพื่อนของลูกในโทรทัศน์ด้วย แต่พอไปถามครอบครัวนั้น ก็ยังไม่มีใครกลับบ้าน อีกใจหนึ่ง เราคิดว่าเขาอาจหนีไปมาเลเซีย วันที่ 3 หลังเหตุการณ์ พ่อกับที่บ้านไปค่ายอิงคยุทธ พาทั้งเสื่อและผ้าคลุมไปด้วย คิดว่าถ้าเสียชีวิตจะพากลับบ้านเลย พอไปถึงไปดูรูปศพก็จำไม่ได้ ไม่มีลูกในรายชื่อผู้เสียชีวิต และไม่มีในรายชื่อผู้ถูกคุมขัง ก็เลยกลับบ้านกัน ต่อมา ทางอำเภอให้ไปดูรูปผู้เสียชีวิต และบอกว่าจะไปฝังศพที่กุโบร์บ้านตะโละมาเนาะ วันที่ฝังศพ พ่อและพี่ชายก็ไป และเชื่อแน่ว่าลูกถูกฝังที่นั่น เรากลับมาทำพิธีทางศาสนา แม่รับไม่ได้ที่ลูกเสียชีวิต เขาเป็นเด็กดี ช่วยเหลือพ่อแม่ตลอด เรียนเก่ง วันแรก ๆ ที่รู้ว่าลูกเสียชีวิต แม่ออกบวชไม่ได้เลย กินข้าวไม่ลง ทุกวันนี้ยังคิดถึงลูกตลอดเวลา พูดถึงลูกคนนี้จะร้องไห้ทุกครั้ง”
แม่ของอาดูฮา

ประตูบานนั้น
อับดุลการิมเป็นลูกชายคนเดียวของครอบครัว มีพี่สาว 1 คนและน้องสาว 4 คน เขาเสียชีวิตตอนอายุ 28 ปี หลังจากแต่งงานได้ 1 สัปดาห์
วันนั้นไม่รู้ลูกไปไหน เขาไม่กลับบ้าน ได้ข่าวว่ามียิงกันที่ตากใบ ผ่านไปประมาณ 3 วัน มีคนมาบอกว่าลูกเสียชีวิตอยู่ที่ค่ายอิงคยุทธ แม่เหมารถคนในหมู่บ้านไปรับศพ ตอนนั้นหน้าลูกเราก็จำไม่ได้แล้ว จำได้แต่กางเกงที่เขาใส่ วันนั้นบาบอแมทำพิธีอาบน้ำศพ เพื่อจะเอาศพไปฝังที่ตะโละมาเนาะ บาบอบอกให้แม่ไปรับศพที่นั่น ตอนนั้นแม่ร้องไห้เยอะมาก วันนั้นมาพร้อมกับขบวนรถที่มาส่งศพจากค่ายอิงคยุทธ ไปถึงตะโละมาเนาะก็เย็นมากแล้ว แม่เปิดบวชที่ตาโละมาเนาะได้แต่ดื่มน้ำ เพราะกินอะไรไม่ลง กว่าจะนำศพกลับไปฝังกูโบร์ที่บ้านก็เที่ยงคืนแล้ว แม่เจ็บปวดมาก วันก่อนยังเห็นลูกสภาพดี แต่ลูกกลับมาในสภาพที่จำไม่ได้ ช่วงนั้นครอบครัวกลัวทหารมาก มีช่วงหนึ่งที่แม่ไปอยู่กับลูกสาวที่ต่างอำเภอ ทหารมาถึงบ้านไม่มีคนอยู่ เลยงัดประตูบ้านจนเสียหาย เข้าไปรื้อค้นในบ้าน งัดประตูห้องนอน เสียหายมาก เป็นอะไรที่เจ็บปวดมากตอนนั้น ที่แม่จำได้ อับดุลการิมเป็นคนช่วยพ่อแม่ทำงาน ความรู้สึกแม่ไม่เคยลืมลูกเลย ยังคิดถึงลูกเสมอ
แม่ของอับดุลการิม

การเยียวยาที่ทดแทนไม่ได้
อิหซานโตมากับยาย ยายรักอิหซานมาก อิหซานหน้าตาดีตั้งแต่เด็ก พอเรียนจบชั้นป.6 ก็เรียนด้านศาสนาที่โรงเรียนปอเนาะ เขาได้เจอพ่อครั้งแรกตอนอายุ 14 ปี หลังจากนั้นก็ติดต่อพ่อตลอด ส่วนแม่ นาน ๆ จะเจอกันสักครั้ง ตอนอิหซานอายุ 25 ปี เขาไปทำงานรับจ้างที่อำเภออื่น ๆ อิหซานเป็นเด็กดี ยายทำนาขายข้าวเปลือก เขาช่วยยายทำนา เวลาได้เงินจากการทำงานก็ให้ยายด้วย คนในหมู่บ้านก็รักเขาเพราะชอบช่วยเหลือเวลามีงานในหมู่บ้านหรือที่มัสยิด ยายยังจำได้ตอนเขายังเล็ก ตอนที่ยายจะซักเสื้อให้ อิหซานบอกว่า ยายไม่ต้องซัก เดี๋ยวอิหซานจะซักเสื้อผ้าเอง อิหซานทำเองได้แล้ว ยายเคยคิดว่าจะพึ่งพาหลานคนนี้ตอนแก่ ถ้าหลานยังอยู่คิดว่าพึ่งพาได้ เมื่ออิหซานแต่งงานอาจมีหลานให้ชื่นใจ ยายคิดว่ายายคงรักลูกของอิหซานมาก การเยียวยาเทียบไม่ได้กับชีวิตของหลาน แม้ให้เงินมาเป็นกระสอบมันเทียบไม่ได้กับชีวิต
ยายของอิหซาน

ข้าวของต่างหน้าของมูฮำหมัด
มูฮำหมัดเป็นลูกชายคนโต เขาเรียนสายศาสนาที่โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม และเรียนสายสามัญที่ กศน. ตากใบควบคู่ไปด้วย ตอนที่เสียชีวิต มูฮำหมัดอายุ 19 ปี
เขาเป็นเด็กดีเรียบร้อยแม่ไม่รู้ว่าลูกชายไปตากใบตอนไหน ประมาณ 2 ทุ่ม ลูกชายก็ยังไม่กลับบ้าน พวกหนุ่ม ๆ ในหมู่บ้านก็ไม่มีใครอยู่ วันรุ่งขึ้นพ่อของมูฮำหมัดไปสอบถามถึงลูกที่โรงพักตากใบ เจ้าหน้าที่บอกว่า ผู้ชุมนุมถูกนำไปค่ายอิงคยุทธ พ่อก็ไปที่ค่ายทันที พอไปถึงไปดูรายชื่อผู้เสียชีวิต มีชื่อมูฮำหมัดลูกชายอยู่ด้วย ไปดูศพก็จำได้ว่าเป็นลูกชาย ลูกใส่กางเกงยีนส์มีผ้าเช็ดหน้าสีแดงที่กระเป๋ากางเกง พาศพกลับบ้านมาทำพิธีทางศาสนา ครอบครัวเสียใจมาก ตอนนั้นเป็นเดือนบวช แม่เปิดบวชด้วยน้ำและอินทผาลัมแค่ลูกเดียว ไม่รู้สึกอยากกินอาหารเป็นเดือน จากตอนนั้นจนถึงทุกวันนี้ แม่ไม่อยากไปทั้งโรงพักและที่ว่าการอำเภอตากใบ เพราะยังเห็นภาพและเรื่องที่จำจากสถานที่ตรงนั้น
แม่ของมูฮำหมัด
เบื้องหลังการถ่ายทอดความทรงจำจากเหตุการณ์ตากใบ

ภัทรภร ภู่ทอง และ แพร ศิริศักดิ์ดำเกิง คณะจัดตั้งโครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์และหอจดหมายเหตุจังหวัดชายแดนใต้ มีวัตถุประสงค์อยากให้สังคมไทยตระหนักว่าสังคมไทยเป็นสังคมที่มีความรุนแรง และความรุนแรงก็ไม่ควรยอมรับได้ในสังคม
เป้าประสงค์ของการจัดงานนี้เพื่อต้องการให้คนนอกพื้นที่เห็นว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นในชายแดนใต้ไม่ควรเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอีก หลายคนมักจะบอกว่าลืมไปเถอะความทรงจำที่เจ็บปวด แต่จริง ๆ มันลืมได้หรือเปล่า มันยังคงอยู่กับเขา อย่างตากใบ ตอนที่เข้าไปสัมภาษณ์ผู้ได้รับผลกระทบ เขาเล่าว่าเหตุการณ์เหมือนเพิ่งผ่านไปเมื่อวานนี้เอง ทำไมเราต้องลืมความรุนแรงที่เกิดขึ้น เราควรจะจดจำว่าไม่ควรเกิดขึ้นอีกในสังคมไทย เพราะความรุนแรงเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้
แพร ศิริศักดิ์ดำเกิง
สังคมไทยเป็นสังคมที่มีความรุนแรง ดูในช่วง 50 ปีที่ผ่านมาเกิดเหตุการณ์อะไรบ้าง ตั้งแต่ 14ตุลา 2516 ถัดมาเป็น 6 ตุลา 2519 ซึ่งระหว่างนั้นก็มีความรุนแรงเกิดขึ้นอยู่ตลอด ต่อมาคือพฤษภาทมิฬ และอีกมากมาย นี่คือแค่ 50 ปีนะ ซึ่งการทำงานสื่อสารเชิงข้อมูลและการทำหอจดหมายเหตุ นิทรรศการ กิจกรรมที่เป็นรูปแบบของพิพิธภัณฑ์ แม้ว่าจะไม่ได้เป็นอาคารสถานที่ แต่สิ่งเหล่านี้ก็เป็นการสื่อสารให้สังคมรับรู้ว่าสังคมเรามีความผิดปกติ และมีวัฒนธรรมการลอยนวลพ้นผิดที่แข็งแกร่งมาก
ภัทรภร ภู่ทอง
ความทรงจำของทั้งคู่กับเหตุการณ์ตากใบ
ถ้าเราไม่ได้ทำโครงการวิจัยในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้เราคิดว่าเราคงจะอยู่ห่างจากเหตุการณ์และอยู่ห่างจากการรับรู้ของเรา
ภัทรภร ภู่ทอง
ตากใบเป็นเรื่องที่น่าตกใจมาก ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมไทย ในปี 2547 ที่เกิดความรุนแรงครั้งใหม่ในจังหวัดชายแดนใต้ ในฐานที่เป็นคนยะลา ตั้งแต่เหตุการณ์ปล้นปืน มาจนถึงเหตุการณ์ตากใบก็คิดว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไร และตกใจอย่างมากว่าทำให้จึงการผิดพลาดที่ทำให้คนเสียชีวิตจำนวนมากขนาดนั้น ความสะเทือนใจของเหตุการณ์ตากใบคือเป็นการกระทำที่ไม่ควรเกิดขึ้นที่ทำให้คนต้องเสียชีวิต บาดเจ็บ และถูกดำเนินคดีเป็นจำนวนมากในช่วงเวลานั้น
แพร ศิริศักดิ์ดำเกิง
นอกจากจะมีนิทรรศการความทรงจำผ่านวัตถุ 17 คน 17 ชิ้นแล้ว ยังมีวงเสวนาผู้หญิงที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ตากใบมาสนทนาแลกเปลี่ยนกับผู้หญิงที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงทางการเมืองเหตุการณ์อื่นเพื่อร่วมแลกเปลี่ยน และเพื่อรับฟังประสบการณ์ ความทรงจำ และความต้องการ ชวนเสวนาโดยนวลน้อย ธรรมเสถียร ซึ่งวงเสนานี้เป็นวงปิด
ประสบการณ์ส่วนตัวจากผู้สูญเสีย

นวลน้อย ธรรมเสถียร เล่าว่าวงเสวนาดังกล่าวมีผู้หญิงที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ตากใบ 3 คน เล่าถึงประสบการณ์ส่วนตัว คนนึงเป็นน้องสาวของผู้เสียชีวิต ตอนที่เกิดเหตุการณ์ตากใบเขาเรียนอยู่ป.6 คนถัดมาคือคนที่สามีเสียชีวิต ซึ่งตัวเองท้องอยู่ คนสุดท้ายสามีเสียชีวิตเช่นกัน ซึ่งมีลูกยังเล็กอยู่ ทั้ง 3 เล่าถึงคนรักของตัวเองไปร่วมกับเหตุการณ์ตากใบ และหลังจากนั้นก็ได้ข่าวจากคนที่รู้จักกันว่าพวกเขาเสียชีวิตแล้ว บางคนก็ไม่ได้ไปรับศพด้วยตัวเอง ให้ญาติไปแทน เนื่องด้วยความไม่พร้อมทางด้านจิตใจและทางร่ายกายที่ทำให้ไปไม่ได้
1 ใน 3 คนนี้เล่าว่า ที่จริงแล้วไม่เคยพบศพสามีเลย ถึงแม้ว่าจะติดตามไปจนถึงเจ้าหน้าที่ ซึ่งเจ้าหน้าที่ออกใบมรณบัตรให้ แต่ตามหาศพไม่เจอ ซึ่งในแง่ของทางกฎหมายถือว่าเป็นบุคคลสูญหาย แต่เจ้าหน้าที่ได้ใส่ในใบมรณบัตรว่าเสียชีวิตเพราะขาดอากาศหายใจ

นวลน้อย ธรรมเสถียร กล่าวว่า นิทรรศการนี้คิดว่าเป็นครั้งแรกที่มีการนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับตากใบ โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ ดังนั้นก็เป็นเรื่องที่ในแง่หนึ่งก็น่าดีใจเพราะในที่สุดแล้วก็มีการเปิดพื้นที่ให้พูดคุยกับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากกรณีตากใบ ในพื้นที่อย่างกรุงเทพฯได้ แม้ในพื้นที่ภาคใต้อาจจะยังไม่สามารถทำได้
ความทรงจำบาดแผลของผู้สูญเสียถูกถ่ายทอดผ่านการสื่อสารเรื่องราวของนิทรรศการสดับเสียงเงียบ : จดจำตากใบ 2547 ที่หยิบวัตถุทางความทรงจำกลับมาทำงานอีกครั้ง รวมถึงวงเสวนาต่าง ๆ และชุดข้อมูลที่ทางโครงการได้จัดทำขึ้น ทั้งนี้เป็นความต้องการส่งเสียงให้สังคมไทยรู้ว่ามีเหตุการณ์นี้เคยเกิดขึ้นในสังคมไทยและมันไม่เคยหายไปจากความทรงจำของใครหลาย ๆ คน ซึ่งเป็นความรุนแรงเชิงโครงสร้างที่กระทำต่อคนและเพื่อไม่ต้องการให้มีความรุนแรงเหตุการณ์ดังกล่าวในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้และพื้นที่อื่น ๆ อีก
รับชมรายการคุณเล่าเราขยาย ตอน นิทรรศการ สดับเสียงเงียบ : จดจำตากใบ 2547