ก้าวเข้าสู่เดือนตุลาคม เหตุการณ์ตากใบกำลังจะครบ 19 ปี และนับถอยหลังอีก 1 ปี เหตุการณ์ตากใบกำลังจะหมดอายุความ แต่ความทรงจำจากเหตุการณ์ยังไม่เคยหายไปจากผู้ได้รับผลกระทบ ถึงแม้ว่ารัฐจะทำให้เสียงเหล่านั้นกลายเป็น “เสียงเงียบ” ด้วยการพยายามทำให้สังคมลืมเหตุการณ์นี้ก็ตาม
วันที่ 21 กันยายน 2566 โครงการ งานเสวนาหัวข้อ การเดินทางของ “เสียงเงียบ” ในนิทรรศการตากใบ ชวนพูดคุยถึงเสียงเงียบที่มันไม่เคยเงียบจากผู้สูญเสียจากเหตุการณ์ตากใบ และนิทรรศการตากใบที่เล่าสะท้อนถึงความทรงจำของผู้สูญเสียจากเหตุการณ์ที่ถ่ายทอดผ่านวัตถุ 17 คน 17 ชิ้น จัดที่พิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต
ผศ.ดร.แพร ศิริศักดิ์ดำเกิง ภาควิชามานุษยวิทยา คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวว่า เสียงเงียบคือเสียงของความเจ็บปวด ความรู้สึกของผู้สูญเสียไม่เคยถูกเล่า ผ่านไป 19ปี ที่ความทรงจำของเรื่องราวที่เกิดขึ้นยังวนเวียนอยู่ จึงทำให้นิทรรศการนี้เกิดขึ้นมา
คุณวลัย บุปผา ภัณฑารักษ์นิทรรศการตากใบ ขยายความต่อว่า เสียงเงียบถูกทำให้เงียบตั้งบนรถบรรทุกในเหตุการณ์แล้ว เพราะในเหตุการณ์ถ้าใครส่งเสียงก็จะถูกลงโทษ เสียงเงียบนั้นจึงเงียบมาตลอด จากความทรงจำในรูปแบบปัจเจก แต่มันสะท้อนความเป็นมลายูมุสลิมในพื้นที่ 3 จังหวัด นำมาสู่ความทรงจำร่วมในสังคม 3 จังหวัดชายแดนใต้ ความทรงจำที่สะท้อนผ่านวัตถุแต่ละชิ้น เช่น เสื้อผ้าแบบนี้ อาจจะเป็นเสื้อผ้าที่พ่อของเขาใส่ แต่เมื่อมองในสังคม 3จังหวัดชายแดนใต้แล้ว เสื้อผ้าแบบนี้สะท้อนให้เห็นวัฒนธรรมการแต่งกายของคนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้
คำนิยามของ “เสียงเงียบ”
ผศ.ดร.อัมพร หมาดเด็น คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า รัฐมีความพยายามกลบเสียงเงียบผ่านสื่อ แต่ความเงียบดังขึ้นมาจากการสนับสนุนและงานวิจัย เสียงเงียบอาจจะไม่ได้มาจากคนในที่อยู่กับเหตุการณ์ และคนนอกพื้นที่อาจจะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการกะเทาะความเงียบจากเหตุการณ์ด้วย
ผศ.ดร.แพร ศิริศักดิ์ ดำเกิง กล่าวว่า ไม่ต้องการวิพากษ์รัฐขนาดนั้น แต่เราต้องการสะท้อนให้เห็นถึงความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นกับผู้สูญเสียที่ผ่านมา 19 ปี ยังเหมือนเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวาน เสียงเขาไม่เคยถูกเล่า เสียงเงียบเหล่านี้ถือเป็นการบอกเล่าความรู้สึกของผู้สูญเสีย สำหรับคนนอกอาจจะรู้สึกเหมือนยาวนาน แต่สำหรับคนในมันไม่เคยนาน และไม่เคยหายไปจากความทรงจำแม้แต่น้อย ถ้าเสียงเงียบมันเท่ากับการลืม ดังนั้นจึงไม่อยากให้เสียงเงียบในสถานการณ์นี้ถูกลืม เพราะจริง ๆ แล้วการพยายามลบเรื่องราวไม่ได้ช่วยให้ลืมเหตุการณ์ได้
สังคมไทยไม่เคยรู้ด้วยซ้ำว่าเราถูกทำให้ลืมเรื่องอะไร ตากใบเป็น 1 จาก ร้อย ๆ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและถูกกระทำจากรัฐ
ผศ.ดร.แพร ศิริศักดิ์ดำเกิง ภาควิชามานุษยวิทยา คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร
คุณวลัย บุปผา เสริมว่า เสียงเหล่านี้อาจจะไม่ได้เงียบ หากแต่รัฐอาจจะทำให้เสียงเหล่านี้มันเบากว่าความสามารถในการได้ยินของสังคม นิทรรศการนี้จึงพยายามดันบาร์ในการทำให้เสียงเงียบเหล่านี้ไม่ได้ถูกทำให้เงียบเหมือนเดิม แต่พยายามจะทำให้เสียงเหล่านี้สามารถผ่านเข้าไปในความสามารถในการฟังของสังคมด้วย
เสียงเงียบเดินทางมาเกือบจะ 19 ปีเต็ม ผู้สูญเสียยังได้ยินเสียงเงียบเหล่าอยู่ตลอดเวลา แต่รัฐพยายามทำให้เสียงเหล่านั้นยังคงเป็นเสียงเงียบต่อไปและคอยกดทับไม่ให้สังคมรับรู้ว่าเสียงเหล่านั้นยังคงอยู่เสมอมา ที่ไม่ได้ยินไม่ได้แปลว่าไม่มีเหตุการณ์แบบนี้เคยเกิดขึ้น หากแต่มีใครบางคนทำให้มันเงียบ
อย่างไรก็ตามสังคมไทยไม่เคยหลุดพ้นวาทกรรมของวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดที่เป็นปลายทางของความรุนแรงเชิงโครงสร้างที่ได้กระทำการเข้าข่ายละเมิดสิทธิมนุษยชนไม่ทางตรงก็ทางอ้อม แต่กลับปิดปากเงียบกับเรื่องที่เกิดขึ้นอย่างไม่รู้ร้อนรู้หนาว การระลึกถึงและสดับความเสียงนั้นออกมา ก็เพื่อเตือนความทรงจำถึงแม้จะเป็นความทรงจำบาดแผลแต่สังคมต้องไม่ลืมว่าเคยมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นในสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งก่อนครบ 20 ปี เหตุการณ์ตากใบ และก่อนที่เหตุการณ์นี้จะหมดอายุความ
รศ.ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ส่งท้ายว่า หากพูดถึงความรุนแรง อาจจะต้องรู้ที่มาว่าความรุนแรงนั้นมาจากอะไร ซึ่งหลาย ๆ เหตุการณ์ที่เป็นความรุนแรงเชิงโครงสร้าง หรือ ความรุนแรงโดยรัฐ ไม่ใช่ความรุนแรงที่เกิดขึ้นแบบไม่ตั้งใจ แต่คือความรุนแรงที่มาจากรัฐซึ่งเป็นความรุนแรงที่ยิ่งใหญ่มาก ที่แลกมาด้วยการสูญเสียของประชาชน