ดร.แพร ศิริศักษ์ดำเกิง อาจารย์จากภาคมานุษยวิทยา คณะโบราณดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ให้สัมภาษณ์ในรายการคุณเล่า เราขยาย เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 23 มีนาคมที่ผ่านมา ถึงที่มาที่ไปของนิทรรศการ “สดับเสียงเงียบ จดจำตากใบ 2547”
“นิทรรศการนี้เราต้องการเล่าความทรงจำของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ตากใบ ไม่ว่าจะเป็นภรรยาหรือลูกของผู้เสียชีวิต หรือผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ตากใบ เสียงของเขาไม่เคยถูกสังคมได้ยิน ผ่านไป 18 ปีก็กลายเป็นเหมือนเรื่องราวที่ผ่านไปแล้วผ่านไปเลย ไม่มีใครมารับฟังหรือสัมผัสคนที่ได้รับผลกระทบในเหตุการณ์ตากใบ เพราะฉะนั้นจึงปรากฎชื่อ “สดับเสียงเงียบ จดจำตากใบ 2547” ขึ้น เพื่ออยากให้ผู้คนในสังคมได้ยินความรู้สึกของพวกเขา ว่า 18 ปีที่ผ่านมาพวกเขารู้สึกอย่างไรบ้าง”
จากการทำงานเก็บข้อมูลในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา จากผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ตากใบจำนวน 50 คน มีเพียง 17 คนเท่านั้นที่อนุญาตให้มีการเผยแพร่ความรู้สึก ความทรงจำของพวกเขา ผ่านสิ่งของ 17 ชิ้น ที่เป็นตัวแทนความรู้สึกความทรงจำที่มีของเขาต่อคนที่เขารัก
“แก้วน้ำของรอยะ เป็นหนึ่งในสิ่งของที่ครอบครัวยังคงเก็บไว้ และจดจำว่านี่คือแก้วน้ำที่รอยะใช้ในชีวิตประจำวัน 18 ปี ที่พวกเขายังคงเก็บไว้ในตู้ที่บ้าน ซึ่งไว้สำหรับเก็บภาชนะต่าง ๆ และแก้วน้ำใบนี้ก็ถูกรวมอยู่ตรงนั้นกับแก้วน้ำใบอื่น ๆ แต่ลูกสาวบอกว่าเราทุกคนในบ้านรู้ดีว่าจะไม่ใช้แก้วน้ำใบนี้เพราะเป็นแก้วน้ำของพ่อ แม้พ่อจะไม่อยู่แล้วแต่ยังอยากเก็บแก้วนี้รวมไว้กับของคนอื่น ๆ ในบ้าน”
“วัฒนธรรมของคนในพื้นที่ชายแดนใต้ ที่ผู้ชายจะนิยมเลี้ยงนก กรงนกชิ้นนี้เป็นกรงนกของแบมะ ที่เคยใช้เลี้ยงนก แต่หลังจากที่เขาเสียชีวิต ภรรยาก็เสียใจมาก และหลังจากที่แบมะเสียชีวิตไม่นาน ภรรยาก็ตัดสินใจปล่อยนกเขาออกไป เพราะไม่มีคนที่จะมาดูแลแล้ว เพื่อให้ต่างคนต่างได้ใช้ชีวิตของตัวเอง(ระหว่างภรรยาของแบมะ กับนกเขาของแบมะ) เหลือเพียงกรงนกใบนี้เก็บเอาไว้”
นิทรรศการ สดับเสียงเงียบ จดจำตากใบ 2547 เป็นการเปิดพื้นที่ให้คนนอกอย่างคนกรุงเทพฯ ได้สัมผัสคนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรง ว่าความรุนแรงนั้นทำให้ทุกคนเจ็บปวด มันไม่ควรเกิดขึ้น มีคนจำนวนมากให้ความสนใจนิทรรศการในช่วงที่ผ่านมา
ตากใบเป็นอำเภอชายแดนของจังหวัดนราธิวาส อยู่ติดกับรัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย ด้วยวิถีของเมืองชายแดน ก็จะมีผู้คนเดินทางเข้า ออกในแต่ละวันค่อนข้างเยอะ รวมถึงตลาดซื้อขายสินค้าต่าง ๆ ที่มีความคึกคักอยู่ตลอด โดยเฉพาะช่วงเดือนรอมฎอน (เดือนถือศีลอดของชาวมุสลิม) อย่างปีนี้เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคม ที่ผ่านมา ซึ่งเมื่อถึงเดือนรอมฎอน หรือเดือนที่พี่น้องมุสลิมต้องถือศีลอดตามหลักปฏิบัติของศาสนาอิสลาม ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ตากใบ จะหวนคิดถึงเหตุการณ์นี้อีกครั้งเนื่องจากเกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกัน
“หลายครั้งมีคนบอกว่าควาทรงจำที่เจ็บปวด ทำไมไม่ปล่อยให้ลืม ทำไมยังต้องไปรื้อฟื้น เพราะจริง ๆ ความทรงจำที่เจ็บปวด ถ้าเราไม่เปิดพื้นที่ หรือที่ทางให้กับความทรงจำเหล่านี้ ก็อาจจะนำไปสู่ความแค้น ความเกลียดชัง และความรู้สึกอื่น ๆ ที่อาจจะรุนแรง และความรู้สึกรุนแรง คับแค้นเหล่านี้อาจจะเปลี่ยนไปเป็นการปฏิบัติการอย่างอื่นได้ แต่ถ้าเราเปิดพื้นที่ให้ความทรงจำเจ็บปวดเหล่านี้ ให้เขาได้มีโอกาสสื่อสารกับสังคม ให้สังคมได้สัมผัสหรือรับรู้ความเจ็บปวดของคนอื่นได้ นี่จะช่วยผ่อนคลายไปได้ในเวลาเดียวกัน เพราะความรู้สึกเหล่านี้เราสามารถสัมผัสได้เลยว่ามันเจ็บปวดขนาดไหน”
ดร.แพร ทำงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้มาตั้งแต่ก่อนปี 2547 แต่เหตุการณ์ตากใบนั้นสร้างความตกใจให้เธอเป็นอย่างมากเนื่องจากมีผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ครั้งนี้สูงสุด ตั้งแต่เดิมสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนใต้
“เหตุการณ์เริ่มต้นจากที่ ชรบ. 6 คนไปแจ้งความว่าปืนที่ดูแลอยู่หายไป และตำรวจในขณะนั้นตั้งข้อสงสัยว่าพวกเขาน่าจะเป็นคนที่ขโมยปืนเหล่านั้นไปหรือเปล่า เลยกักตัว ชรบ. ทั้ง 6 คนเอาไว้ แล้วใช้เวลาสืบสวนระยะหนึ่ง ทำให้เกิดความไม่พอใจให้กับคนในพื้นที่ และคนจำนวนหนึ่งก็เข้าไปประท้วงที่สถานีตำรวจภูธรตากใบ วันนั้นมีคนนับพัน แต่การไปที่นั่นมีทั้งคนที่ต้องการไปประท้วงจริง ๆ และมีคนที่ถูกชักชวนให้ไปร่วมละศีลอด(เหตุการณ์เกิดขึ้นในเดือนรอมฎอนของชาวมุสลิม) และมีคนที่ผ่านมาแล้วเหตุคนยืนอยู่จำนวนมากก็แวะดู เพราะว่าตากใบเป็นตลาดของคนในอำเภอข้างเคียง ที่จะเข้ามาจับจ่ายซื้อของ เพราะฉะนั้นจำนวนคนที่เข้ามาที่นั่นมีทั้งมาแบบตั้งใจ และมาโดยที่ไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น”
ดร.แพร เล่าต่อว่า “หลังจากที่มีการรวมตัวกันนับพันคน และเจ้าหน้าที่ในขณะนั้นก็เป็นช่วงปีแรกของการเกิดสถานการณ์ความไม่สงบ ก็ค่อนข้างตกใจ ทำให้มีการสนธิกำลังเข้ามาล้อม และสลายการชุมนุม ซึ่งขั้นตอนการสลายการชุมนุมก็ไม่ค่อยจะเป็นระบบเท่าไหร่ ทำให้มีผู้ที่เสียชีวิตทันทีในที่เกิดเหตุ แล้วหลังจากนั้นก็มีการคุมตัวผู้คนขึ้นรถบรรทุกทหารประมาณ 20-24 คัน โดยการเอาคนกว่าพันขึ้นรถไป ในลักษณะที่มีการจับถอดเสื้อ เอามือไขว้หลัง และนอนซ้อนทับกันไปบนรถบรรทุกทหาร เพื่อเดินทางไปค่ายอิงคยุทธบริหาร จ.ปัตตานี ใช้เวลาเดินทาง 5-6 ชม. เมื่อไปถึงค่ายอิงคยุทธฯ แล้วเอาคนลงจากรถก็พบว่ามีผู้เสียชีวิตถึง 78 คน”
“ความรุนแรงในสังคมไทยมีทุกแบบทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นความรุนแรงทางวัฒนธรรม ความรุนแรงเชิงโครงสร้าง และความรุนแรงเชิงกายภาพ ซึ่งเหล่านี้เป็นความรุนแรงที่เกิดขึ้นทุกเมื่อเชื่อวัน และไม่อยากให้เรารู้สึกว่านี่คือสิ่งปกติในชีวิตของเรา นี่เป็นส่วนหนึ่งที่เราอาจจะต้องสัมผัสและเห็นให้ได้ว่ามันมีอยู่จริง และไม่มีวันที่ความรุนแรงเหล่านี้จะเป็นเรื่องปกติได้”
“เราส่งเสียงและบอกให้สังคมได้รับรู้ว่านี่เป็นสิ่งที่มีอยู่และเราต้องไม่ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นในความรุนแรงเหล่านี้ ความขัดแย้งเกิดขึ้นได้ เป็นเรื่องปกติได้ แต่ความรุนแรงไม่ใช่ เพราะฉะนั้นเราต้องไม่ยอมรับความรุนแรงที่เกิดขึ้น และต้องช่วยกันดูแลผลกระทบที่เกิดจากความรุนแรงเหล่านั้นด้วย ”
ดร.แพร ศิริศักษ์ดำเกิง
ขอบคุณภาพจาก : กัณญาพัชร ลิ้มประเสริฐ