จวก รมว.เกษตรฯ ‘ฟื้นโครงการผันน้ำโขงเติมอีสาน’ ไม่เคยทบทวนบทเรียนผลกระทบ

จวก รมว.เกษตรฯ ‘ฟื้นโครงการผันน้ำโขงเติมอีสาน’ ไม่เคยทบทวนบทเรียนผลกระทบ

เครือข่ายภาคประชาชนลุ่มน้ำอีสาน เสนอรัฐศึกษาผลกระทบจากโครงการโขง-ชี-มูล เดิมก่อนผลักดันโครงการต่อ ชี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่เคยทบทวนบทเรียนเรื่องการจัดการน้ำที่ผ่านมาเลย 

20152403012426.jpg

23 มี.ค. 2558 ศูนย์พิทักษ์สิทธิการจัดการทรัพยากรชุมชนลุ่มน้ำชีตอนล่างร่วมกับเครือข่ายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมภาคอีสาน ได้จัดเวที วิเคราะห์แนวนโยบายขั้นพื้นฐานการจัดการจัดการทรัพยากรน้ำอีสาน โดยมีชาวบ้านลุ่มน้ำชีตอนล่างกว่า 50 คนเข้าร่วมเวที ณ ศูนย์พิทักษ์สิทธิการจัดการทรัพยากรชุมชนลุ่มน้ำชีตอนล่าง จ.ร้อยเอ็ด

จากกรณีที่ปิติพงษ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้กล่าวว่าจะฟื้นโครงการผันน้ำโขงเติมในภาคอีสาน โดยให้กรมชลประทานศึกษาแนวทางการผันน้ำโขงเพื่อมาเติมแหล่งน้ำภายในประเทศ ซึ่งเดิมที่ชลประทานเคยศึกษาโครงการผันน้ำโขง-เลย-ชี-มูล ประกาศที่จะนำร่องโครงการรูปแบบใช้แรงโน้มถ่วงดึงน้ำจากแม่น้ำโขงมาทางห้วยหลวง จ.อุดรธานี และสร้างอุโมงค์เฉพาะบางจุด วงเงิน 2 ล้านล้านบาท ใช้ระยะเวลา 20 ปี เมื่อวันที่ 9 มี.ค. 2558 

สิริศักดิ์ สะดวก ผู้ประสานงานศูนย์พิทักษ์สิทธิการจัดการทรัพยากรชุมชนลุ่มน้ำชีตอนล่าง กล่าวว่า การจัดการทรัพยากรน้ำในภาคอีสานที่ผ่านมาเราเห็นชัดแล้วว่ารัฐพยายามที่จะรวมศูนย์อำนาจในการจัดการน้ำ โดยเฉพาะการดำเนินโครงการโขง-ชี-มูล ที่เป็นโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ของรัฐโดยการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำชี และแม่น้ำมูล 

ในส่วนของแม่น้ำชีได้สร้างเขื่อนขนาดใหญ่กั้นแม่น้ำทั้งหมด 6 เขื่อน แต่ในส่วนพื้นที่ของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบและเข้าร่วมเวทีวันนี้คือเขื่อนร้อยเอ็ด เขื่อนยโสธร-พนมไพร เขื่อนธาตุน้อย ที่อยู่ภายใต้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงานเดิม ปัจจุบันอยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมชลประทาน เมื่อเริ่มแรกชาวบ้านได้รับข้อมูลว่าเป็นการสร้างฝายยางในลุ่มน้ำชี แต่เมื่อก่อสร้างเสร็จในปี 2543 กลับเป็นฝายคอนกรีตแทน มีประตูเปิดปิดทุกฝาย 

การตัดสินใจเร่งรีบในการพัฒนาโครงการ โดยไม่ได้ศึกษาถึงผลกระทบต่อ ระบบนิเวศน์ วิถีชีวิต เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ภูมิปัญญาและองค์ความรู้ ในการจัดการน้ำแบบดั้งเดิม ส่งผลให้เกิดปัญหาตามมาอย่างต่อเนื่อง เช่น หลังจากเขื่อนร้อยเอ็ด เขื่อนยโสธร-พนมไพร เขื่อนธาตุน้อยในแม่น้ำชีสร้างเสร็จในปี 2543 ความพยายามในการควบคุมน้ำของรัฐในแต่ละฝายก็เริ่มขึ้น ในช่วงฤดูแล้ง หลังจากเกษตรกรเก็บเกี่ยวข้าวนาปี และนาปรังเสร็จ ฝายที่อยู่ลุ่มน้ำชี ในแต่ละตัวก็ไม่ระบายน้ำออก เพื่อรองรับน้ำฝนที่จะตามมา แต่กลับยังกักเก็บน้ำไว้พอเข้าช่วงฤดูฝน ฝายก็ไม่สามารถรองรับน้ำได้ จำเป็นต้องเร่งระบายน้ำออก เพื่อรักษาตัวเขื่อนไว้ จึงส่งผลกระทบ กับเกษตรกรเป็นอย่างมาก 

20152403012745.jpg

สิริศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า การที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะให้กรมชลประทานเดินหน้าโครงการผันน้ำโขง-เลย-ชี-มูลนั้น มองว่ารัฐควรทบทวนบทเรียนการจัดการน้ำของภาคอีสานได้แล้วว่าที่ผ่านมาหลายยุคหลายสมัยของรัฐบาลที่ผ่านๆ มา ก็มีการนำงบประมาณที่จะแก้ไขปัญหาทั้งน้ำแล้ง และน้ำท่วม เราทุมงบประมาณในการจัดการน้ำมากมายมหาศาล แต่ถามว่ามีพื้นที่ตรงไหนบ้างที่ประสบผลสำเร็จ และรัฐไม่ต้องหากินกับเรื่องน้ำบ้าง เพราะงบประมาณในแต่ละปี แต่ละรัฐบาล เราเฝ้าติดตามข้อมูล ถ้าไม่เสนอการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ ก็เป็นการสร้างเขื่อนขนาดกลาง หรือไม่ก็ขุดลอกร่องน้ำเดิมเพื่อกักเก็บน้ำ จนในหลายพื้นที่ไม่สามารถที่จะสร้าง หรือขุดกันได้อีกแล้ว เนื่องจากโครงการพัฒนามันเต็มแหล่งน้ำไปหมดแล้ว 

“ผมมองว่าพอทีเถอะกับการพัฒนาแหล่งน้ำที่นำงบประมาณมา แล้วรัฐบอกว่าพื้นที่อีสานแล้งจะต้องนำงบประมาณมาพัฒนาแหล่งน้ำ ที่ผ่านมารัฐเองไม่เคยเข้าใจว่าพื้นที่อีสานเขามีสภาพพื้นที่ด้านภูมิประเทศแบบไหน และวิถีชีวิตของเขาต้องพึ่งพิงกับทรัพยากรอะไรบ้าง ถ้าเราตั้งใจศึกษาเราจะพบว่าการที่คนอีสานดำรงอยู่ได้ทุกวันนี้ก็เพราะฐานทรัพยากรดิน น้ำ ป่า แต่ที่ผ่านมาการพัฒนาแหล่งน้ำของรัฐกลับมาทำให้พื้นที่หากินของเขาเหล่านี้สูญเสียและสูญหาย และรัฐเองไม่เคยทบทวนบทเรียนเหล่านี้เลย” สิริศักดิ์กล่าว

20152403012912.jpg

ด้านนิมิต หาระพันธ์ ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนในลุ่มน้ำชีตอนล่าง กล่าวว่าอยากจะเสนอไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ว่า โครงการโขง-ชี-มูล ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ปี 2536 โดยเฉพาะการสร้างเขื่อนร้อยเอ็ด เขื่อนยโสธร-พนมไพร และเขื่อนธาตุน้อย ในลุ่มน้ำชี ซึ่งได้สร้างผลกระทบต่อวิถีของชาวบ้านลุ่มน้ำชีมากพอแล้ว และมีการร้องเรียนให้ดำเนินการแก้ไขปัญหาและให้แต่งตั้งกรรมการศึกษาผลกระทบด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม รัฐบาลที่ผ่านมาก็เคยมีคำสั่งแต่การปฏิบัติล่าช้า จนทำให้ปัญหาชาวบ้านยังไม่มีการดำเนินการแก้ไขเหมือนกับรัฐบาลไม่มีความจริงใจกันเลย

“ท่านรัฐมนตรีอย่าไปคิดเดินหน้าต่อโครงการโขง-เลย-ชี-มูล แก้ไขปัญหาจากโครงการพัฒนาแหล่งน้ำเดิมให้ได้ก่อน และควรจะศึกษาผลกระทบด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมก่อนดีกว่ากับโครงการโขง-ชี-มูลที่ผ่านมา”

ด้านสุวิทย์ กุหลาบวงษ์ เลขาธิการ กป.อพช.อีสาน กล่าวว่า ประเด็นสำคัญคือหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องกับเรื่องน้ำไม่ควรรีบผลักดันเรื่องการผันน้ำโขง-เลย-ชี-มูลในช่วงนี้ เพราะการศึกษาเรื่องน้ำมีการศึกษามาเยอะมาก ซึ่งในส่วนของภาคประชาชนไม่เคยเห็นการศึกษาผลกระทบด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมเลยหลังจากที่โครงการพัฒนาแหล่งน้ำของรัฐสร้างเสร็จ โดยเฉพาะโครงการโขง-ชี-มูล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่เคยทบทวนบทเรียนเรื่องการจัดการน้ำที่ผ่านมาเลย 

“ผมมองว่า โครงการผันน้ำโขง-เลย-ชี-มูล ควรเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นในหลายด้านไม่ควรที่หน่วยงานรัฐจะสรุปเองแล้วเสนอเอง และควรเปิดเวทีทำประชาพิจารณ์ของโครงการโดยการมีส่วนร่วมของประชาชนลุ่มน้ำ” สุวิทย์กล่าว

 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ