เมืองชัยภูมิกับคนต้นน้ำชี

เมืองชัยภูมิกับคนต้นน้ำชี

เมืองชัยภูมิกับคนต้นแม่น้ำชี

ลุ่มน้ำโขง ลุ่มน้ำชี และลุ่มน้ำมูล คือ 3 ลุ่มน้ำหลักในอีสาน โดย“ลุ่มน้ำชี” ซึ่งมีพื้นที่กว่า  49,000 ตารางกิโลเมตร ประกอบด้วย 27 ลุ่มน้ำสาขา มีพื้นที่ต้นน้ำอยู่ใน จ.ชัยภูมิ และเป็นหนึ่งในแม่น้ำสำคัญที่จะไหลไปรวมกับแม่น้ำมูล และส่งสู่แม่น้ำโขงที่ จ.อุบลราชธานี

ที่ผ่านมาโจทย์เรื่องของการจัดการภัยพิบัติเป็นหนึ่งเรื่องที่ถูกพูดถึงตลอดในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือหรือภาคอีสาน ที่จังหวัดชัยภูมิเองก็เช่นกัน นี่จึงเป็นหมุดหมายในการลงมาฟังเสียงประชาชน ฟังเสียงประเทศไทย ชวนทุกคนร่วมฟังด้วยหัวใจที่เปิดรับ พร้อมกับข้อมูลที่รอบด้าน ที่ศาลาอเนกประสงค์ เทศบาลเมืองชัยภูมิ จ.ชัยภูมิ เพื่อร่วมกันมองภาพอนาคตกลไกการป้องกันและรับมือภัยพิบัติในลุ่มน้ำชีตั้งแต่ต้นน้ำ ผ่านการจัดวงคุยภายใต้แนวคิด  Citizen Dialogues ประชาชนสนทนา

ภาพรวมเมืองต้นน้ำชัยภูมิ

จังหวัดชัยภูมิ แบ่งการปกครอง เป็น 16 อำเภอ (อ.เมืองชัยภูมิ อ.บ้านเขว้า อ.คอนสวรรค์ อ.เกษตรสมบูรณ์ อ.หนองบัวแดง อ.จัตุรัส อ.ภูเขียว อ.บำเหน็จณรงค์ อ.บ้านแท่น อ.แก้งคร้อ อ.คอนสาร อ.เทพสถิต อ.หนองบัวระเหว อ.ภักดีชุมพล อ.เนินสง่า อ.ซับใหญ่)

มีพื้นที่ทั้งหมด 7,937,062.18 ไร่)เป็นภูเขาสลับซับซ้อนและป่าไม้ ซึ่งมีพื้นที่ตามกฎหมาย 3,701,848.50 ไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 46.64 ของพื้นที่จังหวัด ประชากรร้อยละ 80 ประกอบอาชีพเกษตรกรรม

มีอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและขนาดใหญ่ จำนวน 13 แห่ง ความจุเก็บกัก รวม 339,908 ล้าน ลบ.ม.  โดยมีเขื่อนที่สำคัญ คือ  เขื่อนจุฬาภรณ์  เขื่อนลำปะทาว (บน) และ เขื่อนลำปะทาว (ล่าง) มีแหล่งน้ำธรรมชาติ ที่สำคัญ ได้แก่ ลำน้ำชี ลำน้ำพรม ลำคันฉู ลำน้ำเชิญ ลำชีลอง ลำปะทาว ลำสามหมอ และ ลำน้ำกล่ำ มีพื้นที่ป่าไม้รวม 2,488,460.23 ไร่ มีเทือกเขาที่สำคัญ ได้แก่ ภูพังเหย ภูแลนคา ภูพญาฝ่อ อันเป็นต้นกำเนิดแม่น้ำชี

โจทย์และข้อท้าทายสถานการณ์ภัยพิบัติน้ำท่วม-น้ำแล้ง

ศูนย์ภูมิอากาศ กรมอุตุนิยมวิทยา มีรายงานข้อมูลภัยธรรมชาติ จ.ชัยภูมิ ทั้งน้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วม พายุโซนร้อน พายุลูกเห็บ วาตภัย และภัยแล้ง ตั้งแต่ 8 พฤษภาคม 2529 – 21 กันยายน 2559 รวมรายงาน 89 ครั้ง

โดย ปี 2540 ประชาชนประสบภัยแล้ง ประชาชนเดือดร้อน 589,614 คน ขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค พื้นที่การเกษตรเสียหาย 1,108,910 ไร่

ปี 2548 ระบุผลกระทบจากภัยแล้ง พื้นที่การเกษตรเสียหาย 7 แสนกว่าไร่

ปี 2552 ระบุได้รับผลกระทบน้ำท่วม 16 อำเภอ ประชาชนเดือดร้อน 40,000 ครัวเรือน

และ ต่อมาในปี 2553 ประสบภัยน้ำป่าไหลหลาก เดือดร้อน 63,610 ครัวเรือน มีผู้เสียชิวิต 1 ราย พื้นที่การเกษตรเสียหาย 507,611 ไร่

นอกจากนี้ มีสรุปข้อมูลความเสียหายอุทกภัยระหว่างปี 2561 – 2566 ในกลุ่มประเด็นความเสียหายมีการรายงาน อ้างอิงจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2566  พบว่า ทั้งประเทศมีรายงานน้ำท่วม 8,493 ครั้ง โดยภาคอีสาน 20 จังหวัด มีรายงานสูงที่สุด 3 อันดับ คือ นครราชสีมา ชัยภูมิ และเลย ตามลำดับ ซึ่งชัยภูมิมีรายงานว่าประชาชนได้รับผลกระทบสูงที่สุด

ปี 2564 อิทธิพลพายุเตี้ยนหมู่ ทำให้มีพื้นที่ประสบอุทกภัยรวม 33 จังหวัด ทั่วประเทศ รวมถึง จ.ชัยภูมิ ที่น้ำท่วมหนักสุดในรอบ 50 ปี ทั้ง 16 อำเภอ รวม 228,840 ไร่

รายงานสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อมปี 2564 ระบุข้อมูลภัยธรรมชาติของกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 1 ระหว่างปี 2559-2563 พบว่า อุทกภัยเป็นภัยธรรมชาติที่ประชาชนในกลุ่มจังหวัดต้องประสบมากที่สุดในปี 2559 ร้อยละ 15.37 และ ปี 2560 ร้อยละ 51.78 ส่วน ปี 2563 มีประชากรประสบภัยแล้ง ร้อยละ 12.72 และมีมูลค่าความเสียหาย 111.078 ล้านบาท

ต่อมาในปี 2563 จ.ชัยภูมิ มีข้อมูลประสบอุทกภัย ร้อยละ 10.64 และประสบภัยแล้ง ร้อยละ 20.16

เพื่อให้มีข้อมูลตั้งต้นในการแลกเปลี่ยน ทีมงานรายการได้ประมวล ฉากทัศน์ “กลไกการป้องกันและรับมือภัยพิบัติลุ่มน้ำอีสาน ต้นน้ำชี จ.ชัยภูมิ” ในอีก 5 ปี ข้างหน้ามาเป็นเครื่องมือในการสนทนา

ฉากทัศน์ A คนเล็กสู้โลก ตั้งรับปรับตัวระดับชุมชน

ภาคชุมชน ภาคประชาชนเห็นร่วมกันว่า ปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้งที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต เป็นผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate change ) ถือเป็นสถานการณ์ร่วมของประชาคมโลก ที่ยากจะควบคุม สิ่งที่ทำได้ดีที่สุดคือ ชุมชนเตรียมการรับมือและแก้โจทย์ภัยพิบัติทางธรรมชาติ โดยใช้ชุดประสบการณ์ของชุมชน วางระบบแจ้งเตือนเหตุการณ์เฉพาะหน้าและเผชิญเหตุในระยะสั้น แต่ทั้งนี้ในเบื้องต้นจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนองค์ความรู้และเครื่องมือ อุปกรณ์ จากสถาบันการศึกษา ภาครัฐและภาคประชาชนเพื่อให้สามารถรับมือภัยพิบัติที่อาจจะมีความถี่และรุนแรงเพิ่มมากขึ้น

ฉากทัศน์ B รวมกันเราอยู่ บูรณาการรัฐท้องถิ่น

หน่วยงานรัฐในท้องถิ่นเป็นกำลังหลักบูรณาการทำงานร่วมกันในแนวระนาบ มีแผนเผชิญเหตุและรับมือภัยพิบัติน้ำแล้งและน้ำท่วมอย่างเป็นรูปธรรมในระดับพื้นที่ ก้าวข้ามข้อจำกัดระเบียบการดำเนินงานเพื่อลดผลกระทบและส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน อาจต้องได้ใช้เวลานานในการพิจารณาแก้ไขระเบียบข้อบังคับตามขั้นตอน เพื่อให้เกิดความคล่องตัว ต้องมีการสนับสนุนงบประมาณอัตรากำลังเจ้าหน้าที่ เครื่องมือจากรัฐส่วนกลาง และเชื่อมการต่อการทำงานร่วมกับภาคเอกชน เพื่อให้เตรียมการป้องกัน เตรียมรับมือเมื่อเกิดเหตุและฟื้นฟูชุมชนได้อย่างรวดเร็ว 

ฉากทัศน์ C จากต้นจนปลาย จัดการน้ำแบบองค์รวม

นักจัดการเขื่อน หน่วยงานองค์กร นักวิชาการ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำวางแผนบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบในรูปแบบใหม่ ทั้ง ก่อนเกิดเหตุ ขณะเผชิญเหตุ และการฟื้นฟูเยียวยา เพื่อรับมือน้ำท่วม-น้ำแล้ง ซึ่งคำนึงถึงผลกระทบต่อประชาชนในลุ่มน้ำเป็นหลัก ด้วยการใช้ข้อมูลและเทคโนโลยีสารสนเทศในการดำเนินงาน แจ้งเตือน เฝ้าระวัง และตัดสินใจ ซึ่งปัจจุบันยังกระจัดกระจาย ทำให้การรับมือไม่เต็มประสิทธิภาพ จำเป็นต้องมีแผนเตรียมรับภัยพิบัติในภาพรวมเชื่อมโยง ทั้ง ลุ่มน้ำอีสาน โขง ชี มูล ไม่มองการจัดการน้ำแยกส่วน อาจต้องใช้กฎหมาย ระเบียบข้อบังคับที่เข้มข้น

นอกจากนี้ยังมีผู้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมฉากทัศน์ต่าง ๆ เพื่อเป็นข้อมูลช่วยตัดสินใจในการเลือกภาพอนาคตที่ชัดเจนที่สุด

ฉากทัศน์ A คนเล็กสู้โลก ตั้งรับปรับตัวระดับชุมชน

คุณสุนันทา โรจน์เรืองไร เครือข่ายฝ่าวิกฤติชัยภูมิ

“ประมาณ พ.ศ.2564 เราพยายามจับมือทุกภาคส่วน เข้ามาอยู่ในกลุ่มแอปพลิเคชันไลน์เดียวกัน เพื่อสื่อสารในเรื่องภัยพิบัติและการเยียวยา และเราได้ข้อมูลที่สำคัญหลายเรื่อง เช่น จังหวัดชัยภูมิเป็นพื้นที่ต้นน้ำ น้ำมาเร็ว แต่น้ำก็มาแรง รวมถึงข้อมูลว่าน้ำท่วมวันไหนซึ่งชาวบ้านอยากรู้มาก แล้วเราทำหน้าที่แปลงสาร ข้อมูลสารสนเทศบางอย่างชาวบ้านไม่เข้าใจ เราจะต้องย่อยข้อมูลลงมา ซึ่งตรงส่วนนี้ในอนาคต 5 ปีต้องมีต่อและควรเข้ามาร่วมมือกันให้มากขึ้น

          การรายงานในช่วงที่เกิดภัยพิบัติ อย่างน้อยรายงานอย่างไม่เป็นทางการ ควรมี 2ครั้งหรือ 3 ครั้งจากทางการ ที่สามารถเป็นผู้ย่อยข้อมูลได้ข้อมูลที่เป็นประสบการณ์ชุดที่ 2 มาจากลุ่มน้ำลำปะทาวที่จังหวัดชัยภูมิ ในลุ่มน้ำตรงนี้มีการลดสารเคมี ที่เป็นการฟื้นฟูสภาพนืที่เน่าเสีย แต่ถ้าในเรื่องการแก้ไขปัญหาเราทำมาตั้งแต่ พ.ศ.2560 แล้ว ถ้าดูจากภาพของระหัดวิดน้ำเดิมที่มี 7 อัน ได้พัฒนามาเป็น 14 อัน โดยใช้งบประมาณของานวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดชัยภูมิ สำหรับลำปะทาวตอนกลางซึ่งมีผลทำให้ความแห้งแล้งของจังหวัดชัยภูมิ ที่ไม่มีน้ำใช้อยู่ประมาณ 1 อาทิตย์ในช่วงปีก่อนแต่ไม่มีเสียงเรียกร้องใด ๆ เลย เพราะว่าระหัดวิดน้ำนั้นทำหน้าที่คล้ายเขื่อนแต่ไม่ใช่เขื่อน และทำหน้าที่บำบัดน้ำทำให้มีอาหารราคาถูก ให้กับชาวบ้านบริเวณลุ่มน้ำลำปะทาว

นอกจากนี้ในลุ่มน้ำลำปะทาวยังมีการทำธนาคารน้ำใต้ดิน ยกตัวอย่างตำบลท่ามะไฟหวานที่อยู่ลำปะทาวตอนบน ทำอยู่ประมาณ 44 หลุม แบ่งเป็นหลุมใหญ่ 22 หลุม ที่บ้านทำที่เดียว 22 หลุม และบริเวณรอบ ๆ เป็นขนาดกลางอีก 22 หลุม ทำให้ความแห้งแล้งช่วงเดือนกันยายน – ตุลาคม เรามีน้ำเต็มประมาณเดือนตุลาคมแต่ปัจจุบันน้ำเต็มและล้นแล้ว คือสามารถมีน้ำสำรอง สามารถแก้ไขวิกฤติของน้ำรวมถึงนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่เราทำตั้งแต่ปี 2559 ผ่านงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นในเรื่องข้อต่อลดแรงดันในพื้นที่ลาดชัน เพราะจังหวัดชัยภูมิส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ภูเขา ทำให้ประปาภูเขาแตกเสียหายเป็นประจำ เพาะแรงดันน้ำ ตรงนี้จะมีทางออกว่าทำอย่างไร ในราคาที่ถูกมาก รวมถึงฝายมีชีวิต ฝายน้ำล้น ที่เรามีการบูรณาการด้วยการดึงเข้ามาช่วยชาวบ้าน ในอนาคตอีก 5 ปี ก็อยากให้มีแบบนี้อีก เพื่อให้การแก้ปัญหาเป็นไปได้จริง เพราะชาวบ้านเป็นผู้ที่รู้ปัญหาและเข้าใจปัญหาและพยายามบูรณาการเข้ามาแก้ปัญหาในพื้นที่อย่างได้ผลด้วย”

ฉากทัศน์ B รวมกันเราอยู่ บูรณาการรัฐท้องถิ่น

คุณสนอง คำชมพู หัวหน้าฝ่ายงานป้องกันและปฏิบัติการ

สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดชัยภูมิ

“ขั้นตอนกระบวนการในการจัดการจะมีการเชื่อมโยงการทำงานเรื่อยภัย เริ่มตั้งแต่ระดับชุมชน จากชุมชนจะเป็นระดับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะมีองค์กรในการจัดการภัยในเบื้องต้นคือองค์กรป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น ๆ ในองค์กรนี้เครื่องมือจัดการอันที่ 2 คือ “แผน” ไม่ว่าจะเป็นแผนปฏิบัติการ หรือ Operational plan และแผนเผชิญเหตุซึ่งจะแยกย่อยเฉพาะภัยนั้น ๆ จากท้องถิ่นจะเป็นระดับอำเภอ เช่นกันที่ในระดับอำเภอจะมีแผนและองค์กรในการจัดการคือกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยอำเภอ มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้อำนวยการในการบริหารจัดการจะมีเรื่องของแผน เรื่องขององค์รในการบริหารจัดการ ในระดับจังหวัดจะมีส่วนกลางเข้ามาบริหารจัดการ คือกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ นั่นคือภาพการเชื่อมโยงการทำงาน

หลายปีที่ผ่านมามีโอกาสได้ไปภาคใต้ มีคำหนึ่งที่ชอบมากจากกำนันท่านหนึ่งที่ว่า งูเห่าต่างถิ่นหรือจะสู้งูดินในพื้นที่ มันทำให้เห็นภาพชัดเจนว่าคนเราถ้าอยู่นอกพื้นที่เหมือนภาคส่วนราชการต่าง ๆ อาจจะเป็นคนนอกพื้นที่ ซึ่งคนในพื้นที่จะเห็นภาพที่ชัดเจนกว่า เพราะตั้งแต่เกิดจนโตเขาก็เห็นภาพนั้นแล้ว เพราะฉะนั้นหากจะทำอะไรต้องให้ระเบิดออกจากชุมชน ออกจากพื้นที่ก่อน จึงมองว่าเรื่องของชุมชนกับท้องถิ่นเป็นสิ่งสำคัญ จะไม่พูดถึงเทศบาลเพราะเข้มแข็งแล้ว แต่จะมองแค่องค์การบริหารส่วนตำบล ตั้งแต่ปี 2540 ที่มีการจัดตั้ง อบต. มานั้น จนถึงวันนี้มีการพัฒนาอย่างมาก มีความเข้มแข็งอย่างมาก เพราะฉะนั้นระหว่าง อปท. กับชุมชนต้องทำงานร่วมกัน เพื่อทำให้เกิดความเข้มแข็ง และที่จะขาดไม่ได้ในระดับพื้นที่ก็คือ ฝ่ายปกครองท้องที่คือกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ท้องที่จะมีกฎหมายให้อำนาจหน้าที่ของฝ่ายท้องที่ ทุกคนต่างมีหน้าที่ แต่เป้าประสงค์อันเดียวกัน”

ฉากทัศน์ C จากต้นจนปลาย จัดการน้ำแบบองค์รวม

คุณสมบัติ มีลักษณะสม ผู้อำนวยการโครงการชลประทานชัยภูมิ

“เมืองชัยภูมิเป็นเมืองต้นน้ำชี ซึ่งวันนี้ต้องยอมรับว่าเรื่องการจัดการน้ำของเรายังเริ่มต้นไม่ครอบคลุม เรื่องของแม่น้ำชีต้องมีการจัดการน้ำตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ซึ่งไหลผ่านหลายจังหวัด จนไหลไปลงที่จังหวัดอุบลราชธานี ในจังหวัดชัยภูมิของเราก็ต้องมีการจัดการน้ำ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำเช่นเดียวกัน ในหลวงรัชกาลที่ 9 พระองค์ท่านได้พระราชทานพระราชดำริ เกี่ยวกับเรื่องการจัดการน้ำว่าต้นน้ำควรสร้างแหล่งกักเก็บน้ำ กลางน้ำควรมีการชะลอน้ำโดยการสร้างแก้มลิง ปลายน้ำต้องมีการเร่งระบายน้ำเพื่อลดผลกระทบ ในเรื่องของน้ำท่วม ในการจัดการต่าง ๆ นั้น จะต้องมีทุกภาคส่วนมารับรู้ข้อมูล ในส่วนราชการนั้นเป็นแค่ต้นทางเล็กน้อยเท่านั้น ที่จะเสริมในเรื่องเชิงวิชาการว่าควรจะจัดการอย่างไร แต่วันนี้เดินไปอย่างไร ในพื้นที่เองจะต้องมีความต้องการ และจะต้องรวมพลังกันในการผลักดัน ขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดความยั่งยืน

ส่วนเรื่องนี้ในจังหวัดชัยภูมิเรามีปริมาณน้ำในแม่น้ำชี กว่า 2,500 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่วันนี้เราสามารถกักเก็บน้ำได้แค่ 340 ล้านลูกบาศก์เมตรเท่านั้น แต่อย่างไรก็ตามได้มีการจัดการน้ำในส่วนของต้นน้ำ โดยภาพรวมได้มีการสร้างอ่างเก็บน้ำหลัก 5 แห่ง ในพื้นที่จังหวัดชัยภูมิที่ทุกภาคส่วน สามารถเข้าไปแสดงความคิดเห็นหรือนำเสนอความต้องการ สุดท้ายก็เป็นการขับเคลื่อนร่วมกัน อย่างเช่น อ่างเก็บน้ำลำสะพุงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ่างเก็บน้ำลำน้ำเจียง อ่างเก็บน้ำลำน้ำชี อ่างเก็บน้ำโปร่งขุนเพชรและอ่างเก็บน้ำลำกระจวน เป็นการที่เราจะกักเก็บน้ำไว้เพื่อลดผลกระทบ เรื่องอุทกภัยรวมถึงสามารถแก้ปัญหาภัยแล้ง ในจังหวัดชัยภูมิของเราได้ ส่วนจังหวัดอื่น ๆ ที่อยู่ด้านท้ายน้ำ

ถ้าเราจัดการในจังหวัดชัยภูมิได้ซึ่งเป็นต้นน้ำหลัก ทางด้านท้ายน้ำก็จะได้รับผลดีในเรื่องอุทกภัยได้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นจังหวัดขอนแก่น จังหวัดมหาสารคาม เป็นต้น แต่ที่สำคัญที่สุดก็คือในจังหวัดเราเอง จะต้องมีการพูดคุยทำความเข้าใจเรื่องการบูรณาการ การพัฒนาให้เกิดความยั่งยืนโดยเฉพาะแหล่งน้ำขนาดกลาง หรือขนาดใหญ่ ซึ่งจะต้องใช้งบประมาณ ระยะเวลา ตลอดจนความคิดเห็นของคนในพื้นที่ ร่วมกันในการขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดประโยชน์โดยรวมกับทางจังหวัด”

แผนพัฒนาจังหวัดชัยภูมิ พ.ศ.2566 – 2570

ระบุแนวทางแก้ไขปัญหาภัยแล้งและอุทกภัย ดังนี้ 

  • 1.สร้างอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง ขนาดใหญ่ บริเวณต้นน้ำในล้ำน้ำหลัก
  • 2.สร้างฝาย อ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก ในลำน้ำสาขาเพื่อเก็บกักน้ำ
  • 3.ขุดลอกแก้มลิงพร้อมอาคารบังคับน้ำเพื่อเก็บกักน้ำ
  • 4.เร่งทำระบบกระจายน้ำ สถานีสูบน้ำครอบคลุมพื้นที่การเกษตรแปลงใหญ่
  • 5.ขุดสระขนมครก ลำห้วยขนาดเล็กต่าง ๆ คลุมพื้นที่การเกษตร
  • 6.พิจารณาพื้นที่รับน้ำหลาก เพื่อใช้ป้องกันช่วงเดือนกันยายน – ตุลาคม
  • 7.ปรับปรุงคันกั้นน้ำพร้อมอาคารประกอบ บริเวณลำน้ำชี เพื่อกันน้ำท่วมพื้นที่

“เศรษฐกิจก้าวหน้า สังคมและสิ่งแวดล้อม มีคุณภาพอย่างยั่งยืน”

คือ เป้าหมายการพัฒนา จ.ชัยภูมิ ภายใต้ 4 ประเด็น คือ

  • 1. การการสร้างความเข้มแข็ง ทางเศรษฐกิจฐานราก และแข่งขันได้อย่างยั่งยืน
  • 2. การบริหารจัดการการท่องเที่ยว
  • 3. การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างมีส่วนร่วม
  • 4. การพัฒนาสังคมและคุณภาพชีวิตให้มั่นคง

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ