คุยกับแม่ๆ ของ ‘7 ดาวดิน’ สถานการณ์พื้นที่ เมื่อกำนันพบทหารจี้ปลด ‘ผู้ใหญ่บ้านนาหนองบง’

คุยกับแม่ๆ ของ ‘7 ดาวดิน’ สถานการณ์พื้นที่ เมื่อกำนันพบทหารจี้ปลด ‘ผู้ใหญ่บ้านนาหนองบง’

“วันนี้ พวกเราประชาชนผู้อยู่เบื้องหลังกลุ่มนักศึกษาดาวดิน ขอเรียกร้องดังนี้ ปล่อยตัวนักศึกษาทั้งหมดโดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ หยุดการเชื่อมโยง ใส่ร้ายป้ายสี เพื่อทำลายความชอบธรรมของนักศึกษา ความทุกข์ยากของประชาชน คือผู้อยู่เบื้องหลังนักศึกษาโดยแท้จริง” คำประกาศ หน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ของกลุ่มชาวบ้าน (คลิกอ่าน)

4 ก.ค. 2558 ชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดได้เดินทางจาก จ.เลย มาร่วมกับชาวบ้านอีก 3 พื้นที่ คือ กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมบ้านนามูล-ดูนสาด อ.กระนวน จ.ขอนแก่น และกลุ่มอนุรักษ์ดงมูล อ.ท่าคันโท จ.กาฬสินธุ์ ผู้ได้รับผลกระทบจากการขุดเจาะสำรวจปิโตรเลียม กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมบ้านโคกหินขาว จ.ข่อนแก่น ผู้ได้รับผลกระทบจากโรงงานมันสำปะหลังปล่อยน้ำเสียลงสู่ชุมชน เข้าเยี่ยม 14 นักศึกษา-นักกิจกรรม ขบวนการประชาธิปไตยใหม่ที่ถูกความคุมตัวอยู่ในเรือนจำ โดยเฉพาะ ‘7นักศึกษาดาวดิน’ ที่พวกเขาปฏิสัมพันธ์มานานหลายปี

ย้อนไปเมื่อ 19 มิ.ย.ที่ผ่านมา 7 นักศึกษาดาวดิน เลือกเข้าไปอาศัยพักพิงในพื้นที่เคลื่อนไหวคัดค้านเหมืองแร่ทองคำของกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด พร้อมประกาศให้มาจับได้ในพื้นที่บ้านนาหนองบง อ.วังสะพุง จ.เลย หลังพวกเขาปฏิเสธไม่ไปรายงานตัวตามหมายเรียกของเจ้าหน้าที่ในกรณีถูกตั้งข้อหาจากการรวมตัวทำกิจกรรมชูป้ายผ้าคัดค้านรัฐประหาร ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จ.ขอนแก่น เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2558 

20150507033525.jpg

“เหตุที่เลือกมาเมืองเลย เพราะพวกผมรู้ตัวว่ายังไงก็จะถูกจับแน่ๆ พื้นที่แห่งนี่เป็นพื้นที่แรกที่พวกผมทั้ง 7คนได้เริ่มเรียนรู้ในเรื่องเหมืองแร่ทองคำ (เหมืองแร่เมืองเลย) หากพวกเรา 7 คน ต้องเลือกว่าจะถูกจับที่ไหน พวกเราก็เลือกจะถูกจับที่นี่ ที่ที่พวกเราเรียนรู้ ต่อสู้ร่วมกับชาวบ้าน และเป็นจุดเริ่มต้นของพวกเรา 7 คน ในการขับเคลื่อนการต่อสู้กับความอยุติธรรม ความไม่เท่าเทียมกันในสังคม” ส่วนหนึ่งของคำประกาศของ 7 นักศึกษาดาวดิน เมื่อ 19 มิ.ย. 2558 (คลิกอ่าน)

อย่างไรก็ตาม 7 นักศึกษาดาวดินได้เลือกเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เมื่อช่วงเย็นวันที่ 23 มิ.ย.2558 เพื่อร่วมเคลื่อนไหวกับกลุ่มนักศึกษา-นักกิจกรรม ซึ่งถูกตั้งข้อหาจากการทำกิจกรรมรำลึก 1 ปีรัฐประหารที่หน้าหอศิลป์ จนกระทั่งถูกจับกุมคุมขังร่วมกัน 14 คน ตั้งแต่เมื่อเย็นวันที่ 26 มิ.ย.ที่ผ่านมา ถึงวันนี้

ตามคำบอกเล่าจากชาวบ้านในพื้นที่ หรือพ่อๆ แม่ๆ ของกลุ่มดาวดินแล้ว ก่อนที่กลุ่มชาวบ้านฅนรักษ์บ้านเกิดจะเดินทางมากรุงเทพฯ รอบนี้ สถานการณ์ในพื้นที่ยังคงมีความเคลื่อนไหวอยู่อย่างต่อเนื่อง ไม่เคยมีวันไหนที่ความเหนื่อยยากของพวกเขาาจะบรรเทาเบาบางลงเลย

20150507033718.jpg

ล่าสุด เมื่อวันที่ 3 ก.ค. 2558 ชาวบ้านทราบข่าวทางสื่อออนไลน์ (คลิกอ่าน) ว่า กำนันตำบลนาโป่ง อ.เมืองเลย นำขบวนชมรมกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ต.นาโป่ง เข้าพบ พ.อ.อำนวย จุลโนนยาง รองผู้บังคับการจังหวัดทหารบกเลย เรียกร้องให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเลยมีคำสั่งปลด ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 3 บ้านนาหนองบง ต.เขาหลวง ที่ปล่อยให้นักศึกษากลุ่มดาวดินเข้ามาอยู่ในพื้นที่ อีกทั้งกล่าวหาว่ากลุ่มนักศึกษาเข้ามาปลุกระดมชาวบ้านเคลื่อนไหวทางการเมือง 

“แม่เจ็บใจ กำนันผู้ใหญ่บ้านที่ออกมา เขาไม่ได้รู้จักดาวดินว่าเป็นใคร หน้าตาเป็นอย่างไรเขาก็อาจยังไม่รู้ แต่กลับมาพูดทำให้เสียหาย ป้ายสีเราไปทั้งจังหวัด ทั้งอำเภอ” ระนอง กองแสน หรือ ‘แม่รส’ ชาวบ้านหมู่ 3 บ้านนาหนองบง สมาชิกกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด บอกเล่าความรู้สึก

ส่วนจะดำเนินการกับเรื่องนี้ต่อไปอย่างไร แม่รสบอกว่าคงต้องกลับไปพูดคุยกันในกลุ่มชาวบ้านอีกครั้ง

ขณะที่แม่ๆ สมาชิกกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดคนอื่นๆ พากันตั้งคำถาม เช่น ชมรมกำนัน-ผู้ใหญ่บ้านมีสิทธิอะไร? การจะปลดผู้ใหญ่บ้านต้องเป็นสิทธิของชาวบ้านหรือเปล่า? หรือเพราะตอนนี้บ้านเมืองอยู่ในภาวะไม่ปกติ จะมีการให้กฎหมายพิเศษอย่างมาตรา 44 มาจัดการหรือเปล่า? และผู้ใหญ่บ้านหมู่ 3 ทำความผิดร้ายแรงอะไรที่ทำให้จะต้องได้รับการลงโทษถึงขั้นนั้นเลยหรือ? ฯลฯ

“เขาไม่มีสิทธิมาข้ามเขต เราเลือกผู้ใหญ่ของเรามาเอง” แม่รสบอกถึงความรู้สึกของกลุ่มชาวบ้าน

สำหรับสถานการณ์ในพื้นที่ก่อนหน้านี้ ภัทราภรณ์ แก่งจำปา สมาชิกกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด เล่าว่า หลังจากที่กลุ่มดาวดินออกจากหมู่บ้านนาหนองบงเพียงไม่กี่วัน ผู้กำกับ สภ.วังสะพุง ก็นำกำลังตำรวจราว 10 นาย เข้ามาในหมู่บ้าน เพื่อขอให้ตำรวจเข้ามานอนในหมู่บ้าน แต่ชาวบ้านไม่ยินยอม อีกทั้งมีการตั้งด่านตรวจ ณ ทางเข้าบ้านกกสะทอน และอีกด่านที่ปากปวน ซึ่งเป็นเส้นทางหลักในการเข้าออกหมู่บ้านนาหนองบง

“เราไม่ให้เขาเข้ามา เพราะก่อนหน้านี้ก็มีทหารเข้ามาอยู่ในพื้นที่ ตอนแรกก็ดี แต่อยู่ๆ ไปก็มาลิดรอนสิทธิชาวบ้าน จะประชุมคุยงานกันก็ไม่ได้ ถูกสงสัยว่าเป็นเรื่องการเมืองหมด” แม่คนหนึ่งในวงกล่าว 

ภัทราภรณ์ เล่าต่อมาว่า มีเจ้าหน้าที่รัฐเข้ามาในพื้นที่มากมาย ทั้งทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครองเพื่อถามหานักศึกษาดาวดินหลังจากที่พวกเขาออกจากพื้นที่ไปแล้ว และมีการวางมาตรการตรวจสอบคนที่จะเข้าออกหมู่บ้าน การจัดกิจกรรมต่างๆ ในชุมชนต้องได้รับการอนุญาต ซึ่งพอขออนุญาตก็ไม่ได้จัด แม้แต่ค่ายเยาวชนก็จัดไม่ได้ ส่วนนักศึกษากลุ่มอื่นๆ ก็ไม่สามารถเข้ามาในพื้นที่ได้เพราะถูกหาว่าเกี่ยวข้องกับกลุ่มดาวดิน เกรงจะมายุยงชาวบ้าน

ต่อมาเมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 2558 ชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้าน ต.เขาหลวง เข้ายื่นหนังสือต่อนายวิโรจน์ จิวะรังสรรค์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย และออกแถลงการณ์ขับไล่นักศึกษากลุ่มดาวดินให้ออกจากตำบลเขาหลวง

นอกจากนี้ เขายังเรียกร้องให้กลุ่มดาวดินและกลุ่มคนรักษ์บ้านเกิดยุติการอ้างชื่อของชาวบ้าน 6 หมู่บ้าน ในการเคลื่อนไหว โดยระบุว่ากลุ่มคนรักษ์บ้านเกิดเป็นกลุ่มที่มีจำนวนไม่มาก การอ้างอย่างนั้นนสร้างความเข้าใจผิดว่าคนตำบลเขาหลวง มีพฤติกรรมก้าวร้าว กระด้างกระเดื่อง ต่อการบริหารบ้านเมืองของ คสช.และรัฐบาล (คลิกอ่านข่าว

สมาชิกกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด กล่าวว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดไม่ได้มีการตอบโต้ใดๆ ได้แต่รายงานสถานการณ์ให้ชาวบ้านได้รับรู้ เพราะยืนยันตัวเองว่าเป็นชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่ 6 หมู่บ้าน ซึ่งได้รับผลกระทบจากโครงการเหมืองแร่ ส่วนกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และกลุ่มคนที่ลุกขึ้นมาอยู่อีกฝั่งกับชาวบ้านนั้น เป็นคนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลจากโครงการ เขาจึงไม่ได้รับผลกระทบเหมือนอย่างที่ชาวบ้านได้รับ

ส่วนความเคลื่อนไหวของชาวบ้าน เมื่อวันที่ 1 ก.ค.ที่ผ่านมา ชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านได้เข้ายื่นหนังสือคัดค้านการอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าโคกภูเหล็ก เพื่อทำเหมืองแร่ทองคำ ต่อนายกอบต.เขาหลวง

เนื่องจากก่อนหน้านี้การประชุมสภาองค์การบริหารส่วนตำบลเขาหลวงจะมีการนำเรื่องการต่ออายุการใช้พื้นที่ป่าฯ เข้าพิจารณา แต่ทางอำเภอวังสะพุงมีหนังสือแจ้งให้ระงับเรื่องไว้ก่อน โดยให้เหตุผลว่า ในพื้นที่มีการเคลื่อนไหวคัดค้านของนักศึกษากับกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดอยู่ 

แม่รส บอกว่า เมื่อกลับไปกลุ่มชาวบ้านก็ยังไม่รู้ว่าจะต้องไปเจออะไร แต่เมื่อถามว่ากลัวไหม ชาวบ้านไม่กลัวอะไรแล้ว แต่สิ่งที่กังวลคือ ไม่รู้ว่าเขาจะให้ข้อกล่าวหาอะไรกับชาวบ้านอีก 

“อย่าพยายามโยงพวกเราไปกับการเมือง เราไม่เกี่ยวกับการเมือง เราสู้เรื่องเหมืองอย่างเดียว” แม่รสบอก

แต่เมื่อคำถามถึงการออกจากพื้นที่มาเยี่ยมดาวดินว่าอาจถูกเชื่อมโยงเป็นเรื่องการเมืองได้ แม่รสอธิบายว่า ที่ชาวบ้านออกมาเพราะเห็นว่าดาวดินไม่ได้ทำผิดอะไร อยากออกมาบอกให้คนข้างนอกได้รู้ว่าสิ่งที่กำนัน ผู้ใหญ่บ้านให้ข่าวป้ายสีนั้นไม่เป็นความจริง ชาวบ้านรู้จับกับกลุ่มดาวดินมาเกือบ 10 ปี มีความสัมพันธ์ทางจิตใจต่อกันเป็นลูกหลาน ซึ่งมันไม่สามารถประเมินค่าเป็นตัวเงินได้ 

แม่รสเปรียบเทียบว่าเหมือนเป็นความรักที่แม่มีต่อลูกซึ่งไม่อาจมีใครมาทำลายได้ และยิ่งห้ามก็เหมือนยิ่งยุ ทำให้ชาวบ้านยิ่งรัก ยิ่งเห็นใจกลุ่มนักศึกษามากยิ่งขึ้น ยิ่งรู้สึกสงสาร

“สิ่งที่ลูกเขาทำมันยิ่งใหญ่ เขาเสียสละตัวเอง อนาคต หน้าที่การงานข้างหน้า เพื่อชาวบ้านเหมืองทองอย่างพวกแม่”  แม่รสกล่าว

20150507033837.jpg

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: รู้จัก‘ดาวดิน’ แล้วมารู้จักชาวบ้านเหมืองทอง… คำประกาศจากใจ ‘กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด’

 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ