คุยกับปัญญา คำลาภ “บอกรักแม่น้ำมูน” บอกอะไร

คุยกับปัญญา คำลาภ “บอกรักแม่น้ำมูน” บอกอะไร

20151302200706.jpg

คุยกับปัญญา คำลาภ นักกิจกรรมสิ่งแวดล้อมภาคอีสาน “ธรรมชาติยาตรา ปั่นจักรยาน บอกรักแม่น้ำมูน” บอกอะไรกับชุมชนและสังคม

ที่มา ที่ไป ธรรมชาติยาตรา “ปั่นจักรยาน บอกรักแม่น้ำมูน”  

การเดินในครั้งนี้ เป็นการคิดค้นกิจกรรมเพื่อที่จะเชื่อมร้อยคนในลุ่มน้ำมูลตอนกลางให้ได้เห็นว่า ชุมชนมีสิทธิที่จะลุกขึ้นมาจัดการธรรมชาติ  สิทธิที่จะจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นป่าทามแม่น้ำมูล ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ป่าที่ยังคงเหลืออยู่ซึ่งกระบวนการที่ผ่านมา เราเห็นว่าการจัดการเรื่องนี้ของภาครัฐมันไม่สำเร็จแต่ก็ไม่ใช่ล้มเหลวนะ

แต่มันไม่สำเร็จในเชิงการมีส่วนร่วมจากจิตสำนึกจากภายในของประชาชน ที่จะรู้ว่าควรอนุรักษ์เพราะอะไร  ไม่ใช่การมาติดป้ายให้เห็นว่าป่ามีความสำคัญต้องอนุรักษ์นะ แม่น้ำมูลเป็นแม่น้ำสายหลักต้องอนุรักษ์นะ แต่คำว่าอนุรักษ์ความหมายลึกๆนั้น คืออะไร จริงๆแล้วถ้าทำให้เห็นภาพ คือ การอนุรักษ์เพื่อให้ชุมชนได้ประโยชน์อย่างยั่งยืน แล้วยั่งยืนอย่างไร ก็เช่น ชุมชนต้องได้หาปลา ชุมชนได้เข้าป่าไปหาเห็ดหาหน่อไม้ นี่คือการอนุรักษ์เพื่อใช้ประโยชน์ของชุมชนที่ทำมาแต่ไหนแต่ไร

แต่ที่ผ่านมาการอนุรักษ์ของหน่วยงานรัฐ คือ การอนุรักษ์ที่ปิดป่า ปิดแม่น้ำ เช่น ถ้าทำวังปลาก็ห้ามจับปลาห้ามหากิน ถ้าทำเขตป่าสงวนก็ห้ามเข้าซึ่งไม่สามารถตอบรับกับชุมชนได้ เพราะชุมชนต้องใช้ทรัพยากรเหล่านั้น แต่เราไม่ได้คิดจะทำลาย

การมีส่วนร่วมของชุมชนในครั้งนี้ สำคัญ?

คือ อยากให้ชุมชมได้เข้าใจคำว่าการจัดการทรัพยากรอย่างมีส่วนร่วมเนี่ย ซึ่งเป็นศัพท์ทางวิชาการที่ชุมชนอาจเข้าไม่ถึง ตีความหมายไม่ออก ว่าการจัดการทรัพยากรอย่างมีส่วนร่วมต้องทำอย่างไร และในครั้งนี้ เราได้ชวนเจ้าหน้าที่จากชลประทานโครงการแม่น้ำมูลตอนล่าง เข้ามาฟังความคิดเห็นของพี่น้องด้วยว่า แต่ละพื้นที่มีความคิดเห็นอย่างไรต่อการจัดการทรัพยากรในพื้นที่ เพราะว่าระบบนิเวศที่เป็น “ทาม” เหมือนกันก็มีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างกัน เพราะฉะนั้นการจัดการระบบนิเวศ การจัดการป่า หลายๆที่ ก็จะมีความแตกต่างกัน วัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องก็แตกต่างกัน

20151302200800.jpg
ใคร?คือกำลังในการปั่นหลั
กๆในครั้งนี้

เราไม่ได้มีเป้าหมายที่ชัดเจน ว่าจะเป็นคนรุ่นไหน เพศไหน โรงเรียนไหน หรือ คนกลุ่มใด แต่เป้าหมายของเราชัดเจนอยู่ที่ชุมชน ตลอดเส้นทางที่เราจะผ่านไป ทั้งโรงเรียน   อบต.  วัด  แล้วผู้นำหมู่บ้านนั้นๆจะให้ความสำคัญ หรือตระหนัก และเข้ามาเกาะเกี่ยวอย่างไร

เราเปรียบตัวเองเป็นเสมือนเส้นด้าย เปรียบเป็นเข็มที่ร้อยเส้นด้ายเล็กๆเพื่อเตรียมที่จะไปร้อยพวงมาลัย พวงนั้นบ้าง พวงนี้บ้าง  ร้อยพวงมาลัยดอกไม้ที่อยู่ข้างชุมชนที่เราผ่านไป ดอกใหญ่บ้าง เล็กบ้าง เมื่อเราเดินจบครบ 355 กิโลเมตร เราจะได้พวงมาลัยสวยๆมาสักพวง มีดอกไม้หลากหลายรูปแบบ หลายสี มีหลายความคิดเห็น

นอกจาก “บอกรักแม่น้ำมูน” ธรรมชาติยาตราครั้งนี้บอกอะไร

สิ่งสำคัญ  เมื่อเช้านี้เราเห็นภาพสะท้อนที่ชัดเจนจากที่เราไม่คาดหมายว่า การเดินของเราในครั้งนี้ ที่เร่งด่วน ซึ่งปกติการประสานเรื่องนี้ต้องใช้เวลากว่า 6  เดือน  แต่นี่เราประสานกันแค่ไม่ถึงเดือน แต่ภาพที่เกิดขึ้นเมื่อเช้านี้มีความชัดเจนว่า องค์กรทั้งภาครัฐ เอกชน ออกมาตอบรับกระแสเรื่องการปั่นจักรยานบอกรักแม่น้ำมูน เพื่อที่จะรณรงค์ในเรื่องของสุขภาพ และเรื่องของการอนุรักษ์ดูแลทรัพยากรที่แท้จริง

เพราะฉะนั้นกระแสตัวนี้ ทำให้เห็นว่าเราไม่มีเส้นแบ่งของสังคม เส้นแบ่งของหน่วยงาน หรืออะไรเลย และตัวที่สลายได้ดีที่สุด คือ วัฒนธรรมอย่างเดียว

เรามีการส่งมอบธงธรรมชาติยาตรา และเมื่อเช้านี้เราเห็นเจ้าหน้าที่ตัวแทนจากโครงการแม่น้ำมูลตอนล่าง ของกรมชลประทานไปกราบไหว้เสมาสิทธิชุมชนของพี่น้องสมัชชาคนจน เมื่อปี 2552 ที่ฝังอยู่ตอนที่ชุมนุม 189 วัน ที่สันเขื่อนราษีไศล นั่นทำให้รู้สึกว่าเป็นการยอมรับวัฒนธรรม แล้วไม่มีพรมแดน เพราะฉะนั้นมันก็จะเกิดมุมมองการที่จะมาพูดคุยหาทางออก หาทางตอบโจทย์ คำว่าทำเพื่อชุมชน เพื่อประชาชนที่แท้จริงคืออะไร  ตรงนี้เราจะได้เห็นภาพที่ชัดเจนขึ้นมา

20151302200917.jpg
20151302200946.jpg20151302200947.jpg20151302200948.jpg

 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ