ความเป็นสื่อในสถานการณ์ความขัดแย้ง บทบาทของบีบีซีไอร์แลนด์เหนือกับสื่อในพื้นที่ชายแดนใต้

ความเป็นสื่อในสถานการณ์ความขัดแย้ง บทบาทของบีบีซีไอร์แลนด์เหนือกับสื่อในพื้นที่ชายแดนใต้

ความเป็นสื่อในสถานการณ์ความขัดแย้ง   บทบาทของบีบีซีไอร์แลนด์เหนือกับสื่อในพื้นที่ชายแดนใต้

                   การได้ไปแลกเปลี่ยนความเห็นและดูบทบาทของสื่อมวลชนในสถานการณ์ความขัดแย้งที่ไอร์แลนด์เหนือ ทำให้พบว่าท่ามกลางความขัดแย้งรุนแรงยาวนานของที่นั่น สถานีของบีบีซีไอร์แลนด์เหนือ (BBC NI)ก็เป็นเสมือนภาพจำลองของผู้คนที่นั่น  เจ้าหน้าที่กว่า 700 คนย่อมมีมาจากทั้ง 2 ฝ่าย และทุกคนก็มีชุมชนที่ตนผูกพัน มีความเชื่อที่ศรัทธา  มีผู้สื่อข่าวที่เป็นทั้งคาทอลิกและโปรแตสแตนท์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งชื่อของคนในไอร์แลนด์เหนือคาดเดาได้เลยว่าคนนั้นนับถือนิกายอะไร เช่น  ถ้าชื่อเป็นไอริชก็จะนับถือคาทอลิก เป็นต้น 
 
                แต่วิธีการก้าวผ่านความขัดแย้งภายในของ BBC NI มีหัวใจสำคัญคือการทำงานที่ยึดมั่นในจริยธรรมของสื่อ โดยมีคู่มือจริยธรรมองค์กรเป็นคัมภีร์ในการทำงาน คู่มือดังกล่าวมีการปรับปรุงพัฒนาให้ทันสมัยต่อเนื่อง


Thanks:   ฝากรูป

               ในช่วงเกิดเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองในไอร์แลนด์เหนือ    ประชากรในไอร์แลนด์เหนือมีประมาณ 1.5 ล้านคน ซึ่งถือว่าไม่มาก ดังนั้นเป็นเรื่องลำบากสำหรับผู้สื่อข่าวที่ทำงานกับ BBC NI และอยู่ในชุมชน  ขณะที่นักข่าวจากลอนดอนมา รายงานสิ่งที่เห็น และจากไป แต่นักข่าวที่อยู่ที่นี่ต้องกลับไปยังชุมชนและตอบคำถามกับคนในชุมชนถึงสิ่งที่ถูกรายงาน  จึงเป็นเรื่องยากและท้าทายมากที่จะอยู่ในสังคมที่แตกแยก
 
               การนำเสนอประเด็นของผู้คนที่มาจากปูมหลังที่แตกต่างกัน มีกำหนดไว้ในคู่มือการทำงานของ BBC ด้วย   เจ้าหน้าที่ของบีบีซีเมื่อเข้ามาทำงานแล้วจะต้องยอมรับกับแนวทางการทำงานและวิธีการ

                 แคทเธอรีน ผู้สื่อข่าวอาวุโสบอกว่า  เมื่อเธออยู่ในห้องข่าวกับเพื่อนร่วมงานที่มาจากแนวคิดที่หลากหลาย จะต้องทิ้งแนวคิด ความเชื่อทางการเมือง แต่เชื่อมั่นอยู่กับทักษะของการทำงานมากกว่า และผู้สื่อข่าวควรรู้ว่าเรามาเพื่อที่จะทำงานและต้องให้พื้นที่ให้ทุกฝ่าย  การนำเสนอจะไม่ใช่การตัดสิน คือสิ่งสำคัญที่ต้องระมัดระวัง รวมถึงภาษาที่ใช้ด้วย  หลีกเลี่ยงการระคายเคือง และการต้องตีความ

                 ช่วงของเหตุการณ์ไม่สงบ BBC NI เคยถูกวางระเบิด   บางครั้งการเสนอข่าวก็ถูกต่อว่าจากผู้ฟังผู้ชม และนักการเมือง     แต่รายการวิทยุอย่าง BBC 5 Life และ BBC Radio อย่าง Ulster และ Foyle  ก็นำเสนอเรื่องราวจากชุมชนฐานล่างอย่างต่อเนื่อง   อย่างไรก็ตามเมื่อช่วงเข้าสู่กระบวนการสร้างสันติภาพด้วยการเจรจา   อาจกล่าวได้ว่า  BBC NI ไม่ได้เน้นการสื่อสารเพื่อหนุนเสริมกระบวนการสันติภาพชัดเจนนัก   โดยวางตนเองอยู่บนความเป็นกลางที่จะรายงานข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นมากกว่า 


Thanks:   ฝากรูป

                เจ้าหน้าที่ BBC NI บอกว่าว่าช่วงกระบวนการสร้างสันติภาพเป็นบทบาทของภาคการเมือง แต่ก็ใช่ว่าพรรคการเมืองจะเห็นพ้องทั้งหมดในแนวทาง  ถ้ามีการนำเสนอในเชิงส่งเสริมกระบวนการสันติภาพ ก็จะถูกวิพากษ์ว่าเพิกเฉยกลุ่มที่คิดต่าง  ในฐานะที่เป็นหน่วยหนึ่งในสังคม  ย่อมต้องการสันติภาพและไม่มีใครบอกว่าไม่ต้องการสันติภาพ แต่ควรจะมีหลากหลายแง่มุมที่จะทำหน้าที่     
                                                                                                       
               BBC NI ยืนยันให้ความสำคัญกับเสียงของประชาชนทั่วไป  ผู้สื่อข่าวของ BBCNI ก็มาจากคนธรรมดา และมาจากชุมชน จึงให้ความสำคัญในการออกไปสัมภาษณ์ชาวบ้านมานำเสนอ  มีรายการที่จะเชิญผู้ชมเช้ามาและสามารถที่จะตั้งคำถามกับนักการเมือง   มีรายการที่สามารถโทรศัพท์เข้ามาแสดงความคิดเห็นได้ทุกวัน และมีการเปิดให้ผู้ชมได้เข้ามามีส่วนร่วม  และยังมีสื่อใหม่ ทวิตเตอร์ มีฟีดแบคจากผู้ชมทุกวัน รวมทั้งที่โทรศัพท์เข้ามาพูดคุยในรายการวิทยุบางรายการด้วย    เช่น บทบาทของรายการวิทยุอย่าง BBC 5 Life และ BBC Radio  Ulster และ Foyle มีรายการเกี่ยวกับชุมชนท้องถิ่นฐานล่างของ NI ทั้ง 2 ฝ่าย และเผยแพร่ข้อมูลเพื่อก้าวข้ามความขัดแย้งทางวัฒนธรรมอย่างต่อเนื่อง

              อาจารย์สมชัย สุวรรณบรรณ เล่าเพิ่มเติมว่า ในคราวที่รัฐบาลอังกฤษส่งหน่วยปฏิบัติการพิเศษไปสังหารผู้นำ IRA ถึงประเทศสเปน ซึ่งเป็นเรื่องงานลับแต่ผิดกฎหมายระหว่างประเทศ BBC ได้ทำรายงานข่าวเจาะเพื่อเปิดโปง หรือในช่วงที่รัฐบาลมาร์กาเร็ต แธตเชอร์ มีคำสั่งห้ามเกี่ยวข้องกับองค์กรผิดกฏหมาย  การสัมภาษณ์ผู้ก่อการร้ายเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย แต่ BBC ก็ได้ใช้ทักษะการสื่อสาร  สัมภาษณ์ผู้นำ IRA มาเผยแพร่ผ่าน TV ได้โดยการใช้มุมกล้องและพากษ์เสียง  เพื่อเป็นการทำความจริงให้ปรากฏ

                  อย่างไรก็ตาม ในประเด็นที่ล่อแหลม ผู้สื่อข่าว BBC NI บอกว่าจะมีการไตร่ตรองสอบถามก่อนเสมอ เช่น ถ้า IRA เสนอตัวว่าจะให้สัมภาษณ์  ก็จะไม่ได้ทำตามข้อเสนอทันทีแต่จะต้องดูนโยบายด้วย โดยหารือไปยังสถานีแม่ที่กรุงลอนดอน และแสดงเหตุผลให้เพียงพอว่าทำไมจะต้องสัมภาษณ์คนที่อยู่ในองค์กรก่อการร้าย  หรือกรณีมีการออกแถลงการณ์ใด ก็ต้องเสนอปฏิกิริยาจากฝ่ายต่างๆ ด้วย 

                     รายการหนึ่งซึ่งน่าสนใจของ BBC NI คือรายการ “Hearts and Minds” โปรดิวเซอร์รายการ แมรี่ แครี่ เล่าว่า “Hearts and Minds”เป็นรายการด้านการเมืองออกอากาศ 1.30  ชั่วโมงทุกสัปดาห์   เป็นรายการสัมภาษณ์เชิงลึกแต่ก็เน้นแง่มุมและสีสันทางการเมืองด้วย  มีช่วงการสัมภาษณ์จะเป็นเรื่องหลัก มีช่วง  “If you ask me” 3 นาทีที่จะให้ประชาชนมีคอมเม้นท์เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว มีสกู๊ปที่เกี่ยวข้อง และสัมภาษณ์ช่วงที่ 2 จะไม่ใช่การเมืองหนักแต่เป็นผลกระทบชีวิตผู้คนจากการเมืองหรือนโยบาย ออกอากาศทางช่อง BBC NI และ BBC 1 และ 2 การคิดประเด็นอยู่ที่ว่าทีมในพื้นที่จะนำเสนออะไร สามารถตัดสินใจได้เอง ไม่ขึ้นอยู่กับสถานีแม่ข่าย   ส่วนการวางผังรายการ จะอยู่ที่ทีมบริหารคิดว่าทิศทางไหนสำคัญ โดยจะมีทีมรายการที่ตัดสินใจด้วยตนเอง 


Thanks:   ฝากรูป

บทบาทสื่อกรณีของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้    

            “ทัศคติเชิงลบกับสถานการณ์และผู้คนในสามจังหวัดชายแดนใต้”ที่ปรากฏผ่านสื่อต่างๆมาเป็นระยะเวลายาวนาน กลายเป็นปราการสำคัญที่ทำให้การทำงานของสื่อมวลชนกรณีสามจังหวัดชายแดนใต้ถูกตั้งคำถามถึง เนื้อหาที่ไม่สร้างสรรค์ การเป็นพวกเดียวกับรัฐและทหาร การใช้ภาษาที่ไม่เข้าใจวิถีฯลฯ และถูกมองอย่างหวาดระแวงของคนในพื้นที่   แต่ในบางสถานการณ์   สื่อก็ถูกตั้งคำถามจากรัฐบาลในการนำเสนอเรื่องราวจากสามจังหวัดชายแดนใต้เช่นกัน 
“สื่อ” จึงมีสถานะเป็นทั้ง “พื้นที่” และเป็น“คู่ขัดแย้ง”ในสถานการณ์สามจังหวัดไปในเวลาเดียวกัน

             ที่ผ่านมาในกระบวนการสร้างบรรยากาศให้เกิดเงื่อนไขของสันติภาพในพื้นที่ ได้มีความพยายามสร้างสถานะของสื่อเป็น “สภาวะกลาง” ให้ทุกฝ่ายเข้ามาอยู่ในพื้นที่เดียวกัน  เกิดการสานเสวนาขึ้นอีกลักษณะนอกเหนือจากรูปแบบการเจรจาของกลุ่มนักการเมือง นักวิชาการ ภาคประชาสังคม และกลุ่มชาวบ้าน  แต่การจะสร้าง “สภาวะกลาง” ที่ดุลย์ 2 ส่วนคือดุลทั้งความเป็นสื่อ และดุลความรู้สึกของคนในและคนนอกนั้น ต้องอาศัยโครงสร้างการทำงานที่คนในสังคมให้ความไว้วางใจว่าไม่ได้เป็นพื้นที่ของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด   แนวคิดนี้จึงเป็นที่มาของโครงสร้างการทำงานของ”ศูนย์ข่าวอิสรา”คือมี 2 ขาที่ทำงานด้วยกัน คือ “คนใน” ที่เข้าใจอารมณ์และบรรยากาศในพื้นที่ บอกได้ว่าควรทำหรือไม่ควรทำอะไรในเวลาไหน  และ”คนนอก” ที่มองยุทธศาสตร์ของการสื่อสารได้  เพื่อเริ่มบทบาทของการเป็น “พื้นที่” และ ชุดความคิดใหม่ๆ ต่อพื้นที่สามจังหวัด

              “ศูนย์ข่าวอิศรา” จึงมีการผสมการทำงานระหว่างทีมผู้สื่อข่าวจากส่วนกลางหลายสำนัก ร่วมกับสำนักข่าวท้องถิ่น และไปตั้งกองบก.ที่ปัตตานี  และร่วมกันปฏิรูปทิศทางการนำเสนอข่าวของสื่อให้รอบด้าน ละเอียด และระมัดระวังมาก


Thanks:   ฝากรูป

                         
               มูฮัมหมัดอายุป ปาทาน อดีตบรรณาธิการข่าวภาคใต้ของศูนย์อิศรา บอกว่าการทำข่าวในพื้นที่ มีความยาก เพราะคนในพื้นที่ระแวงสูงมาก  ขณะเดียวกันก็มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม ดังนั้นสิ่งสำคัญของการนำเสนอข่าวจึงต้องบริหารความรู้สึกของคนในทุกวัฒนธรรม 
ทิศทางเนื้อหาของสื่อที่มาทำงานร่วมกันในศูนย์ข่าวอิศรา มีมิติเพิ่มขึ้นจากเดิมที่เน้นเรื่องความรุนแรง มาเป็นการเจาะลึกถึงวิถีผู้คนในวัฒนธรรมอันหลากหลาย มีการลงพื้นที่เสนอข้อเท็จจริงอย่างตรงไปตรงมา  ความมี “คนใน”ร่วมในการทำงานทำให้บางสถานการณ์ได้รับความไว้วางใจให้ข้อมูลและเข้าพื้นที่อย่างปราศจากข้อกังขา 

               ความระมัดระวังในภาษาและการสื่อสารเช่นการไม่ถ่ายภาพ ไม่ใช้ชื่อในการนำเสนอ แต่อธิบายเป็นเรื่องเล่า ความรับผิดชอบต่อแหล่งข่าวที่อยู่ในภาวะถูกคุกคามจากหลายด้าน และการทำงานอย่างต่อเนื่องและครอบคลุมทุกมิติ มีมุมมองจากต่างประเทศมาเป็นบทเรียน

                การทำงานของสื่อมวลชนในศูนย์ข่าวอิศราได้รับการยอมรับจากหลายฝ่ายว่าเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ เพิ่มพื้นที่ในการสื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจ สร้างความชัดเจนของข้อมูล และเงื่อนไขและบรรยากาศของกระบวนการสันติภาพเกิดขึ้น แต่ศูนย์ข่าวอิสราซึ่งทำงานภายใต้สภาวะที่กดดันของสถานการณ์ ทำให้ ตลอดระยะเวลา 7 ปีไม่ได้สร้างบุคลากรในพื้นที่เพิ่ม  ปัจจุบันศูนย์ข่าวอิสรายังมีคนในพื้นที่สื่อสารเรื่องราวออกมาอยู่บ้าง  แต่ไม่ได้มียุทธศาสตร์ทางการสื่อสารเข้มข้น  เพราะความเข้าใจในเหตุการณ์ของคนในสังคมได้เพิ่มมากขึ้นตามเงื่อนไขเวลาที่เปลี่ยนไป   แต่สิ่งที่คนพื้นที่มองเห็นคือควรเติมความเข้าใจให้สังคมต่อเนื่องด้วยการสื่อสารคือ “องค์ความรู้”


Thanks:   ฝากรูป

         หน่อของวิธีคิดของความพยายามสื่อสารเพื่อสันติภาพยังอยู่เกิดขึ้นในพื้นที่  ยุคปี 2550  ได้เกิดศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ DeepSouthWatch ที่ดึงสถาบันการศึกษา เครือข่ายประชาสังคม และคนทำสื่อมาร่วมกันทำงาน   ภายใต้ DSW มีหน่วยหนึ่งของศูนย์ฯ คือการทำงานด้านการสื่อสารที่มีโครงสร้างการทำงานของทีมข่าวจากภายในและภายนอก  แต่วิธีการทำงานเป็นลักษณะนักข่าวจับคู่กับเครือข่าย นักวิชาการ  หมอ  ที่จะสื่อสารชุดความรู้ออกมา   ผลของ DSW คือ เกิดองค์ความรู้ที่ลึกเกี่ยวกับสถานการณ์สามจังหวัดหลายกรณี  มีการถอดรหัสความหมายขอการฆ่า  มีตัวเลขของผู้สูญเสียที่แยกย่อยประเภทให้ชัดเจน  มีข้อมูลลึกที่เป็นข้อเท็จจริงในพื้นที่  และที่สำคัญเครือข่าย นักวิชาการและคนในพื้นที่ที่ร่วมกันทำงาน เกิดความเข้าใจเรื่องของการสื่อสาร   
 
            พื้นที่การสื่อสารในสามจังหวัดเปิดกว้างไปตามศักยภาพของเทคโนโลยี และมีความพยายามให้เกิดมิติทางการสื่อสารจากพื้นที่มากขึ้นโดยหลายองค์กร  จึงเกิดคนหนุ่มสาว คนรุ่นใหม่ ที่ผลิตข้อมูลและประเด็นจากพื้นที่มากขึ้นเช่นกลุ่มเซาท์เทอร์นพีซ มีเดีย กลุ่มอินเซาท์ ฯลฯ  และใช้พื้นที่สื่อสารคือเว็บไซด์  และสื่อท้องถิ่น

              คนทำสื่อหลักและสื่อทางเลือกในพื้นที่สามจังหวัด ได้ร่วมกัน “มองอนาคต”สื่อชายแดนใต้” พบว่า การตื่นตัวด้านการสื่อสารของคนในพื้นที่ แต่วิธีการทำยังจำเป็นต้องอาศัยแหล่งทุนและทำงานตามโจทย์ ทางออกคือคนทำสื่อควรมีกองทุนที่เป็นอิสระและเลิกรับทุนเป็นโครงการ จึงเป็นที่มาของตั้ง “กองทุนสื่อชายแดนใต้” ที่มีลักษณะเหมือนมูลนิธิกองทุนชุมชนเพื่อไอร์แลนด์เหนือ มีลักษณะเป็นองค์กรรับทุนจากผู้สนับสนุนและกระจายไปให้กับผู้ทำงานตรง
อย่างไรก็ตามพื้นที่สื่อสารของสื่อทางเลือกในพื้นที่เหล่านี้เป็นพื้นที่ทางเว็บไซด์เป็นหลัก  การกระจายข้อมูลและความคิดต่อสังคมผ่านสื่อหลักยังมีไม่มาก  ThaiPBS โดยสำนักเครือข่ายสื่อพลเมืองได้ร่วมกับสื่อทางเลือกเหล่านี้เพื่อเชื่อมเข้าสู่สื่อใหญ่โดยการร่วมกันฝึกอบรมนักข่าวพลเมือง ฝึกอบรมการผลิตสารคดีร่วมกัน เพื่อให้กระบวนการทำงานเกิดการแลกเปลี่ยนความคิด มุมมองที่จะบอกสถานการณ์ในพื้นที่ไปพร้อมๆ กับตั้งคำถามกับคนทำสื่อที่เป็น “คนใน” เพื่อให้เกิดเรียนรู้และปรับทัศนคติต่อสังคมไปด้วยมุมของการสื่อสารแบบสาธารณะ  เพราะคนทำสื่อในพื้นที่ส่วนหนึ่งก็เป็นผู้ที่เติบโตมาจากผู้ถูกกระทำด้วยเช่นกัน 


Thanks:   ฝากรูป

   
               สำหรับ  “พื้นที่หน้าจอ” ThaiPBS  ได้เข้ามาเชื่อมโยงกับพื้นที่สามจังหวัดในฐานะ อยู่บ้างจากการนำเสนอข่าวจากพื้นที่เมื่อเกิดสถานการณ์ มีคอลัมน์ที่พยายามสื่อสารมุมสันติเช่นคอลัมน์ “เรื่องเล่าจากปลายด้ามขวาน” มีรายการ “ดีสลาตัน ณ แดนใต้"  มีการอบรมผู้สื่อข่าวให้ผลิตสารคดีเชิงข่าวจากพื้นที่ ส่วนในฐานะ “กระบวนการหลังจอ”  ที่มีการทำงานด้านประชาสังคมเชิงการสื่อสารได้สานต่อการทำงานร่วมกับคนในพื้นที่ผ่านสำนักเครือข่ายสื่อพลเมือง ผ่านการจัดวงคุย  แลกเปลี่ยนประเด็นสื่อสารและการฝึกอบรมด้านการผลิตสื่อเพื่อนำเสนอประเด็นจากมุมคนในพื้นที่มาเป็นระยะ เช่นกระบวนการทำงานในโครงการเปลี่ยนประเทศไทยที่จับประเด็น “กระจายอำนาจ” ทำให้คนที่อยู่ในสายกระจายอำนาจสู่การจัดการตนเองจากหลายพื้นที่ได้มาพบกันและแลกเปลี่ยนมุมมองวิธีคิด วิธีการร่วมกันเป็นระยะ

ทิศทางและบทบาทของการสื่อสาร

              กระบวนการสร้างสันติภาพที่ยั่งยืนผ่านบทบาทของการสื่อสารนอกเหนือจากการทำงานอย่างตรงไปตรงมา เปิดพื้นที่ให้กับทุกฝ่ายแล้ว  ยังเป็นการทำงานทางความคิดของคนทำสื่อด้วยซึ่งไม่ต่างจากการทำงานในภาคอื่นที่ต้องอาศัยความอดทน  สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจภายใต้ความชัดแย้งยาวนานนั้น ความไว้เนื้อเชื่อใจไม่ได้มีให้กับทุกคนง่ายๆ   

               ดังนั้น  หาก “สื่อ” จะมีบทบาทเป็นตัวเสริมทั้งในด้านการสร้างความเข้าใจของสังคมไทย และระหว่างกลุ่มผู้ใช้ความรุนแรงทั้งฝ่ายขบวนการและฝ่ายรัฐ  และโดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนในฐานราก  ควรทำงานอย่างมียุทธวิธีเช่นประสบการณ์ของมูลนิธิกองทุนชุมชนเพื่อไอร์แลนด์เหนือบอกถึงปัจจัยที่ทำให้งานสำเร็จคือการทำงานกับ “คนใน” และสร้าง “เครือข่าย”  ซึ่ง ThaiPBS มีต้นทุนคนทำงานร่วมกับสื่อในพื้นที่มายาวนานระดับหนึ่งแล้วนับจากการก่อตั้งศูนย์ข่าวอิสราฯ
                       
                ภายใต้ “เครือข่าย” ที่ต่างมีทั้งพื้นที่สื่อ  มีบุคลากรในการทำสื่อ ทิศทางของการทำงานคือการผลักดันให้เติบโตบนฐานของเครือข่ายเอง และอาศัยการเชื่อมโยงร่วมกันเพื่อให้เกิดการสื่อสารสาธารณะในประเด็นจากคนในพื้นที่ไปพร้อมๆ กันด้วย  เพื่อให้เกิดการสร้างคนและสร้างวาระของการสื่อสาร   ดังนั้นแนวทางสำคัญของการขยับการสื่อสารเพื่อสร้างสันติภาพในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้แล้ว นอกจากการเปิดพื้นที่ทางการสื่อสารผ่านหน้าจอของสื่อสาธารณะอย่างตรงไปตรงมา หลากกลุ่มและหลากรูปแบบแล้ว   การเชื่อมเครือข่ายคนทำสื่อชุมชน นักวิชาการ และเจ้าของประเด็นในพื้นที่เพื่อให้เกิดการทำงานที่สะท้อนความคิด ข้อเท็จจริง อย่างมีทิศทาง  ลุ่มลึกและหยั่งรากเป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง   

              เหนือสิ่งอื่นใด  ผู้ที่จะต้องลงมือทำงานร่วมในพื้นที่จำเป็นจะต้องเริ่มต้นเรียนรู้ความหลากหลายทางวัฒนธรรม สถานการณ์ และวิถีของคนในสามจังหวัดอย่างลึกซึ้งด้วย..


Thanks:   ฝากรูป
                                                                 
ส่วนหนึ่งความพยายามสร้างสันติภาพด้วยบทบาทของสื่อพลเมืองในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้

http://tvthainetwork.com/2010/board/index.php/topic,2584.msg2999.html#msg2999

http://tvthainetwork.com/2010/board/index.php/topic,2841.msg3432.html#msg3432

http://tvthainetwork.com/2010/board/index.php/topic,2757.msg3225.html#msg3225

http://tvthainetwork.com/2010/board/index.php/topic,2877.msg3472.html#msg3472

อ่านเรื่องเกี่ยวเนื่อง กรณีศึกษาดูงาน บีบีซีและไอร์แลนด์เหนือ

ความเป็นสื่อสาธารณะระดับภูมิภาค กรณีศึกษา บีบีซีไอร์แลนด์เหนือ และ ThaiPBS

http://tvthainetwork.com/2010/board/index.php/topic,2608.msg3007.html#msg3007

ถอดรหัสเว็บข่าว BBC : สื่อออนไลน์ขนาดใหญ่ยอดเยี่ยมของโลก

http://tvthainetwork.com/2010/board/index.php/topic,2613.msg3012.html#msg3012

NO OWNED SPACE + CLEAR DESK POLICY ยุทธศาสตร์หลอมคนสู่สื่อในอนาคตของ BBC

http://tvthainetwork.com/2010/board/index.php/topic,2607.msg3006.html#msg3006

[/size]

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ