ความเป็นสื่อสาธารณะระดับภูมิภาค กรณีศึกษา บีบีซีไอร์แลนด์เหนือ และ ThaiPBS

ความเป็นสื่อสาธารณะระดับภูมิภาค กรณีศึกษา บีบีซีไอร์แลนด์เหนือ และ ThaiPBS

                                    ความเป็นสื่อสาธารณะระดับภูมิภาค กรณีศึกษา บีบีซีไอร์แลนด์เหนือ และ ThaiPBS

                                                                                                                                          อัจฉราวดี บัวคลี่่
                                                                                                                                   
           

Thanks:   ฝากรูป
 
                    ดิฉันมีโอกาสร่วมเดินทางไปกับคณะกรรมการนโยบาย ThaiPBS  ศึกษาดูงานที่ประเทศอังกฤษระหว่างวันที่ 25 ก.พ.-3 มี.ค.2555  ในหลายประเด็น  ซึ่งจะได้ทะยอยนำประสบการณ์ที่ได้และคิดว่ามีแง่มุมสาธารณะเผยแพร่แลกเปลี่ยนกับท่านที่สนใจผ่านพื้นที่แห่งนี้ 

                    ที่เมืองเบลฟาสท์ แคว้นไอร์แลนด์เหนือ ภารกิจสำคัญของการเรียนรู้คือการได้แลกเปลี่ยนบทบาทสื่อสาธารณะในสถานการณ์ความขัดแย้งและการทำงานของภาคประชาชนเพื่อร่วมสร้างกระบวนการสันติภาพในพื้นที่     อย่างไรก็ตามบทความนี้ ดิฉันขอให้น้ำหนักกับเนื้อหาคือ "ความเป็นสื่อสาธารณะระดับภูมิภาคของบีบีซีไอร์แลนด์เหนือ (BBC NI)" และบทความอีกชิ้นที่จะเขียนต่อเนื่อง คือการทำหน้าที่สิ่อขอบีบีซีไอร์แลนด์เหนือในสถานการณ์ความขัดแย้ง
                                                           
                       
                 ปีนี้ บีบีซี ที่กรุงลอนดอน มีอายุครบ 85 ปี หากจะนับแต่การเริ่มก่อตั้งในปี 1927  อย่างเป็นทางการ  แต่ในหนังสือประวัติการก่อตั้ง บีบีซีไอร์แลนด์เหนือ (BBC NI) ระบุถึงการเกิดการสื่อสารเล็กๆ ในพื้นที่แห่งนี้ไว้ก่อนหน้านั้นด้วยซ้ำคือปี 1924 จากสื่อในพื้นที่และพัฒนาเติบโตขึ้นมาร่วมกับ BBC ในปี 1927 จนถึงปัจจุบัน

               BBC NI มีบทบาทเป็นสถานีกระจายเสียงระดับภูมิภาคเช่นเดียวกับ สกอตแลนด์ และเวลล์  มีพื้นที่ของการเป็นสื่อสาธารณะทั้งโทรทัศน์ วิทยุ และสื่อใหม่  มีโครงสร้างบริหารจัดการในพื้นที่เองแต่เชื่อมโยงกับกรุงลอนดอน มีสภาผู้ชมผู้ฟัง และมีการทำงานร่วมกับประชาชน    

                การกระจายเสียงเริ่มต้นจากสื่อวิทยุในปี 1936  ต่อมาได้ก่อสร้างอาคารสถานีระดับภูมิภาคในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2   และแพร่ภาพโทรทัศน์ในปี 1953  ช่วงเริ่มต้นเน้นการทำงานด้านข่าว  และเมื่อมีคู่แข่งเป็นทีวีท้องถิ่นคือ  UTV (Ulster TV)   ทำให้ BBC NI ต้องปรับปรุงพัฒนาตนเอง มีการขยายตัวเพิ่มบทบาทเชิงรายการสู่สังคม  ให้บริการระดับท้องถิ่นอย่าจริงจัง เปิดสถานีวิทยุ BBC Radio Ulster และ BBC Radio Fayle ในช่วงเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ และปรับตัวด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่สู่ดิจิตอล รวมถึงบทบาทการทำงานเชื่อมสื่อที่เน้น Future Media

             บีบีซีไอร์แลนด์เหนือในฐานะเป็นสถานีในภูมิภาค สามารถ “บริหารจัดการ”ตนเองในระดับพื้นที่ได้แต่ก็เชื่อมประสานกับบีบีซีที่กรุงลอนดอนด้วย  ส่วนการนำเสนอเนื้อหามีความเชื่อมโยงในการจัดสรรเวลาของท้องถิ่นและเวลาของระดับชาติ       โครงสร้างการบริการงาน BBC NI มีคณะกรรมการบริหาร  โดยผู้อำนวยการ หัวหน้าสำนักต่างๆ ซึ่งเป็นพนักงานอาวุโสที่จะบริหารงานของ BBCNI โดยมีการรายงานผลการปฏิบัติงานต่อผู้อำนวยการและคณะกรรมการบริหาร BBC ที่กรุงลอนดอนด้วย   
                                   
                    จากเอกสาร “Northern Ireland Management review” ระบุโครงสร้างการจัดการใน BBC NI ว่าตำแหน่ง ผู้อำนวยการสถานี  หัวหน้าฝ่ายประสานงานและกิจการชุมชน  หัวหน้าแผนกรายการโทรทัศน์  หัวหน้าฝ่ายข่าว  หัวหน้าฝ่ายพัฒนาทรัพยากรบุคคล  หัวหน้าฝ่ายวิทยุ  หัวหน้าฝ่ายมัลติมีเดีย หัวหน้าฝ่ายการตลาดการสื่อสารและผู้ชมผู้ฟัง  หัวหน้าฝ่ายโปรแกรม หัวหน้าฝ่ายจัดการ 


Thanks:   ฝากรูป

   
                 ในส่วนที่ทำงานกับประชาชน มีกิจกรรมหลายลักษณะ เช่นการจัดนิทรรศการงานของบีบีซีที่ถ่ายทอดเรื่องราวของการทำสื่อที่เป็นส่วนหนึ่งของไอร์แลนด์เหนือ  และมีสภาผู้ชมของ BBC NI เองที่เริ่มต้นจากการจัดตั้ง Broadcasting Council ของท้องถิ่น ต่อมาซึ่งเปลี่ยนเป็น Audience Council  มีบทบาทติดตามการทำงานทั้งโทรทัศน์วิทยุและสื่อใหม่    ที่มาของสภาฯ มาจากกลุ่มบุคคลหลายภาคส่วน เช่น นักธุรกิจ  ศิลปิน กลุ่มการศึกษา ผ่านการเลือกตั้งและสัมภาษณ์  มีการพบปะเดือนละครั้ง สภาผู้ชม สามารถให้คำติชมและวิพากษ์วิจารณ์ สิ่งที่BBC นำเสนอ 
 
                       
Thanks:   ฝากรูป

ลักษณะของการสื่อสาร
              มีการนำเสนอทั้งโทรทัศน์และวิทยุจะมีผังต่างกันตามแต่ละพื้นที่  มีการผลิตรายการเองส่วนหนึ่งเพื่อสนองความต้องการของท้องถิ่น  มีการใช้ภาษาท้องถิ่น การออกแบบผังรายการจะผ่านการหารือของทีม
–   พื้นที่สื่อโทรทัศน์  BBC NI มีช่องของภูมิภาค 2 ช่องคือ BBC One NI และ BBC 2 NI แต่ก็ส่งเรื่องราวไปนำเสนอในช่องบีบีซีระดับชาติหลายช่อง และหลายรายการ  โดยให้ความสำคัญกับข่าวและสถานการณ์ปัจจุบัน  รายการสารคดี การเมือง  กีฬา เด็ก ละคร
–   วิทยุมีการออกอากาศของระดับภูมิภาคและวิทยุท้องถิ่นคือ Radio Ulster ,Radio Foyle  ที่นำเสนอเรื่องของชุมชน     มีรายการวิทยุในเชิงประเด็น เช่นการเมือง วัฒนธรรม
–   เว็บไซด์ ของ BBC NI  อัพเดทความเคลื่อนไหวของข่าวสารและรายการที่เกี่ยวข้อง
–   สิ่งที่น่าสนใจ BBC NI ให้ความสำคัญกับประเด็นการเมือง  มีการจัดทำโบร์ชัวร์ประชาสัมพันธ์รายการในหมวดการเมืองเป็นการเฉพาะ  เช่น  Stormont Live  – รายการดีเบทจากรัฐสภาและการวิเคราะห์ผ่านทางโทรทัศน์ BBC NI  รายการ Politics Show เป็นการสัมภาษณ์ วิเคราะห์จากสตูดิโอ  รายการ Hearts and Minds  เป็นเหมือนแม็กกาซีนออนแอร์ มีการสัมภาษณ์เรื่องสำคัญ  สกู๊ป    มีแขกรับเชิญ รายการนี้นำเสนอทั้งช่อง BBC TWO NI และ รีรันใน BBC ONE NI และไปออกอากาศช่องกลางที่ BBC Parliament ด้วย  นอกจากนั้นยังมีรายการการเมืองทางวิทยุท้องถิ่น  เช่น Today at the Assembly , NI Questions
–   ที่น่าสนใจคือการรายงานข่าวข้ามสื่อของผู้สื่อข่าว BBC NI  ที่การนำเสนองานนอกจากจะช่องของ NI แล้ว ยังรายการถึง BBC ส่วนกลางในรายการต่างๆ  มีการรายงานทางวิทยุ Online และ บล็อกของตนเอง  เช่นกรณี Mark Devenport  ที่นอกจากจะรายการข่าวการเมืองทางโทรทัศน์ของ BBC NI / BBC ส่วนกลางแล้ว เขายังจัดรายการ Inside Politics ทางวิทยุ  และเขียนวิเคราะห์ด้านการเมืองในบล็อกของเขาชื่อ “The Devenport Diaries” ในเว็บของ BBC อีกด้วย

 
Thanks:   ฝากรูป

พัฒนาการสื่อสาธารณะระดับภูมิภาคของ BBC 
              กว่าที่สื่อสาธารณะระดับภูมิภาคของ BBC ในไอร์แลนด์เหนือจะสามารถบริหารจัดการสถานีตนเองได้    หากย้อนดูพัฒนาการความเป็นสถานีภูมิภาคของบีบีซีมีบทเรียนที่น่าศึกษา  งานวิจัยเรื่อง “โทรทัศน์ส่วนภูมิภาค :การกำเนิด ดำรงอยู่และการพัฒนา” ของ อ.ภัทรา บุรารักษ์ มหาวิทยาลัยพะเยา ระบุข้อมูลไว้ว่า  BBC ได้จัดตั้งสถานีสาธารณะตามภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศอังกฤษ โดยให้สถานีส่วนภูมิภาคแพร่ภาพรายการทั้งผลิตจากท้องถิ่นและจากเครือข่ายระดับชาติ(สถานีแม่ข่าย)   แต่ตลอดระยะเวลาของการดำเนินงานประเด็นที่ได้รับการวิพากษ์คือ “ความเป็นอิสระ”ของสถานีส่วนภูมิภาค โดยระบุว่าสถานีแม่ข่าย ณ กรุงลอนดอน มักรวบการบริหารจัดการและการตัดสินใจไว้ที่ศูนย์กลาง ทำให้สถานีฯ ส่วนภูมิภาคขาดความเป็นอิสระ การนำเสนอรายการไม่สอดคล้องและไม่ตอบสนองความเป็นท้องถิ่นของแต่ละภูมิภาค

ระบบการบริหาร: เดิมการดำเนินงานทั้งด้านการจัดผังรายการ การจัดสรรเวลาสำหรับท้องถิ่นของสถานีส่วนภูมิภาคของ BBC อยู่ภายใต้การกำกับของสถานีแม่ข่ายในกรุงลอนดอน  จนเกิดการวิพากษ์วิจารณ์ในสังคม แม้แต่ผู้ปฏิบัติงานของ BBC ส่วนภูมิภาคเองได้วิจารณ์ว่าการรวมศูนย์อำนาจการบริหารอยู่ที่สถานีแม่ข่ายทำให้ BBC กลายเป็นองค์กรที่ครอบงำวัฒนธรรมของชาติอย่างรวดเร็ว 


Thanks:   ฝากรูป

         ปีค.ศ. 1936 Charles  Siepmann ผู้อำนวยการฝ่ายภูมิภาคสัมพันธ์ ( Director of Regional Relations) ได้เสนอต่อสาธารณะเกี่ยวกับการควบคุมและการรวมศูนย์อำนาจระหว่างสถานีแม่ข่ายหลักและสถานีลูกข่ายตามภูมิภาคว่า BBC มีแนวโน้มเป็นองค์กรที่มีการบริหารจัดการแบบรวมศูนย์อำนาจเพิ่มขึ้น ถือเป็นรูปแบบการบริหารที่เป็นอันตรายต่อชาติ ทำให้ประชาชนมีรูปแบบการคิด มาตรฐานรสนิยมและค่านิยมเดียวกันทั้งชาติ นอกจากนั้นเขาได้เรียกร้องความเป็นอิสระให้กับสถานีส่วนภูมิภาคได้มีสิทธิการคิด นำเสนอ และรับรู้ตามรสนิยม และวัฒนธรรมท้องถิ่นนั้น  ๆ ควบคู่กับการทำหน้าที่การเป็นองค์การทางวัฒนธรรมของชาติและของท้องถิ่นในสัดส่วนที่เหมาะสม     

           ข้อเสนอของ  Siepmann  สอดคล้องกับแนวคิดของ John Reith ผู้บริหารของ BBC คนแรก (ค.ศ.1927)  ในช่วงหลังจากที่ BBC เปลี่ยนฐานะองค์กรจากบริษัทเป็นบรรษัทกระจายเสียง ตาม Royal Charter ฉบับที่ 1 ที่เคยระบุไว้ว่า “หากวัฒนธรรมของลอนดอนหรือของชาติจากส่วนกลาง ได้รับการนำเสนอผ่าน BBC มากเกินไป จะกลายเป็นการบดบังหรือทำให้สังคมมองไม่เห็น วัฒนธรรม วิถีชีวิต การแสดงออกของภูมิภาคในพื้นที่ต่างของประเทศ” (Harver and Robins,1994:42-43)

             หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ช่วง ค.ศ. 1945   BBC ได้แบ่งการกระจายเสียงส่วนภูมิภาคใหม่ออกเป็น  6 เขตคือเขตที่ใช้ภาษาอังกฤษ  English Regions 3 เขต และเขตที่ไม่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาราชการคือ Scotland ,Wales และ Northern Ireland   พร้อมกับประกาศว่าจะสนับสนุนให้สถานีส่วนภูมิภาคดำรงอยู่และเป็นมรดกของชาติสืบไป โดยจะฟื้นฟูความเชี่ยวชาญและการสร้างสรรค์รายการที่ตอบสนองวัฒนธรรมของท้องถิ่นและของชาติ พร้อมกับกำหนดให้สถานีโทรทัศน์ส่วนภูมิภาคทั้ง 6 สถานีนำเสนอรายการที่ผสมผสานและตอบสนองคนกลุ่มน้อยอย่างหลากหลายกลุ่มในเขตพื้นที่ของตนอย่างเหมาะสมและทั่วถึง   โดยจัดสรรเวลาออกเป็น  2 ลักษณะคือเวลาของท้องถิ่นหรือภูมิภาค (Opting Out)  และเวลาของเครือข่ายระดับชาติ (Opting in)  แต่แนวทางดังกล่าวในขณะนั้นเป็นเพียงการประกาศเจตนารมณ์ของกรรมการระดับสูงเท่านั้น ไม่มีการเปลี่ยนแปลงข้อกฎหมายกฎและระเบียบใด ๆ ออกมารองรับที่จะเป็นการรับประกันการดำเนินงานของสถานีโทรทัศน์ส่วนภูมิภาคให้มีความเป็นอิสระและตอบสนองความเป็นท้องถิ่นได้ (Briggs,1995a:87-88)   
 
               เวลาการแพร่ภาพออกอากาศของโทรทัศน์ส่วนภูมิภาค  เป็นประเด็นที่เป็นวิพากษ์วิจารณ์เช่นกันเพราะในแต่ละภูมิภาคต่างต้องการที่ได้รับจัดสรรเวลาของส่วนภูมิภาคมากขึ้น   แต่มักประสบปัญหาการจัดสรรเวลาน้อยกว่าเมื่อเทียบกับเวลาของรายการที่มาจากเครือข่ายระดับชาติ  จนทำให้ผู้ชมในท้องถิ่นออกมาร้องเรียน เช่นในระหว่างปีค.ศ. 1936-1945    ประชาชนจากส่วนภูมิภาค Wales ต่อว่ารายการของสถานีภูมิภาคเป็นรายการที่เน้นการนำเสนอภาษาอังกฤษมากเกินไปและแทบไม่มีเรื่องราวที่สะท้อนความเป็นท้องถิ่น  ส่วนประชาชนที่ Scotland มีการวิพากษ์วิจารณ์และตั้งข้อสงสัยต่อที่มาของผู้บริหารสถานีภูมิภาคที่ไม่เคยปรากฏคนจากท้องถิ่นมีโอกาสเข้าไปร่วมเป็นผู้บริหารแม้แต่คนเดียว อีกทั้งรายการที่นำเสนอเช่นรายการข่าวยังถูกลดความสำคัญลงให้กลายเป็นเพียงข่าวประกอบในรายการข่าวของ BBC แม่ข่ายเท่านั้นและที่สำคัญเนื้อหารายการส่วนใหญ่แทบไม่ได้สะท้อนความต้องการของคนท้องถิ่น
   
               เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้คณะกรรมการบอร์ดของ BBC ในกรุงลอนดอนต้องชี้แจงต่อสภาคณะรัฐมนตรีต่อประเด็นการผูกขาดอำนาจและการควบคุมจากสำนักงานใหญ่ในกรุงลอนดอน   กรณีดังกล่าวส่งผลให้เกิดความขัดแย้งในส่วนของประชาชนในท้องถิ่นที่มีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยที่จะให้ส่วนภูมิภาคกำหนดเวลาหรือจัดสัดส่วนเวลาระหว่างภูมิภาคเพิ่มขึ้นตามมาจนกลายเป็นความขัดแย้งระหว่างความเป็นท้องถิ่นนิยมกับชาตินิยมเกิดขึ้นในภูมิภาคนั้น (Briggs,1995a: 89-90)

                อย่างไรก็ตามมีการศึกษาถึงสัดส่วนเวลาระหว่างเวลาท้องถิ่นและรายการระดับชาติ หลังจากเหตุการณ์แล้วในช่วง1991-1992  ผลการศึกษายังคงพบความไม่เท่าเทียมในการจัดสรรเวลาระหว่างท้องถิ่นกับส่วนกลางเช่นเดิม  ทำให้การเรียกร้องจากผู้บริหารในภูมิภาคและคนท้องถิ่นต่อประเด็นการจัดสรรเวลาท้องถิ่นอย่างเหมาะสมโดยตระหนักถึงความแตกต่าง  ความเป็นอิสระของแต่ละภูมิภาคยังคงเกิดขึ้นเสมอ (Harver and Robins,1994:49-50)
           
                  ค.ศ. 1960 ผู้บริหารสถานีโทรทัศน์ส่วนภูมิภาคตะวันตกของBBC คนหนึ่งได้ออกมาเสนอว่าจุดแข็งของการกระจายเสียงของท้องถิ่นที่จะทำให้ดีที่สุดคือ การตอบสนองความต้องการของภูมิภาคและท้องถิ่นอย่างแท้จริง  พร้อมกับมีบทบาทการเป็นตัวแทนของระบบกระจายเสียงระดับชาติและนานาชาติอย่างเหมาะสม  โดยนำเสนอรายการที่มีลักษณะที่เป็นอัตลักษณ์ของตนเอง  เขาเสนอว่าบทบาทหลักของการกระจายเสียงส่วนภูมิภาคก็คือการให้สาระความรู้ และข้อมูลข่าวสาร โดยสถานีฯ ควรสร้างฝ่ายข่าวภูมิภาคขึ้นเองเพื่อให้เป็นงานหลักของการดำเนินงานสถานีส่วนภูมิภาค ส่วนความบันเทิง สถานีโทรทัศน์ส่วนภูมิภาคควรให้ความสำคัญเป็นลำดับรองเพื่อจะรักษาความสมดุลของเนื้อหารายการเท่านั้น เพราะหากมุ่งเน้นแต่การนำเสนอความบันเทิงมากเกินไปจะส่งผลกระทบต่อความเป็นสถานีโทรทัศน์ของภูมิภาคอย่างแท้จริง   

               ระหว่างค.ศ. 1980 -1990 มีการตระหนักถึงความสำคัญของภูมิภาคในบริบทBBCใหม่ที่เริ่มมีการเปลี่ยนผ่านทางสังคมและเศรษฐกิจ ทำให้สำนักงานใหญ่เริ่มยอมรับผังและยอมรับแรงกดดันที่มาจากสถานีโทรทัศน์ส่วนภูมิภาคและประชาชนในภูมิภาค โดยคณะกรรมการสูงสุดได้ออกแถลงการณ์ว่า BBC เป็นสถานีโทรทัศน์ที่ให้ความสำคัญกับทุกภาคทุกกลุ่ม  ไม่ได้เป็นบรรษัทกระจายเสียงสำหรับเมืองหลวงหรือกรุงลอนดอนเท่านั้น ซึ่งถือว่าเป็นการเริ่มต้นการพัฒนาระบบการกระจายเสียงภูมิภาคที่เป็นปัญหามากว่า 2 ศตวรรษอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น (Harver and Robins,1994: 44) 

ความเป็นสื่อสาธารณะระดับภูมิภาคของ ThaiPBS
          สำหรับ ThaiPBS มีความพยายามขยายบทบาทสื่อสาธารณะมายังระดับภูมิภาคตั้งแต่ปี 2552 หรือ 1 ปีหลังการก่อกำเนิดสถานีฯ โดยสำนักเครือข่ายสื่อพลเมืองและสำนักข่าวร่วมกัน(นำร่อง)สร้างการทำงานร่วมเพื่อให้เกิดหน่ออ่อนของวิธีคิดและการทำงานแบบสื่อสาธารณะในพื้นที่ภูมิภาคนั่นคือ “การมีส่วนร่วมของประชาชน”  โดยคิดจากทรัพยากรที่มี คือศูนย์ข่าวภาคเหนือ ใต้  อิสาน (เจ้าหน้าที่จากสำนักข่าวและสำนักวิศวะ)  และเติมโครงสร้างใหม่ของส.ส.ท.เข้าไปคือฝ่ายประชาสังคม (เจ้าหน้าที่จากสำนักเครือข่ายสื่อพลเมือง) ทำงานเชื่อมโยงกับภาคประชาชน คนทำสื่อ นักวิชาการในพื้นที่ โดยออกแบบกลไกการทำงานร่วมกัน และมีพื้นที่ปฏิบัติการคือหน้าจอสัปดาห์ละ 1 ชั่วโมง

            เป้าหมายของงาน มิใช่เพียงแค่การ “ผลิตรายการ” หากแต่เป็นการร่วมกันกำหนดทิศทางของการพัฒนาสถานีในระยะยาวที่ตอบโจทย์คนท้องถิ่น การทำงานดังกล่าวจึงเป็นทั้งการคิดถึงการพัฒนาองค์ความรู้ด้านสื่อสารสาธารณะ การเรียนรู้ทักษะและการผลิตบุคลากรที่มีความเข้าใจด้านการสื่อสาร  ควบคู่ไปกับการมีหน้าจอเพื่อเป็นพื้นที่สื่อสาร   
   

            การทำงานร่วมกันดังกล่าว นำไปสู่การพัฒนากลไกการทำงานที่สร้างกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรมและกระจายบทบาทไปตามศักยภาพ เช่น ร่วมกำหนดทิศทางการพัฒนาสถานีผ่านการมาร่วมเป็นคณะทำงาน(นำร่อง)สถานีโทรทัศน์ภูมิภาคในแต่ละภาค   ร่วมคิด ผ่านการมาร่วมเป็นกองบรรณาธิการร่วม วิเคราะห์ประเด็นและทิศทางของข่าวทั้งระดับชาติและระดับพื้นที่  ร่วมผลิตผ่านบทบาทการเป็นนักข่าวพลเมือง และผู้ผลิตอิสระภาคประชาชน ที่สสท.มีโครงการพัฒนาศักยภาพ  โดยเริ่มปฏิบัติการที่ภาคใต้เป็นแห่งแรก ตามมาด้วยภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
                     
           ในช่วงเริ่มต้น เครื่องมือการทำงานสำคัญในพื้นที่ภูมิภาคคือ “วงประชุม” เป้าหมายก่อให้เกิดกลไกทำงานร่วมหลักๆ  2 ระดับคือ
1.คณะทำงานพัฒนาสถานีฯ  วางแผนเสนอทิศทางระยะยาว /ขยายการมีส่วนร่วม-การพัฒนาทักษะหลายระดับ /ประเมินการทำงาน   
2.กองบ.ก.ร่วม ฯ ประชุมเชิงประเด็น  (ขยับประเด็นในหน้าจอหลายระดับ)

             แต่โครงสร้างดังกล่าวมีการเลื่อนไหลไปตามสภาพพื้นที่ เช่นภาคใต้มีคณะทำงานเริ่มต้นในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ มีพื้นที่หน้าจอคือรายการ “ดีสลาตัน ณ แดนใต้” แต่ต่อมากลุ่มเครือข่ายนักข่าวพลเมืองมีบทบาทร่วมขับเคลื่อนในการประชุมกองบก.ร่วม และผลักดันทั้งในเชิงให้พื้นที่จอภูมิภาค ให้มีการกระจายประเด็นนำเสนอให้ครอบคลุมพื้นที่ภาคใต้ ขณะเดียวกันก็ลงมือผลิตประเด็นสาธารณะออกสู่หน้าจอกลางผ่านงานนักข่าวพลเมือง  ภาคเหนือมีการผลักดันประเด็นจากวงกองบก.สู่การทำงานของ “รายการทีวีจอเหนือ” แต่หลังจอก็มีการพัฒนาผู้ผลิตอิสระภาคประชาชนที่สามารถสร้างสรรค์ชิ้นงาน และรายการออกอากาศในจอกลางได้ด้วยเช่น นักข่าวพลเมือง สารคดีสั้น และ“รายการเด็กมีเรื่อง”     ภาคอิสาน นอกจากตัวรายการจออินสานแล้ว มีการทำงานเชิงเจาะกลุ่มในการฝึกอบรมนักข่าวพลเมืองและทำความร่วมมือกับสถาบันการศึกษา พัฒนาการทำงานร่วมกันเพื่อผลักดันให้เกิดผลในเชิงวิชาการ และงานวิจัย  เป็นต้น

พื้นที่การสื่อสารและการทำงานเชิงผลิต
           ยุคเริ่มต้น 2552 –กย. 2554 แต่ละภาคจะมีพื้นที่หน้าจอโทรทัศน์สัปดาห์ละ 1 ชั่วโมง ออกอากาศในพื้นที่ภูมิภาค โดยมีทีมผลิตที่ขึ้นอยู่กับสำนักข่าวเป็นผู้ผลิตรายการ  รูปแบบรายการมีการออกแบบให้มีสัดส่วนของการผลิตจากภาคพลเมืองอยู่ด้วยบ้าง เช่นข่าวพลเมือง สารคดี   ระหว่างนั้นได้มีความพยายามสร้างมาตรฐานระบบการผลิตของสถานีและนำเนื้อหาเข้าสู่จอกลางเพื่อขยายการรับชม สำนักเครือข่ายสื่อพลเมืองจึงนำเนื้อหาของทั้ง 3 จอ มาเรียงร้อยเพื่อนำเสนอใหม่ในรีรันในจอกลางสัปดาห์ละ 3 วัน ในเดือนเมษายน – กันยายน 2554 
           
            ในเดือนตุลาคม 2554- ปัจจุบัน  มีการนำรายการทีวีภูมิภาคเข้าสู่จอกลางแทนการออกอากาศเฉพาะพื้นที่และดูแลการผลิตโดยสำนักข่าว  ด้วยเหตุผลแก้ไขปัญหาการรับชมยากในภูมิภาค โดยปรับลดเวลาทั้ง 3 รายการเหลือรายการละ 30 นาทีออกอากาศวันจันทร์-พุธ เวลา 13.35-14.00  รูปแบบรายการมีการปรับเปลี่ยนไป แต่พยายามให้เกิดการคิดร่วมกันเชิงประเด็นยังมีผ่านการประชุมกองบก.ร่วมในบางพื้นที่

          พื้นที่ในเชิงการผลิตจากภาคประชาชนที่ปรากฏอยู่ในรูปแบบรายการของภูมิภาคในช่วงเริ่มต้น เช่น นักข่าวพลเมือง สารคดี บางพื้นที่ได้ปรับเปลี่ยนไป  ด้วยเหตุผลเวลาที่ลดลง และจำนวนชิ้นงานจากภาคประชาชนที่ขึ้นอยู่กับการพัฒนาศักยภาพ   อย่างไรก็ตาม สำนักเครือข่ายสื่อพลเมืองได้พัฒนาพื้นที่หน้าจอในจอกลางมากขึ้นเช่น สารคดี  รายการเด็กมีเรื่อง รายการบ้านเธอก็บ้านฉัน รายการพลเมืองผู้เปลี่ยนทิศ  ที่พยายามมีวิธีคิดกำหนดประเด็นสาธารณะจากของเครือข่าย ผู้ผลิตอิสระภาคประชาชนที่จำนวนและทักษะการผลิตที่เข้าใจวิธีคิดของสื่อสาธารณะมากขึ้น  รวมทั้งพัฒนานวัตกรรมทางการสื่อสารใหม่ เช่นการถ่ายทอดสดทางอินเตอร์เน็ต การสื่อสารสาธารณะผ่าน Multiplatform ที่ใช้เป็นเครื่องมือทำงานร่วมกันภาคประชาชนต่างๆ ในพื้นที่ภูมิภาค   
                                       
ทิศทางการพัฒนา
             ต้นเดือนมีนาคมปีนี้ ที่ศูนย์ภาคเหนือ ThaiPBS มีวงคุยแลกเปลี่ยนระหว่างตัวแทนภาคประชาชนที่มาร่วมเป็นกองบก.ร่วม กับกรรมการนโยบาย กรรมการบริหาร และพนักงาน ThaiPBS ถึงความเป็นไปได้และแนวทางการยกระดับเป็นสถานีภูมิภาค   

           วงคุยให้ความเห็นว่าการทำงานในภูมิภาคที่ผ่านมาได้เห็นความก้าวหน้าสำหรับสื่อสาธารณะของไทย แม้ยังไม่ใช่การมาตั้งสถานีท้องถิ่น  แต่เน้นการสร้างการมีส่วนร่วม และส่งเสริมสิทธิการสื่อสารของประชาชน   ให้ความสำคัญกระบวนการหลังจอ  แม้จะพบกับอุปสรรคหลายด้านทั้งการทำงานกับคนที่ต่างความคาดหวัง   ความคิดทางวิชาชีพชุดเดิม  คนดูในเงื่อนไขเดิม   ทั้งหมดอยู่ระหว่างการพัฒนาและเรียนรู้    แต่ก็เห็นการโอกาสของการพัฒนาสถานีภูมิภาคให้แข็งแกร่ง มีโอกาสเป็นไปได้ เพราะ ThaiPBS ก้าวพ้นการเป็นเจ้าของจากอำนาจรัฐและมีทุน และเติบโตมาแล้ว 4 ปี  นอกจากนั้นหากพิจารณาจาก พ.ร.บ. ก็เห็นถึงทิศทางว่าควรเป็นไปเช่นนั้น และในโอกาสที่ได้ร่วมทำงานมา เห็นแนวโน้มที่ลดการระแวงระหว่างคนทำสื่อกับประชาชนลง เกิดความเข้าใจในบทบาทกันและกันมากขึ้น เป็นสัญญานที่ดี เพียงแต่โครงสร้างจะเป็นอย่างไรเท่านั้น
                           
บทสรุป –

             ความเห็นส่วนตัวของดิฉัน  หากพิจารณาจากช่วงเวลาและบริบทสังคมการเกิดขึ้นจากสื่อสาธารณะของ BBC และ ThaiPBS แล้ว จะเห็นว่ามีความแตกต่างกัน   รูปแบบการดำรงอยู่ ทิศทางพัฒนาเชิงโครงสร้าง และบทบาทหน้าที่ของการเป็นสื่อจึงมีบางส่วนที่แตกต่างกัน
               
            BBC ก่อกำเนิดขึ้นเมื่อ 85 ปีที่ผ่านมาเป็นยุคที่การสื่อสารเป็นเรื่องใหญ่ เทคโนโลยีและเครื่องมือเป็นทรัพยากรพิเศษที่ยากที่คนนอกวิชาชีพจะเข้าถึง  การลงทุนสร้างองค์กรสื่อของ BBC ทั้งเชิงทรัพย์สิน  สถานี และตัวบุคลากรจึงเป็นการลงทุนที่สูง และการทำงานเบ็ดเสร็จขององค์กรสื่อ ผลิตเนื้อหาสื่อประเภทต่างๆ ด้วยตนเองทำให้มีจุดเด่น  การมีส่วนร่วมกับประชาชนเป็นลักษณะของการพยายามทำหน้าที่สื่อมวลชนให้กับสังคมอย่างรอบด้าน ทั่วถึงด้วยบทบาทของ BBC เอง   

           ซึ่งแตกต่างจาก ThaiPBS ที่เกิดขึ้นในสังคมไทยที่สื่อโทรทัศน์ส่วนใหญ่อยู่ภายใต้ระบบของรัฐ กองทัพ และทุนมาอย่างยาวนาน  ประกอบกับกลไกที่จะดูแลสังคมหลายกลไกไม่ทำงาน ทำให้สังคมไทยต้องการทั้งพื้นที่อธิบายสิ่งที่ต้องแก้ไข  รวมถึงพื้นที่ที่จะอธิบายความหลากหลายขององค์ประกอบในสังคมที่มากกว่าที่สังคมเคยได้รับผ่านสื่อทั่วไปตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา   บทบาทของ ThaiPBS จึงมีมากกว่าเพียงการรายงานปรากฏการณ์  แต่มีหน้าที่ขับเคลื่อนสังคมเพื่อเปลี่ยนแปลงด้วย หนึ่งในการขับเคลื่อนนั้นคือการอธิบายให้เห็นว่าสังคมไทยมิได้มีวัฒนธรรมเดี่ยว  แต่มีความหลากหลายซับซ้อนในบริบทของภูมิภาคและท้องถิ่นอยู่ด้วย 


               ข้อแตกต่างอีกประการคือ ThaiPBS เกิดขึ้นในยุคที่สื่อเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้นมากด้วยเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป   กล้องมีขนาดเล็กลง โปรดักชั่นเฮาส์เกิดขึ้นมากมาย  คนๆ เดียวสามารถเป็นเจ้าของทีวีออนเน็ต หรือวิทยุได้ การทำงานข้ามสื่อเป็นเรื่องที่จำเป็นของคนในวิชาชีพสื่อ  พลเมืองตื่นตัวและตระหนักในสิทธิด้านการสื่อสารมากขึ้นเรื่อยๆ  ที่สำคัญการก่อเกิดของ ThaiPBS มีจุดเกาะเกี่ยวกับการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในหลายระดับ  ที่อาจนำไปสู่การร่วมมือทั้งเชิงความคิดและการลงมือเชิงผลิตร่วมกันได้หลายลักษณะจากศักยภาพของผู้ผลิตสื่อในพื้นที่เอง  ซึ่งเป็นแนวทางที่ ThaiPBS ดำเนินอยู่บ้างแล้ว เช่น นักข่าวพลเมือง  การสร้างจอภูมิภาคอย่างมีส่วนร่วม 

               แต่พัฒนาการในอนาคต การจัดการในระดับพื้นที่เป็นโจทย์สำคัญที่จะต้องร่วมกันขบ   ความคิดของคนในภูมิภาคของไทยต่อการทำงานของสื่อ ThaiPBS ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา มีบรรยากาศความคาดหวังและต้องการไม่ต่างจากบทเรียนการเรียกร้องบทบาทสื่อในระดับภูมิภาคที่ BBC ผ่านประสบการณ์มา ก้าวย่างต่อไปในพื้นที่ภูมิภาคของ ThaiPBS จึงเป็นเรื่องที่ท้าทายของการพัฒนาสื่อสาธารณะแห่งแรกแห่งนี้ให้ตอบโจทย์บริบทที่หลากหลายของสังคมไทย
 
ติดตาม  บทบาทสิ่อในสถานการณ์ความขัดแย้ง บทเรียนจากบีบีซีไอร์แลนด์เหนือ

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ