คนเหนือร้อง สิทธิชุมชน ต้องกลับคืนมาในรัฐธรรรมนูญ

คนเหนือร้อง สิทธิชุมชน ต้องกลับคืนมาในรัฐธรรรมนูญ

ชาวเหนือเสนอความคิดต่อร่างรัฐธรรมนูญคึกคัก  ชี้ต้องนำหมวดว่าด้วย “สิทธิชุมชน” กลับคืนมา ระบุการแยกหมวดที่เคยเขียนไว้ในสิทธิและเสรีภาพ ไปอยู่ในหมวดหน้าที่รัฐ  ส่งผลต่อการตีความและนำมาซึ่งความยากลำบากของประชาชน

20160102082551.jpg

20160102082609.jpg

 

เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2559 ที่ จ.เชียงใหม่  คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนต่อร่างรัฐธรรมนูญ ในส่วนภูมิภาคครั้งแรก เพื่อให้ประชาชนได้ร่วมสะท้อนมุมมอง ก่อนนำไปพิจารณาปรับปรุงรายละเอียดเนื้อหาให้สอดคล้องต่อความต้องการของประชาชนทั่วทั้งประเทศมากที่สุด  โดยกระบวนการแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม ได้มีการแบ่งกลุ่มย่อยให้ความเห็นในช่วงเช้า 7 กลุ่ม คือ  ระบบรัฐสภา ความสัมพันธ์ของฝ่ายบริหารและข้าราชการ องค์กรอิสระและศาล สิทธิเสรีภาพและหน้าที่ของปวงชนชาวไทย หน้าที่ของรัฐและแนวนโยบาย การขัดกันของผลประโยชน์ ระบบการเมืองท้องถิ่น  จากนั้นแต่ละกลุ่มมีการนำเสนอในช่วงบ่ายและประมวลความเห็น

20160102082625.jpg

ทั้งนี้ในช่วงต้นของการระดมความคิดเห็น  เครือข่ายประชาชนภาคเหนือ  ได้ยื่นข้อเสนอและความต้องการให้พิจารณาปรับปรุงเพราะเป็นรัฐธรรมนูญที่ลดอำนาจประชาชน เพราะ สิทธิชุมชนที่เคยมีได้หายไป และมีการย้ายหมวดไปอยู่หมวดหน้าที่ของรัฐ ซึ่งจะส่งผลต่อการปฏิบัติให้เกิดความยากลำบากต่อประชาชน  โดยมีรายละเอียดของการข้องสังเกตว่า

1.  เป็นรัฐธรรมนูญที่มีความสมดุลของอำนาจฝ่ายต่างๆ  เน้นการลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน เพราะความไม่สมดุลทางการเมืองที่ผ่านๆ มา เกิดจากพลังอำนาจ บทบาท การมีส่วนร่วมทางการบริหารและทางการเมืองของภาคประชาชนน้อยไป จึงทำให้การเมืองไม่ได้สมดุล รัฐธรรมนูญฉบับนี้ควรต้องเพิ่มดุลอำนาจของประชาชน ตามแนวทาง ลดอำนาจรัฐ-เพิ่มอำนาจประชาชน  แต่การณ์กลับเป็นว่า เป็นรัฐธรรมนูญที่ลดอำนาจประชาชนลงไปอีก

2. หัวใจสำคัญของการเมืองยุคใหม่ในสายตาของภาคประชาชนก็คือ สิทธิเสรีภาพของประชาชนที่เป็นจริงและยกระดับขึ้น กับ การกระจายอำนาจเกิดการปกครองตนเอง (จัดการตนเอง) อันเป็นการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้าง ประเด็นหัวใจนี้เป็นประเด็นที่ต้องเน้นย้ำในทุกโอกาส สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญไทย สามารถแบ่งได้เป็น 3 ระลอก ซึ่งเกิดขึ้นตามสนธิสัญญาสากล ได้แก่ สิทธิเสรีภาพยุคแรก ตั้งแต่ 2475 เช่น สิทธิในร่างกาย สิทธิในเคหสถาน การได้รับความยุติธรรม ฯลฯ  ต่อมาก็มีสิทธิเสรีภาพยุคสอง ปรากฏให้เห็นในรัฐธรรมนูญ 2540 เช่น ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ การรับรู้ข่าวสารของรัฐ  สิทธิความเป็นเจ้าของทรัพยากร (คลื่นความถี่) มีองค์กรเพิ่มขึ้นมาเพื่อคุ้มครองเช่นคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน รวมถึงการระบุว่าประชาชนมีสิทธิได้รับบริการจากรัฐเช่นการสาธารณสุข การศึกษา (ซึ่งสิทธิส่วนนี้ถูกตัดออกไปกลายเป็นหน้าที่ของรัฐแทน)  และกลุ่มสุดท้าย คือสิทธิที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญ 2550 คือ สิทธิชุมชน ที่เพิ่มรายละเอียดการคุ้มครองให้ต้องทำ EIA/EHIA สิทธิการมีส่วนร่วม สิทธิในการตรวจสอบ ฯลฯ ปรากฏว่า สิทธิยุคใหม่ คือยุค 2 และ 3 ถูกตัดออกแทบทั้งหมด

3. ประชาชนต้องย้ำเจตนารมณ์ว่า สิทธิเสรีภาพในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะต้องไม่ลดน้อยถอยลงจากที่เคยมีมา  โดยเฉพาะสิทธิเสรีภาพยุคใหม่ ได้แก่สิทธิในการมีส่วนร่วมและการตรวจสอบ  สิทธิในความเป็นเจ้าของทรัพยากร สิทธิชุมชนเพื่อการปกป้องและอนุรักษ์ทรัพยากร ฯลฯ  ซึ่งเนื้อส่วนดังกล่าวเป็นเนื้อหาที่สร้างความเข้มแข็งให้กับภาคประชาชนพลเมือง ในเมื่อไม่มี ก็แสดงว่า ร่างรัฐธรรมนูญนี้กลับไปลดทอนบทบาทพลังอำนาจของภาคประชาชนไปเสีย

4. ร่างฉบับใหม่ มาตรา 25 อ้างว่า บุคคลสามารถมีสิทธิเสรีภาพที่ไม่ได้ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญได้ด้วย  หากว่าการใดที่มิได้ห้ามไว้ในกฎหมายอื่น บุคคลก็มีย่อมสิทธิเสรีภาพในการนั้นได้…  ฟังเผินๆ เหมือนเปิดกว้าง แต่ที่แท้แล้ว กฎหมายอื่นๆ ได้จำกัดสิทธิของประชาชนดักเอาไว้แทบทั้งหมดแล้ว สิทธิเสรีภาพที่เคยมีตามรัฐธรรมนูญฉบับก่อนหน้า หากไม่ได้บัญญัติไว้ในฉบับนี้ หมายถึง การถูกตัดไปเลย มาตรา 25 เป็นแค่คำปลอบใจ ฟังหรู แต่ไม่เป็นผลเพื่อรับรองสิทธิเสรีภาพจริง

5. ข้อเท็จจริง ร่างรัฐธรรมนูญใหม่มีบทบัญญัติว่าด้วยสิทธิเสรีภาพ รวม 22 มาตรา (มาตรา 25-46) ขณะที่รัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 หมวดสามว่าด้วยสิทธิเสรีภาพประชาชน เริ่มตั้งแต่มาตรา 26-69  รวม 44 มาตรา …. หายไปครึ่งต่อครึ่ง !!!! สิ่งสำคัญที่หายไปอีกประการก็คือ คำรับรองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ อันเคยปรากฏใน  มาตรา 26 ของรธน.2550  การใช้อำนาจโดยองค์กรรัฐทุกองค์กรต้องคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

6 . แนวทางของรัฐธรรมนูญนี้ จะทำให้ประชาชนภาคประชาสังคมอ่อนแอลง โดยเฉพาะบทบาทในการตรวจสอบและถ่วงดุลเรื่องสำคัญหลายเรื่อง นอกจากนั้นยังเปิดช่องให้รัฐและทุนเข้าไปดำเนินการ/กิจกรรม ต่อทรัพยากร/สิ่งแวดล้อมสะดวกขึ้น เพราะตัดข้อความในสิทธิชุมชน ตามมาตรา 66/67 เดิม (2550) ออกไป

7. แนวโน้มในทางปฏิบัติจริง – กรณีเกิดความขัดแย้งเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพจะเกิดความสับสนและยุ่งยาก…   เมื่อประชาชนยื่นฟ้องร้อง… ฟ้องว่ารัฐไม่ทำหน้าที่ กับฟ้องร้องว่ารัฐ/เอกชน/โครงการ/นโยบาย มาละเมิดสิทธิของเรา มันก็แตกต่างกันในแง่ของกระบวนวิธี  เจ้าทุกข์/ การชดเชย/ ผู้ได้รับผลกระทบ/ เรื่องเหล่านี้เป็นสิทธิของประชาชนเจ้าของประเทศ  ไม่ใช่ แค่ประชาชนผู้มาขออาศัยเรียกร้องให้รัฐบาลมาลงมาดูแล ทำหน้าที่ … ความแตกต่าง/ศักดิ์ศรี/คุณค่า ไปจนถึง ปรัชญาของประชาธิปไตยก็แตกต่างกัน
 

20160102082639.jpg
 

8. เรื่องกระจายอำนาจ — หมวด 14 ว่าด้วยการปกครองส่วนท้องถิ่น (มาตรา 246-251) ไม่เป็นไปตามเจตนาที่ประชาชนภาคเหนือร่วมกันยกร่างและเสนอยังคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญมาก่อนหน้า  เป็นเพียงการบัญญัติให้มีการปกครองท้องถิ่นขึ้นมาและให้เป็นไปตามกฎหมายลูก จึงไม่มีความชัดเจนถึงความก้าวหน้าของการผลักดันจังหวัดปกครองตนเอง/ การกระจายอำนาจให้มากขึ้นกว่าเดิม หรือแม้แต่รูปแบบท้องถิ่นปกครองตนเองที่ก้าวหน้าขึ้นกว่าที่เป็นอยู่

9. ภาพรวมโดยทั่วไป ร่างรัฐธรรมนูญนี้ แทบไม่ได้นำนวัตกรรม/ข้อเสนอปฏิรูป/หรือแนวคิดใหม่มาใส่ไว้  ไม่มีสิ่งที่สามารถเรียกว่าเป็นการปฏิรูปได้เลย  ซึ่งแตกต่างจากร่างบวรศักดิ์ ที่ได้พยายามนำแนวทางใหม่ๆ มาใส่ลงไป เช่น การเปิดให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการใช้งบประมาณของหน่วยงานรัฐและหน่วยงานอื่นๆ ที่ใช้เงินของรัฐ นัยว่าเพื่อเพิ่มสิทธิ์ตรวจสอบให้กับภาคประชาชน หรือ การกำหนดให้ผู้จะมีมีตำแหน่งต้องเปิดเผยการเสียภาษีย้อนหลัง และการให้มีการรวมกลุ่มของประชาชนเป็นสมัชชาพลเมือง ฯลฯ เป็นต้น ร่างรัฐธรรมนูญนี้ เน้นความเข้มแข็งของรัฐ  ไม่ใช่ ประชาชน  กลับหัวกลับหางจากแนวทางที่ประชาชนอยากเห็น

10. กรธ. จะพยายามชี้แจงว่า ไม่ได้ตัดเนื้อหาสาระออกไป เพียงแต่ย้ายหมวดไปอยู่หมวดหน้าที่ของรัฐ ซึ่งแท้จริงแล้วมันมีความแตกต่างมากมายในทางปฏิบัติ บังคับใช้ ตลอดถึง คุณค่า และศักดิ์ศรี และที่สำคัญ สิทธิของประชาชน กับ หน้าที่ของรัฐ เป็นคนละเรื่องกัน

20160102082704.jpg

นายอุดม รัฐอมฤต โฆษกกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ยอมรับว่ายังมีหลายประเด็นที่สังคมส่วนใหญ่วิพากษ์วิจารณ์ โดยที่เวทีรับฟังความคิดเห็นที่จัดขึ้นจะเป็นการสะท้อนข้อมูลของประชาชนไปยังคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อพิจารณาจัดทำให้ร่างรัฐธรรมนูญที่สอดคล้องต่อความต้องการของประชาชนทั่วทั้งประเทศมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

 

อ่านข่าวย้อนหลังที่เกี่ยวข้อง: https://thecitizen.plus/node/5136

 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ