ประชามติแบบใด? ที่เรียกว่าทางออกร่วมกัน

ประชามติแบบใด? ที่เรียกว่าทางออกร่วมกัน

1 กุมภาพันธ์ 2567 พรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลตบเท้าคู่ยื่นเสนอร่างกฎหมายเพิ่มเติมพระราชบัญญัติประชามติสองฉบับต่อประธานสภาผู้แทนราษฏร เพื่อให้มีการแก้ไขการทำประชามติให้ง่ายขึ้น จากเดิมที่ผลประชามติจะใช้ได้ต้องดูสองปัจจัยคือหนึ่งจำนวนคนที่มาใช้สิทธิ์สองผู้เข้ามาใช้สิทธิ์ กฎหมายปัจจุบันบอกว่าผลประชามติจะสามารถใช้ได้เมื่อทั้งสองปัจจัยมีคนมาใช้สิทธิ์เกินครึ่ง ซึ่งอาจส่งผลต่อการทำประชามติในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นได้

เมื่อย้อนไปในวันที่ 25 ธันวาคม 2566 คณะกรรมการพิจารณาศึกษาเพื่อการทำประชามติได้มีมติเห็นชอบเสนอคำถามประชามติต่อคณะรัฐมนตรีว่า

“ท่านเห็นชอบหรือไม่ ที่จะมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยไม่แก้ไขหมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์ ? ”

ทางคณะกรรมการจะมีการเสนอคำถามดังกล่าวพร้อมข้อเสนอแนะเพิ่มเติมให้กับทางคณะรัฐมนตรี คาดว่าจะมีการลงมติคำถามออกมาในช่วงไตรมาสนี้

ภูมิธรรม เวชยชัย ประธานคณะกรรมการพิจารณาศึกษาเพื่อการทำประชามติ

ในรายการคุณเล่าเราขยาย ตอน เส้นทางสู่รัฐธรรมนูญเพื่อประชาชนได้มีการขยายประเด็นของประชามติกับการร่างรัฐธรรมนูญใหม่เพื่อชี้ให้เห็นถึงจุดสำคัญว่าทำไมต้องมีประชามติในการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ครั้งนี้ ความน่ากังวลที่น่าจับตาและการมีส่วนร่วมทางอื่นๆ 

ร่วมเล่าขยายโดย อาจารย์ชมพูนุท ตั้งถาวร นักวิชาการผู้ชำนาญการ สถาบันพระปกเกล้า เชี่ยวชาญในเรื่องการศึกษารัฐธรรมนูญและสถาบันการเมือง และคุณบารมี ไชยรัตน์ ที่ปรึกษาสมัชชาคนจน ผู้ขับเคลื่อนประเด็นรัฐธรรมนูญมาตั้งแต่สมัยรัฐธรรมนูญธงเขียว (2540) จวบจนปัจจุบันคือรัฐธรรมนูญคนจน

ชมพูนุท ตั้งถาวร (ซ้าย) วิภาพร วัฒนวิทย์(กลาง) บารมี ไชยรัตน์ (ขวา)

ทำไมต้องร่างรัฐธรรมนูญใหม่รอบนี้ต้องประชามติ ?

อ.ชมพูนุทเล่าว่า ประชามติเป็นหนึ่งในแนวทางที่ต้องทำก่อนจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีการยืนยันเอาไว้ 2 ช่องทาง ทางแรก การจะได้สภาร่างรัฐธรรมนูญมาจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเข้าไปแก้ไขในหมวดการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งรัฐธรรมนูญเองบอกว่าถ้าไปแตะกระบวนการแก้เมื่อไหร่ต้องเปิดให้มีการทำประชามติก่อน 

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560

มาตรา 256
(8) ในกรณีร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมหมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์ หรือหมวด 15 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ หรือเรื่องที่เกี่ยวกับคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของผู้ดํารงตําแหน่งต่าง ๆ ตามรัฐธรรมนูญ หรือเรื่องที่เกี่ยวกับหน้าที่หรืออํานาจของศาลหรือองค์กรอิสระ หรือเรื่องที่ทําให้ศาลหรือองค์กรอิสระไม่อาจปฏิบัติตามหน้าที่หรืออํานาจได้ ก่อนดําเนินการตาม (7) ให้จัดให้มีการออกเสียงประชามติตามกฎหมายว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ถ้าผลการออกเสียงประชามติเห็นชอบด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม จึงให้ดําเนินการตาม (7) ต่อไป

สอง จากศาลรัฐธรรมนูญย้อนไปในสมัยของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ มีความพยายามที่จะจัดตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 ทว่าต่อมามีการร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญและมีคำวินิจฉัยว่าหากจะแก้ไขต้องมีการทำประชามติเพราะว่ารัฐธรรมนูญ 2550 มีที่มาจากการประชามติ

จากแผนการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ของรัฐบาลเพื่อไทย การประชามตินี้อาจมีอยู่ด้วยกันถึง 3 รอบด้วยกัน รอบแรกถามว่าจะให้มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่หรอไม่ รอบที่สองคือการเปิดให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญและความชอบธรรมให้กับรัฐธรรมนูญใหม่เมื่อร่างเสร็จแล้วก็ให้เปิดการประชามติอีกครั้งเพื่อรับรอง ทำให้เป็นทั้งหมด 3 รอบ แต่ถ้าตามกฎหมายคือมีเพียงครั้งเดียวว่าจะให้แก้หรือไม่ นอกจากนั้นขึ้นอยู่กับสภาร่างรัฐธรรมนูญหรือกติกากำหนด

Timeline เส้นทางรัฐธรรมนูญใหม่ภายใต้รัฐบาลเพื่อไทย

คำถามประชามติกับความกังวลที่เกิดขึ้น

29 ธันวาคมที่ผ่าน กลุ่มภาคประชาชนในนาม กลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญ ออกจดหมายเรียกร้องให้คณะรัฐมนตรีใช้คำถามประชามติที่เปิดกว้างโอบรับความหลากหลายเพื่อนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญร่วมกัน เนื่องจากคำถามของคณะกรรมการพิจารณาศึกษาเพื่อการทำประชามตินั้นมีความซับซ้อน กระบวนการอาจมีปัญหารวมไปถึงอาจสร้างความขัดแย้งรอบใหม่

ในรายการคุณเล่าเราขยาย อ.ชมพูนุชชี้ว่า การออกเสียงประชามติคำถามที่ดีควรถามง่าย เพราะความง่ายยากของคำถามจะส่งผลต่อกระบวนการตอนลงคะแนนเสียงที่ส่งผลต่อเวลาที่เราเข้าคูหาด้วย ในงานวิจัยต่างประเทศได้ระบุถึงข้อจำกัดของการทำประชามติไว้ สิ่งที่น่าสนใจคนที่ตอบ เห็นชอบไม่มีปัญหา แต่ว่าคนที่ตอบไม่เห็นชอบจะไม่มีใครสามารถรู้ได้เลยว่าเหตุผลคืออะไร 

คุณบารมีเสริมว่า เรื่องคำถามเป็นภาพจำมาจากการทำประชามติรัฐธรรมนูญ 2560 ที่มีการตั้งคำถามยากและมีคำถามพ่วง คนรู้สึกงงและยากขึ้น แต่อย่าลืมว่าต้งคำถามยากขนานนั้นยังมีคนมาลงประชามติได้ ถ้ายิ่งทำคำถามง่ายจะส่งผลให้การลงประชามติง่ายขึ้นไปอีก 

ผลการลงประชามติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560

นอกเหนือจากคำถามแล้ว อ.ชมพูนุชเสนอว่า ภายในกระบวนการของประชามติก็อาจเป็นปัญหา เพราะกฎหมายเรื่องประชามติที่บอกว่า คนที่ต้องมาใช้สิทธิ์เกินครึ่งของคนมีสิทธิ์ทั้งหมดและผลการลงประชามติต้องมีเกินครึ่งอีกทีนึง จึงทำให้เกิดความกังวลว่าจะได้เสียงประชามติยากเกินไปหรือไม่ การแก้กฎหมายฉบับนี้กลายเป็นสิ่งที่ถูกตั้งคำถามเช่นเดียวกัน

ประชามติไม่ใช่การมีส่วนร่วมที่ดีที่สุดเพียงกระบวนการเดียว

ชมพูนุท ตั้งถาวร นักวิชาการผู้ชำนาญการ สถาบันพระปกเกล้า

สิ่งที่จะทำให้เสียงของประชาชนได้รับฟังอย่างรอบด้าน อ.ชมพูนุทบอกว่า  ต้องมีการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น โดยต้องเป็นการรับฟังให้ได้ยินด้วย กรณีประเทศไต้หวันระบุชัดเจนว่าหากมีการทำประชามติ รัฐต้องให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เห็นต่าง ได้ถกเถียงและมีเวลาถกเถียงที่เท่ากัน พร้อมทั้งมีการสนับสนุนในเรื่องงบประมาณของการเปิดเวทีด้วย

ปัจจัยที่จะทำให้เวทีรับฟังความคิดเห็นเกิดขึ้นได้ หนึ่ง ประชาสัมพันธ์ข้อมูลกับประชาชนให้เข้าใจและทั่วถึง สองสร้างบรรยากาศให้ผู้คนรู้สึกอยากให้ความคิดเห็นได้มากน้อยแค่ไหน  สามสำคัญอย่างยิ่งและเห็นน้อยมากในการรับฟังที่ผ่านมาคือ หากไม่สามารถทำตามที่ประชาชนต้องการได้รัฐสามารถอธิบายเหตุผลได้หรือไม่ หากได้มีการอธิบายอย่างน้อยประชาชนจะรู้สึกว่าถูกรับฟังอยู่ ได้ยินสิ่งที่พูด ถ้าถูกอธิบายได้ว่าทำไมทำได้หรือไม่ได้เชื่อว่าประชาชนจะเข้าใจ

ด้านคุณบารมี เสนอว่าการแสดงความคิดเห็นเป็นการใช้สิทธิ์โดยตรงในฐานะเจ้าของอำนาจ พื้นที่การแสดงความเห็นจะต้องหลากหลายมากกว่านี้เช่นสามารถเปิดพื้นที่และได้รับการสนับสนุนจากรัฐในการรณรงค์ประเด็นที่ต้องการได้เช่น สิทธิชุมชน เป็นต้น ไม่ใช่จำกัดอยู่ในเวทีแค่พื้นที่เดียวแต่ต้องกระจายออกไปในพื้นที่ต่างๆ หรือแม้แต่การสร้างการเรียนรู้ที่กว้างขวางเพื่อขยายความเข้าใจไปด้วยกัน

ตัวอย่างการมีส่วนร่วมที่ประสบความสำเร็จมาแล้วอย่างรัฐธรรมนูญ 2540 ในช่วงของการเกิดสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ สมัชชาคนจนได้ร่วมเคลื่อนไหวและแสดงความคิดเห็นในเรื่องการร่างรัฐธรรมนูญจนได้มีรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2540 ฉบับสมบูรณ์ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ถือได้ว่าเป็นรัฐธรรมนูญประชาชนและได้รับประโยชน์อย่างมาก ซึ่งถือว่าเป้นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหา ช่วยให้อำนาจรัฐไม่เข้ามามีเหนือประชาชนมากเกินไป

ประชามติที่อาจกำลังจะเกิดหรือไม่เกิดขึ้นในอนาคต ถือว่าเป็นด่านสำคัญที่จะกำหนดว่ารัฐธรรมนูญฉบับประชาชนจะเป็นอย่างไร การมีส่วนร่วมของเราทุกคนจึงถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่จะทำให้รัฐบาลต้องฟังและปฏิบัติตามมากที่สุด 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ