คนอีสานยกร่าง ‘แผนแม่บทการจัดการป่าไม้ภาคประชาชน’ กระจายอำนาจจัดการที่ดิน

คนอีสานยกร่าง ‘แผนแม่บทการจัดการป่าไม้ภาคประชาชน’ กระจายอำนาจจัดการที่ดิน

รายงานโดย ศรายุทธ ฤทธิพิณ
สำนักข่าวเครือข่ายปฎิรูปที่ดินภาคอีสาน
www.esaanlandreformnews.com

ภาคประชาชนอีสานยกร่างแผนแม่บทป่าไม้ภาคประชาชน ‘หมอนิรันดร์’ แจงเหตุผล เรื่องร้องเรียนกรณีที่ดินป่าไม้มากกว่า 40 เรื่อง เตรียมเสนอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมพิจารณา ด้าน ‘ปราโมทย์’ ชี้ปัญหาเรื้อรัง ฟื้นหลักการเดิมๆ ความคิดเก่าๆ ในยุค คจก. ด้านนักวิชาการเผยรากเหง้าอีสาน สูญสลายไปกับการพัฒนา โดยรัฐขาดความเข้าใจนิเวศของคนอีสาน

20152703184404.jpg

เมื่อวันที่ 19 – 20 มี.ค. 2558 ณ โรงแรมเจริญธานี จ.ขอนแก่น ตัวแทนเครือข่ายองค์กรภาคประชาชนที่ได้รับผลกระทบด้านป่าไม้ที่ดินในภาคอีสาน กว่า 100 คน และอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านที่ดินและป่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ร่วมจัดเวทีสัมมนา ยกร่างแผนแม่บทแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้ การบุกรุกที่ดินของรัฐ และการบริหารการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนภาคประชาชน เพื่อระดมความคิดเห็นการจัดทำร่างแผนแม่บทการจัดการป่าไม้ภาคประชาชน

ผลสรุปเวทีระดมความเห็นยกร่างแผนจัดการป่าไม้-ที่ดินโดยชุมชน

เวทีแผนการจัดทำร่างแผนแม่บทการจัดการป่าไม้ภาคประชาชนเสนอว่า รัฐควรกระจายอำนาจสู่ชุมชนให้ท้องถิ่นมีส่วนร่วม โดยหน่วยงานภาครัฐร่วมสนับสนุนแผนการจัดการทรัพยากรตามสิทธิชุมชน อีกทั้งให้ผู้มีอำนาจสั่งการยกเลิกคำสั่ง 64/2557 เนื่องจากหน่วยงานภาครัฐได้มีนโยบายทวงคืนผืนป่าอย่างเข้มข้น จากแผนปฏิบัติการดังกล่าวทำให้เกิดปัญหาและส่งผลกระทบต่อความเดือดร้อนต่อประชาชนในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ ควรยุติการยึดคืนผืนป่า การจับกุม ไล่รื้อ และตัดฟันพืชผลอาสินจากประชาชนผู้ยากไร้ รวมทั้งให้มีการชดเชย เยียวยา กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งดังกล่าว

นอกจากนั้นยังเสนอแนวทางแก้ไขปัญหา ให้ภาครัฐมีการปรับปรุงแนวเขตที่ดินของรัฐที่ประกาศทับซ้อนชุมชนและพื้นที่ทำกิน จัดทำแนวเขตและจำแนกที่ดิน (zoning) ให้ชัดเจน จัดสรรที่ดินและรับรองสิทธิการใช้ประโยชน์ที่ดินให้กับราษฎรที่ยากจน และส่งเสริม สนับสนุนการจัดการที่ดินร่วมกันของชุมชนท้องถิ่น โดยให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดการ เพื่อเป็นการสร้างแรงจูงใจประชาชนในการเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ในรูปแบบป่าชุมชน ป่าครอบครัว หรือการใช้แนวคิดในระบบนิเวศวัฒนธรรมชุมชน เพื่อการฟื้นฟูฐานทรัพยากรโดยชุมชน รวมทั้งเสนอให้มีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายและระเบียบที่ไม่เป็นธรรม เป็นต้น

20152703184443.jpg
หมอนิรันดร์ แจงจุดประสงค์การจัดทำร่างแผนป่าไม้ภาคประชาชน

นายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ประธานคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านที่ดินและป่ากรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวถึงการจัดการที่ดินถือเป็นปัญหาอันดับ 1 ของประเทศ ถือเป็นความเหลื่อมล้ำทางสังคมระหว่างรัฐบาลกับคนจนและนายทุนที่มีการถือครองที่ดินมากที่สุด อีกทั้งในสถานการณ์ปัจจุบันกลับมีการกำหนดแผนแม่บทป่าไม้ฯ และคำสั่ง คสช.ที่ 64/57 มากระหน่ำซ้ำไล่รื้อคนจนออกจากพื้นที่ โดยไม่ได้ดูบริบทของคำสั่งฉบับที่ 66/2557 ที่ระบุว่า การดำเนินการใดๆ ต้องไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้ยากไร้ ผู้มีรายได้น้อย และผู้ไร้ที่ดินทำกิน ซึ่งได้อาศัยอยู่ในพื้นที่เดิมนั้นๆ ก่อนคำสั่งนี้มีผลบังคับใช้ ยกเว้นผู้ที่บุกรุกใหม่จะต้องดำเนินการสอบสวนและพิสูจน์ทราบเพื่อกำหนดวิธีปฏิบัติที่เหมาะสมและดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป

ภายหลังจากมีแผนแม่บทแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้ การบุกรุกที่ดินของรัฐฯ ทางคณะกรรมการสิทธิฯ ได้รับหนังสือร้องเรียนถึงผลกระทบส่งมามากกว่า 40 เรื่อง จากทั่วประเทศ จึงเป็นความประสงค์หลักของการจัดเวที เชิญตัวแทนประชาชนที่ได้รับผลกระทบด้านป่าไม้ที่ดินในภาคอีสาน เพื่อร่วมรับฟังความคิดเห็น พร้อมข้อเสนอจากภาคประชาชน ที่ร่วมกันร่างแผนแม่บทการจัดการป่าไม้ภาคประชาชน เสนอต่อผู้ที่เกี่ยวข้องพิจารณาเป็นการต่อไป

20152703184602.jpg
ปราโมทย์ เผย ถือเป็นการฟื้นหลักการเดิมๆ ความคิดเก่าๆ ยุค คจก.

ปราโมทย์ ผลภิญโญ ผู้ประสานงานเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน (คปอ.) ร่วมอภิปรายถึง สถานการณ์ความเคลื่อนไหวแผนแม่บทฯ และกรอบความคิดในการยกร่างแผนแม่บทฯ ว่า จากการประกาศใช้แผนแม่บทแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้ฯ โดยกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งแผนแม่บทดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มพื้นที่ป่าให้ได้ 40% ของพื้นที่ประเทศ แต่จากสถานการณ์การทวงคืนผืนป่า กลับพุ่งเป้าตรงมายังชาวบ้านก่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนผู้ยากไร้มากมาย เช่น ในพื้นที่ชุมชนโคกยาว ชุมชนบ่อแก้ว อ.คอนสาร ชัยภูมิ ถูกเจ้าหน้าที่ติดป้ายไล่รื้อออกจากพื้นที่ ทั้งๆ ที่เป็นพื้นที่ทำกินที่ชาวบ้านทำกินมาตั้งแต่บรรพบุรุษ รวมทั้งพื้นที่พิพาทอยู่ในช่วงระหว่างดำเนินการแก้ไขปัญหาที่ผ่านมาหลายยุครัฐบาล

ขณะเดียวกัน แผนดังกล่าวได้รุกคืบและขยายวงไปอย่างกว้าง ก่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนไปทั่วประเทศ โดนสถานการณ์ไม่ต่างกับเป็นการรื้อฟื้นกลับคืนมาของโครงการจัดสรรที่ดินทำกินให้กับราษฎรผู้ยากไร้ในเขตป่าสงวนแห่งชาติเสื่อมโทรม หรือ คจก. ที่ได้เคยสร้างปัญหาและส่งผกระทบความไม่ชอบธรรมกับชาวบ้าน โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคอีสาน ได้เกิดปรากฎการณ์การชุมนุมเรียกร้องเพื่อคัดค้าน ผลักดันล้มโครงการ คจก. เมื่อช่วงปี 2535

ในความไม่แตกต่างของโครงการ คจก.กับแผนแม่บทแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้ฯ ในยุค คสช.นั้น คือเป็นการฟื้นหลักการเดิมๆ ความคิดเก่าๆ ที่เคยประสบความล้มเหลวมาแล้วอย่างสิ้นเชิง เพราะทั้งกรอบความคิดและแนวปฏิบัติในการจัดสรรที่ดินของรัฐ จะผูกขาดอำนาจการจัดการทรัพยากรป่าไม้ไว้ที่หน่วยงานรัฐเพียงส่วนเดียว โดยขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน

ฉะนั้นปัญหาความไม่เป็นธรรม ทุกภาคส่วนต้องร่วมกันหาแนวทางแก้ไขปัญหาผลกระทบที่อาจบานปลายออกไปได้ ทั้งนี้หน่วยงานรัฐควรหานโยบายอื่นเพื่อเพิ่มพื้นที่ป่า ไม่ใช่ทวงคืนจากชาวบ้าน นอกจากนี้ภาครัฐควรเคารพสิทธิขั้นพื้นฐานในการให้ชุมชนมีส่วนร่วมปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ ตามสิทธิชุมชนของพวกเขาเองด้วย ดังนั้น จึงเสนอให้การดำเนินนโยบายตามแผนแม่บททวงคืนผืนป่าฯ ควรให้ภาคประชาชนได้เข้าไปมีส่วนร่วมด้วยและต้องไม่มีการปราบปราม รัฐควรหยุดการอพยพ ยุติไล่รื้อคนออกจากที่ทำมาหากิน หรือใช้วิธีการเดิมๆ แต่ต้องกำหนดให้มีการบริหารจัดการร่วมกันอย่างเป็นระบบ

20152703185254.jpg
นักวิชาการ ชี้ เหตุรากเหง้าอีสาน ต้องสลายไปกับการพัฒนา 

สันติภาพ ศิริวัฒนไพบูลย์ อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี นำเสนอ “นิเวศวัฒนธรรมของชุมชนอีสาน และพัฒนาการชุมชนในเขตป่า” กล่าวถึง ความสัมพันธ์ระหว่างคนกับธรรมชาติ และคนกับปรากฏการณ์ธรรมชาติที่มีความผูกพันมาแต่อดีต และความผูกพันระหว่างคนกับคน เช่น ประเพณี ฮีต 12 คอง 14 ความผูกพันดังกล่าว เริ่มล่าถอยและทยอยสูญสลายมากว่า 50 ปี อาจเป็นไปได้ว่าเพราะมีอำนาจรัฐเข้ามาจัดการกำหนดกฎเกณฑ์ แยกคนออกจากป่า ออกจากธรรมชาติและออกจารีตประเพณีที่สืบทอดมาจากรากเหง้า ดั้งเดิม เช่น นำกฎหมายป่าไม้เข้ามาจัดการ และการประกาศเขตป่าต่างๆ โดยขาดการจำแนกพื้นที่ในการมีส่วนร่วมของประชาชน และภาครัฐไม่ได้มองบริบทนิเวศของคนอีสานอย่างเข้าใจ และอย่างไม่ถูกต้อง ส่งผลให้ระบบนิเวศและสังคมวัฒนธรรมของชุมชนเปลี่ยน ทำให้คนอีสานเริ่มสูญสลาย ถูกอพยพออกจากพื้นที่

ความหลากหลายทางชีวภาพของระบบนิเวศอันอุดม ที่เป็นรากฐานทางวัฒนธรรมชุมชนท้องถิ่นที่เคยใช้ประโยชน์ร่วมกัน จากผลกระทบเกิดจากการพัฒนาประเทศเพื่อความทันสมัยในด้านการผลิต ที่พุ่งเป้าไปสู่กระบวนการผลิตของระบบทุนนิยม การพัฒนาสมัยใหม่ที่ใช้ไม่ถูกกับศักยภาพพื้นที่ ทำให้ความเป็นชุมชนอีสาน ที่หลากหลายวัฒนธรรม และมากค่าด้วยทรัพยากร พื้นที่ที่สมบูรณ์ในระบบนิเวศน์ จึงกลายเป็นเหมืองแร่ กลายเป็นสวนยางพารา ไร่อ้อย ไร่มัน ป่ายูคาลิปตัส ฯลฯ หรือวิถีการดำเนินชีวิตดั้งเดิมบนพื้นที่ลุ่มน้ำ แหล่งหากินจากป่าบุ่ง ป่าทาม ที่เปรียบเป็นโรงครัวใหญ่ของชุมชน ถูกกระทบจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจ กลายมาเป็นเขื่อน อ่างเก็บน้ำ ฝาย ตามมาด้วยนโยบายส่งเสริมการปลูกพืชเศรษฐกิจ ทำให้ชุมชนประสบปัญหาทั้งด้านเศรษฐกิจ หนี้สิน ขาดความมั่นคงทางอาหาร ความอบอุ่นของครอบครัว เริ่มสลาย และสูญไปในที่สุด

จากบทเรียนในอดีตสอนให้รู้ว่าการจัดการที่ไม่ถูกกับสภาพนิเวศและวิถีวัฒนธรรม โดยรัฐบาลรวมศูนย์อำนาจจัดการทรัพยากรโดยขาดการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อระบบนิเวศและวัฒนธรรมชุมชน ปัญหาจึงเกิดขึ้นและผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง คือชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในเขตป่า ชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่ทั้งที่ลุ่ม โคก ดอน ผลกระทบและปัญหาเหล่านั้นชาวบ้านมักเป็นผู้ถูกกระทำมาโดยตลอด ส่งผลให้เกิดความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับภาครัฐดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ