คนรัฐฉานบุกย่างกุ้ง ยื่น 2 หมื่นชื่อ ค้าน ‘เขื่อนสาละวิน-เมืองโต๋น’ ชี้ EIA ไร้มาตรฐาน

คนรัฐฉานบุกย่างกุ้ง ยื่น 2 หมื่นชื่อ ค้าน ‘เขื่อนสาละวิน-เมืองโต๋น’ ชี้ EIA ไร้มาตรฐาน

ตัวแทนชุมชนจากเมืองต่างๆ ตลอดลำน้ำสาละวินในรัฐฉาน รวมชื่อประชาชน 23,717 รายชื่อ เข้าพบผู้บริหารบริษัทที่ปรึกษาสัญชาติออสเตรเลีย แสดงจุดยืนค้านโครงการเขื่อนบนแม่น้ำสาละวิน ชี้ EIA บริษัทออสเตรเลียไร้มาตรฐาน กองทัพว้ายังส่ายหัว

20152508160702.jpg

ภาพโดย: Shan Sapawa

วันนี้ (25 ส.ค.) เวลาประมาณ 12.30 น. ตามเวลาท้องถิ่น ตัวแทนชุมชนจากเมืองต่างๆ ตลอดลำน้ำสาละวินในรัฐฉานจำนวน 12 คน ที่เดินทางมายังย่างกุ้ง พร้อมรายชื่อประชาชนชาวรัฐฉานจำนวน 23,717 รายชื่อ ได้เข้าพบผู้บริหารบริษัทที่ปรึกษาสัญชาติออสเตรเลีย Snowy Mountain Engineering Corporation (SMEC) เพื่อยื่นเอกสารและรายชื่อดังกล่าวต่อบริษัทและแสดงจุดยืนคัดค้านโครงการเขื่อนบนแม่น้ำสาละวิน

นายจายหอแสง ชาวรัฐฉาน กล่าวว่าตั้งแต่เดือน มี.ค.ที่ผ่านมา บริษัท SMEC ได้ลงพื้นที่สำรวจและเก็บข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และสังคม(Environment and Social Impact Assessments-EIA/SIA) ทีมงานของบริษัท SMEC ได้ตั้งเป้าที่จะเก็บข้อมูลให้แล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้ อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่า การลงพื้นที่เก็บข้อมูลของบริษัท SMEC นั้น ถูกชุมชนที่ได้รับผลกระทบต่อต้านทุกครั้ง โดยเฉพาะชาวบ้านจากเมืองกุ๋นเหง ซึ่งจะได้รับผลกระทบมากที่สุด

“เครือข่ายชาวไทใหญ่และชาวรัฐฉาน กลุ่มต่างๆ รวบรวมรายชื่อประชาชน และรายชื่อที่ถูกยื่นต่อบริษัท SMEC เป็นรายชื่อของชาวบ้านจากทุกพื้นที่จากรัฐฉาน โดยเฉพาะจากพื้นที่ซึ่งจะได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมจากเขื่อน เช่น เมืองโต๋น เมืองกุ๋นเหง และใกล้เคียง โดยชาวบ้านเห็นว่า หากมีการสร้างเขื่อนจะทำให้ระดับน้ำแม่น้ำป๋างสูงขึ้น ซึ่งแม่น้ำป๋างเป็นแม่น้ำสาขาของแม่น้ำสาละวินและไหลผ่านเมืองกุ๋นเหง หรือเมืองพันเกาะ ระดับน้ำที่สูงขึ้นจะส่งผลให้เกิดน้ำเข้าท่วมในหลายตำบลของเมืองกุ๋นเหง”

“ชาวบ้านยังแสดงความไม่พอใจเป็นอย่างมากที่ทางบริษัท SMEC ไม่ตอบสนองเสียงเรียกร้องของประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน และละเลยผลกระทบที่จะเกิดขึ้น โดยบริษัทบอกชาวบ้านว่า จะได้ใช้ไฟฟ้าจากเขื่อนดังกล่าว ทั้งที่ในความเป็นจริง ไฟฟ้าที่ได้จากเขื่อนเมืองโต๋นจะถูกขายให้ไทยและจีน” นายจายหอแสง กล่าว 

นางคำน้อง ชาวบ้านจากเมืองกุ๋นเหง รัฐฉาน กล่าวว่าแม่น้ำสาละวินเปรียบเสมือนสายเลือดหล่อเลี้ยงประชาชนนับล้านคนในพม่า “(แม่น้ำสาละวิน) เป็นมรดกประวัติศาสตร์สำคัญของคนในรัฐฉาน ดังนั้นรัฐบาลพม่าเนปีดอว์ และบริษัทต่างชาติไม่มีสิทธิ์ที่จะเอาไปขาย” นางคำน้องกล่าว

นางคำหมาย ชาวไทใหญ่จากรัฐฉาน กล่าวว่าก่อนหน้านี้บริษัท SMEC ก็ถูกกองทัพว้า (UWSA) ขัดขวางในการลงเก็บข้อมูล โดยผู้แทนกองทัพว้ากล่าวว่า พื้นที่สร้างเขื่อนเมืองโต๋นนั้นยังเป็นพื้นที่เสี่ยงจากการสู้รบ และจะเป็นเรื่องที่ยุ่งยากมากหากมีการสร้างเขื่อน เนื่องจากยังมีกลุ่มติดอาวุธหลายกลุ่มเคลื่อนไหวอยู่

20152508160715.jpg

ภาพโดย: Shan Sapawa

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเจ้าหน้าที่ของบริษัท SMEC ได้ให้ตัวแทนชาวรัฐฉานเข้าไปยื่นเอกสารในสำนักงาน แต่กล่าวว่าตนมิได้เป็นผู้ก่อสร้างเขื่อน และที่ผ่านมาก็พยายามทำรายงาน EIA อย่างดีที่สุดแล้ว

ทั้งนี้ เขื่อนเมืองโต๋น เป็นโครงการเขื่อนขนาดใหญ่สุดในภูมิภาคกั้นแม่น้ำสาละวิน มีกำลังผลิตติดตั้ง 7,000 เมกกะวัตต์ ตั้งอยู่ที่รัฐฉานตอนใต้ ซึ่งหากก่อสร้างจะทำให้เกิดน้ำท่วมเกือบตลอดลำน้ำสาละวินในรัฐฉาน โดยบริษัทที่ร่วมลงทุนได้แก่ China Three Gorges Corporation, China Southern Power Grid, Sinohydro, International Group of Entrepreneurs Co. (Myanmar) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) 90 % ของไฟฟ้าที่ได้จากเขื่อนจะถูกไปขายให้กับจีนและไทย

โครงการก่อสร้างเขื่อนเมืองโต๋น (หรือมายตง) ตั้งอยู่บนแม่น้ำสาละวิน ทางภาคตะวันออกของรัฐฉาน ซึ่งเป็นเขื่อนขนาดใหญ่สุดในบรรดาโครงการเขื่อนที่วางแผนจะสร้างบนแม่น้ำ สาละวิน เขือนเมืองโต๋นจะมีความสูงถึง 241 เมตร จะให้เกิดน้ำท่วมบ้านเรือนประชาชนเป็นบริเวณกว้างเท่ากับพื้นที่ทั้งหมดของ ประเทศสิงคโปร์

 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ