เสียงสะท้อนของคนสงขลา ถึงนิคมอุตสาหกรรมจะนะ

เสียงสะท้อนของคนสงขลา ถึงนิคมอุตสาหกรรมจะนะ

“สิ่งที่ทำให้คนคุยกันได้ ต้องถอยออกมาตัวโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ เอาโจทย์เป็นตัวตั้ง เเล้วถอดรหัส อย่าเพิ่งฟันธงว่าอะไรจะตอบโจทย์”

“มนุษย์ยังใช้อวิชาในการพัฒนา เราต้องลดความอวิชาให้มากขึ้น เพิ่มวิชามากขึ้น เพิ่มปัญญามากขึ้น มองนิเวศที่มีความเชื่อมโยงทั้งระบบ”

“การรักษาฐานทรัพยากร เป็นสิ่งที่ต้องทำ เพราะเป็นแหล่งผลิตอาหารที่เกี่ยวกับพวกเราทุกคน”

เวทีการมีส่วนร่วม ถ้านิคมอุตสาหกรรมหนักมา คนสงขลาจะตั้งรับอย่างไร? (วันที่ 23 ต.ค.2565)

นี่เป็นเสียงส่วนหนึ่งของคนสงขลา ตั้งวงพูดคุยในหัวข้อ ถ้านิคมอุสาหกรรมหนักมา คนสงขลาจะตั้งรับอย่างไร? ซึ่งเป็นวงเเรก ๆ ของคนเมืองจากหลากหลายอาชีพมาร่วมแลกเปลี่ยนพูดคุย ทั้ง นักวิชาการ ผู้ประกอบการ และคนรุ่นใหม่ในเมืองสงขลา เพื่อหาไอเดียใหม่ ๆ ที่เป็นทางเลือก พร้อมข้อเสนอวิธีการตั้งรับที่เหมาะสมกับผู้คน วิถีชีวิต และสิ่งแวดล้อม จัดขึ้นที่ ณ พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติสงขลา

ภายในงานมีการจัดทำแผนผังเชื่อมโยงฐานทรัพยากรระหว่างจังหวัดสงขลาและจังหวัดปัตตานี ทั้งทางบกและทางทะเล ซึ่งล้วนมาจากฐานทรัพยากรเดียวกันที่ใช้หล่อเลี้ยงวิถีชีวิตผู้คนแถบนี้ ให้คนที่เข้าร่วมได้มีส่วนร่วมในการแลกเปลี่ยน เก็บข้อมูลโดยทีม Start up คนรุ่นใหม่ ซึ่งมีคำตอบที่น่าสนใจ เช่น แหล่งผลิตอาหารของคนสงขลาและอาเซียน , ชายหาด 6,000 ปี เป็นพื้นที่เรียนรู้ให้กับคนในและคนนอกพื้นที่ และแหล่งประวัติศาสตร์ 1,400 ปี เมืองสิงกอร่า

เกื้อ ฤทธิบูรณ์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
"วันนี้ที่เราพูดถึงการพัฒนาที่ยั่งยืน เพราะที่ผ่านมาไม่ยั่งยืน สิ่งเหล่านี้ที่จะเข้ามามันไม่ใช่คำตอบที่จะบอกว่ายั่งยืนในเชิงนิเวศ” เป็นคำพูดของ อาจารย์เกื้อ ฤทธิบูรณ์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  กล่าวว่า เราเห็นภาพบทเรียน จากอุตสาหกรรมหนักแล้ว เรามีสิทธิ์เลือก จะไม่ขอเป็นคนตั้งรับเเละจะทำอย่างไร ไม่ให้สิ่งเหล่านี้เข้ามา

วันนี้ไม่มีใครที่ไม่พูดถึงการพัฒนาที่ยั่งยืน มองว่าถ้าวันนี้ที่เราพูดถึงการพัฒนาที่ยั่งยืน แสดงว่าที่ผ่านมาไม่ยั่งยืน สิ่งเหล่านี้ที่จะเข้ามาไม่ใช่คำตอบที่จะบอกว่ายั่งยืนในเชิงนิเวศ เราเห็นความล้มเหลวจากการพัฒนาที่นำไปสู่ความเสื่อมสลายของระบบนิเวศ โดยวัดจากการที่เราสูญเสียสิ่งมีชีวิตครั้งใหญ่ของโลก เริ่มตั้งแต่ครั้ง 1 จนถึง ครั้งที่ 5 สิ่งที่เราสูญเสียสิ่งมีชีวิตมีชีวิตทางทะเล มากที่สุดกว่า 96 เปอร์เซ็นต์ เพราะฉะนั้นถ้าเราเทียบว่า สิ่งมีชีวิตในทะเลมีอยู่ 100 เปอร์เซ็นต์ เราเหลือแค่ 4 เปอร์เซ็นต์

จากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ถ้าเราทบทวน 5 ครั้งที่ที่ผ่านมา เกิดจากปรากฏการเปลี่ยนแปลงของโลก ที่เกิดจากการประทุของภูเขาไฟ พื้นที่ทะเลลดลง การเกิดยุคน้ำแข็งมากเกินไป ครั้งนี้เป็นยุคที่ชัดเจนว่าเป็นยุคที่เกิดจากมนุษย์ ถ้าปล่อยให้เกิด 1 ใน 75 เปอร์เซ็นต์

มองว่าครั้งนี้ ต้นเหตุสำคัญ คือ การกระทำของมนุษย์ในรูปแบบที่เราพัฒนา นำไปสู่การสูญเสียสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย ที่ก่อให้เกิดมลพิษ เราไม่สามารถจัดการได้ ถ้าวันนี้เรายังเดินแบบนี้ เรามองว่ามนุษย์ยังใช้อวิชาในการพัฒนา ต้องลดความอวิชาเหล่านี้ให้มากขึ้น เพิ่มวิชามากขึ้น เพิ่มปัญญามากขึ้น

อาจารย์เกื้อ เล่าต่อว่า วันนี้เราเห็นป่าที่สมบูรณ์ ป่าดิบชื้น มีต้นไม้ เรามองว่าสมบูรณ์ พอวันนึง เห็นชายหาดที่เป็นหาดเลน ไม่มีต้นไม้ ยังมีคนเข้าใจว่า เป็นพื้นที่เสื่อมโทรม เเต่จริง ๆ แล้วในเชิงระบบนิเวศถ้าเราเข้าใจ หาดที่มีแต่เลน มีศักยภาพในการผลิตสูงกว่าป่าดิบชื้นที่เรามองว่ามีต้นไม้ 

“การมองเชิงระบบ จะทำให้เราเห็นความเชื่อมโยงระบบต่อระบบและองค์ประกอบระบบที่อยู่ร่วมกัน”

สินาด ตรีวรรณไชย คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

ด้านอาจารย์สินาด ตรีวรรณไชย คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า แนวคิดการออกแบบนิคมอุตสาหกรรม เป้าหมายคือ ช่วยให้เกิดการจัดการที่ง่ายขึ้น เช่น การจัดการสิ่งแวดล้อม การจัดการเรื่องผังเมือง การจัดการจราจร และการจัดการในมุมการผลิต แต่ถามว่าทำไมมันเป็นปัญหา แสดงว่าในทางปฏิบัติไม่ได้เป็นไปตามที่เราคาดหวัง เช่น เราเห็นน้ำมันรั้ว พอไปเราดูรายละเอียด เเผนความรับผิดชอบที่เคยเสนอตอนทำรายงานศึกษา EIA แสดงว่าเกิดปัญหา การกำกับโดยรัฐ ไม่มีประสิทธิภาพตามที่วางไว้ เเน่นอนเวลาบอกว่าทำนิคมอุตสาหกรรมแล้วจะจัดการมลพิษได้ ประสบการณ์ประชาชนจำนวนมากไม่เชื่อถือเลย

“เวลาพูดถึงการพัฒนา เราถูกจำกัดการรับรู้ถกเถียงกันอยู่เเค่ระดับโครงการ กรณีนิคมอุตสาหกรรมจะนะ บางคนหนุน บางคนค้าน มันหาข้อตกลงไม่ได้ เพราะคุยในรายละเอียดถูกกำหนดไว้แล้ว อยากให้ทุกคนถอยออกมา”

สิ่งที่ทำให้คนคุยกันได้ คือต้องถอยออกมาจากตัวโครงการ เเล้วเเล้วเอาโจทย์เป็นตัวตั้ง เช่น การจ้างงานเพิ่มขึ้น การมีรายได้ดี ลูกหลานมีงานทำ เราต้องถอดรหัสเหล่านี้ออกมา อย่าเพิ่งฟันธงว่าอะไรจะตอบโจทย์ ต้องมาคุยร่วมกัน ว่ามีทางเลือกอะไรบ้าง ที่ไม่ทำลายทะเล ชาวบ้านยังจับปลาได้ ไม่สร้างมลพิษ ถ้าโจทย์เป็นแบบนี้คนจะคุยกันง่ายมากกว่า การบอกว่าโครงการเป็นแบบนี้ คุณจะเอาไหม?

การพัฒนาที่ยั่งยืน ไม่ใช่ขีดถูกที่เศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว คนไม่ได้มีเป้าหมายเเค่เงินในกระเป๋า เเต่มันมีเป้าหมายอื่น ๆด้วยเช่น วิถีชีวิตวัฒนธรรมดี สิ่งแวดล้อมดี สุขภาพดี ถ้าเป้าหมายเป็นแบบนี้ ต้องพูดคุยกันในแนวทาง ที่เราต้องออกแบบสิ่งที่เราอยากได้ ซึ่งในมุมนักวิชาการเป็นความท้าทายที่สุด ที่ต้องระดมปัญญา ทั้งนักวิชาการ ราชการ ชาวบ้าน นักลงทุน หรือแม้เเต่ผู้ประกอบการ SME ต้องหาสิ่งที่ทุกคนได้ประโยชน์ร่วมกัน

ผมคิดว่าต้องให้อำนาจกับภาคประชาชน ทั้งอำนาจการคิด อำนาจการจัดการ รวมถึงอำนาจการคลังก็ควรได้รับการสนับสนุนด้วย”

อาจารย์สินาด กล่าวเพิ่มว่า ถ้าเราสังเกตุการทำงานของคนรุ่นใหม่ คนที่กำลังเรียนชั้นมัธยม ที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงาน ภาคการผลิตที่เขาต้องการเข้าไปทำมาก จะเป็นภาคการบริการ การออกแบบด้านเศรษฐกิจไม่จำเป็นต้องเน้นขนาดใหญ่ เเต่ออกแบบสอดคล้องกับวิถีชีวิตเเละสิ่งเเวดล้อม

กมลธรรม กาญจนัมพะ ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ในเมืองสงขลา ที่หันหลังกลับมาอยู่บ้าน มองว่าสงขลากลายเป็นจุดมุ่งหมายของนักเดินทางมากขึ้น เป็นเมืองที่สร้างความสุขให้คนที่ได้มาเยี่ยม หรือเราที่อยู่สงขลาเอง มองว่าสงขลามีความพร้อมหลาย ๆ ด้าน ๆ ทั้งทรัพยากรที่ดี มีอากาศที่ดี ถ้าเกิดนิคมอุตสาหกรรมขึ้น เราเห็นบทเรียนจากพื้นที่อื่น ๆ เห็นปัญหา มลพิษทางน้ำ ทางอากาศ

มองว่าบทบาทที่ดีที่สุดของคนรุ่นใหม่ คือ เราต้องเข้าไปในเวทีรับฟังความคิดเห็นของโครงการนั้น ๆ เเละต้องสร้างการตระหนักรู้ให้กับคนหมู่มาก มันไม่ใช่เรื่องไกลตัวกับการที่สิ่งแวดล้อมตรงนั้นเสียไป สุดท้ายจะเป็นห่วงโซ่มากระทบถึงเราอยู่ดี ทำให้ชีวิตของเราไม่ปลอดภัย อาจจะปนเปื้อนมาในอาหารก็เป็นได้

กมลธรรม ทิ้งท้าย “เราเอาทรัพยากร อย่างเพชร ไถมันทิ้งแล้วแลกอย่างอื่นมา ซึ่งเราไม่รู้ว่าจะยั่งยืนแค่ไหน” 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ