EIA ที่ชวนเอ๊ะ! กับความสงสัยในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม เหมืองแร่ถ่านหินอมก๋อย

EIA ที่ชวนเอ๊ะ! กับความสงสัยในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม เหมืองแร่ถ่านหินอมก๋อย

ชเลฝัน ดิษฐ์ผู้ดี

ลองจินตนาการตาม…

สมมติบ้านของคุณตั้งอยู่บนภูเขาที่ธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ ชีวิตประจำวันพึ่งพาดิน น้ำ ป่า อยู่ในทุกจังหวะชีวิตตั้งแต่เกิดจนตาย   จู่ ๆ วันดีคืนร้ายมีใครจากไหนไม่รู้มาบอกกับคุณว่า แร่สีดำที่อยู่ใต้ดินจะถูกขุดขึ้นมาเพื่อส่งไปผลิตไฟฟ้า พื้นที่ตรงนั้นเขามาขอซื้อไว้เมื่อนานมาแล้วก็จริง แต่ไม่ได้บอกตอนที่จะซื้อว่าจะซื้อไปทำอะไร แถมยังบอกคนแถวนั้นว่าหากไม่ขายจะโดนยึดที่ไปฟรี ๆ หลายคนก็เลยจำใจต้องขาย   คุณจึงเพิ่งรู้เดี๋ยวนี้ตอนนี้เลยว่าจะมี “เหมืองแร่ถ่านหิน” มาตั้งอยู่ในเขตรัศมีไม่ไกลจากบ้าน   ทั้งนี้เขาคนนั้นยังบอกอีกว่าได้ปรึกษาพูดคุยกับผู้นำชุมชนและเพื่อนบ้านบางคน ตกลงกันเรียบร้อยว่าสามารถสร้างได้ โดยมีการลงลายมือชื่อยืนยัน แต่เมื่อคุณขออ่านดูก็พบว่าเป็นเอกสารที่เต็มไปด้วยความไม่ปกติของลายมือชื่อเต็มไปหมด

“เฮ้ย! จะเป็นไปได้ไง ฉันเขียนหนังสือไม่เป็น แต่ใครไม่รู้มาลงลายมือชื่อแทนฉัน”

“อ้าว! แต่ฉันที่เขียนหนังสือเป็น ทำไมกลายเป็นรอยปั๊มลายนิ้วมือ”  

“เอ๊ะ! ตอนนั้นหนูยังอายุไม่ถึง 18 ปีเลย ทำไมมีชื่อหนูในเอกสาร”

หลังคำถามเหล่านี้จบลงอย่างไม่มีคำตอบ คุณจะยังมีความมั่นใจหรือไม่ว่าเหมืองแร่ถ่านหินนี้จะไม่ทำให้ชีวิตของคุณเปลี่ยนไป ?

1.โครงการพัฒนาที่ไม่พัฒนา

อยากให้เรื่องข้างต้นนี้เป็นเพียงเรื่องสมมติ ทว่ากลับเป็นเรื่องจริงซึ่งเกิดขึ้นที่ หมู่บ้านกะเบอะดิน ต.อมก๋อย อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่

การลงรายมือชื่อในเอกสารที่กล่าวไปในเบื้องต้นเป็นเพียงความไม่ปกติส่วนหนึ่งของ “รายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม” หรือเรียกสั้น ๆ ว่า “EIA” ที่เป็นคำย่อมาจาก “Environmental Impact Assessment” ของโครงการเหมืองแร่ถ่านหินอมก๋อย ซึ่งตามกฎหมายในไทย ก่อนการสร้างโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ รัฐระบุให้ภาคธุรกิจ และ/หรือ หน่วยงานรัฐจะต้องจัดทำรายงาน EIA เพื่อบรรลุเป้าหมายตามชื่อเต็มของรายงานไม่น้อยไปกว่านั้น “ประเมิน – ผลกระทบ – สิ่งแวดล้อม” (บางโครงการอาจอยู่ในเงื่อนไขการประเมินรูปแบบอื่น เช่น IEE รายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น หรือ EHIA รายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ขึ้นอยู่กับรายละเอียดของแต่ละโครงการ)

นั่นหมายความว่าข้อมูลที่ได้จากการประเมินไม่ควรนำไปสู่คำตอบเดียว เพียงแค่ยึดว่าทำรายงาน EIA เสร็จแล้วสามารถดำเนินการก่อสร้างได้   แต่ควรนำไปสู่คำถามปลายเปิดต่อไปว่า ควรหรือไม่อย่างไรที่โครงการพัฒนาจะถูกสร้างในพื้นที่นั้น ๆ และความเป็นไปได้ของคำตอบควรมีทั้ง ควร หรือไม่ควร

หากกฎหมายระบุให้ภาคธุรกิจ และ/หรือหน่วยงานรัฐ จัดหาหน่วยงานที่ทำรายงาน EIA นี้ด้วยตนเองโดยการจัดซื้อจัดจ้าง เมื่อลงทุน “จ้าง” แล้ว ก็ปฎิเสธได้ยากว่าไม่ได้หวังจะ “ใช้” EIA นี้เป็นเพียงตรายางประทับรับรองให้โครงการนั้น ๆ  

ตำแหน่งแห่งที่อันถูกควรของรายงาน EIA ควรทำให้คนในพื้นที่เชื่อมั่นต่อโครงการพัฒนาที่กำลังจะเกิดขึ้นในบ้านของพวกเขา แต่กลับส่งผลในทิศทางตรงกันข้าม เพราะความไม่โปร่งใสในกระบวนการจัดทำ  ดังนั้น ในเมื่อคนสร้างโครงการ หรือคนจัดทำรายงาน EIA ไม่ได้อยู่ในพื้นที่ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่คนในพื้นที่ต้องมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นต่อโครงการ แม้ในประกาศจากทางรัฐเองก็ระบุชัดเจนถึงการมีส่วนร่วมของคนในท้องถิ่น

แต่ปัญหาถัดมา คือ นิยามการให้คุณค่าความหมายของ “การมีส่วนร่วม” ของแต่ละภาคส่วนแตกต่างกัน

ชาวชุมชนบ้านกะเบอะดิน อ.อมก๋อย เป็นชาติพันธุ์กระเหรี่ยงโปว์   ภาษาแม่ที่ใช้ในชีวิตประจำวันคือภาษากระเหรี่ยงโปว์ การดำเนินการจัดทำรายงาน EIA ที่ทำโดยคณะทำงานที่ใช้ภาษาไทยกลางเป็นหลัก อาจทำให้สื่อความหมายคลาดเคลื่อน   และการเรียกชาวชุมชนมาร่วมเข้าฟังการสื่อสารทางเดียวจากภาคธุรกิจโดยปราศจากการแลกเปลี่ยนข้อมูล โดยบอกเพียงข้อดีของโครงการ เป็นการมีส่วนร่วมแค่ในมิติเพียงพิธีกรรม – หรือเพียงให้พอเป็นพิธี   ยังไม่ต้องนับการเลยเถิดไปจนถึงการลงนามในเอกสารที่ชาวชุมชนไม่เข้าใจว่าคืออะไรและจะนำไปสู่อะไร   การมีส่วนร่วมแบบนี้จึงไม่อาจนับว่าเป็นการแสดงการมีส่วนร่วมที่แท้จริงได้

2.การประเมินผลกระทบที่ก่อผลกระทบ

10 ปี… นานพอจะทำให้อะไร ๆ เปลี่ยนไปมากแค่ไหน?

รายงาน EIA เหมืองแร่ถ่านหินอมก๋อยนี้ถูกจัดทำขึ้นตั้งแต่ปี 2554 ซึ่งก็นับว่าเป็นเวลากว่า 10 ปีแล้ว จึงทำให้ข้อมูลที่อยู่ในรายงานมีความล้าหลัง ไม่ทันต่อสถานการณ์ปัจจุบัน ทั้งการกระจายตัวของคนในชุมชน ที่ตั้งบ้านเรือน และทำการเกษตรในพื้นที่โดยรอบมีการเปลี่ยนแปลงไปมาก   แม้แต่เรื่องประเด็นปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่ถูกหยิบยกมาพูดถึงโดยแทบจะเป็นวาระแห่งชาติในประเด็นมลพิษทางอากาศในปัจจุบัน ก็เพิ่งถูกหยิบยกขึ้นมาพูดในสื่อหรือในชีวิตประจำวันได้ไม่กี่ปีมานี้   ดังนั้นแน่นอนว่าการประเมินผลกระทบทางอากาศในรายงาน EIA เหมืองแร่ถ่านหินอมก๋อยจึง ไม่มีข้อมูลการประเมินฝุ่นอันเป็นวาระระดับชาติอย่าง PM 2.5 และยังไม่ต้องนับรวมถึงบรรดาสารพัดฝุ่นอื่น ๆ 

อมก๋อยนั้นเป็นภาษาลัวะที่แปลว่า “ต้นน้ำ” เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารที่หล่อเลี้ยงผู้คนในเมือง ในขณะเดียวกันชาวชุมชนก็อาศัยน้ำจากลำห้วยหลัก 2 สายในการดำรงชีพ ทั้งการทำเกษตรกรรมและกินใช้ในครัวเรือน   จากข้อมูลใน EIA ที่ระบุการจัดการลำน้ำว่าจะมีการเบี่ยงน้ำจากห้วยไปสู่คลองที่สร้างโดยคอนกรีตนั้นเป็นการประเมินเพียงยึด “น้ำ” เป็นตัวตั้ง โดยขาดการคำนึงถึง “คน” ที่ใช้น้ำ   เช่นเดียวกับน้ำที่มองไม่เห็น เช่น น้ำใต้ดินซึ่งอาจเกิดการปนเปื้อนได้ เพราะโครงการไม่ได้ออกแบบบ่อกักเก็บน้ำที่ป้องกันการรั่วไหลของโลหะจากเหมืองแร่ถ่านหิน   ทั้งนี้ทั้งนั้นเพราะถ่านหินปนเปื้อนโลหะหนักเสมอ เพียงแต่ในรายงาน EIA ของเหมืองแร่ถ่านหินอมก๋อยไม่ได้กล่าวถึงโลหะหนักเลย   สิ่งที่หายไปจากรายงาน EIA ทำให้เกิดความไม่เชื่อมั่น และเป็นความจำเป็นอย่างยิ่งที่ควรมีาตรการประกันความเสี่ยงเพื่อทำการชดเชยหากมีความเสียหายเกิดขึ้นแต่ชดเชยมากขนาดไหนจึงจะคุ้มกับความเสี่ยงนี้ที่ชุมชนต้องแบกรับ?

3.การมีส่วนร่วมที่หมายถึงมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง

เมื่อรายงาน EIA ชวนให้สงสัย ชุมชนกะเบอะดินจึงไขข้อข้องใจโดยการลงสำรวจชุมชนของตนเอง เก็บข้อมูลทั้งทรัพยากรธรรมชาติ ประเพณี อาชีพ และวัฒนธรรม โดยประยุกต์ใช้ระเบียบวิธีวิจัยเข้ากับ การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพโดยชุมชน หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่ารายงาน CHIA (Community Health Impact Assessment: CHIA) โดยตัวข้อมูลชุมชนนี้ถูกจัดทำขึ้นโดยมีชาวชุมชนและเยาวชนเป็นผู้วิจัยหลัก เพื่อใช้ข้อมูลดังกล่าวมาค้านแย้งว่าข้อมูลบางอย่างของรายงาน EIA ที่จัดทำขึ้นโดยบริษัทนั้นไม่ถูกต้อง   โดยรายงาน CHIA โดยชุมชนนี้ถูกใช้เป็นเอกสารแนบในการยื่นฟ้องศาลปกครองของชาวบ้านกะเบอะดิน เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2565 โดยยื่นฟ้องให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) และ คณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) พิจารณา EIA เหมืองถ่านหิน พร้อมขอศาลมีคำสั่งเพิกถอน EIA – คำขอประทานบัตร และ ให้ศึกษา EIA ใหม่ บนหลักการมีส่วนร่วม

ชวนจินตนาการกันต่อถึงโครงการพัฒนาที่มีความโปร่งใสมากพอที่จะทำให้เกิดความเชื่อใจระหว่างชุมชนและภาคธุรกิจ ก็คงต้องเริ่มตรงการกลัดกระดุมเม็ดแรกให้ถูก ร่วมทบทวนบทบาทหน้าที่ของ EIA ใหม่ และทำความเข้าใจให้ตรงกันในคุณค่าความหมายของการมีส่วนร่วม

อ้างอิง:

  • ประกาศสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและส่ิงแวดล้อม เรื่องแนวทางการมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม http://www.onep.go.th/eia/wp-content/uploads/2019/02/S080262.pdf
  • ข้อสังเกตประเด็นปัญหาทางวิชาการและแนวทางการปรับปรุงในการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ของโครงการเหมืองถ่านหินกะเบอะดิน https://www.greenpeace.org/static/planet4-thailand-stateless/2022/03/8c2f88f9-remark-eia-omkoi-coal-mine.pdf
  • เสวนาวิชาการงานเปิดตัวรายงานการประเมินผลกระทบโดยชุมชน (CHIA) “จุดแสงสว่างกลางหุบเขา กะเบอะดิน ดินแดนมหัศจรรย์” วันที่ 4 เมษายน 2565 ณ ลานคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ https://fb.watch/chxUPi1FIU/
  • จุดแสงสว่างกลางหุบเขา กะเบอะดิน ดินแดนมหัศจรรย์ https://www.greenpeace.org/thailand/publication/23142/climate-coal-omkoi-community-report/

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ