คนบูโด “โค่นยาง” ทวงความเป็นธรรมบนที่ดินทับซ้อนอุทยานฯ

คนบูโด “โค่นยาง” ทวงความเป็นธรรมบนที่ดินทับซ้อนอุทยานฯ

20152701181105.jpg

“ถ้าไม่ปลูกยางใหม่วันนี้ลูกผมอาจจะไม่ได้เรียน ถ้าไม่โค่นวันนี้ลูกผมอาจได้เรียนแค่ ป.6 ที่ต้องโค่นวันนี้เพราะอีก 7 ปี ข้างหน้าลูกจะได้มีทุนการศึกษา เพราะผมเองมีรายได้น้อยไม่สามารถจะส่งลูกเรียนในระดับปริญญาได้ รู้สึกน้อยใจเพราะเป็นสิทธิในที่ดินที่ผมสืบต่อจากบรรพบุรุษ ที่ผ่านมาเราทำอะไรไม่ได้ จะโค่นยางก็ไม่ได้ จะทำสวนก็ทำไม่ได้ และที่ลงมือโค่นต้นยางก็ไม่กลัวถ้าหากจะถูกดำเนินคดี เพราะผมมีเอกสาร สค.1ยืนยัน จะสู้ได้หรือไม่ไม่รู้ แต่ผมขอสู้ จะไปอยู่ที่อื่นคงไม่ได้แล้ว และถ้าไม่ลงมือทำวันนี้ ก็ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะได้ปลูกยางใหม่ทดแทน ที่ตัดสินใจทำก็เพื่อลูก” 

นี่คือเสียงสะท้อนความรู้สึกของนายมะดือเร๊ะ เยตูแก ชาวบ้านตำบลปะลุกาสาเมาะ อำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส หนึ่งในผู้ได้รับผลกระทบจากการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี เมื่อปี 2542 ครอบคุลุมพื้นที่จังหวัดนราธิวาส 7 อำเภอ ปัตตานี 1 อำเภอ และยะลา 1 อำเภอ ทำให้เกิดการทับซ้อนที่ดินทำกินของชาวบ้านใน 25 ตำบล 89 หมู่บ้าน ข้อมูลจากเครือข่ายการแก้ปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยเทือกเขาบูโด ระบุว่ามีคนได้รับผลกระทบกว่า 20,926 ราย 23,015 แปลง บนเนื้อที่กว่า 127,612 ไร่ ทำให้ชาวบ้านที่ทำกินอยู่ในที่ดินของตนที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ ต้องกลายเป็นผู้บุกรุกพื้นที่อุทยานแห่งชาติ และไม่สามารถโค่นยางพาราเก่าเพื่อปลูกใหม่ทดแทนได้ 

แม้ว่าจะมีมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2551 รองรับการแก้ไขปัญหาให้สามารถตัดโค่นต้นยางพาราที่หมดอายุเพื่อปลูกใหม่ทดแทนในสัดส่วนไม่เกินร้อยละ 4 ของพื้นที่ปัญหาที่ดินเพื่อไม่ให้กระทบต่อสิ่งแวดล้อมแล้วก็ตาม แต่เมื่อระยะเวลาผ่านมากว่า 7 ปี ก็ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ เกิดขึ้น จนในที่สุดคนรอบเทือกเขาบูโดที่ได้รับผลกระทบ จึงลงมือปฏิบัติการ “โค่นยางพาราของเรา เขาบูโดยั่งยืน” เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2558 ที่ผ่านมา 

เพื่อเป็นการแสดงออกถึงรูปธรรมความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส เพราะเกินกว่าจะอดทนได้กับความไม่เป็นธรรม และกระบวนการแก้ไขปัญหาที่ล่าช้ายาวนาน โดยชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากปัญหารอบเทือกเขาบูโดกว่า 1,000 คน ได้รวมตัวกัน ณ มัสยิด บ้านมาแฮ ต.ปะลุกาสาเมาะ จ.นราธิวาส และพร้อมใจกันขึ้นเทือกเขาบูโดเพื่อร่วมกันโค่นยางเก่าต้นแรกที่มีอายุกว่า 100 ปี ในสวนของนายมะดือเร๊ะ เยตูเก ที่เป็นการแสดงออกในเชิญสัญลักษณ์ สะท้อนปัญหาที่ดินทับซ้อนอุทยานฯ กระตุกการแก้ปัญหาที่ดินรอบเทือกบูโดไม่คืบหน้า ทั้งที่ชาวบ้านมีเอกสารการถือครองชัดเจน โดยจะให้เวลาหน่วยงานรัฐ 30 วัน แสดงความจริงใจ หากไม่มีคำตอบที่ชัดเจนภายในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2558 คนรอบเทือกเขาบูโดจะดำเนินการตัดโค่นต้นยางในพื้นที่ทับซ้อนทุกแปลงด้วยชุมชนเอง โดยจะปฏิบัติตามมติ ครม.ดังกล่าว

20152701181118.jpg

นายสิโรฒม์ แวปาโอะ ประธานเครือข่ายการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยเทือกเขาบูโด ให้ข้อมูลว่า ภายหลังจากที่มีการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี ส่งผลให้กระทบต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่กับอาชีพคนทำสวนผลไม้ (ดุซง) และสวนยางพาราต่างได้รับความเดือดร้อนไม่สามารถเข้าไปทำกินในพื้นที่ดังกล่าวได้ ที่สำคัญชาวบ้านไม่สามารถตัดโค่นต้นยางพาราเก่าที่หมดอายุเพื่อปลูกทดแทนใหม่ได้ รวมทั้งที่ดินที่ซึ่งอยู่มาก่อนการประกาศก็ไม่สามารถออกเอกสารสิทธิ์ที่ดินได้ เนื่องจากแนวเขตอุทยานแห่งชาติไม่มีการบ่งชี้พื้นที่จริง ทำให้ประชาชนเสียสิทธิประโยชน์ในที่ดินของตนเองที่ใช้ประกอบอาชีพสืบทอดจากบรรพบุรุษ จนทำให้ประชาชนในพื้นที่มีความรู้สึกร่วมกันถึงการไม่ได้รับความเป็นธรรมจากรัฐในการใช้อำนาจทางการปกครอง กระทบต่อการดำเนินชีวิตและการประกอบอาชีพโดยสุจริต และอาจกลายเป็นเงื่อนไขที่ถูกนำไปใช้ขยายผลให้เกิดความไม่ไว้วางใจต่อรัฐ และสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ได้ 

หลังจากที่มีการประกาศ ผู้เดือดร้อนที่ได้รับผลกระทบก็มีการรวมกลุ่มรวมตัวกันจนเกิดเป็นเครือข่ายฯ เพื่อร่วมกันหาแนวทางแก้ปัญหา ที่เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543 เป็นต้นมา โดยได้ทำหนังสือถึงหน่วยงานต่างๆ และส่งเรื่องถึงอาจารย์ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ให้ พอช.เข้ามาช่วยประสานเจ้าหน้าที่รัฐ หนุนชาวบ้านทำข้อมูล สำรวจประวัติชุมชน ทำแผนที่ทำมือ อบรมจีไอเอส ลงสำรวจจับพิกัด ขยายจนครบ 89 หมู่บ้าน ใน 25 ตำบล รอบเทือกเขาบูโด และได้ประสานกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งในระดับอำเภอ จังหวัด และส่วนกลาง อย่างเช่น ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) หรือสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีทางอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) ที่มาช่วยแปลภาพถ่ายทางอากาศให้เพราะเป็นองค์ประกอบในการแก้ปัญหา

นายสิโรฒม์ เล่าต่อว่า การประกาศเขตอุทยานฯ เป็นการรอนสิทธิชุมชนอย่างชัดเจน เพราะผู้คนที่อยู่อาศัยเป็นคนดั้งเดิม เราจึงมาร่วมตัดโค่นต้นยาง เพื่อถามหาความจริงใจจากหน่วยงานรัฐ ในการแก้ปัญหาที่ดินบูโดที่คาราคาซังมานาน ภายหลังจากการตัดโค่นยางต้นแรกหากหน่วยงานรัฐไม่มีดำเนินการใดๆ เราจะเริ่มมีปฏิบัติการตัดโค่นต้นยางตามวิถีของชาวบ้านกันเองต่อไป 

และเมื่อมาถึงวันนี้ทางฝ่ายอุทยานฯ และเลขาธิการ ศอ.บต. รับจะส่งเรื่องให้กฤษฎีกาเพื่อหาทางออกให้ได้ ในส่วนของพี่น้องเครือข่ายที่ดินบูโด จะมีการมาประชุมหารือว่าจะดำเนินการอย่างไรใน 30 วัน ณ วันนี้เรามาโค่นเพียงแค่เป็นสัญลักษณ์ ซึ่งทางอุทยานฯ ก็บอกว่าทางชาวบ้านไม่ผิดเพราะมีเอกสารสิทธิ์ถือครองกันอยู่ เช่น สค.1 นส.3 นส.3 ก หรือโฉนด สามารถทำได้ ประเด็นก็คือว่าที่ทำอย่างนี้เราพร้อมแล้ว เพราะเรารอมา 15 ปี เราทำข้อมูล ตรวจสอบพิสูจน์สิทธิ์เราก็ทำมาระดับหนึ่งทำตามแนวทางที่อุทยานฯบอกว่าต้องใช้ภาพถ่ายทางอากาศด้วย แต่ว่าเราชำนาญไหมในเรื่องการดูป่ายางกับป่าอื่นๆ เพราะเหนือขึ้นไปจะมีสวนทุเรียน ที่ทางอุทยานมองไม่ออกว่าเป็นป่าอะไร 

หลังจากนี้เครือข่ายฯ จะประชุมตัวแทนจาก 25 ตำบล มาพูดคุยหาแนวทางการดำเนินการร่วมกัน ไม่ว่าความร่วมมือของพวกเรากันเอง หรือความร่วมมือกับฝ่ายรัฐ ระดับพื้นที่อำเภอ จังหวัด และ 3 จังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส ร่วมหารือให้เดินไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งไม่ใช่แก้ปัญหาในเรื่องที่ดินเพียงอย่างเดียว เราต้องมีการพัฒนาให้ครบวงจร เช่น ที่ดินที่เป็นที่นาจะปล่อยร้างกันเป็นส่วนใหญ่ ทั้งๆที่มีมากมาย พี่น้องเราเองไม่มีรายได้ก็ต้องหาว่าใครจะจ้างเขาเป็นรายวันไป

วันนี้เรามีความพอใจในระดับหนึ่ง เพราะสิ่งที่เราต้องการนั้นได้มาแล้วคือการตัดโค่นในพื้นที่ของเราเอง ที่ไม่ได้ซื้อจากใครผ่านมือหนึ่งมือสอง แต่เป็นที่มรดกตกทอดจากพ่อแม่ เป็นสิ่งที่เรายืนยันมาตลอดเวลา เราไม่ใช่นายหน้าจัดสรรที่ดิน แต่เราเพียงอยากได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินเราจากบรรพบุรุษมาสู่อ้อมอกอีกครั้ง นายสิโรฒม์ กล่าว 

นายดือราแม ดาราแม ปราชญ์ชาวบ้านแห่งตำบลปาลุกาสาเมาะ อำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส บอกว่า “ที่ชาวบ้านลงมือตัดโค่นต้นยาง เป็นการตัดเพื่อรักษาความรู้สึกของชาวบ้านที่เขาเจ็บปวดมานาน เพื่อให้ชาวบ้านมั่นใจว่าตัดโค่นปลูกทดแทนใหม่ได้แน่นอน แต่ไม่ต้องไปเร่งทำอย่างอื่น และอย่าไปเร่งตัดให้หมด ต้องดูให้ถูกต้องในทางกฏหมายบ้านเมืองด้วย ซึ่งการตัดโค่นต้นยางเป็นมติที่ประชุมเครือข่ายฯ และชาวบ้านเขารอมานาน เมื่อไหร่จะตัดได้สักที และเราจะปกป้องไม่ให้ชาวบ้านเสียความรู้สึก โดยเป็นการส่งสัญญาณให้ชาวบ้านรับรู้ว่าเราตัดได้แน่นอน”   

ในส่วนแปลงที่จะนำร่องนี้ขนาด 7 ไร่ ซึ่งนายมะดือเร๊ะ เขาอยากทำเรื่องขอทุนจากสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) เพียง 2 ไร่ ก่อน แต่ สกย.ก็ยังไม่กล้าที่จะมาช่วยเรื่องนี้เพราะติดที่ปัญหาความไม่ชัดเจนของนโยบาย โดยเราส่งสัญญาณให้รัฐรู้ว่าเราตัดแน่นอน และยืนยันว่าชาวบ้านไม่ได้ตัดเพื่อหวังต่อสู้เพื่อเอาชนะ 

“หากเขาปิดประตูชาวบ้านไม่ให้ทำกิน ก็เหมือนกับไปตัดเส้นเลือด ไปตัดเส้นชีวิตของพวกเขา รายได้ของเขาอยู่บนเขาเกือบทั้งนั้น ถ้าหากปิดสนิทจริงๆ ไม่สามารถที่จะปลูกใหม่ได้ ก็เท่ากับปิดประตูรายได้ ลูกหลานของเขาก็ต้องทุลักทุเลกันไป หากยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาการทับซ้อนที่ดินอุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดีได้ อนาคตข้างหน้าชาวบ้านเดือดร้อนแน่” นายดือราแม ปราญช์ชาวบ้านกล่าวในตอนท้าย

อย่างไรก็ตาม ความหวังที่ชาวบ้านคิดจะทวงคืนความเป็นธรรม ขอสิทธิในการทำกินกลับมา อาจต้องสะดุดหยุดลง ถ้าหากหน่วยงานรัฐยึดตามประกาศคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 64 และ 66 รวมถึงแผนแม่บทการพิทักษ์ทรัพยากรป่าไม้แห่งชาติ พ.ศ.2557 อาจทำให้กระบวนการแก้ไขปัญหาตามมติคณะรัฐมนตรี 14 ตุลาคม 2551 ไม่สามารถขับเคลื่อนไปได้ เนื่องมาจากคำสั่งและแผนแม่บทดังกล่าวไม่สอดคล้องกับกระบวนการแก้ไขปัญหาที่ประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วมมาโดยตลอด จะส่งผลให้คนในพื้นที่เกิดความคับข้องใจรวมถึงไม่ไว้วางใจต่อภาครัฐ และจากปัญหาปากท้องอาจกลายเป็นปัญหาความมั่นคงก็เป็นได้

รุ่งโรจน์ เพชระบูรณิน เรื่อง/ภาพ

20152701181147.jpg

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ