ภาคประชาสังคมทวาย เรียกร้องให้ญี่ปุ่นถอนตัวจากโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายและโครงการที่เกี่ยวข้องที่มีปัญหาและยังไม่ได้รับการแก้ไข พร้อมเผยผลวิจัยในพื้นที่ทวาย คาดชาวบ้าน 20 – 36 หมู่บ้าน รับผลกระทบโดยตรง
4 ส.ค. 2558 องค์กรภาคประชาสังคมในทวาย ประกอบด้วย สมาคมพัฒนาทวาย (Dawei Development Association) องค์กรตะกาปอว์ (Takapaw) และสมาคมวิจัยทวาย (Dawei Research Association) ร่วมลงนามในจดหมายเรียกร้องให้ประเทศญี่ปุ่นนถอนตัวจากโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ในแคว้นตะนาวศรี ประเทศเมียนมา และเรียกร้องให้เปิดเผยข้อมูลการศึกษาในโครงการที่เกี่ยวข้องนี้ด้วย
สืบเนื่องจากการที่ประเทศญี่ปุ่นได้ร่วมลงนามในบันทึกแสดงเจตจำนง (MOI) กับรัฐบาลไทยและรัฐบาลพม่า เพื่อร่วมกันพัฒนาโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ในการประชุมผู้นำอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง-ญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 4 ก.ค.2558 ที่ประเทศญี่ปุ่น และญี่ปุ่นยังได้เตรียมการที่จะเจรจาเข้ามาถือหุ้นในบริษัท ทวาย เอสอีแซต จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทนิติบุคคลเฉพาะกิจที่ขณะนี้ถือหุ้นโดยรัฐบาลไทยและเมียนมาฝ่ายละ 50 ต่อ 50 นอกจากนั้น ญี่ปุ่นยังได้แสดงเจตจำนงที่จะสนับสนุนการก่อสร้างถนนในทวายระยะทาง 138 กิโลเมตร เชื่อมระหว่างโครงการทวายมายังชายแดนไทยด้วย
องค์กรภาคประชาสังคมระบุว่า ตั้งแต่ปี 2553 ที่ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด เข้าไปดำเนินการโครงการในพื้นที่ทวาย ชาวบ้านในพื้นที่ได้ร้องเรียนหลายต่อหลายครั้งเกี่ยวกับผลกระทบและการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นในพื้นที่โครงการ ไม่ว่าจะเป็นการบุกรุกที่ดินและทำลายพืชสวนไร่นา การยึดที่ดิน การสูญเสียทรัพยากรที่สำคัญต่อการดำรงชีพ การบังคับให้โยกย้าย และกระบวนการชดเชยที่ผิดพลาดร้ายแรงและไม่เป็นธรรม จนเป็นที่มาของการร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนของไทยเมื่อปี 2556
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาชาวบ้านและกลุ่มท้องถิ่นในทวายได้เรียกร้องให้รัฐบาลเมียนมา รัฐบาลไทย และบริษัทอิตาเลียนไทยฯ รับผิดชอบต่อผลกระทบที่เกิดขึ้น และดำเนินการแก้ไข ก่อนที่จะเริ่มเจรจาเพื่อผลักดันโครงการรอบใหม่ แต่จนวันนี้ยังไม่มีการจัดการกับปัญหาที่ยังคาราคาซัง กลับมีการเดินหน้าเจรจาไตรภาคีระหว่างไทย เมียนมา และญี่ปุ่น และบริษัท อิตาเลียนไทยฯ ก็ประกาศว่าตนจะได้รับสัมปทานโครงการทวายรอบใหม่ในเฟสเริ่มต้น (Initial Phase) โดยปราศจากความรับผิดชอบใดๆ ที่เกิดขึ้นในพื้นที่
“ดังนั้น พวกเราจึงอยากจะย้ำเตือนท่านว่า ในขณะนี้ท่านต้องแสดงความรับผิดชอบเกี่ยวกับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม และการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากโครงการเสียก่อน ซึ่งรัฐบาลพม่าและรัฐบาลไทย และบริษัทล้มเหลวที่จะดำเนินการ และรวมถึงรับผิดชอบต่อผลกระทบต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นจากโครงการต่างๆ ในอนาคตด้วย” จดหมายระบุ
เนื้อความในจดหมาย มีดังต่อไปนี้
นาย ฟูมิโอะ คิชิดะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 4 สิงหาคม 2558 เรื่อง ขอเรียกร้องให้สนใจในข้อกังวลของกลุ่มท้องถิ่นทวาย ในการที่ญี่ปุ่นเข้ามาเกี่ยวข้องกับโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ซึ่งเป็นโครงการที่มีปัญหา ในประเทศพม่า ดังที่เราได้ระบุไว้ในจดหมายฉบับก่อน การพัฒนาโครงการเหล่านี้ในทวายได้ก่อให้เกิดผลกระทบร้ายแรงทางด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมแล้ว และมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนนานาประการในชุมชนละแวกนี้ พวกเราได้หยิบยกข้อกังวลต่างๆ เกี่ยวกับปัญหาท้าทายเหล่านี้ และได้เรียกร้องให้องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศญี่ปุ่น (JICA – ไจก้า) และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ ของญี่ปุ่น มิให้เข้าร่วมในโครงการที่เป็นปัญหาอยู่ในขณะนี้ และให้ญี่ปุ่นหยุดการเข้าร่วมจนกว่าประเด็นปัญหาทั้งหลายเกิดขึ้นจะได้รับการแก้ไขอย่างเหมาะสม และมีการวางแผนต่างๆ เสียก่อน เพื่อหลีกเลี่ยงหรือบรรเทาผลกระทบด้านลบที่จะเกิดขึ้นกับชุมชนท้องถิ่นต่อไปจากนี้ พวกเราต้องการย้ำอีกครั้งว่า สมาคมพัฒนาทวายได้ทำการวิจัยอย่างครอบคลุมในพื้นที่ทวาย และคาดการณ์ได้ว่า ชาวบ้านจาก 20 – 36 หมู่บ้าน จะได้รับผลกระทบโดยตรงจากโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายและโครงการที่เกี่ยวข้อง[2] และจากผลการวิจัยเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณใน 20 หมู่บ้านที่จะได้รับผลกระทบโดยตรงจากโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย เราพบว่าชุมชนได้สูญเสียที่ดินทำกินและทรัพยากรธรรมชาติที่มีความสำคัญต่อวิถีชีวิตของพวกเขา โดยไม่ได้รับการชี้แจงล่วงหน้า และไม่มีการปรึกษาหารือที่มีความหมายกับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบเลย ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบร้อยละ 74 ที่เราได้ไปสำรวจระบุว่า รัฐบาลไม่ได้ขอความยินยอมจากพวกเขาก่อนที่จะเริ่มพัฒนาโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย[3] อีกทั้งกระบวนการจ่ายค่าชดเชยก็มีข้อผิดพลาดร้ายแรง – งานวิจัยของเราพบว่า ร้อยละ 63[4] ของชาวบ้านที่เราได้สัมภาษณ์ระบุว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐและบริษัทไม่ได้เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการจ่ายค่าชดเชย และร้อยละ 59 ไม่ได้รับเอกสารใดๆ เกี่ยวกับการจ่ายค่าชดเชย[5] ยิ่งไปกว่านั้น จนถึงบัดนี้ผู้พัฒนาโครงการฯยังมิได้ดำเนินการโดยยึดข้อบังคับตามกฎหมายหรือหลักมาตรฐานในระดับสากล ระดับภูมิภาค และระดับประเทศ และมิได้แสดงความรับผิดชอบใดๆ ในเรื่องที่เกี่ยวกับการบังคับโยกย้าย สิทธิในการได้รับอาหารและที่อยู่อาศัยอย่างเพียงพอ และสิทธิในชนพื้นเมือง ถ้าหากประเทศญี่ปุ่นเข้าร่วมในโครงการใดๆ ก็ตามที่เกี่ยวข้องกับโครงการเขตเศรษฐกิจทวาย ญี่ปุ่นต้องให้หลักประกันอันดับแรกว่า ช่องว่างปัญหาเหล่านี้จะต้องได้รับการดำเนินการแก้ไขอย่างเต็มที่ ในจดหมายฉบับต่างๆ ของเราก่อนหน้านี้ พวกเราได้หยิบยกข้อกังวลเกี่ยวกับโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายและโครงการที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลญี่ปุ่นและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้อง ด้วยความหวังว่าท่านเคารพในชุมชนท้องถิ่น และยังได้เตือนท่านเกี่ยวกับความเสี่ยงด้านการเมืองและเศรษฐกิจในการเข้าร่วมในโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายและโครงการที่เกี่ยวข้อง แต่เรากลับพบว่ามีการลงนามในบันทึกแสดงเจตจำนงเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2558 โดยรัฐบาลญี่ปุ่นได้ตัดสินใจเข้าร่วมในโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายและโครงการที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีสามเรื่องหลักด้วยกัน คือ การลงทุนในบริษัทนิติบุคคลเฉพาะกิจ หรือ เอสพีวี ผ่านทางธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (เจบิค) และองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศญี่ปุ่น (ไจก้า) ความร่วมมือในการขัดเกลาแผนแม่บทที่มีอยู่ในขณะนี้ ซึ่งจะใช้ระยะเวลา 3 ปี โดยการส่งผู้เชี่ยวชาญจากไจก้าในการให้ความช่วยเหลือทางด้านเทคนิค และการจัดทำรายงานการศึกษาความเป็นไปได้เบื้องต้น (pre-feasibility study) เพื่อสำรวจแนวทางต่างๆ ในการก่อสร้างถนนไฮเวย์ใหม่ระยะสมบูรณ์ (full-phase) ดังนั้น พวกเราจึงอยากจะย้ำเตือนท่านว่า ในขณะนี้ท่านต้องแสดงความรับผิดชอบเกี่ยวกับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม และการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากโครงการเสียก่อน ซึ่งรัฐบาลพม่าและรัฐบาลไทย และบริษัทล้มเหลวที่จะดำเนินการ และรวมถึงรับผิดชอบต่อผลกระทบต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นจากโครงการต่างๆ ในอนาคตด้วย นอกจากนี้ พวกเราขอเรียกร้องถึงหลักประกันเกี่ยวกับการปรึกษาหารืออย่างมีความหมายกับชุมชนต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบในช่วงต้นๆ ของโครงการ หรือเปิดโอกาสรับฟังความคิดเห็นของชุมชนต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบเพื่อนำไปประกอบกระบวนการตัดสินใจในการดำเนินโครงการ และด้วยเรื่องที่เกี่ยวข้องกันนี้ เราขอเรียกร้องให้รัฐบาลญี่ปุ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เปิดเผย หรือชี้แจงข้อมูลดังต่อไปนี้ เพื่อที่ว่าชุมชนต่างๆ สามารถรับรู้เกี่ยวกับบทบาทของญี่ปุ่นและแผนของโครงการมากขึ้น และสามารถมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจ โดยการให้ข้อคิดเห็นของพวกเขาได้ ข) แผนแม่บทฉบับปัจจุบัน ค) ร่างขอบเขตของงาน (ทีโออาร์) ในการจัดทำรายงานการศึกษาความเป็นไปได้เบื้องต้น (pre-feasibility study) เกี่ยวกับการก่อสร้างถนนไฮเวย์ใหม่ระยะสมบูรณ์ (full-phase) (เรามีสมมติฐานว่าโครงการจะถูกจัดอยู่ใน ‘ประเภท เอ’ ภายใต้ ‘แนวทางสำหรับการพิจารณาด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม’ ของไจก้า และตระหนักว่า ‘แนวทาง’ ดังกล่าวได้ระบุไว้ว่า “ก่อนที่จะดำเนินการเกี่ยวกับการเตรียมการสำรวจต่างๆ ไจก้าต้องทำการสำรวจภาคสนามและรวบรวมข้อคิดเห็นและข้อมูลจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียสำหรับโครงการ ‘ประเภท เอ’ และต้องนำผลเหล่านั้นมาประกอบการจัดทำทีโออาร์ในการดำเนินการสำรวจด้วย) พวกเราขอขอบคุณท่านในการพิจารณาเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ และรอคอยคำตอบจากท่าน สมาคมพัฒนาทวาย (Dawei Development Association) [1] ดู Annex 1 |