เตือน เหนือต้องพร้อมรับเเผ่นดินไหว ก่อสร้างอาคารรุ่นใหม่ ต้องต้านแรงสั่นสะเทือนตามกฎกระทรวง

เตือน เหนือต้องพร้อมรับเเผ่นดินไหว ก่อสร้างอาคารรุ่นใหม่ ต้องต้านแรงสั่นสะเทือนตามกฎกระทรวง

จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวใน “เมียนมา” ติดต่อกันหลายครั้ง ตั้งเเต่เมื่อคืนกลางดึกวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2565 เวลาประมาณ 00.07 น.  ที่ผ่านมา เกิดความแรงสั่นสะเทือนขนาด 6.4 ความลึก 3 กิโลเมตร ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของ อ.แม่สาย จ.เชียงราย ประมาณ 87 กิโลเมตร ได้รับแจ้งรู้สึกสั่นไหวบริเวณกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน จ.เชียงราย ลำพูน เชียงใหม่  คาดการณ์ว่าเเผ่นดินไหวครั้งนี้เกิดจากแนวรอยเลื่อนน้ำมา ที่เคยเกิดเเผ่นดินไหวประชาชนชาวเมียนมาได้รับผลกระทบมาก่อนหน้า

นอกจากนี้ยังมี แผ่นดินไหวอย่างต่อเนื่องหลายครั้ง ขณะที่ กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ขอให้ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์จังหวัดเชียงรายติดตามสถานการณ์และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง พร้อมชี้แจงประชาชนถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อลดความตื่นตระหนกรวมถึงแนวทางการปฏิบัติตนให้ปลอดภัย และการให้ความช่วยเหลือของหน่วยงานราชการ รวมถึงสำรวจความเสียหายและให้ความช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบภัยตามระเบียบ หลักเกณฑ์ที่ทางราชการกำหนด

แนว “รอยเลื่อนน้ำมา” อยู่ห่างจากแนวรอยเลื่อนแม่จัน จ.เชียงราย ราว 80 กิโลเมตร 

แนว “รอยเลื่อนน้ำมา” เคยเป็นจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวที่เมืองสาดกับเมืองพยาก ของรัฐฉาน ประเทศเมียนมา ห่างจาก อ.แม่สาย จ.เชียงราย ไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือประมาณ 42 กม. เป็นพื้นที่ใกล้เคียงกับเหตุการณ์เมื่อวันที่ 24 ม.ค. 2554 ขนาดความแรง 6.8 ทำให้บ้านเรือนชาวเมียนมาพังถล่มทลาย ถนนทรุดเสียหายหนัก มีคนตายจำนวนมาก  ซึ่งรอยเลื่อนน้ำมาเป็นเส้นคู่ขนานกับรอยเลื่อนแม่จัน แม่ลาว เชื่อมโยงรอยเลื่อนแม่อิง ผ่านแม่ลาว แม่จัน เชียงแสน เชียงของ ทะลุไปเมืองห้วยทราย ฝั่งลาว และเกิดแผ่นดินไหวที่หลวงน้ำทา ฝั่งลาว ขนาด 6.3 เมื่อวันที่ 16 พ.ค.2550 รอยเลื่อนทั้งหมดมีความเชื่อมโยงกัน

ส่วนแผ่นดินไหวครั้งนี้มีผลให้หลายอำเภอของจังหวัดเชียงรายสามารถรับรู้แรงสั่นไหวได้อย่างชัดเจนซึ่งชาวบ้านในพื้นที่ เกร่งจะเกิดซ้ำรอย 5 พ.ค.2557 จุดศูนย์กลางที่ ต.ทรายขาว อ.พาน จ.เชียงราย ขนาด 6.3 ทำให้ครั้งนั้นทรัพย์สินเสียหายและคนตาย 2 คน

ศ. ดร.เป็นหนึ่ง วานิชชัย อาจารย์สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) และผู้เชี่ยวชาญด้านแผ่นดินไหว พูดคุยกับทีม Thecitizen.plus ระบุว่าเเผ่นดินไหวครั้งนี้ไม่น่าจะกระทบกับฝั่งประเทศไทยมากต่อให้เกิดอาฟเตอร์ช็อคตามมาจำนวนมาก เพราะศูนย์กลางค่อยข้างห่างจากประเทศเรา ซึ่งโดยปกติความเสียหายจะเกิดขึ้นรัศมีราว 20 กิโลเมตร แต่ที่น่าห่วงคือ แผ่นดินไหวขนาดเท่านี้ ประมาณ 5-6 สามารถเกิดขึ้นได้ทุกจังหวัดของภาคเหนือ ที่ผ่านมาเรารู้ว่า ภาคเหนือเกิดเเผ่นดินไหว ขนาด 3,4,และ5 ริกเตอร์กระจายตัวกันอยู่ทั่วภาคเหนือ ร่วมถึงภาคเหนือมีแนวรอยเลื่อนกระจายตัวอยู่ หากดูข้อมูลทางธรณีวิทยา แผ่นดินไหวขนาด  6กว่า ๆ ถึง6.5 มีโอกาสเกิดขึ้นได้ทั่วทุกจังหวัดในภาคเหนือเลย นั้นหมายถึงว่าอาจจะเกิดผลกระทบต่อบ้านเรือนประชาชนได้ แต่ว่าแผ่นดินไหวจะเกิดขึ้นที่ไหน เมื่อไหร่ อันนี้ไม่สามารถบอกได้ 

แต่ขณะนี้สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT)อยู่ระหว่างการทำแบบจำลองผลกระทบจากเเผ่นดินไหวในพื้นที่จังหวัดเชียงราย และเชียงใหม่ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เคยเกิดเเผ่นดินไหวและพื้นที่ใจกลางเศรษฐกิจสำคัญของภาคเหนือ เพื่อที่จะสามารถคาดการณ์พื้นที่เสี่ยงและพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบ เพื่อเป็นการเตรียมการรับมือในอนาคตในมิติต่าง

อย่างไรก็ตามในระยะยาวที่ดีที่สุดคือการก่อสร้างอาคารรุ่นใหม่ให้แข็งแรงทดแทนอาคารรุ่นเก่าบนความเคร่งครัดของการทำตามมาตรฐานที่มีล่าสุดมีกฎหมายควบคุมอาคารการออกแบบอาคารใหม่เพื่อต้านทานแผ่นดินไหวมีกฎหมายบังคับควบคุมอย่างจริงจังตั้งแต่ พ.ศ.2550 โดยบังคับใช้กับอาคารสาธารณะและอาคารที่มีความสำคัญ หรืออาคารที่มีความสูงเกิน 15 เมตร ขึ้นไปในกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมทั้งจังหวัดที่ตั้งอยู่บนรอยเลื่อน เช่น กาญจนบุรี เชียงราย และเชียงใหม่ เป็นต้น โดยกระทรวงมหาดไทยออก “กฎกระทรวงกำหนดการรับน้ำหนัก ความต้านทาน ความคงทนของอาคาร และพื้นดินที่รองรับอาคารในการต้านทานแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว พ.ศ. 2564″ ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2564 เพื่อใช้บังคับแทนกฎกระทรวงกำหนดการรับน้ำหนักฯ ฉบับเดิม พ.ศ. 2550 โดยให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 180 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ซึ่งเรื่องนี้ เป็นสิง่ที่ประชาชนในพื้นที่ควรรู้

ดาวน์โหลด: cba\mr\mr64-68b.pdf

อย่างไรก็ตาม กองเฝ้าระวังแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยมวิทยา รายงานว่า ช่วงวันที่ 21-22 กรกฎาคม 2565 ตรวจพบเหตุการณ์ “แผ่นดินไหว” มีศูนย์กลางอยู่ที่ประเทศเมียนมา 52 ครั้ง โดยมี ขนาด 2.0-2.9 จำนวน 25 ครั้ง ขนาด 3.0-3.9 จำนวน 23 ครั้ง ขนาด 4.0-4.9 จำนวน 1 ครั้ง ขนาด 5.0-5.9 จำนวน 2 ครั้ง ขนาด 6.0-6.9 จำนวน 1 ครั้ง

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ