“เครือข่ายปกป้องป่าตะวันออก” และประชาชนจันทบุรี – ระยอง ร่วมจัดเวทีชี้แจงผลกระทบจากเหมืองแร่ทองคำ พร้อมเชิญผู้ได้รับผลกระทบจากพิจิตร และนักวิจัยมาให้ข้อมูล ตัวแทนชาวบ้านยันจุดยืนคนในพื้นที่ “ไม่เอาเหมือง” แต่ที่ผ่านมาขาดข้อมูล – เผย ผญบ. สกัดไม่ให้เข้าร่วม
เรื่อง: อัฏฐพร ฤทธิชาติ
ภาพ: karnt thassanaphak
20 ธันวาคม 2558 เวลาประมาณ 13.00 น. “เครือข่ายปกป้องป่าตะวันออก” ร่วมกับประชาชนในพื้นที่ อ.แก่งหางแมว จ.จันทบุรี และ อ.เขาชะเมา จ.ระยอง ได้จัดเวทีประชุมวิชาการ เรื่อง “รู้เท่าทันนโยบายเหมืองทองคำภาคตะวันออก” ขึ้น ณ ศาลากลางบ้าน หมู่ที่ 3 ต.พวา อ.แก่งหางแมว จ.จันทบุรี
เพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการทำเหมืองแร่ทองคำ ทั้งในแง่ผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม และผลต่อสุขภาพของประชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณใกล้เคียงของพื้นที่เหมือง โดยมีประชาชนชาว อ.แก่งหางแมว จ.จันทบุรี และประชาชนจาก อ.เขาชะเมา และอำเภออื่นๆ ของ จ.ระยอง ให้ความสนใจเข้าร่วมกว่า 300 คน นอกจากนี้ ยังมีเจ้าหน้าที่ตำรวจ-ทหาร ทั้งในและนอกเครื่องแบบ รวมทั้งทหารพราน มาร่วมสังเกตการณ์อีกกว่า 10 นาย
ในเวทีดังกล่าวได้เชิญตัวแทนประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเหมืองแร่ทองคำ จ.พิจิตร รวมทั้งตัวแทนผู้ป่วย เดินทางมาให้ข้อมูลและถ่ายทอดประสบการณ์ที่ได้รับจากการดำเนินกิจการของเหมืองแร่ทองคำ จ.พิจิตร ทั้งปัญหาสิ่งแวดล้อมและปัญหาสุขภาพ โดยเฉพาะการพบสารโลหะหนักในร่างกายของประชาชนในพื้นที่
สื่อกัญญา ธีระชาติดำรง หนึ่งในประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเหมืองแร่ทองคำ จ.พิจิตร เปิดเผยว่า ผู้ที่อาศัยอยู่ในบริเวณใกล้เคียงเหมืองรวมทั้งตัวเธอเอง ล้วนแต่ประสบปัญหาการปนเปื้อนของสารโลหะหนักในร่างกาย มากบ้างน้อยบ้าง และขณะนี้กำลังขออพยพออกจากพื้นที่
“…ชาวบ้านเราล้มป่วยล้มตายเป็นใบไม้ร่วง… จนล่าสุดเราเรียกร้องไปทาง คสช. ขออพยพออกจากพื้นที่ แต่ถามว่าถ้ามีเหมืองแบบนี้อีกในพื้นที่อื่นๆ ของประเทศไทย จะต้องอพยพอีกกี่ชุมชน และมันคุ้มกันหรือไม่…” สื่อกัญญา ให้ข้อมูลพร้อมกับตั้งคำถาม
“…อย่าให้เหมืองเกิดอีกเลย ลูกหลานของเราจะได้รับผลกระทบ น้ำก็กินไม่ได้ ผักก็กินไม่ได้…” ตัวแทนประชาชนจาก จ.พิจิตร รายหนึ่งกล่าว
หลังจากนั้น เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบที่เกิดขึ้นในกรณีเหมืองแร่ทองคำ จ.เลย ซึ่งทางมูลนิธิฯและหลายหน่วยงานได้เข้าไปศึกษาวิจัย ทั้งในแง่ปัญหาการปนเปื้อนของสารโละหนักในสิ่งแวดล้อม ปัญหาด้านต่อสุขภาพ ตลอดจนปัญหาการเพิ่มสูงขึ้นของต้นทุนในการดำเนินชีวิตที่ประชาชนในพื้นที่ต้องแบกรับ อาทิ ค่ารักษาพยาบาล ค่าใช้จ่ายในการพยายามหลีกเลี่ยงความเจ็บป่วย เช่น การซื้อน้ำและอาหารจากภายนอกพื้นที่ เป็นต้น
นอกจากนี้ นิชา รักพานิชมณี นักวิจัยมูลนิธิบูรณะนิเวศ ยังได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับประสบการณ์การทำเหมืองทองคำในต่างประเทศ ซึ่งพบว่าเป็นกิจกรรมที่ก่อให้เกิดมลพิษสูง ขณะที่การบริหารจัดการของรัฐไทยในปัจจุบัน ยังไม่มีความพร้อมเพียงพอในการรองรับปัญหาที่จะเกิดขึ้น และอีกทั้งปัญหาเดิมก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข
ด้านทิวา แตงอ่อน และกัญญา ดุชิตา ตัวแทนเครือข่ายปกป้องป่าตะวันออก ซึ่งเป็นประชาชนชาว อ.แก่งหางแมว ด้วยเช่นกัน ได้ให้ข้อมูลว่า ประชาชาชนในพื้นที่ส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกรรม อาทิ ทำสวนผลไม้ สวนยางพารา ซึ่งยังคงต้องพึ่งพาน้ำจากบ่อบาดาลและประปาภูเขา โดยประชาชนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการเข้ามาของโครงการเหมือง
“เราไม่เห็นด้วยกับนโยบายเหมืองแร่ทองคำ และไม่ต้องการเห็นเหมืองแร่ทองคำในพื้นที่ภาคตะวันออก และเราจะคัดค้านอย่างสงบ เปิดเผย และไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง อีกทั้งยังมีแผนจัดงานประชุมวิชาการในพื้นที่อื่นต่อไป” ทิวากล่าวยืนยัน
“ชาวบ้านไม่อยากให้มีเหมือง เพียงแต่ยังขาดข้อมูลที่ชัดเจน เราจึงต้องจัดเวทีเพื่อให้ชาวบ้านรู้ข้อมูล และให้เขาเลือกเอง” กัญญาเผย
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวได้พบว่า หลายจุดภายในภายในศาลากลางบ้านดังกล่าว ได้มีป้ายประกาศ “ห้ามใช้พื้นที่ในการประชุมชี้แจงการทำเหมืองทองคำ…” ลงนามโดยผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน (รักษาการแทนผู้ใหญ่บ้าน) และเอกสารประกาศเตือนเกี่ยวกับ พ.ร.บ.การชุมนุมในที่สาธารณะ รวมทั้งทราบข้อมูลจากประชาชนที่มาร่วมงานว่า ผู้นำบางหมู่บ้านได้ประกาศห้ามไม่ให้ลูกบ้านมาเข้าร่วมเวทีในครั้งนี้ด้วย
ข้อมูลเพิ่มเติม จ.จันทบุรี มีบริษัทยื่นขออาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ทองคำและแร่อื่น จำนวน 13 คำขอ ในพื้นทีอำเภอแก่งส้มแมวและนายายอาม ทั้งหมด 4 บริษัท ได้แก่ บริษัท เอราวัณ ไมนิ่ง, บริษัท ริชภูมิ ไมนิ่ง, บริษัท พารอน ไมนิ่ง และบริษัท ซินเนอร์ยี่ ไมนิ่ง ซึ่งในปัจจุบันยังไม่มีคำขอใดได้รับการอนุญาต |