บันทึกมือบันทึกใจ Local Voice II : ฟังเสียงคนกับปัญหาช้างป่าภาคตะวันออก

บันทึกมือบันทึกใจ Local Voice II : ฟังเสียงคนกับปัญหาช้างป่าภาคตะวันออก

ช้าง สัตว์สัญลักษณ์คู่บ้านคู่เมืองของประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มักปรากฏหลายพื้นที่ไม่ว่าจะเป็นปีนักษัตรของล้านนา สัญลักษณ์ประจำจังหวัด แม้กระทั่งเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ประจำของฝากไทย เป็นต้น ช้างมีกระจายอาศัยอยู่ทั่วประเทศไทย แต่เมื่อจำนวนของประชากรคนและช้างกำลังเพิ่มจำนวนขึ้นในพื้นที่จำกัดทำให้เกิดปัญหาเรื่องการแย่งชิงพื้นที่อาหารและที่อยู่อาศัย พื้นที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดปัจจุบันคือภาคตะวันออก

ภาคตะวันออกที่มีพื้นที่กว่าร้อยละ 7 ของประเทศแน่นอนว่าไม่ได้มีเพียงเรื่องของ EEC ที่กำลังเป็นประเด็นเท่านั้น อีกเรื่องคือความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่าที่อยู่โดยรอบป่ารอยต่อ 5 จังหวัดคือฉะเชิงเทรา สระแก้ว จันทบุรี ระยอง และชลบุรีซึ่งส่งผลกับชาวบ้านในทั้งในแง่ของการใช้ชีวิตหรือมิติเศรษฐกิจ

รถแห่ Local Voice ฟังเสียงคนท้องถิ่นของเรามีจุดมุ่งหมายเดินทางเข้าหาผู้คนเพื่อรับฟังเสียงที่ใครหลายคนไม่เคยได้ยิน รอบนี้ทีมสื่อพลเมืองได้นำรถแห่ไปฟังเสียงของผู้คนในพื้นที่ 25-28 ตุลาคม ที่ผ่านมากับ 4 วัน 4 จังหวัดเพื่อรับฟังเรื่องราวของ “ช้างป่า” ที่เต็มไปด้วยเรื่องราวกับอีกมุมของช้างที่เชื่อว่าหลายคนไม่เคยรู้

วันที่ 1 อ.ท่าตะเกียบ จ.ฉะเชิงเทรา 

ศูนย์ศึกษาเรียนรู้ช้างป่าตะวันออก บ้านหนองปรือกันยาง

เริ่มเส้นการเดินทางรอบใหม่ ทีมสื่อพลเมืองเดินทางไปที่ศูนย์ศึกษาเรียนรู้ช้างป่าตะวันออก ภายในพื้นที่ครึ่งหนึ่งล้อมไปด้วยสวนยางพาราและอีกฟากเป็นอาคารเรียนของโรงเรียนบ้านหนองปรือกันยาง โดยรอบมีสิ่งที่น่าสนใจอยู่อีกอย่างคือคอกแพะเนื้อที่ส่งเสียงร้องเรียกทุกครั้งเมื่อเราเข้าไปหา คอกแพะนี้สร้างขึ้นเพื่อป้องกันไม่ให้ช้างป่าเดินผ่าน 

พื้นที่อ.ท่าตะเกียบ จ.ฉะเชิงเทราเป็นหนึ่งในพื้นที่มีความขัดแย้งสูง จากสถานการณ์ช้างดุร้ายทำร้ายชาวบ้านเสียชีวิตในคราวเดียว 2 คนใน 1 วัน ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ไม่รวมถึงทีมอาสาเฝ้าระวังช้างป่าเขาตะเกียบเล่าว่า ช้างป่ามักจะลงมาพื้นที่เกษตรและชุมชนตามฤดูกาลของการเพาะปลูกพืชแต่ละชนิดเช่น มันสำปะหลัง ข้าว ใบยางพารา เป็นต้น หลายครั้งมักจะบุกพังเข้าไปในบ้านเรือนเพื่อกินของโปรดคือน้ำตาลและผงชูรส

ช่วงแรกก่อนเริ่มวงทางทีมสื่อพลเมืองมีกิจกรรม  “ ปักหมุดพิกัดช้างป่า ” เป็นกิจกรรมชวนปักหมุดบนแผนที่ดาวเทียมขนาดใหญ่ของภาคตะวันออก ตามสติกเกอร์แต่ละประเภทของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเช่น จุดพักช้าง จุดมีคนบาดเจ็บหรือเสียชีวิต จุดที่ผลผลิตทางการเกษตรได้รับความเสียหาย เป็นต้น ทำให้มองเห็นถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ในแต่ละจุดและทำให้ปัญหาช้างป่าได้มองเห็นเป็นภาพใหญ่มากขึ้น

ช่วงแรกที่ตั้งแผนที่ก็ยังไม่มีใครกล้าเข้ามาร่วมกิจกรรมมากนัก ภายในศาลาหลังเล็กเต็มไปด้วยบรรยากาศของความเคอะเขิน ต่างทีมต่างส่งหัวหน้าตัวแทนออกมาเพื่อที่จะชี้จุดของช้างว่ามีอะไรบ้าง แต่ว่าหลังจากนั้นไม่กี่อึดใจเสียงที่เงียบก็เต็มไปด้วยการพูดคุยแลกเปลี่ยนจากชาวบ้านออกรสออกชาติกันเต็มที่ แม้ว่าจะมีการถกเถียงกันอยู่บ้างแต่ก็ถกกันด้วยชุดข้อมูลจากประสบการณ์ ทั้งพฤติกรรมช้างที่ทำร้ายผู้คนที่นอนพักอยู่ในศาลา 

เมื่อทีมอาสามาพร้อมหน้ากัน ทีมสื่อพลเมืองจึงได้จัดการร่วมอบรมการสื่อสารโดยใช้แอปพลิเคชัน C-site กิจกรรมแนะนำพร้อมชวนแลกเปลี่ยนประเด็นทั้งในด้านการเขียน การถ่ายภาพและการใช้งานแอปพลิเคชั่น C-site เป็นช่องทางการสื่อสารจากทาง Thai PBS แบบการรายงานระบุตำแหน่งโดยนักข่าวพลเมือง เพิ่มประสิทธิภาพในการสื่อสารให้มีพลังมากขึ้นทั้งต่อคนเขียนและอ่านข่าว 

พี่ ๆ อาสาได้ทดลองรายงานสถานการณ์ตามหลักการสื่อสารที่คำนึงถึงความครบถ้วนทั้งในแง่ของเนื้อหา ข้อมูล และภาพประกอบโดยใช้ภาพช้างป่าที่มีอยู่แล้วออกมาเล่าสู่กันฟัง ซึ่งมีทั้งภาพและวิดีโอทำให้มองเห็นถึงช้างป่าที่เข้ามาในจุดต่าง ๆ ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

เมื่อทุกคนลองได้ปักทำให้มองเห็นถึงสถานการณ์ช้างป่าที่มีกิจกรรมมากกว่าการล่าตระเวนในแต่ละวัน มีการจัดทำบังเกอร์หลบภัยช้างป่า จุดพบช้างป่าที่ขึ้นมาบนถนน เป็นต้น ทำให้พี่ทีมอาสาได้มีพื้นที่การรายงานสถานการณ์พื้นที่มากขึ้นจากเดิม แต่สำคัญไปกว่านั้นคือการได้เพิ่มเครื่องมือและร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลพื้นที่กับทีมอาสาคนทำงานกับช้างป่าอย่างเข้มข้น 

ตลาดท่าตะเกียบ 

มายังตลาดท่าตะเกียบที่มีระยะทางห่างจากศูนย์การเรียนรู้ช้างป่าตะวันออกอยู่ประมาณ 30 นาที ภายในตลาดท่าตะเกียบถือได้ว่าเป็นตลาดขนาดกลางมีการจับจ่ายใช้สอยของผู้คนหลากหลายเชื้อชาติไม่ว่าจะเป็นคนไทย เมียนมา แม้แต่ชาวตะวันตก หลายคนมือเต็มไปด้วยของกินและของใช้ 

กิจกรรมที่มีเข้ามาเพิ่มนอกจากปักหมุดพิกัดช้างป่าคือช้างป่าแก้แบบไหน? ให้ผู้เข้าร่วมได้รับลูกบอลคนละ 3 ลูกเลือกหยอดบอลลงตะกร้าแนวทางการแก้ไขปัญหาช้างป่า 6 ข้อ จากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้แก่ 

  • การจัดการพื้นที่ป่าอนุรักษ์เพื่อเป็นแหล่งอาศัยของช้างป่า 
  • แนวป้องกันช้างป่า 
  • ชุดเฝ้าระวังและผลักดันช้างป่าและเครือข่ายชุมชน
  • การช่วยเหลือประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากช้างป่า 
  • การจัดการพื้นที่รองรับช้างป่าอย่างยั่งยืน 
  • การควบคุมประชากรช้างป่า ด้วยวัคซีนคุมกำเนิด

ลูกบอลสามารถหยอดได้ตามอัธยาศัย ทำให้มองเห็นถึงแนวโน้มของประชาชนมีความเห็นต่อแนวทางการจัดการแบบไหนมากที่สุดในพื้นที่ต่างๆ และรถแห่สตูดิโอ กิจกรรมบันทึกเสียง ภาพความฝัน ความหวัง ที่อยากให้เกิดขึ้น ผ่านสตูดิโอเคลื่อนที่ หลังจากนั้นจะนำมารวมจัดเป็นนิทรรศการเสียงประชาชนคนท้องถิ่นทั่วประเทศไทย

เมื่อเปิดโซนรถแห่อย่างเป็นทางการ ชาวบ้านที่เข้ามาในตลาดก็หยุดแวะเข้ามาทักทาย พูดคุยแลกเปลี่ยนกับทีมสื่อพลเมือง ประเด็นของช้างป่าในพื้นที่นี้เป็นที่รับรู้ของชาวบ้านมาโดยตลอดแต่ก็มีมุมมองต่อช้างป่าที่แตกต่างกันออกไป ทั้งในเรื่องของการใช้ชีวิตที่ลำบากไม่สามารถออกมากรีดยางในช่วงกลางคืนได้เพราะเป็นช่วงเวลาที่ช้างออกมาหากิน ในเรื่องของเสียงในพื้นที่ในกลางคืนเหมือนกับมีสงครามกำลังเกิดขึ้นจากเสียงประทัดไล่ช้างป่า บางคนเล่าว่าคนกับช้าไม่สามารถอยู่ด้วยกันได้ บางคนบอกว่าเราต้องหาทางประนีประนอมเพื่อให้อยู่ร่วมกันให้ได้

สิ่งที่ได้รับจากช่วงเย็นนอกเหนือจากได้ร่วมแปะหมุดช้างป่า หยอดบอลลงตะกร้าและได้ส่งเสียงบันทึกภาพกับสตูดิโอแล้ว อีกอย่างที่ทุกคนได้รับคือการพูดคุยแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกันอย่างเต็มที่โดยที่หลายคนไม่ได้รู้จักกันมาก่อน ทำให้เกิดพื้นที่ของการสื่อสารแห่งใหม่ เกิดการรับฟังต่อกันอย่างตั้งใจสามารถมองเห็นประเด็นช้างป่าหลายมิติมากขึ้น

วันที่ 2 วัดเขาบ่อกวางทอง จ.ชลบุรี 

ผ่านวันแรกพร้อมการตอบรับจากชาวบ้านมากมาย เดินทางไปยังจุดหมายต่อไปในพื้นที่วัดเขาบ่อกวางทอง จ.ชลบุรี เป็นจุดนัดพบกับพี่ทีมอาสาเฝ้าระวังช้างป่าในจังหวัดชลบุรี ซึ่งจังหวัดเป็นพื้นที่ติดกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤๅไนภายในพื้นที่เองก็เป็นหนึ่งในจุดที่ได้รับผลกระทบจากช้างป่าเช่นเดียวกัน ซึ่งในปัจจุบันประชากรของช้างและสถานการณ์ความขัดแย้งยังไม่ลดลง

แม่ค้าในพื้นที่เล่าว่า หลังบ้านเข้าซอยไปไม่กี่วันที่ผ่านมามีกลุ่มช้างป่าเดินทางลงมาจากเขาเพื่อกินมันสำปะหลังที่ปลูกไว้ ผลผลิตของชาวบ้านเกิดความเสียหายทั้งหมด เมื่อมองด้วยสายตาจากร้านข้าวไปยังภูเขาคาดว่าน่าจะห่างกันไม่ถึง 2 กิโลเมตรเท่านั้น หมายความว่าช้างที่นี่เข้าใกล้เขตชุมชนมากไม่ต่างกับพื้นที่อ.ท่าตะเกียบ จ.ฉะเชิงเทรา

กิจกรรมหลักของเราในวันนี้คือการชวนอาสาสมัครมาร่วมกันแลกเปลี่ยนสถานการณ์ในพื้นที่ อบรมการสื่อสารและร่วมกิจกรรมรถแห่กับทีมสื่อพลเมือง ขณะที่ปักหมุดพิกัดช้างป่าของเราถือว่ายังเป็นจุดขายดีพี่อาสาแต่ละกลุ่มร่วมกันปรึกษาและชี้จุดกันในทีม เพื่อรายงานสถานการณ์ช้างของพื้นที่ตัวเองอย่างตั้งใจอีกทั้งยังมีร่วมหยอดบอลนโยบายและขึ้นรถแห่แชร์เรื่องกับเรา

ส่วนบรรยากาศภายในกระบวนการอบรมการสื่อสารถือได้ว่ามีการแลกเปลี่ยนประเด็นของแต่ละกลุ่มถือได้ว่าเฉพาะตัวมากถึงแม้ว่าจะมีเขตติดกันก็ตาม ความเคอะเขินยังคงมีปรากฏให้เห็นอยู่ในช่วงแรกแต่เมื่อได้เปิดอกบอกเล่าก็ทำให้มองเห็นถึงการทำงานที่เต็มไปด้วยความยากลำบากและต้องเผชิญหน้ากับความอันตรายตลอดเวลา จนบอกเล่าถึงความในใจที่อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมองเห็นถึงชีวิตการทำงานและการสนับสนุนที่ตรงจุดและถูกทางต่อการทำงาน

เหตุการณ์ช้างป่าที่เจอมีประสบการณ์ที่คนนอกอย่างทีมสื่อพลเมืองยังไม่เคยรู้เช่น หากในพื้นที่ไหนมีช้างป่าเข้ามาหากินเพียงตัวเดียวระยะเวลาไม่เกิน 10 ปีจะมีช้างฝูงลงมาหากิน หรือ ช้างกินสับปะรดกินแค่ลูกที่มีรถหวานและไม่กินแกน ต้นมะพร้าวที่กินแค่ยอดอ่อนแต่หักล้มทั้งต้น เป็นต้น

หลังจากจบส่วนของการอบรมสื่อสาร พี่อาสาก็หลายคนได้ร่วมขึ้นไปแลกเปลี่ยนกันบนสตูดิโอรถแห่ของเรากันอีกครั้ง หลังจบวงสิ่งที่รู้สึกได้คือพี่อาสาฯแชร์เรื่องราวให้ทีมได้รับฟังมากขึ้นผ่านรถแห่สตูดิโอ

วันที่ 3 อ.แก่งหางแมว จ.จันทบุรี 

เช้าตรู่ของวันที่ 3 ของรถแห่เราได้ออกเดินทางเกือบ 60 กิโลเมตร สู่ เทศบาลตำบลพวา อ.แก่งหางแมวชายแดนรอยต่อระหว่างจ.จันทบุรีและจ.ระยอง ในวันนี้กิจกรรมของเราให้ความสำคัญเพราะมีประสบการณ์แก้ไขปัญหาช้างป่าและมีการทำงานของทีมอาสาเฝ้าระวังช้างป่าที่เป็นระบบ จนทำให้ความเสียหายที่เกิดขึ้นในพื้นที่ลดน้อยลงและชาวบ้านในพื้นที่มีทัศนคติเข้าใจช้างมากขึ้น งานในวันนี้จึงจัดวงเสวนาประสบการณ์ทำงานทีมอาสาเฝ้าระวังช้างป่าในจังหวัดและการมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการช้างป่า

นอกเหนือจากพื้นที่วงเสวนาและกิจกรรมจากทีมสื่อพลเมืองแล้ว ยังมีการนำเสนอถึงแนวทางการปรับตัวและจัดการช้างป่าในภาคประชาชนด้วย หนึ่งในนั้นคือกลุ่มเครือข่ายวนเกษตร ที่ปรับตัวจากการปลูกพืชที่เป็นอาหารของช้างป่าเป็นพืชที่ช้างไม่กินแทน อีกทั้งยังมีการนำมาแปรรูปปรับเปลี่ยนเป็นสินค้าเพื่อสุขภาพเช่น น้ำมันเทพทาโรแก้ปวดเมื่อย ไม้ฝางแก้ไอเจ็บคอ ไผ่จืดช่วยล้างสารพิษในร่างกาย เป็นต้น สินค้าของทางลุ่มในได้รับความนิยมอยู่เรื่อยๆ จากการบอกปากต่อปากของผู้ใช้จนปัจจุบัน

ภาพรวมของวันนี้เต็มไปด้วยพี่อาสาและยังมีประชาชนทั่วไปเข้ามาร่วมรับฟังในประเด็นด้วย กิจกรรมของทีมสื่อพลเมืองมีการตอบรับจากทุกคนเป็นอย่างดี ทำให้มองเห็นการจัดการปัญหาที่ไม่ได้เกิดเพียงการจัดการหน่วยเฝ้าระวังที่มีความเข้มแข็งมาก มีเครือข่ายที่คอยสื่อสารกันแต่ละพื้นที่และการสร้างความเข้าใจให้กับชาวบ้าน อีกด้านหนึ่งชาวบ้านเองก็สร้างภูมิปัญญาป้องกันช้างป่าด้วยตัวเองตัวอย่างเช่นการสร้าลวดกำแพงไฟฟ้าจากลวดเหล็ก เป็นต้น 

สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืนในวงเสวนาได้มีการนำเสนอหลักการชัดเจนอยู่หนึ่งประเด็นคือเรื่องของการสร้างแนวกันช้าง ผู้เสนอให้ความเห็นว่าการสร้างแนวกันช้างนี้จะทำให้ปัญหาช้างออกจากป่าลดลงได้อีกทั้งยังสร้างเป็นจุดท่องเที่ยวแห่งใหม่ให้เกิดขึ้นได้อีกด้วย เป็นที่น่าเสียดายว่ายังไม่ได้เห็นถึงแนวทางการจัดการแบบอื่นที่ชัดเจน ส่งท้ายจุดกิจกรรมขายดีของวันนี้ต้องยกให้กิจกรรมช้างป่าแก้แบบไหน? ที่มีคนสนใจเข้ามาตั้งแต่เพิ่งจัดพื้นที่เสร็จไม่ถึง 5 นาทีจนถึง 10 นาทีสุดท้ายที่จะเก็บของขึ้นรถจนหมด

สามารถฟังวงเสวนาย้อนหลังได้ที่นี่ 

ช่วงที่ 1 : https://www.facebook.com/100081516573872/videos/353316267258035

ช่วงที่ 2 : https://www.facebook.com/100081516573872/videos/1675455072940636 

วันที่ 4 อ.วังจันทร์ จ.ระยอง

ท้ายสุดของรถแห่ในปีนี้ได้เดินทางมาปิดจบที่ ต.ชุมแสง อ.วังจันทร์ จ.ระยอง ในวันนี้ทีมสื่อพลเมืองมาร่วมกันจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ การเพิ่มศักยภาพภาคีเครือข่ายท้องถิ่นเพื่อการจัดการช้างป่านอกพื้นที่อนุรักษ์อย่างยั่งยืนพื้นที่กลุ่มป่าตะวันออก ภายใต้ โครงการวิจัยและพัฒนาต้นแบบเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืนระหว่างคนกับช้างในประเทศไทย ซึ่งเป็นความร่วมมือของ สมาคมสัตววิทยาแห่งลอนดอน (ZSL) ประเทศไทย เครือข่ายเสียงคนเสียงช้าง มูลนิธิสืบ นาคะเสถียร ศูนย์ศึกษาเรียนรู้ช้างป่าภาคตะวันออกและกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

วงเสวนาวิชาการที่เชิญผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจากหลายภาคส่วนทั้งส่วนราชการ นักวิชาการ การเมืองและประชาชนเข้ามาร่วมแลกเปลี่ยน ถกประเด็นร่วมกัน ภายในงานนี้มีวงเสวนาแบ่งออกเป็นสองช่วง ช่วงแรกเป็นวงเสวนาเรื่อง “บทเรียนการจัดการช้างป่าตะวันออก” ใจความสำคัญของวงคือบทเรียนการจัดการ ช้างป่ากลุ่มป่า ตะวันออกจาก เจ้าหน้าที่เขตอนุรักษ์ทั้ง 5 จังหวัดประกอบด้วยฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง ปราจีนบุรีและจันทบุรี 

สามารถฟังวงเสวนาย้อนหลังได้ที่นี่ : https://fb.watch/omO1xlIwWN/

ช่วงสองเป็นเรื่อง “การกระจายอำนาจการจัดการช้างป่า” มีผู้ให้ข้อมูลหลากหลายภาคส่วนมากทั้งกรมอุทยานฯ กรรมการสิทธิมนุษยชน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ตัวแทนภาคประชาชน เป็นต้น ร่วมกันนำเสนอถึงแนวทางการบริหารจัดการช้างป่านอกพื้นที่อนุรักษ์ในระดับท้องถิ่นและแนวทางแก้ไขระเบียบท้องถิ่นที่เอื้อต่อการจัดการช้างป่าโดยชุมชน 

เกือบจบวงมีการแลกเปลี่ยนจากผู้คนที่รับฟังอย่างคึกคัก ความน่าสนใจคือแต่ละคนที่เข้ามาแลกเปลี่ยนต่างทราบถึงปัญหาเป็นอย่างดีพร้อมนำเสนอถึงทางออกอย่างเป็นระบบกันทุกคน เช่น ในช่วงฤดูหนาวจะมีช้างตกมันจำนวนมากเสนอแนวทางวาระเร่งด่วนรวมพลไล่ช้างกลับเข้าป่าให้หมดและมีการทำกำแพงล้อมช้าง 2 ชั้นอย่างสนามบินอู่ตะเภา จ.ชลบุรีและผามออีแดง และเรื่องแนวกำแพงที่มีอยู่และทีมอาสาไม่ได้รับการดูแลคิดแต่จะเบิกงบประมาณสร้างใหม่ เสนอว่าต้องใส่ใจกับการดูเเลเฉพาะหน้า เป็นต้น หากวงเสวนานี้ถูกนำต่อยอดขับเคลื่อนประเด็นต่อเพราะผู้คนในพื้นที่มีการตื่นรู้ในปัญหาและพร้อมมีส่วนร่วมในการแก้ไขต่อไป 

สามารถฟังวงเสวนาย้อนหลังได้ที่นี่ : https://fb.watch/omPxNCml5E/

ประชาชนต้องการแก้ปัญหาช้างป่าแบบไหน

จากกิจกรรม “ช้างป่าแก้แบบไหน?” ใน 4 พื้นที่ 4 จังหวัดผลของการหย่อนบอลจาก 6 แนวทางการแก้ไขปัญหาช้างป่า โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้แก่

1) การจัดการพื้นที่ป่าอนุรักษ์เพื่อเป็นแหล่งอาศัยของช้างป่า 

2) แนวป้องกันช้างป่า 

3) ชุดเฝ้าระวังและผลักดันช้างป่าและเครือข่ายชุมชน

4) การช่วยเหลือประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากช้างป่า 

5) การจัดการพื้นที่รองรับช้างป่าอย่างยั่งยืน 

6) การควบคุมประชากรช้างป่า ด้วยวัคซีนคุมกำเนิด

ซึ่งผู้เข้าร่วมผลหย่อนกิจกรรมกับทีมสื่อพลเมืองประกอบไปด้วยทีมอาสาเฝ้าระวังช้างป่า หน่วยงานรัฐ หน่วยงานเอกชนและประชาชนทั่วไป หลายเพศหลากวัย ผลออกมาได้ดังต่อไปนี้

จากข้อมูลที่เบื้องต้นพบว่าแต่ละพื้นที่จังหวัดมีความต้องการแนวทางการจัดการที่แตกต่างกัน จ.ฉะเชิงเทราต้องการแนวทางการจัดการพื้นที่รองรับช้างป่าอย่างยั่งยืน  จ.ชลบุรีและจ.ระยองต้องการแนวทางชุดเฝ้าระวังและผลักดันช้างป่าและเครือข่ายชุมชน จ.จันทบุรีต้องการแนวทางการช่วยเหลือประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากช้างป่า นับว่าเป็นแนวทางสำคัญทำให้มองเห็นการมี่วนร่วมของประชาชนในการแก้ไขปัญหาช้างป่าในอนาคตต่อไป

ขอบคุณภาพจาก Thai News Pix

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ