มากว่าอาสา แต่คือเปิดการมีส่วนร่วมช่วยลดฝุ่นควัน: อาสาดับไฟป่า มูลนิธิกระจกเงา

มากว่าอาสา แต่คือเปิดการมีส่วนร่วมช่วยลดฝุ่นควัน: อาสาดับไฟป่า มูลนิธิกระจกเงา

เริ่มเข้าสู่ช่วงที่ฝุ่นควันของภาคเหนือเริ่มสูงขึ้นแล้ว นอกจากจะดูแลตัวเอง ดูแลครอบครัวแล้ว สามารถออกมาช่วยลดฝุ่นควันด้วยการเป็นอาสาสมัครดับไฟป่า มูลนิธิกระจกเงา ที่กำลังเปิดรับอยู่ช่วงนี้ และเพื่อให้เข้าใจเรื่องราวคร่าว ๆ เราเลยชวนไปคุยกับ 3 กูรู ที่อยู่กับงานอาสาสมัครดับไฟป่ามานาน อย่าง พี่แป้น ประไพ เกศรา พี่โจ้ ณัฐพล สิงห์เถื่อน และเบญ ณัฐรดา สมศรี ทีมอาสาดับไฟป่า จากมูลนิธินิกระจกเงา จ.เชียงราย ถึงเรื่องราวของอาสาดับไฟป่ากัน

อาสาคือการทำงานเคียงป่าเคียงไหล่กับชุมชน

พี่แป้น เล่าให้ฟังว่า การเผชิญเหตุไฟป่ายังมีคนทำงานตรงนี้น้อย เลยอยากขอเป็นส่วนหนึ่งที่ทำงานเคียงป่าเคียงไหล่กับคนในชุมชนช่วยกันดับไฟ พอทำงานไปด้วยกันเราจะเห็นชุมชนในมิติต่างๆ เมื่อเกิดความไว้วางใจ และเชื่อแล้วก็จะทำเรื่องการอนุรักษ์ไปในตัว และชุมชนส่วนใหญ่ที่ช่วยดูแลป่าคนอาจไม่มีมาก งบประมาณอาจไม่มาก แต่เราสามารถเข้าไปช่วยสนับสนุนพวกเขา อาจจะเป็นเครื่องเป่าใบไม้ น้ำมันเชื้อเพลิง หรืออาหารต่าง ๆ ก็สามารถช่วยเขาได้ เพราะคนในชุมชนที่เป็นหน่วยลาดตระเวนไฟเขาต้องสละเวลา 2-3 เดือนในการช่วยดูแลไฟป่า อาสาดับไฟเข้าไปร่วมทุกข์ร่วมสุขกับคนในชุมชนได้ เราเน้นดูแลพื้นที่ชุมชนที่อยู่ใกล้เคียง ในจังหวัดเชียงราย และมีขยายผลไปน่านหรือเชียงใหม่บ้าง เรามองว่าฉนัดงานแบบนี้ ส่วนคนอื่นหากถนัดทำเรื่องนโยบาย กฎหมาย เรื่องสุขภาพ ก็เป็นเรื่องดีที่ทุกคนมาช่วยกันโดยอาศัยความถนัดในการแก้ปัญหาฝุ่นควันไปด้วยกัน

การทำงานเป็นทีมเป็นเรื่องสำคัญ

เบญ เล่าเพิ่มว่า อาสาสมัครมีทั้งที่เป็นอาสาสมัครชุมชน ที่เป็นคนทำงานประจำไปตลอดฤดูฝุ่นควัน และอีกประเภทคืออาสาที่ประกาศรับสมัครเข้ามา อย่างปีนี้เปิดรับตั้งแต่ช่วงระยะเวลา 15 กุมภาพันธ์ – 30 เมษายน 2567 ที่ต้องมีเวลาร่วมกิจกรรมอย่างน้อย 5 วัน ร่างกายพร้อม ใจพร้อม และไม่เป็นโรคประจำตัวที่เป็นอันตราย และสามารถทำงานเป็นทีมได้ สามารถกดสมัครได้เลย โดยทางมูลนิธิกระจกเงาเชียงรายจะมีการปฐมนิเทศและให้ความรู้ถึงระเบียบการปฏิบัติต่าง ๆ ที่อาสาสมัครดับไฟ

พี่โจ้ เสริมต่อว่า เมื่อได้คนพร้อมแล้วก็จะแบ่งเป็น 3 ทีม คือ หนึ่งกองบัญชาการ มีผมเป็นหัวหน้าทีม หากมีการแจ้งเรื่องไฟเข้ามาทีมก็จะทำหน้าที่ประเมินสถานการณ์ โดยใช้โดรนความร้อน ดูทิศทางไฟ ทิศทางลม หรือเข้าพื้นที่ไปประเมินสถานการณ์หน้างาน เพื่อนำไปสู่การวางแผนงานให้มีความรอบคอบ รัดกุมที่สุด ทีมที่สอง คือ กองหน้า จะมีหัวหน้าชุด พลมีดนำทาง คนถือเครื่องเป่า พลสื่อสาร พลจักรยาน ถือถังเหลือง แบกน้ำสำรอง ถือถังน้ำมันเชื้อเพลิง ทีมเฉพาะกิจเกี่ยวกับน้ำ เครื่องปั้มน้ำ ลากสายยางแรงดันสูงขึ้นไป และสามคือกองหลังบ้าน และงานเซอร์วิส ดูแลตั้งแต่ทำอาหาร ซักเสื้อผ้า เตรียมความพร้อมของอุปกรณ์ เครื่องเป่าลม ปั้มน้ำต่าง ๆ ให้มีอุปกรณ์พร้อมทำงาน เพราะกองหน้าทำงานหนักและเหนื่อยเมื่อเสร็จงานดับไฟก็อยากให้พักเต็มที่ ซึ่งกองหลังบ้านตรงนี้มีความสำคัญเช่นกัน หากร่างกายไม่พร้อมเป็นกองหน้าก็สามารถเข้ามาร่วมเป็นคนหลังบ้านได้

หลังจากการปฐมนิเทศแล้วเราก็จะมีลำดับการทำงานให้แต่ละคนไล่ระดับไป เช่น เริ่มจากการเป็นคนแบกน้ำ ให้เห็นถึงกำลังตัวเองที่จะเดินทางขึ้นภูเขาชันได้ ก็จะขยับตำแหน่งขึ้นมาตามความถนัดและความพร้อมของแต่ละคน จะไม่ส่งไปเป็นกองหน้าโดยที่ไม่ได้มีประสบการณ์และความพร้อม

พี่แป้น ย้ำกับเราว่า เรื่องการทำงานเป็นทีมเป็นเรื่องสำคัญสำหรับอาสาดับไฟป่า ไม่ว่าจะเคยทำงานอะไรมา เป็นผู้นำที่ไหนมา หรือบางครั้งเจอไฟแล้วเกิดความฮึกเหิมอยากจะเข้าไปดับ เราต้องฟังหัวหน้าทีมและทีมประเมินไฟ หากเขาบอกให้ถอยก็ต้องทำตาม เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องอันตราย เราไม่อยากสูญเสีย และเราก็มีทีมที่ทำงานร่วมกันหนุนเสริมกัน และช่วยกันดูแลความปลอดภัยให้กัน

บทเรียนที่ผ่านมา เทคโนโลยี ตัวช่วยทำงานดะดวกขึ้น

พี่แป้น เล่าต่อถึงบทเรียนการทำงานที่ผ่านมาพบว่าเรื่องการเดินทางหรือโลจิสติกส์ เข้าไปในพื้นที่เป้าหมายเป็นเรื่องสำคัญ เพราะบางทีได้รับแจ้งเมื่อเห็นควันไฟ พอเอาเทคโนโลยีมาใช้ เอาโดรนความร้อนไปบินเห็นจุดไฟแล้ว การเข้าไปดับไฟไม่ใช่จะทำได้เลย ก็ต้องประเมินพื้นที่ประเมินการเดินทางกัน หากสามารถทำระบบเส้นทาง โดยให้คนในชุมชนดูพิกัดแผนที่เป็น มาช่วยบอกพิกัดที่ชัดเจน ก็จะทำให้เกิดความแม่นยำในการเข้าถึงจุดเกิดไฟ ปีนี้เราจึงได้อบรมให้กับอาสาสมัครชุมชนเรื่องการอ่านพิกัด อ่านแผ่นที่ รวมถึงต้องเข้าใจระบบป่าประเภทต่าง ๆ ป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ป่าดิบเขา ทิศทางลม แหล่งน้ำ ก็จะช่วยให้ประเมินสถานการณ์ได้ และอีกหนึ่งเรื่องคือเรื่องของเขตพื้นที่รับผิดชอบในการดูแลป่าของชุมชน บางทีเราพบว่าหากเดินทางจากชุมชนที่เป็นเจ้าภาพดูแลป่าอาจจะต้องใช้เวลาเป็นวัน จากความชันของเส้นทาง หากเข้าอีกหมู่บ้านที่อยู่ติดกันอาจจะร่นระยะเวลาเหลือเพียง 2 ชั่วโมง

เป็นมากกว่าอาสา แต่เป็นการเปิดการมีส่วนร่วมช่วยลดฝุ่นควัน

ทั้งสามคนขยายความของการเป็นอาสาดับไฟป่ามูลนิธิกระจกเงา ว่าพอเราเปิดงานตรงนี้ทุกคนก็สามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการเป็นอาสาได้ ไม่ว่าจะมีความถนัดแบบไหน เช่น หากคุณมีความรู้เรื่องของการอ่านพิกัดแผนที่ทางอากาศ มีความรู้เรื่องวิทยุสื่อสาร ก็สามารถมาช่วยได้ และเป็นเรื่องจำเป็นมาก เพราะการสื่อสารไปถึงทีมแต่ละทีมหน้างานได้เป็นเรื่องสำคัญ หรือ มีความรู้เรื่องช่างก็สามารถเข้ามาช่วยดูแล บำรุงรักษา เรื่องมืออุปกรณ์ เครื่องเป่าลม ปั้มน้ำ หรือใครที่เป็นสายขี่รถวิบาก รถไฟฟ้าขึ้นภูเขาได้ก็มาเป็นทีมได้ หรือจะมาช่วยหลังบ้านในการดูแลอำนวยความสะดวก หรือจะสนับสนุนพวกน้ำดื่ม ขนมขบเคี้ยวที่ให้พลังงานสูงก็ได้ทั้งนั้น ตามกำลังและความสามารถของแต่ละคน

ขยายงานออกไปมิติอื่น นอกจากดับไฟป่า

พี่แป้นยังบอกต่อว่า นอกเหนือจากงานอาสาดับไฟป่าแล้วยังมีการสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานอื่น เช่น กับทางโรงพยาบาลเชียงรายในการตรวจปอดให้กับอาสาก่อนเข้าไปช่วยดับไฟ และหลังภารกิจ ซึ่งส่วนหนึ่งนอกจากจะเป็นการดูแลสุขภาพคนที่มาช่วยดับไฟแล้ว ยังเป็นการช่วยเก็บข้อมูลเพื่อให้เห็นถึงผลกระทบจากฝุ่นไฟด้วย ในขณะที่ภาคเอกชนก็เข้ามาช่วยดูแลเรื่องของใช้จำเป็นต่าง ๆ สอบถามความต้องการช่วยเหลือแต่จะมาในรูปแบบของ CSR หรือส่วนของรัฐที่ผ่านมาก็มีทหารอาสามาช่วยดับไฟ แต่ตรงนี้ยังเก้กัง ๆ กันอยู่ หากมีการเตรียมการอบรมล่วงหน้าก็ช่วยได้มาก

ตอนนี้ยังมีเรื่องของการดูแลกลุ่มผู้เปราะบางในพื้นที่ด้วยการรับบริจาคเรื่องฟอกอากาศมือสอง ก็มีคนส่งเข้ามา หากใครมีความรู้เชิงช่างก็สามารถมาช่วยเปลี่ยนไส้กรอง หรือช่วยแซมแซมได้ และก็ยังมีเครื่องผลิตออกซิเจนให้สามารถยืมไปใช้สำหรับครอบครัวที่มีผู้ป่วยด้วย รวมถึงการขยายผลเรื่องการอบรมให้ความรู้เรื่องการเผชิญไฟให้กับคนกลุ่มต่าง ๆ อย่างที่ผ่านมาก็มีไปฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการการดับและสกัดกั้นไฟป่าในขอบเขตป่าสงวนแห่งชาติน้ำก๋าน แขวงบ่อแก้ว ให้กับแกนนำชาวบ้าน พนักงานการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ของภาคเอกชน และเจ้าหน้าที่ป่าไม้ ที่ประเทศลาว ไปจนถึงวัดวาอารมต่าง ๆ ที่อยู่ในเขตป่าก็ควรมีทักษะตรงนี้ด้วย

หากสนใจร่วมเป็นอาสาดับไฟกับมูลนิธิกระจกเงา หรือช่วยเหลือด้านอื่นๆตามกำลังความสามารถ ก็สามารถปรึกษาหรือคุยกันได้ที่ช่องทางเฟซบุ๊กมูลนิธิกระจกเงา  หรือโทร. 062-923-1503 / 053-737-616 ( เนียร์ ) เพราะพี่แป้นบอกเรามาว่าทุกคนเป็นอาสาได้ ยังมีความต้องการตามงานที่หลากหลาย และทึกคนสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการลดฝุ่นควันได้ เพราะเรามีลมหายใจเดียวกัน

ขอบคุณภาพและเรื่องราวจาก: มูลนิธิกระจกเงาเชียงราย

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ