คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เห็นชอบหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินผลกระทบทางสุขภาพ (HIA) ฉบับที่ 2 เน้นให้หน่วยงานเจ้าของเรื่องนำไปใช้เองเพื่อสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมและลดความขัดแย้งของสังคม หวังลดผลกระทบทางสุขภาพของประชาชนและชุมชนจากการดำเนินงานโครงการ แผนงาน และนโยบายทุกระดับ ย้ำต้องนำหลักเกณฑ์ไปใช้จริงโดยสร้างกระบวนการเรียนรู้ของสังคมวงกว้าง เร่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้สาธารณะได้รับทราบต่อไป
19 พ.ค. 2559 ในการประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 3/2559 มี พลเรือเอกณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน พร้อมด้วย พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ศาสตราจารย์คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และกรรมการสุขภาพแห่งชาติจากหน่วยงาน องค์กรต่าง ๆ ณ ห้องประชุม 301 ชั้น 3 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล
พลเรือเอกณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ได้ให้ความเห็นชอบ ร่างประกาศคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพที่เกิดจากนโยบายสาธารณะ ฉบับที่ 2 พ.ศ. … ซึ่งเป็นไปตามหน้าที่ของคณะกรรมการฯ ตามมาตรา 25 (5) ของพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 โดยเป็นการปรับปรุงจากหลักเกณฑ์ฉบับแรกที่บังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2552 เพื่อให้ทันต่อสถานการณ์และเหมาะสมกับบริบททางสังคมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
“หลักเกณฑ์และวิธีการประเมินผลกระทบทางสุขภาพฉบับใหม่นี้ ไม่ใช่เครื่องมืออนุมัติ อนุญาตโครงการ แต่เป็นเครื่องมือหนุนเสริมกระบวนการสร้างความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง จะช่วยลดความขัดแย้งอันอาจเกิดจากผลกระทบทางสุขภาพจากการดำเนินแผนงาน โครงการ และนโยบายต่าง ๆ โดยสร้างการยอมรับที่เกิดจากการมีส่วนตัดสินใจร่วมกัน ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการขับเคลื่อนการทำงานที่เป็นประโยชน์กับประชาชน และหวังว่าทุกหน่วยงานทั้งในส่วนกลางและท้องถิ่นจะได้นำหลักเกณฑ์ตามประกาศฯ นี้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด รวมถึงชุมชนสามารถนำไปปรับใช้เป็นคู่มือประเมินผลกระทบทางสุขภาพของชุมชนด้วย”
ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวเสริมว่า “หลักเกณฑ์ฉบับนี้จัดทำมาแล้วอย่างดี แต่ที่สำคัญคือ ต้องสนับสนุนให้มีการนำไปใช้ปฏิบัติให้เกิดผล ให้ได้ข้อมูลจากการประเมินผลกระทบทางสุขภาพได้จริง และต้องทันเวลาใช้ประโยชน์ข้อมูลด้วย”
นพ.วิพุธ พูลเจริญ ประธานกรรมการพัฒนาระบบและกลไกการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ กล่าวว่า หลักเกณฑ์และวิธีการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ (Health Impact Assessment: HIA) ตามประกาศฉบับใหม่ มุ่งเน้นที่การสร้างความเข้าใจในหลักการและกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนเป็นสำคัญ
“หลักเกณฑ์ฉบับใหม่นี้มีพัฒนาการที่แตกต่างจากฉบับแรกหลายประเด็น และเชื่อว่าจะทำให้เกิดการดำเนินงานได้ดีกว่าเดิม โดยสนับสนุนให้มีการพัฒนาหลักเกณฑ์ที่เหมาะสมกับแต่ละระดับและประเภทนโยบาย แผนงาน โครงการ เน้นการทำงานและใช้ความรู้ข้ามสาขาวิชาชีพ ใช้ข้อมูลข้อเท็จจริงทั้งทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ควบคู่กับข้อมูลทางสังคม โดยเฉพาะข้อมูลจากภาคประชาสังคม สื่อสารข้อมูลให้ทุกฝ่ายเข้าใจได้ง่าย ให้ความสำคัญกับการตั้งโจทย์ที่เป็นเป้าหมายการประเมินผลแต่ละขั้นตอน และกำหนดกลไกการตรวจสอบที่ชัดเจน รวมถึงกระจายการดำเนินการและประสานงานไปตามบทบาทหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรง ไม่รวมศูนย์การประสานงานอยู่ที่ สช.เท่านั้น”
เนื้อหาที่ปรับปรุงใหม่จะมุ่งให้เกิดการทำ HIA เชิงรุก เริ่มตั้งแต่นโยบายหรือโครงการที่ยังไม่ได้จัดทำข้อเสนอที่เป็นรูปธรรม ก็สามารถชวนทุกภาคส่วนเข้ามาก่อกระบวนการร่วมกัน จัดทำข้อมูลทั้งเชิงวิชาการและเชิงสังคม ก่อนเสนอทางเลือกเพื่อการตัดสินใจที่ทุกฝ่ายยอมรับ รวมถึงโครงการที่มีการดำเนินการไปแล้วและเกิดผลกระทบทางสุขภาพกับชุมชน ก็สามารถนำหลักเกณฑ์ HIA นี้ไปใช้ เพื่อสร้างความชัดเจนร่วมกันว่าจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร เพื่อการพัฒนาและอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืนต่อไป
นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า หลังจากคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติให้ความเห็นชอบ ร่าง ประกาศหลักเกณฑ์ฯ ฉบับใหม่นี้แล้ว สช. จะเร่งดำเนินการเพื่อลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้สาธารณะได้รับทราบต่อไป ในระหว่างนี้คณะกรรมการฯ ได้มีมติเห็นชอบให้ใช้ประกาศหลักเกณฑ์ฯ ฉบับ พ.ศ.2552 ไปก่อนจนกว่าประกาศฯ ฉบับที่ 2 จะมีผลบังคับใช้ต่อไป