สถานีรถไฟอยุธยาที่อยู่เคียงข้างชาวอยุธยามาเป็นระยะเวลากว่า 130 ปี ที่นี่กำลังกลายเป็นหนึ่งในสถานีสำคัญของโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน จากกรุงเทพมหานครไปหนองคาย ระยะทางกว่า 608 กิโลเมตร ที่จะเชื่อมการเดินในเวลา 3.45 ชั่วโมง
ปัจจุบันโครงการฯ อยู่ระหว่างการก่อสร้างเส้นทางระยะที่ 1 กรุงเทพ-โคราช และรอการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบต่อแหล่งมรดกโลก หรือ Heritage Impact Assessment (HIA) ครั้งแรกของประเทศไทย จากข้อทวงติงเรื่องตัวสถานีที่บดบังทัศนียภาพ
ความเจริญที่กำลังเข้ามาได้รับเสียงตอบรับที่ดีจากแทบทุกฝ่าย แต่ด้านหนึ่งกลับบดบังทำให้เสียงของผู้คนและสีสันของชีวิตคนรอบข้างถูกมองข้ามไป ทีมข่าวพลเมืองชวนมองภาพและถ้อยคำของผู้คนโดยรอบพื้นที่ ถึงความทรงจำและความรู้สึกที่มีต่อรถไฟความเร็วสูง
“สถานีอยุธยาไม่ได้มีแค่ความสำคัญในด้านประวัติศาสตร์แต่นี่คือศูนย์กลางการคมนาคมและเศรษฐกิจของจังหวัด”
กลุ่มอโยเดียคลับ
สถานีอยุธยา เป็นหนึ่งสถานีแรก ๆ ในประเทศไทยหลักฐานที่เด่นชัดของประวัติศาสตร์นี้คือสถาปัตยกรรมของสถานีที่ถูกสร้างขึ้นมาตั้งแต่รัชสมัยของรัชกาลที่ 6
ในความทรงจำของคนพื้นที่อยุธยานี่คือชุมทางสายสำคัญของจังหวัดเพราะเป็นสถานีที่สามารถเดินทางเข้าไปยังกรุงเทพมหานครและไปภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือได้ อีกทั้งยังเป็นท่าของการค้าขายของชาวบ้านบนรถไฟควบคู่กันมาด้วย ปัจจุบันกลุ่มผู้โดยสารหลักคือนักเรียน นักศึกษาและคนทำงานจำนวนมากทุกเช้าเย็น
ฉะนั้นสถานีอยุธยาจึงมีความสัมพันธ์กับชาวบ้าน สามารถพบผู้โดยสารทุกช่วงวัยและหลายชนชาติที่เข้ามาใช้บริการ หากโครงการรถไฟความเร็วสูงเข้ามาผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงคือกลุ่มนักเรียน นักศึกษาและคนทำงานที่ต้องเดินทางทุกวัน บวกกับความไม่ชัดเจนของโครงการฯว่าหากรถไฟความเร็วสูงเข้ามาขบวนรถไฟเดิมยังมีให้บริการเหมือนเดิมมั้ย ที่พักรอจะเป็นอย่างไร
“ย้ายวิหารออกจากที่เดิมได้แต่ว่าต้องไม่ออกจากเขตชุมชนของเรา”
ชาวบ้านชุมชนสุริยะมุนี
วิหารพระสุริยะมุนี หรือ หลวงพ่อคอหัก ซึ่งมีลักษณะเป็นพระพุทธรูปนาคปรกที่ประดิษฐานอยู่ตรงกลาง ลักษณะศิลปะแบบทวารวดี สังเกตได้จากมีสถูปโบราณขนาบทั้งสองข้าง
เรื่องราวที่ชาวบ้านมักจะมาบอกกล่าวขอพรกับหลวงพ่อสามารถขอได้ทุกเรื่อง และแน่นอนว่าเรื่องยอดฮิตที่มักจะขอกันไม่พ้นเรื่องโชคลาภและการเสี่ยงโชค มีหลายคนประสบความสำเร็จตามความตั้งใจและได้นำของมาถวายกับหลวงพ่ออยู่เสมอ มีข้อแม้ว่าสิ่งที่ขอต้องไม่เกินตัวเพราะอาจได้รับบาปกลับมาแทน
หลวงพ่อคอหักถือเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวบ้านในพื้นที่มาหลายชั่วอายุคนตั้งแต่รุ่นตายาย พื้นที่วิหารเป็นหนึ่งในพื้นที่หากมีการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงจะต้องมีการย้ายออกไป ชาวบ้านหลายคนให้ความเห็นว่าสามารถย้ายได้แต่จะต้องไม่ออกไปจากเขตของชุมชน หลวงพ่อจะต้องอยู่ร่วมกับผู้คนในชุมชน
“ท่าเรือตรงนี้สมัยก่อนมีทั้งขนซุงตามน้ำ ขนสินค้ามาจากกรุงเทพ ขนผู้คนมาจากทางด้านบนเพื่อมาขึ้นรถไฟที่นี่”
ชาวบ้านชุมชนหน้าสถานีรถไฟ
เดินออกจากสถานีอยุธยามาทางทิศตะวันตกจะผ่านกับซอยที่สองข้างทางเต็มไปด้วยร้านอาหาร ร้านเช่าจักรยานและบ้านพัก สุดสายจบที่แม่น้ำป่าสักซึ่งเป็นหนึ่งในแม่น้ำที่มีความสำคัญทางการค้าและวิถีชีวิตของชาวบ้าน
ในอดีตแม่น้ำป่าสักถือเป็นหนึ่งในเส้นทางการเดินทางมายังอยุธยา เพื่อมาต่อเส้นทางรถไฟ ทั้งจากอ่างทองหรือสิงห์บุรี ฝั่งตรงข้ามจะตรงกับตลาดเจ้าพรหม ซึ่งเป็นท่าขึ้นสินค้าที่เดินทางมาจากกรุงเทพฯ อาทิ น้ำมันพืช อาหารทะเล เป็นต้น
ปัจจุบันแม้การเทียบเรือสินค้าที่ตลาดเจ้าพรหมและหลายกิจกรรมไม่ได้มีให้เห็นแล้ว แต่สิ่งที่ยังคงอยู่คือการเดินทางโดยเรือข้ามฝากที่มีบริการตลอดทั้งวันภายใต้โครงการรถไฟความเร็วสูงพื้นที่ตรงนี้จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของสถานีอยุธยา ทำให้ชาวบ้านฝั่งชุมชนหน้าสถานีรถไฟเกิดความกังวลตลอดมาตั้งแต่ต้น เพราะไม่ทราบถึงแนวทางการเยียวยาที่ชัดเจน และหากต้องย้ายออกจากพื้นที่ตามที่แผนของโครงการฯ ก็ไม่รู้ว่าจะไปทำมาหากินที่ไหน
“ข้อดีของรถไฟความเร็วสูงทำให้เดินทางสะดวกขึ้นแต่ข้อเสียจะทำให้เราทำมาหากินยากขึ้น”
ชาวบ้านชุมชนสุริยะมุนี
ชาวบ้านในชุมชนรอบสถานีรถไฟอยุธยาหลายครัวเรือนมีอาชีพค้าขายบนรถไฟเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งมักจะเป็นอาหารและเครื่องดื่มไว้บริการกับผู้โดยสารเดินทางทั้งใกล้ไกล
แม่ค้าชาวชุมชนสุริยะมุนี เล่าว่ากำลังเตรียมของไปขาย ซึ่งภายในถังน้ำของเธอเต็มไปด้วยเครื่องดื่มแช่น้ำแข็งเย็นชื่นใจบนรถไฟในเส้นทางประจำคือสายอีสานใต้ เธอบอกว่าทำอาชีพนี้มานานแล้ว อยู่และกินกับรถไฟมาโดยตลอด
ชุมชนริมทางรถไฟทั้งสุริยะมุนี แจ้งพัฒนาหรือชุมชนวัดประดู่ทรงธรรมหลายคนอยากจะเห็นถึงความเจริญที่จะเขามาพร้อมกับรถไฟความเร็วสูงแต่ยังคงอยากเติบโตไปด้วย นั่นคือความเจริญที่ทำให้คนโดยรอบลืมตาอ้าปากได้
“อยากให้พัฒนาการท่องเที่ยวเมืองอโยธยาด้วย ไม่ใช่ไปอยู่ในเกาะเมืองอย่างเดียว”
ชาวบ้านชุมชนวัดประดู่ทรงธรรม
พระนครศรีอยุธยาถูกยกให้เป็นจังหวัดที่มีแหล่งมรดกโลกแห่งที่สองของประเทศไทย เป็นพื้นที่รุ่งเรืองไปด้วยทรัพยากรทางธรรมชาติและทางวัฒนธรรมที่มีมากว่า 400 ปี ทว่าในปัจจุบันคุณค่าทางประวัติศาตร์ถูกให้ความสำคัญเพียงแค่ฝั่งของเกาะเมืองเท่านั้น
เมืองอโยธยาเป็นเมืองเก่าที่อยู่ฝั่งทิศตะวันออกของพระนครศรีอยุธยา ซึ่งตามประวัติศาสตร์เมือง อโยธยานี้มีการอยู่อาศัยก่อนที่จะย้ายไปยังเมืองอยุธยาเพราะโรคระบาด โบราณสถานที่มีความสำคัญอย่างเช่นตำหนักกำมะเลียน วัดกุฎีดาวที่มีจุดเด่นอยู่ที่ซุ้มประตูและหน้าต่างมีรูปแบบศิลปะเปอร์เซียที่ได้รับความนิยมในสมัยพระนารายณ์มหาราช
แม้ว่าจะเป็นเมืองที่มีความเก่ากว่าแต่กลับไม่ค่อยได้รับความสำคัญ ทั้งในคุณค่าทางโบราณคดีและการท่องเที่ยวความเจริญที่กำลังจะเข้ามาจากโครงการรถไฟความเร็วสูงฯ จึงถูกมองว่าเป็นทั้งโอกาสและความท้าทาย สำหรับการส่งเสริมการท่องเที่ยวและธุรกิจต่าง ๆ ที่เกี่ยวเนื่อง รวมทั้งเศรษฐกิจและปากท้องของคนในพื้นที่ด้วยเช่นกัน