ผังเมืองไทย ผังเมืองใคร ประชาชนมีส่วนร่วมแค่ไหนกับการพัฒนา

ผังเมืองไทย ผังเมืองใคร ประชาชนมีส่วนร่วมแค่ไหนกับการพัฒนา

วงเสวนาออนไลน์วันผังเมืองโลกเปิดพื้นที่พูดคุย ถึงความสำคัญของผังเมืองกับประชาชน ในหัวข้อ “ผังเมืองโลก ผังเมืองประชาชน” เมื่อวันที่ 8 พ.ย. 2564 โดยมีเครือข่ายภาคประชาสังคม ตัวแทนชาวบ้าน นักวิชาการ นักกฎหมาย และนักสิทธิมนุยชน ร่วมแลกเปลี่ยนสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ทั้งในแง่มุมปัญหา ผลกระทบ และแนวทางการมีส่วนร่วมกำหนดอนาคตของชุมชน ด้วยการร่วมกำหนดผังเมือง

ประชาชนอยู่ตรงไหนในการออกแบบผังเมือง

กิตติภพ สุทธิสว่าง เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น จ.สงขลา กล่าวในวงสนทนาวันผังเมืองโลกว่า เดิมทีชาวบ้าน และกรมโยธาธิการและผังเมือง ร่วมกันประชุมวางแผน โดยใช้กระบวนการที่นำองค์ความรู้ ภูมิปัญญา และหลักวิชาการ ที่มีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของจังหวัดสงขลา และของอำเภอจะนะ ซึ่งมีลักษณะระบบนิเวศ ที่สำคัญคือ ควน ป่า นา ทะเล จนเป็นที่ยอมรับของทางวิชาการ และถูกใจประชาชนในจังหวัดสงขลา

พอปี 2562 รัฐบาล คณะรักษาความสงบแห่งชาติ มีมติคณะรัฐมนตรี ให้ทำนิคมอุตสาหกรรม จ.สงขลาจึงมีการปรับเปลี่ยนทิศทางการทำผังเมืองใหม่  แต่กระบวนการต่าง ๆ นั้น ไม่ทำให้มีความโปร่งใส ประชาชนไม่มีส่วนร่วม ทำให้ชาวบ้านเริ่มเห็นความผิดปกติที่เกิดขึ้น

ขณะที่ จิตรา ชูสกุล เครือข่ายสภาพลเมืองสุรินทร์ จ.สุรินทร์ เล่าถึงความพยายามที่จะปรับผังเมืองรวมของเมืองสุรินทร์ โดยต้องการปรับเปลี่ยน 3 ส่วน ส่วนแรกคือ การให้มีพื้นที่ทิ้งขยะ ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวเป็นส่วนที่ติดแม่น้ำ ส่วนที่ 2 การกำหนดพื้นที่แหล่งทรัพยากรแร่ธาตุหินบะซอลต์เพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้าง ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวเป็นเขตอนุรักษ์ป่าไม้ ส่วนที่ 3 เรื่องโรงงานผลิตไฟฟ้า ให้ใช้ที่ดินในข้อกำหนดที่ดินในชนบทและเกษตรกรรม และที่ผ่านมา คนใน จ.สุรินทร์เคยเจอเรื่องผลกระทบโรงไฟฟ้าชีวมวล ถ้าจัดการไม่ดีจะสร้างผลกระทบฝุ่นละอองให้กับประชาชนในแถบนั้น

ผังเมืองเรื่องลึกลับ

ประเสริฐ คงสงค์ ชมรมผู้เลี้ยงกุ้งกุลาดำและสิทธิมนุษยชนลุ่มน้ำปากพนัง กล่าวถึงผลกระทบของการเปลี่ยนผังเมืองในพื้นที่ อ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราช ที่ให้อุตสาหกรรมสามารถเข้ามาในพื้นที่ได้ ทำให้อาจจะส่งผลเสียต่อชาวบ้านที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เพราะกฎหมายประมงระบุว่า ถ้ามีโรงงานอุตสาหกรรมอยู่ใกล้กับพื้นที่เพาะเลี้ยงจะไม่สามารถขึ้นทะเบียนได้

ส่วน เฉลิมศรี ประเสริฐศรี มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน ให้ข้อสังเกตต่อเรื่องนี้เพิ่มเติมว่า “น่าสนใจกว่านั้นคือ มีที่ตั้งของหน่วยงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่ดูแลเกี่ยวกับให้คำแนะนำเกี่ยวกับการกุ้งกุลา ก็มีหนังสือของผู้อำนวยการแจ้งว่า ตนเองไม่ทราบเลยว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงผังเมืองและจะเกิดส่งผลกระทบพื้นที่เลี้ยงกุ้ง”

ชวณัฏฐ์ ล้วนเส้ง เครือข่ายร่วมสร้างสรรค์ชุมชนและเมือง จากประสบการณ์การทำงานเครือข่ายนักวิชาการสถาปนิกชุมชน มองว่าผังเมืองควรเป็นเรื่องการออกแบบอนาคตของเมือง ที่จะส่งต่อคุณค่า ส่งต่อความร่ำรวย ความร่ำรวยในแง่ความอุดมสมบูรณ์ สุขภาวะต่าง ๆ ไปสู่ลูกหลานในอนาคต แต่สิ่งที่เกิดขึ้นผังเมืองเป็นเหมือนกระบวนการลึกลับ

“ทางแกนนำชาวบ้านพูดหลาย ๆ ครั้ง อยู่ดี ๆ มันก็มีโครงการอะไรมาปรากฏขึ้นในเมือง แล้วก็ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของเมือง มันมักจะเป็นอย่างนี้อยู่เสมอ การใช้ที่ดินของรัฐเพื่อสร้างอาคารต่าง ๆ โดยที่ไม่ได้มองภาพรวม ถือว่าไม่ได้นับรวมของความจริงของกลุ่มคนผู้มีรายได้น้อยที่อยู่ในเมือง” ชวณัฏฐ์กล่าว

ผังเมือง เครื่องมือการพัฒนาของรัฐ ที่ไร้ซึ่งความศักดิ์สิทธิ์ในสายตาประชาชน

“เรื่องนี้ผังเมือง หรือแม้แต่กรมโยธา แจ้งมาแล้วว่าโรงงานไม่สามารถทำได้ แต่กรมโรงงานกลับบอกว่าเขาทำได้ เพราะว่าถูกกฎหมายของกรมโรงงาน ทำให้ผมมองกฎหมายของผังเมืองไม่ศักดิ์สิทธิ์เลย ทั้ง ๆ ที่ตัดสินแล้วว่าผิด ผังเมืองสั่งให้ท้องถิ่นไปดำเนินการ ท้องถิ่นบอกไม่เกี่ยวข้อง” สมพลกล่าว

สมพล เล่าต่อว่าผังเมืองจังหวัดได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูเรื่องนี้แล้ว แต่ก็ยังไม่มีการดำเนินการใด ๆ

ดร.ณัฐวุฒิ อัศวโกวิทวงศ์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม นักวิชาการผังเมือง และสถาปนิก เสริมว่าเมื่อมองในมุมของรัฐ ผังเมืองเป็นเครื่องมือชี้นำการพัฒนา เป็นกระบวนการสร้างความชอบธรรม ไม่ได้มองพลเมือง หรือคนในพื้นที่เป็นหุ้นส่วนของการพัฒนา ผังเมืองเป็นเหมือนผู้ร้าย เป็นเครื่องมือเพื่อรองรับให้เกิดการใช้ทรัพยากรในพื้นที่ ๆ ให้ประโยชน์กับคนกลุ่มหนึ่ง และลิดรอนประโยชน์กับคนอีกกลุ่ม

ผังเมืองคือเรื่องของการมีส่วนร่วม

ศยามล ไกรยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) อ้างอิงกฎหมายผังเมือง พ.ศ.2562 ที่พูดถึงกรณีการกระจายอำนาจไปที่องค์กรส่วนท้องถิ่น และพูดถึงความเชื่อมโยงในการปฏิรูปผังเมืองให้เป็นระบบ ทั้งระดับประเทศ ระดับภาค ระดับจังหวัด แต่ในทางปฏิบัติหลายกรณีที่พบทำให้เห็นว่าเป็นลักษณะเชิง Top Down ซึ่งไม่ได้มีกระบวนการรับฟังความเห็นของคนในพื้นที่โดยตรง ที่ได้รับผลกระทบ เป็นเรื่องที่ต้องทบทวนกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง

อย่างไรก็ตาม กสม. จะให้ความสำคัญกับกระบวนการรับฟังความเห็น ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 58 ที่กำหนดไว้ว่า การดำเนินการใด ๆ ต้องรับฟังความเห็นจากประชาชน เป็นเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ที่กำหนดเรื่องนี้ไว้อย่างชัดเจน ซึ่งไม่ควรเป็นแค่รัฐธรรมนูญรับรอง แต่ควรจะกำหนดไว้ในกฎหมายระดับพระราชบัญญัติ และกฎหมายลำดับรองที่เรียกว่าอนุบัญญัติ ให้เป็นการปฏิบัติจริงเกิดขึ้นในระดับพื้นที่ ทั้งนี้ทาง กสม. กำลังตรวจสอบกรณีโครงการที่ร้องเรียนเข้ามา เพื่อให้การใช้ผังเมืองเป็นเครื่องมือของการกระจายอำนาจจริง ๆ

ภารนี สวัสดิรักษ์ เครือข่ายวางแผนและพัฒนาเมืองเพื่อสังคม พูดถึงความพยายามที่จะอุดช่องว่างโดยการทำเรื่องธรรมนูญว่าด้วยการผังเมืองขึ้นมา เพื่อให้เป็นกรอบแนวทางการทำผังเมือง การยกร่างธรรมนูณผังเมืองให้เป็นกรอบแนวทางเป็นนั้นเป็นเรื่องที่ดี แต่ถ้ากระบวนการ การทำธรรมนูญไม่ครบถ้วนในเรื่องของการมีส่วนร่วมของผู้ที่เกี่ยวข้อง จะทำให้ธรรมนูญที่มองว่าจะเป็นการลดความขัดแย้ง หรือเป็นการสร้างโอกาส เป็นการสร้างความหวังมัน อาจจะทำให้เกิดการล่มสลาย หรือสร้างความขัดแย้งมากขึ้น

จิตรา ชูสกุล เครือข่ายสภาพลเมืองสุรินทร์ มองว่ากระบวนการผังเมืองมีปัญหาเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยเฉพาะพี่น้องประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณที่จะมีการปรับปรุงผังเมือง ทั้งนี้ควรจะให้มีเครือข่ายเรียนรู้ร่วมกันต่อการแก้ไขสถานการณ์ปัญหาจากพื้นที่ต่างๆ เป็นการเรียนรู้ และนำบทเรียนเพื่อนำไปปรับใช้ในพื้นที่ และที่สำคัญคือ พี่น้องประชาชนจะได้เข้าถึงข่าวสารข้อมูล ทำให้เขาได้มีข้อมูลเพื่อการตัดสินใจได้

กิตติภพ สุทธิสว่าง บอกว่าในพื้นที่มีการรณรงค์ให้ชาวบ้านเข้ามามีส่วนร่วม สร้างความเข้าให้ชาวบ้านเห็นความสำคัญของผังเมือง ถึงผลกระทบต่อชีวิต และร่วมกันทำข้อมูลยุทธศาสตร์ศักยภาพในพื้นที่ขึ้นมา พร้อมทั้งช่วยกันกำกับดูแลตรวจสอบกระบวนการทั้งหมด

ภารนี สวัสดิรักษ์ เสนอว่าควรมีการสนับสนุนเรื่องการทำภูมินิเวศน์โดยชุมชน เพราะสามารถที่จะต่อยอดไปสู่การสนับสนุนให้เกิดการทำธรรมนูญชุมชน และมีหมวดว่าด้วยการผังเมือง ซึ่งมาจากข้อมูลท้องถิ่น และเรื่องหมวดของผังเมืองนำไปสู่การผลักดันให้เกิดการออกข้อบัญญัติท้องถิ่น เพราะผังเมืองต้องเคารพข้อบัญญัติท้องถิ่น ส่วนในเรื่องของการพัฒนาที่ยั่งยืนนั้นจะต้องสอดคล้องกับวิถีชุมชน ให้ชุมชนร่วมกำหนดด้วย และตัดสินใจด้วย สุดท้ายก่อนที่จะแก้ผังเมืองเพื่อทำโครงการเฉพาะนั้น ต้องมีการประเมินผลระดับยุทธศาสตร์โครงการ ต้องมีการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรือต่อชุมชน

สิ่งที่ผู้เข้าร่วมเห็นไปในทิศทางเดียวกันถึงทางออกของการทำผังเมืองคือ เรื่องกระบวนการการมีส่วนร่วม ซึ่งเป็นกลไกสำคัญที่รัฐต้องมีความจริงใจ และเปิดใจ ให้ภาคส่วนต่าง ๆ โดยเฉพาะประชาชนที่มีส่วนได้เสีย เข้าถึงข้อมูลข่าวสาร สามารถแลกเปลี่ยนความคิดเห็น พร้อมทั้งเสนอหรือร่วมออกแบบผังเมืองให้มีทิศทางที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของตัวเอง และที่สำคัญต้องมีส่วนในการตัดสินใจในการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่จะมีผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ และอนาคตของประชาชน

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ