สมัชชาองค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมภาคเหนือร่วมกับหลายหน่วยงาน เสนอแนวทางการปฏิรูปแก้ไขวิกฤตหมอกควัน
หลังจากหลายจังหวัดในภาคเหนือประสบปัญหาหมอกควันที่มีค่าฝุ่นละเอียดเกินมาตรฐาน ส่งผลให้ประชาชนในพื้นที่เกิดการระคายเคืองใน ตา จมูก รวมถึงผู้ที่เป็นโรคภูมิแพ้ต่างก็ได้รับผลกระทบด้วย ที่ผ่านมาระบบการบริหารจัดการอาจยังไม่มีประสิทธิภาพมากพอ ทำให้การจัดการหมอกควันในภาคเหนือยังเป็นปัญหาเรื้อรังมานานกว่า 10 ปี ในแต่ละปีค่าฝุ่นละเอียดมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ จากการเผาไหม้ใบไม้หรือเศษวัสดุพืชผลทางการเกษตร ซึ่งแบ่งพื้นที่การเผาไหม้เป็น 2 ส่วน คือ พื้นที่การเกษตรและพื้นที่ป่า
ในพื้นที่การเกษตร ได้มีการส่งเสริมการนำเศษวัสดุจากการเกษตร เช่น ฟางข้าวให้เปลี่ยนเป็นปุ๋ยหมัก แต่ดำเนินการได้เพียง 10 เปอร์เซ็นของพื้นที่เสี่ยงเท่านั้น เช่นเดียวกับการเฝ้าระวัง ลาดตะเวน ดับไฟป่า ที่ครอบคลุมได้เพียง 20 เปอร์เซ็นของพื้นที่ควบคุมไฟป่าทั้งหมด แม้ชุมชนบางแห่งมีวิธีการจัดการไฟป่า อย่าง การชิงเผาในพื้นที่เสี่ยง การจัดทำแนวกันไฟ การออกตรวจป่า ลาดตะเวน ดับไฟป่า แต่ก็ทำได้ไม่ถึง 30 เปอร์เซ็นของชุมชนที่เกี่ยวข้องทั้งหมด
ในวันที่ 24 มี.ค. 2558 ทางสมัชชาองค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมภาคเหนือ กป.อพช.ภาคเหนือ มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนภาคเหนือ เครือข่ายกลุ่มเกษตรกรภาคเหนือ(คกน.) และนักวิชาการ จึงร่วมกันเสนอแนวทางการปฏิรูปการแก้ไขปัญหาหมอกควัน จากความร่วมมือของทุกฝ่าย จึงมีข้อเสนอต่อจัดการและแก้ไขปัญหาดังนี้
1.นำเอามติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 5 ปี 2555 เรื่องการจัดการปัญหาหมอกควันที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ นำมาเป็นทิศทางการปฏิรูปการจัดการปัญหาทั้งระบบ โดยการหนุนเสริมให้ชุมชนมีแผนการจัดการทุกๆชุมชน มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงไปเสริมการจัดทำแผนร่วมทั้งระดับตำบล อำเภอ จังหวัด โดยผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้ประสานแผนงาน งบประมาณ ในส่วนนโยบายหรือกฎหมายก็ให้มีกลไกและการเสนอต่อคณะรัฐมนตรี ที่ไม่ใช่เพียงชุมชนร่วมแก้ไข แต่มีหน่วยงานสนับสนุนอย่างเป็นระบบ
2.ต้องปฏิรูประบบกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อความสามารถชุมชน แต่หนุนเสริมกฎหมายที่เป็นเครื่องมือรองรับสิทธิชุมชน รองรับกระบวนการแก้ไขปัญหา ทั้งกฎหมายมุ่งสร้างชุมชนในการบริหารจัดการทรัพยากรที่ดิน ป่าไม้และการเกษตร รวมถึงการบริหารจัดการไฟป่าโดยตรง เช่น พ.ร.บ.ป่าชุมชน พ.ร.บ.สิทธิชุมชน พ.ร.บ.ส่งเสริมสิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากรที่ดินและป่าไม้ พ.ร.บ.ธนาคารต้นไม้ พ.ร.บ.การเกษตรที่เป็นธรรม
3.ชุมชนในเมือง ผู้ประกอบการธุรกิจที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ห้างร้าน ซึ่งมีกำลังทรัพย์และเป็นผู้ได้รับผลกระทบ เข้ามาร่วมกันรับผิดชอบในการแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน ร่วมกัน ที่สำคัญคือการสนับสนุนการจัดการไฟป่าของชุมชนอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น ด้วยแนวคิด “ความรับผิดชอบร่วม”และ “การพัฒนาระบบสนับสนุน”
4.ต้องยอมรับแนวทางแก้ปัญหาใหม่ ทางวิชาการในการจัดการเชื้อเพลิงในพื้นที่เสี่ยง รัฐและสื่อมวลชนต้องนำสาระดังกล่าวออกสู่ประชาชนให้รับรู้ เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาอย่างสร้างสรรค์ร่วมกันต่อไป
การแก้ไขปัญหาหมอกควันโดยลดการเผาไหม้ ต้องได้รับความร่วมมือจากหลายฝ่าย เข้ามามีบทบาทสำคัญ ทั้งลงมือทำและหนุนเสริม เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนต่อไป