ยืนตรงไร่หมุนเวียน อยากจะบอกเธอว่า “ไร่หมุนเวียนไม่ใช่จำเลยของไฟป่า”

ยืนตรงไร่หมุนเวียน อยากจะบอกเธอว่า “ไร่หมุนเวียนไม่ใช่จำเลยของไฟป่า”

ยืนตรงไร่หมุนเวียน ตามคำท้าของ Thanagorn Atpradit รอบที่ห้า และคำท้าใหม่จากนายกอล์ฟ (พชร คำชำนาญ) เพื่อเปิดพื้นที่การเรียนรู้สร้างความเข้าใจวิถีการทำไร่หมุนเวียน (Ratational Farming) ของพี่น้องปกาเกอะญอ ในวันที่พวกเขายังตกเป็นจำเลยสังคม ร่วมทำความเข้าใจพวกเขา แก้ไขปัญหาไฟป่าด้วยทัศนคติที่ถูกต้อง และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

ยืนตรงไร่หมุนเวียน อยากจะบอกเธอว่า “ไร่หมุนเวียนไม่ใช่จำเลยของไฟป่า”

การจัดการไฟในแปลงไร่หมุนเวียน ไม่ใช่ “ไฟป่า” และไม่ใช่ “ไร่เลื่อนลอย”

รัฐควรสนับสนุนให้ชุมชนดำเนินการทำไร่หมุนเวียนตามวิถีประเพณีหรือการจัดการไฟตามวิถีวัฒนธรรมที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ในสถานการณ์โควิด ซึ่งยังไม่มีความชัดเจนว่าช่วงระยะเวลานี้ จะสิ้นสุดลงเมื่อไหร่ รัฐบาลควรสนับสนุนให้ประชาชนมีความเข็มแข็งในการต่อสู้กับวิกฤติดังกล่าว ให้ชุมชนพึ่งพาตนเองได้อย่างมั่นคง และยั่งยืน ภายใต้การจัดการทรัพยากรที่เป็นธรรมและให้ประชาชนมีอำนาจอย่างแท้จริง อันจะเป็นหลังพิงให้ชุมชนมีความมั่นคงทางอาหาร มีคุณภาพชีวิตที่ดี ตามวิถีวัฒนธรรมที่งดงาม เพื่อสร้างความยั่งยืนสันติสุขสืบไป

และที่ผ่านมา “ไฟป่าและหมอกควัน” ที่เกิดขึ้นในภาคเหนือตอนบน ไม่ใช่ไฟใน “ไร่หมุนเวียน” และชุมชนในเขตป่าก็ร่วมกันจัดการไฟอย่างต่อเนื่องและเป็นรูปธรรม ทั้งมีการทำแนวกันไฟ การจัดเวรยามเฝ้าระวัง การเผาชนทำลายเชื้อเพลิง เพื่อป้องกันไฟลุกลามเข้ามาในพื้นที่ป่าชุมชนหรือป่าจิตวิญญาณของชาวบ้าน ชุมชนมีนวัตกรรมและเครื่องมือในการจัดการไฟที่มีประสิทธิภาพ สามารถรับมือกับสถานการณ์ไฟป่าได้ แม้จะขาดความร่วมมือ หรือการสนับสนุนจากภาครัฐเท่าที่ควร แต่ก็มีภาคประชาสังคม กลุ่มกิจการเพื่อสังคม ที่เข้ามาสนับสนุนชุมชน ทั้งบริจาคหน้ากากป้องกันไฟ เครื่องเป่าลม กองทุน และเวชภัณฑ์ต่างๆ เพื่อสนับสนุนชุมชนสู้ไฟป่า ซึ่งรัฐควรเรียนรู้และสร้างความร่วมมือกับชุมชนมากกว่าที่จะมองเห็นชาวบ้านเป็นต้นเหตุของหมอกควัน

หากแต่มาตรการของรัฐในปัจจุบัน เช่น มาตรการห้ามเผาของจังหวัดเชียงใหม่ที่ขยายเวลาเพิ่มมาถึงเดือนเมษายน 2563 (เริ่มตั้งแต่ 10 มกราคม – 30 เมษายน 2563) รวมระยะเวลา 80 วัน กำลังเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินชีวิตของชุมชนตามวิถีวัฒนธรรมที่ผ่านมา และชุมชนจะรอนั่งรอให้เป็นไปตามตามมาตรการของจังหวัดเชียงใหม่ แบบนั้นคงไม่ได้ เพราะตอนนี้ ฝนฟ้าอากาศได้เริ่มตกลงมาแล้ว จะทำให้การทำไร่หมุนเวียนตามวิถีวัฒนธรรมนั้น จะทำได้ยากยิ่งขึ้น หรือเมื่อฝนลงมาคงทำแบบนั้นไม่ได้น

หลายชุมชนเห็นว่า หากยังยืนยันมาตรการเช่นนั้นอยู่อีก ก็จะกระทบกับการทำไร่หมุนเวียนตามวิถีวัฒนธรรม ซึ่งหลายพื้นที่ได้รับการคุ้มครอง ตามมติคณะรัฐมนตรี 3 สิงหาคม 2553 ว่าด้วยการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง และมติดังกล่าวยังเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง “ศึกษาและยอมรับระบบไร่หมุนเวียน” อย่างจริงจังนั้น

ดังที่ “ชุมชนบ้านแม่ลานคำ” หมู่ที่ 6 ตำบลสะเมิงใต้ อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ ได้ประชุมร่วมกันเรื่อง “การจัดการเชื้อเพลิงของชุมชนในการจัดการเผาแปลงเกษตรในไร่หมุนเวียน” เมื่อวันที่ 17 เมษายน ที่ผ่านมา โดยมีมติ ให้จัดทำแผนการจัดการเชื้อเพลิงที่มีประสิทธิภาพ ลดการเผาไหม้และเกิดหมอกควัน ด้วยการจัดแผนการเผาไร่หมุนเวียนแบบรายแปลง ตามลำดับรายบุคคล เพื่อง่ายต่อการควบคุมเชื้อเพลิงไม่ให้ลุกลามออกมานอกแปลง โดยใน 1 วัน ให้มีแผนการเผาในพื้นที่จำนวน 4 แปลง เพื่อง่ายต่อการควบคุมให้ไฟไม่ให้ลุกลามและมอดดับตามลำดับ ตามแผนงานที่วางไว้ โดยชุมชนจะเริ่มจัดการตามแผน ตั้งแต่วันที่ 19 เมษายน – 16 พฤษภาคม 2563 หากฝนฟ้าอากาศตกต้องตามฤดูกาล แต่หากฝนตกเร็วขึ้น แผนการเผาเชื้อเพลิงก็จะปรับตามความจำเป็น ตามสภาพลมฟ้าอากาศ เพื่อให้ฤดูกาลผลิตไปอย่างสอดคลองกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชุมชน

เพื่อคลี่คลายสถานการณ์ดังกล่าวในพื้นที่ เราซึ่งทำงานสนับสนุนชุมชนในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน เห็นว่า “หน่วยงานของรัฐทั้งระดับนโยบาย และระดับพื้นที่ ทั้งป่าไม้ อุทยาน และฝ่ายปกครองที่เกี่ยวข้อง ควรมีการพิจารณาแผนการจัดการเชื้อเพลิงของชุมชนในแปลงเกษตรแบบไร่หมุนเวียนตามบริบทของแต่ละพื้นที่เป็นรายๆ ไป โดยให้ชุมชนจัดทำแผนการเผาเชื้อเพลิงในแปลงเกษตรหรือไร่หมุนเวียนที่มีประสิทธิภาพเหมือนเช่นทุกปีที่ผ่านมา เช่น แผนการเผาเชื้อเพลิงในพื้นที่แปลงเกษตรแบบไร่หมุนเวียน แบบรายแปลงในพื้นที่…เพื่อง่ายต่อการควบคุมเชื้อเพลิงไม่ให้มีการลุกลาม ลดการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงและหมอกควัน โดยให้คำนึงฝนฟ้าอากาศตามฤดูกาล แต่หากฝนตกลงมาเร็วขึ้น แผนการเผาเชื้อเพลิงก็ให้ปรับตามความจำเป็น เพื่อให้ฤดูกาลผลิตไปอย่างสอดคลองกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชุมชนสืบไป”

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ