เลือกตั้ง 66 : 4 ข้อเสนอต่อพรรคการเมือง ทางออกภัยพิบัติอีสาน

เลือกตั้ง 66 : 4 ข้อเสนอต่อพรรคการเมือง ทางออกภัยพิบัติอีสาน

เครือข่ายภัยพิบัติอีสาน แถลงข้อเสนอต่อพรรคการเมือง

24 เมษายน 2566 เครือข่ายภาคประชาสังคม นักวิชาการด้านภัยพิบัติภาคอีสานและเครือข่ายชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม แถลงข้อเสนอเชิงนโยบายการจัดการภัยพิบัติอีสานต่อพรรคการเมือง ณ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

ข้อเสนอต่อพรรคการเมืองเรื่องการจัดการภัยพิบัติ

“ภาคอีสาน” เป็นภูมิภาคที่ประสบปัญหาจากภัยพิบัติและมีความรุนแรงขึ้นทุกปี ประชาชนทั้งภาคเมืองและภาคชนบทต่างได้รับผลกระทบความเดือดร้อนในทุกมิติ ดังนั้นเพื่อนำไปสู่แนวทางการแก้ปัญหาในระดับนโยบาย โดยเฉพาะในโอกาสที่ประเทศไทยจะมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในวันนี้ 14 พฤษภาคมนี้ ภาคประชาสังคมที่มีชื่อแนบท้าย จึงมีข้อเสนอ ดังนี้

1.บทบาทของพรรคการเมืองต่อประเด็นภัยพิบัติ

ขอให้พรรคการเมืองทุกพรรคการเมือง ให้ความสำคัญกับประเด็นภัยพิบัติ เนื่องจากในปัจจุบัน ปัญหาภัยพิบัติมีความรุนแรงมากขึ้น พรรคการเมืองทุกพรรคเมื่อเลือกตั้งเสร็จแล้ว ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายค้านหรือรัฐบาล ไม่ควรทำหน้าที่เพียงลงพื้นที่และแจกสิ่งของบรรเทาทุกข์ซึ่งเป็นการเมืองแบบเก่า แต่ควรมีบทบาทในการจัดการภัยพิบัติภายใต้การเมืองแบบใหม่ โดยทุกพรรคการเมืองสนับสนุนให้ชุมชนและประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดการภัยพิบัติ

พรรคการเมืองทุกพรรค ควรมีฝ่ายวิชาการในการศึกษาและกำหนดนโยบายของพรรคเกี่ยวกับภัยพิบัติพรรคที่ได้เป็นรัฐบาลควรทำหน้าที่ผลักดันนโยบายที่ดีเพื่อนำไปสู่การจัดการภัยพิบัติอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งการป้องกัน การรับมือ และการฟื้นฟูและเยียวยา ขณะที่พรรคฝ่ายค้านควรทำหน้าที่ตรวจสอบนโยบายและการปฏิบัติของรัฐบาลว่ามีประสิทธิภาพในการจัดการภัยพิบัติหรือไม่ อย่างไร

2.การปรับปรุงแก้ไขกฎหมายและการคุ้มครองและการสนับสนุนเครือข่ายองค์กรชุมชนในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยโดยชุมชน

พระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 ถือเป็นกฎหมายหลักในการบริหารจัดการภัยพิบัติ โดยกำหนดให้คณะกรรมการภัยพิบัติแห่งชาติ และหน่วยงานราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องตามที่กำหนดในกฎหมาย มีหน้าที่จัดทำบริการสาธารณะตั้งแต่การเตรียมความพร้อมป้องกันในช่วงก่อนเกิดภัย การตอบโต้สถานการณ์ในขณะเกิดภัย ตลอดจนการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยและบรรเทาความเดือดร้อนต่าง ๆ ภายหลังเกิดภัยแต่กฎหมายฉบับดังกล่าว ไม่สามารถแก้ไขปัญหาสถานการณ์ภัยพิบัติต่าง ๆ ได้อย่างทันท่วงทีและไม่สามารถครอบคลุมการคุ้มครองประชาชน ทั้งในด้านการรับมือสถานการณ์ในขณะเกิดภัยฯ รวมไปถึงการให้การช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบภัย ภายหลังเกิดภัยฯ อย่างรอบด้านและเป็นธรรม พวกเราจึงเสนอให้พรรคการเมืองแก้ไขพระราชบัญญัติดังกล่าว โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้

2.1 ยกระดับท้องถิ่น อนุมัติงบประมาณท้องถิ่นจัดการสาธารณภัยได้ไม่เกินครั้งละหนึ่งล้าน
แก้ไขกลไกจัดการสาธารณภัยของท้องถิ่นให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น รายละเอียดตามมาตรา 20 และมาตรา 21 (6) เรื่อง ให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถอนุมัติงบประมาณส่วนท้องที่ของตนเพื่อดำเนินการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยที่เกิดขึ้นได้ หากมีสาธารณภัยเกิดขึ้นหรือคาดว่าจะเกิดขึ้น โดยงบประมาณที่อนุมัติได้นั้น ต้องไม่เกินครั้งละหนึ่งล้านบาท

2.2 เปิดให้ผู้ประสบภัยที่ไม่มีสัญชาติไทย-ไม่มีสถานะทางทะเบียน เข้าถึงการเยียวยาจากรัฐอย่างเท่าเทียม

เพิ่มเติมนิยามคำว่า “ผู้ประสบภัย”  ซึ่งเดิมใน พ.ร.บ.ป้องกันบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 ไม่ได้กำหนดนิยามคำนี้ไว้เป็นการเฉพาะ ส่งผลให้ผู้ประสบภัยที่ไม่มีสัญชาติไทย เช่น ชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย หรือผู้ที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน เช่น ชาวเล ชาวเขา คนไทยพลัดถิ่น ไม่สามารถเข้าถึงการช่วยเหลือของรัฐได้แม้จะเป็นผู้ประสบภัยจากสาธารณภัยก็ตาม แต่ร่างแก้ไข พ.ร.บ.ป้องกันบรรเทาสาธารณภัยฯ ได้กำหนดนิยามคำดังกล่าวว่า ผู้ประสบภัย หมายถึง ผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายจากสาธารณภัย ซึ่งรวมถึงผู้ที่ไม่ได้มีสัญชาติไทยหรือไม่มีสถานะทางทะเบียนด้วย

2.3 การสนับสนุนเครือข่ายองค์กรชุมชนในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยโดยชุมชน

แก้ไข พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550เพิ่มอำนาจหน้าที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยให้ส่งเสริมสนับสนุนชุมชนในการจัดการภัยพิบัติฯ ได้มากขึ้น และให้ทุกจังหวัดมีกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย มีสัดส่วนประชาชนเป็นกรรมการด้วย เพื่อให้มีแผนการป้องกันฯได้ครอบคลุมทั้งจังหวัด เป็นต้น

วันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2565 ภาคีเครือข่ายภัยพิบัติชุมชน ได้ยื่นรายชื่อ จำนวน 11,745 รายชื่อ เสนอแก้ไขพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย(ฉบับที่ ..) พ.ศ. 2550 ต่อรัฐสภาโดยมีนายชวน หลีกภัย เป็นผู้รับรายชื่อ  ปัจจุบันยังรอพิจารณาคำรับรองของนายกรัฐมนตรี เนื่องจาก ถูกพิจารณาว่าเป็น “กฎหมายการเงิน” ซึ่งรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 133 ระบุไว้ตอนหนึ่งว่า ในกรณีที่ร่างพระราชบัญญัติซึ่งผู้เสนอเป็นสมาชิกผู้แทนราษฎรไม่น้อยกว่า 20 คน หรือประชาชนที่มีสิทธิเลือกตั้งเข้าชื่อเสนอกฎหมาย หากเป็นร่างกฎหมายเกี่ยวด้วยการเงินจะเสนอได้ก็ต่อเมื่อมีคำรับรองของนายกรัฐมนตรี

ในโอกาสนี้ พวกเราขอเรียกร้องไปยังพรรคการเมืองทุกพรรคการเมือง ขอให้สนับสนุน ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ในสภาฯ เพราะจะทำให้ชุมชนและท้องถิ่นมีความพร้อมมากขึ้นในการรับมือภัยพิบัติ

3.นโยบายในการจัดการภัยพิบัติ ระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว

นโยบาย ในการจัดการภัยพิบัติของพรรคการเมือง ควรประกอบไปด้วย 3 ระยะ คือ

3.1 การจัดการภัยพิบัติระยะสั้น

พรรคการเมืองควรมีนโยบายสนับสนุนให้องค์กรชุมชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีความเข้มแข็งและมีส่วนร่วมในการจัดการภัยพิบัติ

พรรคการเมืองควรผลักดันให้ทุกจังหวัดมีการจัดทำแผนเผชิญเหตุอุทกภัย (การเตือนภัย การกู้ภัย การฟื้นฟูเยียวยาที่เป็นธรรม) โดยมีกระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชน เปิดเผยต่อสาธารณะ มีการฝึกซ้อมแผนเพื่อให้นำมาปฏิบัติได้จริง พรรคการเมือง ควรผลักดันให้เขื่อนทุกเขื่อนในภาคอีสานและประเทศไทยมีการประเมินความเสี่ยงทุกเขื่อน

พรรคการเมือง ควรผลักดันให้เขื่อนและโครงสร้างแข็งในการจัดการน้ำทุกแห่งในภาคอีสาน และประเทศไทยประเมินความเสี่ยงทุกปีและเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ และมีแผนการบริหารจัดการน้ำในเขื่อนที่ไม่ก่อให้เกิดอุทกภัย และจะต้องมีเผชิญเหตุฉุกเฉินทางสิ่งแวดล้อมโดยกระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แผนดังกล่าวจะต้องมีการฝึกซ้อมและนำมาปฏิบัติได้จริง

พรรคการเมือง ต้องผลักดันให้มีการปรับปรุงสิ่งก่อสร้างไม่ให้กีดขวางทางน้ำ เพื่อลดอุทกภัย การบริหารเขื่อน/ฝายโครงการผันน้ำโขง ชี มูล ไม่ให้ก่อให้เกิดอุทกภัย

พรรคการเมือง ควรตรวจสอบโครงการต่าง ๆ ที่ทำลายพื้นที่สาธารณะที่เป็นที่รองรับน้ำไม่ให้เกิดอุทกภัย และทวงคืนพื้นที่เหล่านั้นเพื่อนำมาฟื้นฟู

3.2 การจัดการภัยพิบัติ ระยะกลาง

พรรคการเมือง ควรมีนโยบายในการปรับปรุงผังเมืองให้สอดคล้องกับระบบนิเวศ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รองรับสถานการณ์ภัยพิบัติ และเป็นผังเมืองที่มีการมีส่วนร่วมของประชาชน

พรรคการเมือง ควรมีนโยบายอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่เน้นไปที่ต้นน้ำและผลักภาระให้กับคนต้นน้ำ แต่อนุรักษ์และฟื้นฟูทั้งลุ่มน้ำ เช่น การปกป้องแม่น้ำไม่ให้มีการสร้างสิ่งกีดขวาง  การระงับโครงการขุดลอกแหล่งน้ำ การปกป้องป่าบุ่งป่าทาม การปกป้องป่าโคก การฟื้นฟูแม่น้ำที่เกิดมลพิษ

3.3 การจัดการภัยพิบัติ ระยะยาว

พรรคการเมือง ควรมีวิสัยทัศน์ในการพัฒนาที่ไม่เน้นเพียงแค่การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่ทำลายทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม แต่ควรเน้นการพัฒนาโดยยึดหลักการการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งเป็นหนทางเดียวที่จะทำให้ประเทศไทยรอดพ้นจากภัยพิบัติ

ในกรณีของภาคอีสาน พรรคการเมืองควรทบทวนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี พ.ศ.2561-2580 ที่วางไว้โดยคณะทหารที่มาจากการรัฐประหาร ที่สำคัญก็คือ การทบทวนอุตสาหกรรมน้ำตาลในภาคอีสาน ที่จะทำลายแหล่งผลิตข้าว ทำลายภูมินิเวศน์ที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงในการเกิดอุทกภัยและภัยแล้ง เกิดการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ รวมไปถึงปัญหาฝุ่นจิ๋วมรณะ PM 2.5

4.หยุดโครงการผันน้ำขนาดใหญ่และโครงการที่จะก่อให้เกิดภัยพิบัติในภาคอีสาน

ในปัจจุบัน หน่วยงานรัฐได้ผลักดันโครงการผันน้ำในภาคอีสาน ประกอบไปด้วย โครงการผันน้ำโขง-เลย-ชี-มูล โครงการผันน้ำป่าสัก-ลำตะคอง และโครงการคลองผันน้ำเลี่ยงเมืองอุบล

ภาคประชาชน ขอเรียกร้องและเสนอต่อพรรคการเมือง ดังนี้

1.พรรคการเมืองหยุดนำโครงการผันน้ำต่าง ๆ มาเป็นนโยบายพรรค เนื่องจากโครงการเหล่านี้ ใช้งบประมาณมหาศาล ไม่คุ้มค่าทางเศรษฐกิจ ก่อให้เกิดผลกะทบทางสิ่งแวดล้อม และจะซ้ำเติมให้เกิดภัยพิบัติในภาคอีสานให้หนักยิ่งขึ้น กล่าวคือโครงการผันน้ำโขง-เลย-ชี-มูล เป็นโครงการขนาดใหญ่ที่ใช้งบหลายแสนล้านบาท อ้างว่าเพื่อให้อีสานทำนาปีละ 2 ครั้ง ซึ่งการทำนาในภาคอีสาน ไม่ได้เหมือนภาคกลาง เนื่องจากชาวนาส่วนใหญ่ปลูกข้าวหอมมะลิ ไม่ได้ทำนาปรัง การทำนาปรังจะทำให้พันธุ์ข้าวหอมมะลิกลายพันธุ์ การผันน้ำจะทำเกิดปัญหาการแพร่กระจายของดินเค็มในภาคอีสาน ซึ่งเป็นอีกภัยพิบัติ การผันน้ำยังจะทำให้เกิดภัยพิบัติอุทกภัยในภาคอีสานมากยิ่งขึ้น โครงการมีความเสี่ยงจากน้ำในแม่น้ำโขงไม่แน่นอนหรือไม่มีน้ำให้ผัน อีกทั้งยังทำให้ประชาชนสูญเสียที่ดินและต้องอพยพ

โครงการผันน้ำป่าสัก-ลำตะคอง ใช้งบประมาณมหาศาล และจะทำให้เขื่อนลำตะคองมีความเสี่ยงที่จะทำเกิดความเสี่ยงอุทกภัยในลุ่มน้ำมูลมากยิ่งขึ้น

โครงการคลองผันน้ำเลี่ยงเมืองอุบล เป็นโครงการขนาดใหญ่ที่อ้างว่าเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมเมืองอุบล ใช้งบประมาณสี่หมื่นล้านบาท โดยโครงการจะส่งผลกระทบต่อที่ดินทำกินมากกว่า 8,000ไร่ 400 ครัวเรือนจะสูญเสียที่ดินทำกิน อีกทั้งโครงการไม่มีการทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะมีผลกระทบตามมาอีกมาก โครงการนี้ยังเป็นโรงการบริหารจัดการน้ำขนาดใหญ่แบบรวมศูนย์และประชาชนไม่มีส่วนร่วม

2.พรรคการเมืองควรมีนโยบายการจัดการน้ำที่ยั่งยืน ไม่สร้างผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยการกระจายอำนาจในการจัดการน้ำสู่ท้องถิ่น การจัดการแหล่งน้ำขนาดเล็ก การจัดการน้ำอย่างเป็นระบบสอดคล้องกับระบบนิเวศ การจัดการน้ำเสียจากเมือง ฯลฯ

3.พรรคการเมืองทุกพรรค ไม่ควรนำโครงการผันน้ำโขง-เลย-ชี-มูล มาเป็นนโยบายพรรค และหากดำเนินการไปแล้วขอให้ถอนนโยบายดังกล่าว

องค์กรร่วมเสนอนโยบายต่อพรรคการเมือง

1.เครือข่ายภาคประชาสังคมและสลัมสี่ภาค
2.เครือข่ายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมภาคอีสาน
3.เครือข่ายอาสาชุมชนป้องกันภัยพิบัติ จ.อุบลราชธานี (อช.ปภ)
4.เครือข่ายชุมชนลุ่มน้ำเซบก
5.เครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง จ.อุบลราชธานี
6.นักวิชาการด้านภัยพิบัติภาคอีสาน
7.สมาคมประมงน้ำจืดภาคอีสาน จ.ศรีษะเกษ
8.เครือข่ายชาวบ้านอนุรักษ์และฟื้นฟูแก่งละว้า
9.เครือข่ายฮักน้ำของ
10.คณะกรรมการจัดการน้ำโดยชุมชนลุ่มน้ำพอง
11.เครือข่ายชาวบ้าน ชีวิตชุมชน ลุ่มน้ำมูน สมัชชาคนจน
12.เครือข่ายบ้านมั่นคงเมือง จ.อุบลราชธานี
13.มูลนิธิชุมชนไท

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ