โจทย์และข้อเสนอเชิงนโยบายในการขับเคลื่อนและการจัดการภัยพิบัติดูเหมือนจะวน ๆ ซ้ำ ๆ กลับมาอีกครั้งในรอบปี เมื่อเข้าสู่หน้าฝนที่ต้องมาชวนคุยเรื่องการรับมือน้ำท่วม เพราะแต่ละปีสถานการณ์บริบทแวดล้อมก็เปลี่ยนไป ภัยธรรมชาติก็มีความถี่และรุนแรงเพิ่มมากขึ้น
คุณเล่าเราขยาย โดย วิภาพร วัฒนวิทย์ จึงชวนสนทนากับ ไมตรี จงไกรจักร์ ผู้จัดการมูลนิธิชุมชนไท หนึ่งในเครือข่ายภาคประชาชนผู้ร่วมขับเคลื่อนและเผชิญเหตุภัยพิบัติมาแล้วหลายลักษณะ ทั้ง น้ำท่วม สึนามิ และดินโคลนถล่ม และภัยพิบัติอื่น ๆ พร้อมข้อเสนอต่อรัฐบาลชุดใหม่ที่กำลังจะมีการโหวตเลือกในรัฐสภา 13 กรกฎาคมนี้ โดยถอดบทเรียนและชวนคุยถึงพื้นที่ จ.อุบลราชธานี เมืองปลายน้ำของภาคอีสานที่รองรับน้ำจากลุ่มน้ำโขง ลุ่มน้ำชี และลุ่มน้ำมูล ซึ่งเผชิญน้ำท่วมจากอิทธิพลของพายุโนรูอย่างหนักหน่วง ในปี 2565 ที่ผ่านมา
โดยข้อมูลจากสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) ระบุพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วม ปี 2565 รวมประมาณ 12 ล้านไร่ ใน 69 จังหวัด ซึ่งภาคกลาง มีพื้นที่ถูกน้ำท่วมประมาณ 4 ล้าน 3 แสนไร่ รวม 17 จังหวัด
ภาคอีสาน มีพื้นที่ถูกน้ำท่วมประมาณ 3 ล้าน 9 แสนไร่ รวม 20 จังหวัด ภาคเหนือ มีพื้นที่ถูกน้ำท่วมประมาณ 2 ล้าน 7 แสนไร่ รวม 15 จังหวัด ภาคตะวันออก มีพื้นที่ถูกน้ำท่วมประมาณ 4 แสน 9 หมื่นไร่ รวม 7 จังหวัด และภาคใต้ มีพื้นที่ถูกน้ำท่วมประมาณ 4 แสน 3 หมื่นไร่ รวม 10 จังหวัด
เมื่อดูในรายละเอียดและค้นข้อมูลจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ถึงการรายงานสถานการณ์น้ำท่วม ระหว่างปี 2561 – 2565 พบว่า ตลอดทั้ง 5 ปี มีการรายงานสถานการณ์น้ำท่วม จำนวน 8,493 ครั้ง ใน 77 จังหวัด ทั่วประเทศ จำแนกเป็นรายปี ซึ่งสูงสุดในปี 2565 กว่า 3,359 ครั้ง
โดยในภาคอีสานมีรายงานเหตุการณ์รวม 5 ปี จำนวน 1,508 ครั้ง ซึ่งจังหวัดที่มีการรายงานสถานการณ์ 3 อันดับสูงที่สุด ของอีสานในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา คือ นครราชสีมา ชัยภูมิ และเลย ตามลำดับ โดยในภาคอีสาน พื้นที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ ไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วมหรือน้ำแล้ง ส่วนใหญ่ของภาคอีสานจะอยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำโขง ลุ่มน้ำชี และลุ่มน้ำมูล ซึ่งทั้งหมดจะไหลมารวมกันที่พื้นที่ปลายน้ำบริเวณ จ.อุบลราชธานี ก่อนจะออกสู่แม่น้ำโขง นั่นส่งผลให้อุบลราชธานีต้องเผชิญน้ำท่วมในทุก ๆ ปี
เมืองอุบลกับคนปลายน้ำ
“เราเชื่อว่าการจัดการภัยพิบัติโดยรัฐ ไม่สามารถทำให้ชุมชนปลอดภัยได้ทั้งหมด มูลนิธิชุมชนไท มีหน้าที่ส่งเสริมให้ชุมชนลุกขึ้นมารวมตัวรับมือภัยพิบัติ สิ่งแรกที่เราทำก็คือว่าไปส่งเสริมให้เขา ตระหนักก่อนว่า เขาต้องมีเรือเป็นของตัวเอง เขาจึงต้องมีโรงเรียนต่อเรือ เขาก็ต่อเรือกันเอง ซึ่งตอนนี้ในพื้นที่มี 28 ลำ” ไมตรี จงไกรจักร์ เล่าถึงภารกิจและความร่วมมือในการทำงานร่วมกับเครือข่ายอาสาสมัครชุมชนป้องกันภัยพิบัติ (อช.ปภ.) จ.อุบลราชธานี ซึ่งมีการเรียนรู้เรื่องการขับเรือเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน ที่ผ่านมา
โรงเรียนต่อเรือและห้องเรียนนายท้าย
“เราเอาความรู้จากภาคใต้ ไปช่วยต่อเรือเป็นเรือไฟเบอร์ เป้าหมายคือ ถ้าเขาต่อเรือเอง ซ่อมเรือเองได้ เขาก็จะรักเรือของเขา พอมีเรือแล้วเราก็จะเอามาฝึกว่า จะขับอย่างไร สถานการณ์น้ำแต่ละทีจะแตกต่างกัน เช่น น้ำหลาก น้ำในแม่น้ำมูลที่ จ.อุบลราชธานี ก็จะมีความแรงของน้ำ เพราะฉะนั้น การใช้เรือ ใช้เครื่อง วิธีขับ การช่วยเหลือผู้ประสบภัยจะทำอย่างไร นี่คือวิธีการฝึกให้ความรู้
ต่อมาก็มาดูเรื่องแผนเตรียมรับมือในวิธีการของเขา และจะขยายเชื่อมโยงการแจ้งเตือนระดับน้ำ จากต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำอย่างไร นี่ก็เป็นวิธีการเสริมความรู้ ทักษะให้ชาวบ้านได้มีระบบกลไกการทำงานครับ”
ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ชุมชนพึ่งตนเอง
“ปัญหาแรกคือ เมื่อเกิดภัยพิบัติจะไม่มีใครเข้าไปช่วยชาวบ้านได้ทันที ต้องมีโอกาสที่จะเตรียมพร้อมรับมือเองในพื้นที่ ชาวบ้านจะเตรียมรับมือได้มากแค่ไหนขึ้นอยู่กับท้องถิ่นด้วย แต่ตอนนี้ท้องถิ่นก็ไม่มีกฎหมาย ไม่มีระเบียบ ที่เอื้อในการเตรียมหรือส่งเสริมชุมชน เราจะเห็นว่าหลายท้องถิ่นที่น้ำท่วมเป็นประจำทุกปี แต่ไม่มีเรือ ไม่มีเครื่องไม้เครื่องมือ หรือ ศูนย์การจัดการภัยพิบัติของท้องถิ่นเลย อันนี้ก็เป็นข้อจำกัดที่เราพบว่าท้องถิ่นไม่มีอำนาจจริง หรืออำนาจไม่เอื้อในการเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติ
อันที่สองคือต้องรอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดประกาศให้เป็นพื้นที่ภัยพิบัติก่อน ค่อยจะมีงบทดรองราชการให้จังหวัด ซึ่งครั้งหนึ่งได้ 20 ล้านบาท ที่จะใช้งบประมาณได้ แต่ว่าจังหวัดก็ใช้ ส่วนท้องถิ่นก็ใช้งบประมาณตัวเอง ซึ่งแต่ละท้องถิ่นก็จะมีรายได้มากรายได้น้อย เพราะฉะนั้นการดูแลช่วยเหลือประชาชน ซึ่งระเบียบบอกว่า ต้องมีข้าวกิน 3 มื้อ และมีงบ 50 บาท / มื้อ ความจริงประชาชนก็อาจจะได้กินข้าวแค่วันละมื้อ แล้วทำให้ได้ไม่ครบ ไม่ครอบคลุม ไม่ทั่วถึง ก็เป็นปัญหาอุปสรรคที่การใช้งบประมาณอยู่ที่อำนาจของจังหวัด หรือ อยู่ที่กรม กระทรวง แบบนี้ครับ”
ภัยพิบัติ วงจรความยากจน
“ความหมายคือว่า เวลามีภัยพิบัติเกิดขึ้นในพื้นที่ จังหวัด กระทรวง ไม่มีทางที่จะช่วยชาวบ้านได้ทัน เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราท้าทายมาตลอดก็คือว่า ทำอย่างไรจะให้ชุมชนลุกขึ้นมา ทำอย่างไรจะให้ท้องถิ่นมีหน้าที่ชัดเจนที่จะมาจีดการ ซึ่งนี่คือข้อจำกัดที่หน่วยงานและรัฐบาลจะมาคิด ทบทบก ว่าเราจะลดความเสี่ยง ลดความสูญเสียได้อย่างไร เพราะภัยพิบัติหนึ่งครั้งจะกลายเป็นวัฏจักรความจน เพราะ 3 เดือนเกิดภัย 3 เดือนฟื้นฟู 3 เดือนหาเงินมาใช้ และเริ่มต้นด้วยภัยพิบัติอีกรอบ มันก็จนซ้ำไปแบบนี้ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นรัฐบาลที่กำลังจัดตั้งอยู่ขณะนี้ เราต้องมาคิดกันว่า เราจะลดความสูญเสียให้ชาวบ้านได้อย่างไร ซึ่งอาจจะมีโมเดลมากมายที่เราทำกันอยู่ครับ
ในความจริงมีคณะกรรมาธิการป้องกันและลดผลกระทบจากภัยพิบัติอยู่ในสภาด้วย แต่ว่าเขายังไม่เข้าใจมิตินี้ เราก็พยายามผลักดันตลอด 4 ปี ที่ผ่านมา มองเรื่องนี้ว่าภัยพิบัติเป็นเรื่องความจนของประชาชน เป็นพื้นฐานตั้งต้น และวงจรจะเวียนกันอยู่แบบนี้ตลอดเวลา สองถ้าคุณไม่เสนอไอเดียใหม่ ๆ เช่น ในพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก คุณไม่คิดค้นนวัตกรรมใหม่ ๆ เช่น ยกบ้านสูง บ้านแพลอยน้ำ ก็จะทำให้ไม่ต้องไปทำศูนย์อพยพไปอยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ เขาก็จะได้อยู่เฝ้าข้าวของทรัพย์สิน เราเคยพิสูจน์ในงานวิจัยว่า ถ้าเราลงทุนแพหนึ่งหลังในหนึ่งชุมชนใช้เงินลงทุนหนึ่งแสนแต่จะลดผลกระทบได้หนึ่งล้าน
ในความจริง เวลาเกิดภัยพิบัติหนึ่งครั้ง หลายรัฐบาลจะตั้งคณะกรรมการขึ้นมาใหม่ แต่ในขณะที่กฎหมายเขียนว่า ให้มีคณะกรรมการป้องกันบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ 1 คณะ แต่ที่ผ่านมาขาดผู้ทรงคุณวุฒิที่มาจากผู้มีประสบการณ์ ผู้เชี่ยวชาญ แต่จะกลายเป็นนักวิชาการกับข้าราชการเกษียณที่อยู่ในคณะกรรมการชุดนั้น อันที่สองเมื่อประกาศภัยรัฐบาลก็สร้างคณะกรรมการชุดใหม่ขึ้นมา ไม่ได้ใช้คณะกรรมการชุดนั้นในการทำงาน”
แก้ไข พ.ร.บ.ภัยพิบัติ ความหวังภาคประชาชน
“ประเด็นหลักของ พ.ร.บ.ฉบับนี้ คือ ออกมาภายใต้สถานการณ์สึนามิในขณะนั้น ซึ่งเป็นภัยพิบัติขนาดใหญ่ซึ่งเข้าใจเจตจำนงอันนั้น แต่เมื่อผ่านมา 16 ปี เราก็เห็นบทเรียนว่าภัยพิบัติมันเปลี่ยนรูปแบบและมีหลากหลายมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นโควิด-19 แมลง ฝุ่น PM2.5 หรือ กัดเซาะชายฝั่ง เมื่อไม่ได้ถูกเขียนไว้ใน พ.ร.บ.ก็จะมีปัญหากับ สตง. มีปัญหากับหน่วยงานต่าง ๆ จะไม่มีใครกล้าประกาศภัยพิบัติ
ที่ผ่านมาเราล่ารายชื่อ เสนอไปยังประธานรัฐสภาในขณะนั้น คือ คุณชวน หลีกภัย ซึ่งก็เห็นชอบแล้วก็ส่งไปที่นายกรัฐมนตรี การที่เราจะแก้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับงบประมาณ เพราะมีเรื่องการเยียวยาก็ส่งไปที่นายกรัฐมนตรีซึ่งที่ผ่านมาก็ไม่ลงนามกฎหมายภาคประชาชนเลย เราก็ต้องมาผลักดันต่อในรัฐบาลนี้ ที่เข้าใจว่าการแก้ปัญหาให้ประชาชน การดูแลวิถีชีวิต ความเป็นอยู่และวิถีชีวิต รวมไปถึงความสูญเสียด้านชีวิตและทรัพย์สินจากภัยพิบัติ ถ้าเราทำให้เกิดการส่งเสริม การกระจายอำนาจให้ท้องถิ่น และจังหวัดได้มีอำนาจจัดการเต็มที่ มีงบประมาณไปถึงท้องถิ่น และ พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยซึ่งในกฎหมายไม่มีบทบาทในการป้องกันเลย
พ.ร.บ.ฉบับนี้ มีบทบาทสำคัญก็คือว่า เมื่อเกิดภัยและประกาศ แต่ประกาศเพื่อที่ว่าป้องกันเตรียมพร้อม ส่งเสริมชุมชนไม่มี เราเลยคิดว่า พ.ร.บ. ฉบับนี้ ต้องมีหน้าที่ในการเตรียมพร้อมและป้องกันภัยมากกว่าการประกาศภัยพิบัติด้วยซ้ำไป”
ความหวังรัฐบาลใหม่เร่งแก้ไขเตรียมรับมือ “ภัยพิบัติ” วาระแห่งชาติ
“เราไม่ควรให้ชะตากรรมไปตกที่ประชาชน ถ้ารัฐมีวิสัยทัศน์ มีความตั้งใจที่จะดูแลประชาชนก็ต้องทำเรื่องนี้ให้เป็นเรื่องสำคัญระดับชาติ หรือ วาระของชาติ” ไมตรี จงไกรจักร์ กล่าวย้ำน้ำเสียงหนักแน่นถึงความหวังในการหาแนวทางเตรียมรับมือกับเรื่องภัยพิบัติในระดับนโยบาย
“เราเตรียมกระบวนการจัดเวทีสรุปกันแล้วว่า ถ้ารัฐบาลใหม่มาเราจะเสนออะไร หนึ่งคือเดินหน้ากฎหมายต่อ สองต้องให้กรรมาธิการป้องกันบรรเทาสาธารณภัย ได้หยิบเรื่องนี้ดำเนินการเป็นวาระเร่งด่วน เพราะนี่คือชีวิตประชาชน ในความเป็นจริงแผนเดิมที่มีก็ยังพอรับได้ แต่มันเป็นแผนการเยียวยามากกว่าป้องกัน เป็นแผนที่บอกว่า ช่วยเหลือเมื่อเกิดภัย ซึ่งก็มีแผนที่มาตรฐานในระดับหนึ่ง แต่ในขณะเดียวกันภาครัฐฝ่ายเดียวจะไม่สามารถดูแลประชาชนได้ทัน เพราะภัยพิบัติมันกว้างใหญ่มาก เกินกว่าหน่วยใดหน่วยหนึ่งจะทำได้ ถ้ารัฐบาลไม่รีบออกแบบ หรือบริหารจัดการอันนี้ เราจะเห็นภาพที่ประชาชนเจอวิกฤตตลอดเวลา
สิ่งแรกที่ต้องดำเนินการเมื่อเราได้นายกรัฐมนตรี และรัฐบาลใหม่ คือ อยากให้นายกสามารถลงนามในกฎหมายที่ภาคประชาชนเสนอ และเข้าสภาได้เลย อันที่สองคือ ตั้งกรรมาธิการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยที่มีอยู่ ซึ่งสามารถศึกษาเรื่องนี้ต่อได้เลย เพื่อดูว่าเราจะแก้ปัญหาเชิงระบบได้อย่างไร เราควรเสริมศักยภาพได้อย่างไร และไม่ควรปล่อยให้เรื่องนี้เป็นชะตากรรมที่ประชาชนต้องรับอยู่ตลอดเวลา ผมคิดว่าประชาชนคาดหวังว่า ให้มีรัฐบาลที่ฟังเสียงประชาชนและเห็นความจริงของสังคมว่า ภัยพิบัติเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประชาชน และเราเคยสูญเสียกับภัยพิบัติมาแล้ว ไม่รู้กี่แสนล้านต่อปี เพราะฉะนั้นการที่เราส่งเสริม ป้องกัน เตรียมพร้อมของชุมชนที่รัฐบาลต้องตระหนักว่า จะลดความสูญเสีย ลดภาระของรัฐ และประชาชนจะเป็นหน่วยกำลังหลักที่จะช่วยป้องกันรับมือภัยพิบัติที่จะเกิดทั้งประเทศได้”