บันทึกมือบันทึกใจ Local Voice ฟังเสียงประชาชนคนภาคตะวันออก I

บันทึกมือบันทึกใจ Local Voice ฟังเสียงประชาชนคนภาคตะวันออก I

ภาคตะวันออกถือได้ว่าเป็นภาคที่มีศักยภาพในด้านระบบอุตสาหกรรมที่ดีที่สุดในประเทศไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมปิโตเลียม อุตสาหกรรมยานยนต์หรืออุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ฯลฯ อีกทั้งยังมีแผนของการพัฒนาขนาดใหญ่ที่จะเข้ามาส่งเสริมระบบเศรษฐกิจขนาดใหญ่อย่างโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกหรือเรียกติดปากว่า  EEC

ภายใต้ภาพของโครงการขนาดใหญ่ที่จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงความเป็นอยู่ของผู้คนในพื้นที่ไป เสียงของพวกเขาจึงสำคัญเพราะนี่คือสิ่งที่จะบอกว่าเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง ทีมสื่อพลเมือง สำนักเครือข่ายและการมีส่วนร่วมสาธารณะ Thai PBS ลงพื้นที่เดินสายรถแห่ “Local Voice ฟังเสียงประชาชนคนภาคตะวันออก” ตั้งแต่วันที่ 5-8 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมาในพื้นที่ จ.ชลบุรีและระยอง เพื่อเพื่อรับฟังเสียง ปัญหาและความคิดเห็นจากผู้คนในพื้นที่

วันที่ 1 แชร์เรื่องราวการสื่อสารกับตัวเต็งนัมเบอร์วัน

เริ่มต้นสายรถแห่ของเราที่คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ซึ่งถือได้ว่าเป็นจุดศูนย์กลางการศึกษาประจำภาคตะวันออก ตั้งแต่สมัยพ.ศ. 2498 เป็นต้นมาเพื่อกระจายอำนาจและการศึกษาออกไปในภูมิภาคต่างๆ ที่นี่จึงเป็นศูนย์รวมเยาวชนจากทั่วทุกสารทิศโดยเฉพาะในภาคตะวันออกทั้งหมด อีกทั้งภายในมหาวิทยาลัยบูรพามีสาขานิเทศศาสตร์ศึกษาในเรื่องของการสื่อสาร ทำให้ทีมสื่อพลเมืองเดินทางมาร่วมพูดคุยและฟังเสียงที่นี่เป็นจุดแรก

จุดสำคัญของเราในวันนี้คือการมาอมรมเปิดโลกของการสื่อสารผ่านประสบการณ์ของสื่อมวลชนประสบการณ์สูงจาก Thai News Pix และประสบการณ์จากสื่ออิสระ สื่อสาธารณะและสื่อท้องถิ่น

บรรยากาศในห้องเรียนได้รับการตอบรับจากน้องๆ นิสิตมากกว่าที่คิดและทุกคนให้ความสนใจกับกิจกรรมตลอดทั้งงาน สิ่งที่ประทับใจในวันนั้นคือหลังจากจบกิจกรรมผู้เข้าร่วมงานได้เดินมาพูดคุยสอบถามเรื่องของการทำงานสื่อสารเพิ่มเติม ทำให้เราได้มองเห็นถึงความตั้งใจ ความชอบ และความฝันของน้องหลายคนถึงแม้ว่าบางคนไม่ได้เรียนการสื่อสารโดยตรง ส่วนตัวของผู้เขียนยอมรับว่าเมื่อได้ยินแบบนี้แล้วถึงกับหายเหนื่อย

นอกจากการอบรมแล้ว เรายังมีพระเอกรถแห่ที่เป็นเหมือนสตูดิโอเคลื่อนที่ให้ผู้คนที่ผ่านไปมาได้ลองออกรายการโทรทัศน์เสมือนจริง ไม่เพียงเท่านั้นยังสามารถสแกนรับรูปของตัวเองกลับบ้านได้ด้วยพร้อมกับของที่ระลึกจาก Thai PBS ซึ่งได้รับความสนใจจากน้อง ๆ ไม่น้อยทีเดียว

วันที่ 2  ลงสนามตระเวนฟังเสียงชาวประชา

สำหรับการเดินทางของเราในวันนี้จะพาทุกคนไปย้อนคิดถึงเหตุการณ์น้ำมันรั่วที่ส่งผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในหลายพื้นที่ทั้งในจังหวัดชลบุรีและระยอง

กรณีน้ำมันรั่วภายในภาคตะวันออก เหตุการณ์ช่วงต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมาไม่ใช่การรั่วไหลครั้งแรก จากสถิติสำนักข่าว Thai PBS พบว่าทางฝั่งภาคตะวันออกมีการรั่วไหลของน้ำมันดิบถึง 10 จาก 13 ครั้งทั่วทั้งฝั่งอ่าวไทย เพราะว่าภาคตะวันออกโดยเฉพาะเขตเศรษฐกิจ EEC (ชลบุรีและระยอง) เพราะมีการสัญจรเรือสินค้าจำนวนมากอีกทั้งยังมีนิคมอุตสาหกรรมน้ำมันขนาดใหญ่ในพื้นที่ด้วย

ความเปลี่ยนแปลงจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นส่งผลกับแต่ละสถานที่แตกต่างกันไป บริบทวิถีชีวิตของแต่ละพื้นที่ทำให้ทีมสื่อพลเมือง ลงพื้นที่พูดคุยรับฟังเสียงของชาวบ้านว่าผลที่เกิดขึ้นมีอะไรเปลี่ยนและพวกเขาอยากบอกเล่าอะไรกับเรา ทีมสื่อพลเมืองได้ลงพื้นที่ทั้งหมด 4 จุดด้วยกัน ได้แก่

หาดวอนนภา จังหวัดชลบุรี

สถานที่นี้ไม่ได้ปรากฏถึงมากนักในพื้นที่ของการรายงานผลกระทบ จากกรณีน้ำมันรั่วของโรงกลั่นน้ำมันไทยออยล์เมื่อวันที่ 3 กันยายน ที่ผ่านมา เหตุการณ์ในวันนั้นคือฟาร์มหอยแมลงภู่ของชาวบ้านได้รับความเสียหายอย่างน้อย 33 ครัวเรือน พวงหอยแมลงภู่ที่ชาวบ้านนำมาให้ทีมงานได้รับชมเป็นภาพที่ชัดเจนที่สุดภาพหนึ่งจากผลของกรณีน้ำมันรั่วและภายในพื้นที่เองยังคงเฝ้ารอความชัดเจนการเยียวยาทั้งจากภาครัฐและเอกชน

หาดตากวน จังหวัดระยอง

ชุมชนที่ทีมสื่อพลเมืองเดินทางไปถึงเป็นชุมชนที่อยู่บริเวณปากน้ำของลำคลองชากหมาก ซึ่งฝั่งตรงข้ามคืออุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ภายในพื้นที่หมู่บ้านหลายหลังประกอบอาชีพประมงหาปลาเล็ก หอยและกุ้ง

จากคำบอกเล่าของคนในพื้นที่ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภายในพื้นที่คือความเป็นอยู่มีลักษณะที่แย่ลง พวกเขาเล่าต่อว่าจากเดิมที่ในพื้นที่ปากอ่าวที่ไม่ต้องออกไปไกลก็สามารถหาปลา เลี้ยงหอยและจับกุ้งได้เป็นจำนวนมากมีรายได้เพียงพอ

แต่ในปัจจุบันเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของทิศทางน้ำจากการก่อสร้างอุตสาหกรรม ทำให้ความสมบูรณ์ในพื้นที่ลดลงเห็นได้จากการจับสัตว์น้ำที่น้อยลง ทำให้ต้องออกไปจับในพื้นที่ไกลขึ้น แต่ก็ออกไปไกลมากไม่ได้เนื่องจากเป็นพื้นที่ประมงของเรือขนาดใหญ่ อีกปัญหาที่ถือได้ว่าเป็นเรื่องเร่งด่วนคือในชุมชนกำลังจะโดนตัดระบบไฟฟ้าและน้ำประปาจากด้านนอก

วัดบ้านแลง จังหวัดระยอง

ภาคอุตสาหกรรมของภาคตะวันออกไม่ได้ส่งผลกระทบเพียงพื้นที่ทะเลและชายหาดเท่านั้น ภาคพื้นดินก็ได้รับผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงนี้เช่นเดียวกัน จากที่ได้นั่งพูดคุยและฟังเสียงกับชาวบ้านชุมชนวัดบ้านแลง ประเด็นเรื่องของสิ่งแวดล้อมและการอยู่ร่วมกันของชุมชนและอุตสาหกรรม คือปัญหาของคนในพื้นที่นี้

การเข้ามาของโรงงานอุตสาหกรรมจากโครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก (Eastern Seaboard Development Program : ESB) ในพ.ศ. 2525 เข้ามาในพื้นที่ก่อนจะมี EEC ใจความสำคัญของโครงการคือการเน้นกระจายระบบอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจ ในอีกมุมผลที่เกิดขึ้นกับคนในพื้นที่ทำให้เกิดปัญหาทางมลภาวะมากมายไม่ว่าจะเป็นสารปนเปื้อนในแหล่งน้ำและดิน อากาศเป็นพิษ ปัญหาทางสังคม ฯลฯ

ชาวบ้าชุมชนวัดบ้านแลงเล่าว่า โครงการ EEC สร้างความเปลี่ยนแปลงทางสิ่งแวดล้อมส่งผลกระทบต่อผู้คนในพื้นที่หลายอย่างไม่ว่าจะเป็น ข้อครหาเรื่องสารตกค้างในผลไม้ เม็ดพลาสติกในทะเล ระบบการจัดการน้ำ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นท่ามกลางการเดินหน้าของโครงการดังกล่าวที่ชาวบ้านชี้ว่ายังขาดการมองอย่างรอบด้านโดยเฉพาะความเป็นอยู่ของผู้คนในพื้นที่

หาดแม่รำพึง จังหวัดระยอง

พื้นที่สุดท้ายของการเดินทางในวันนี้ จากกรณีของน้ำมันรั่วที่เกิดขึ้นในปี 2556 และ 2565 ปัญหาที่เกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่าส่งผลกระทบต่อกลุ่มชาวบ้านหาดแม่รำพึงเป็นโดมิโน่เลยก็ว่าได้ ในมิติของประมงชาวบ้านบอกว่า ส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตในทะเลทั้งหมด ซึ่งทำให้เกิดปลาและสัตว์ทะเลตายเป็นจำนวนมาก ที่แย่ไปกว่านั้นคือข้อครหาเรื่องสารตกค้างในสัตว์ทะเลทำให้ไม่มีใครกล้าบริโภค

มิติของแม่ค้าคนกลางยอดการสั่งซื้อสัตว์น้ำในพื้นที่หาดแม่รำพึงมียอดลงจากความกลัวเรื่องของสารตกค้างเกิดการขาดรายได้ ซึ่งผลกระทบนี้เกิดขึ้นกับบรรดาผู้ประกอบการและแม่ค้าริมทะเล ลูกค้าไม่กล้าเข้าร้านทำให้รายได้หายจนต้องไปกู้หนี้ยืมสินมาหมุนเงินในธุรกิจ บางรายถึงกับรับภาระไม่ไหวต้องล้มเลิกกิจการออกไป

เหนือจากการพูดคุยแล้วชาวบ้านในพื้นที่ยังนำภาพหลักฐานของสัตว์ทะเลที่เกยตื้นตายซึ่งพบได้ทุกเดือนและก้อนน้ำมันดิน เพื่อยืนยันกับทีมสื่อพลเมืองถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น

วันที่ 3 ล้อมวงตั้งเก้าอี้ฟังเสียงประเทศไทย

จากกรณีปัญหาน้ำมันรั่วเมื่อ 3 กันยายนที่ผ่านมาในจังหวัดชลบุรี นำมาสู่การจัดเวทีเสวนาและบันทึกเทปรายการฟังเสียงประเทศไทย ตอน ปัญหาน้ำมันรั่วกับอนาคตทะเลตะวันออกใต้เงา EEC เพื่อร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูลจากนักวิชาการและผู้ได้รับผลกระทบในพื้นที่ เพื่อที่จะได้มองเห็นถึงมุมมองของเรื่องราวที่ไม่ได้มีเพียงแค่หนึ่งเดียวพร้อมชวนโหวตฉากทัศน์อนาคตของภาคตะวันออกที่มีอยู่ด้วยกัน 3 ฉากทัศน์คือ

  • เมืองอุตสาหกรรมผู้นำการพัฒนา
  • เมืองท่องเที่ยวระดับนานาชาติ
  • เมืองสิ่งแวดล้อมยกระดับคุณภาพชีวิต

วันที่ 4 เปิดบ้านน้ำใจแชร์ความสดใสให้แก่กัน

วันส่งท้ายรถแห่ “Local Voice ฟังเสียงประชาชนคนภาคตะวันออก” รอบนี้ ทีมสื่อพลเมืองร่วม “ปิดที่บ้านน้ำใจ” กลุ่มคนรักเขาชะเมา สอนทักษะของการสื่อสารให้กับเด็กช่วงวัยประมาณ 5 – 12 ปี ผ่านการใช้ไม้ต่อเป็นกรอบรูปเพื่อฝึกหารถ่ายภาพเสมือนจริง และมีวงเสวนาเล็กเกี่ยวกับการเรียนรู้ชุมชนของกลุ่มรักเขาชะเมาจากภาพความทรงจำในอดีตเดิมร้านหนังสือเล็ก ๆ ในชุมชน จนกลายเป็นแหล่งเรียนรู้อิสระที่เปิดกว้างให้กับเด็กทุกคนได้เข้ามาเรียนรู้วิชาชีวิตที่ไม่ได้มีสอนอยู่ในตำราเรียน

สิ่งที่น่าสนใจในวงเสวนาคือการเปรียบเปรยถึงพื้นที่การเรียนรู้คู่ขนานระหว่าง EEC ซึ่งเป็นพื้นที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและอุตสาหกรรเต็มรูปแบบ ทำให้ภายในเมืองมีระบบที่มีความพร้อมทั้งในเรื่องของสาธารณูปโภคและการขนส่ง แต่อีกโซนหนึ่งของภาคตะวันออกเป็นโซนของการเรียนรู้จากธรรมชาติ ชุมชนและสร้างพื้นที่ให้เกิดการเรียนรู้ด้วยตนเอง ซึ่งกลุ่มรักเขาชะเมาเองก็เกิดจากฐานการเรียนรู้ที่บ้านน้ำใจหลังนี้พัฒนาต่อยอดจนกลายเป็นกลุ่มการเรียนรู้ด้วยตัวเองที่เข้มแข็งจากรุ่นแม่สู่รุ่นลูกที่เต็มไปด้วยความรัก ความสนุกและผูกพันธ์

พระเอกอย่างสตูดิโอเคลื่อนที่ของเราได้รับความสนใจจากน้องๆ อย่างเต็มที่มากและร่วมบอกเล่าส่งเสียงกันในหลายประเด็น บางคนที่ไม่มีความมั่นใจก็ชวนเพื่อนฝูงร่วมขึ้นไปเป็นกลุ่ม บางคนก็ชวนพี่ทีมข่าวขึ้นไปเป็นเพื่อน ทำให้รถแห่กลายเป็นรถเคลื่อนที่มีชีวิตและบันทึกเหตุการณ์เรื่องเล่าได้อย่างสมบูรณ์ตลอด 4 วันที่ผ่านมา

ถ่ายภาพ: ก้องกนก นิ่มเจริญ และ Jerneema Studio

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ