คำตัดสินคดีฝุ่น นายกต้องสั่งการให้ทันควัน ทำแผนฉุกเฉินภายใน 90 วัน

คำตัดสินคดีฝุ่น นายกต้องสั่งการให้ทันควัน ทำแผนฉุกเฉินภายใน 90 วัน

วันนี้ 19 ม.ค. 2567 ศาลปกครองเชียงใหม่กำหนดฟังคำพิพากษา “คดีฝุ่น-10 ชาวเชียงใหม่ฟ้องนายก” 

(19 ม.ค. 67) สืบเนื่องจากการฟ้องคดีของเครือข่ายประชาชนในคดีฝุ่น PM 2.5 ศาลปกครองเชียงใหม่ เผยแพร่คำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ ส. 3/2566 คดีหมายเลขแดงที่ ส.3/2566 คดีนี้ผู้ฟ้องคดีทั้งสิบฟ้องว่า ผู้ฟ้องคดีทั้งสิบ อาศัยอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่และเดินทางภายในพื้นที่ภาคเหนือ ได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากปัญหามลพิษทางอากาศที่เกิดจากฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) อย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ฟ้องคดีทั้งสิบและประชาชนเป็นจำนวนมาก ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (นายกรัฐมนตรี) และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ) ละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร ในการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 จนทำให้กลายเป็นสภาวะวิกฤติ มีคำสั่งให้ใช้อำนาจตาม พ.ร.บ. ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมกำหนดมาตรการหรือทำแผนฉุกเฉินอย่างมีประสิทธิภาพ ภายในระยะเวลา 90 วัน

คดีมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัย 2 ประเด็น คือ

ประเด็นที่หนึ่ง ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ละเลยต่อหน้าที่ตามที่พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 กำหนดให้ต้องปฏิบัติ หรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควรในการสั่งการให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือบุคคลใดกระทำหรือร่วมกระทำการใดๆ อันจะมีผลควบคุม ระงับ หรือบรรเทาผลร้ายจากปัญหาฝุ่น PM2.5 หรือไม่ อย่างไร

ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ได้ออกประกาศ เรื่อง กำหนดมาตรฐานฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน ในบรรยากาศโดยทั่วไป ลงวันที่ 23 มิถุนายน 2565 กำหนดให้มาตรฐานฝุ่น PM2.5ในบรรยากาศโดยทั่วไป ค่าเฉลี่ยในเวลา 24 ชั่วโมง จะต้องไม่เกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) และตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2566 ค่าเฉลี่ยในเวลา 24 ชั่วโมง จะต้องไม่เกิน 39.5 มคก./ลบ.ม.

ซึ่งเมื่อพิจารณาจากข้อมูลของสำนักงานพัฒนาเทคนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) และกรมควบคุมมลพิษปรากฏว่า นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562 เป็นต้นมา หลายจังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือมีฝุ่น PM2.5 ในปริมาณที่เกินค่ามาตรฐานและอยู่ในระดับที่มีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนติดต่อกันอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายน ปี พ.ศ. 2566 ประกอบกับคณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ และผู้อำนวยการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเขต 1 (เชียงใหม่) ให้ข้อมูลสอดคล้องกันว่า ฝุน PM2.5 เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ทำให้เกิดกลุ่มโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ เช่น โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคมะเร็งปอด และโรคหืดหอบ

โดยมีจำนวนผู้ป่วยและอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยเพิ่มขึ้นมากนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 เป็นต้นมา ถึงปี พ.ศ. 2566 เมื่อพิจารณาแล้วจึงเห็นว่า พื้นที่ภาคเหนือประสบปัญหาสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ที่มีค่าสูงกว่ามาตรฐานในระดับที่มีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนอย่างต่อเนื่ อง กรณีถือว่าพื้นที่ภาคเหนือเกิดภาวะมลพิษ ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน และก่อให้เกิดผลกระทบเสียหายต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจังหวัดเชียงใหม่ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของผู้ฟ้องคดีทั้งสิบ แม้ว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 จะได้ดำเนินการเพื่อสั่งการให้มีการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) แล้วก็ตาม แต่เนื่องจากสภาพอากาศในพื้นที่ภาคเหนือ รวมถึงจังหวัดเชียงใหม่ ยังคงตกอยู่ในภาวะที่ได้รับผลกระทบต่อสุขภาพอันเกิดจากฝุ่น PM2.5 เกินค่ามาตรฐานเป็นระยะเวลานานและต่อเนื่อง กรณีจึงถือว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ปฏิบัติหน้าที่ ตามที่กฎหมายกำหนดล่าช้าเกินสมควร

ประเด็นที่สอง ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ละเลยต่อหน้าที่ตามที่พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 กำหนดให้ต้องปฏิบัติ หรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควรในการแก้ไขปัญหาหรือบรรเทาผลร้ายจากฝุ่น PM2.5 หรือไม่ อย่างไรข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือประสบปัญหาฝุ่น PM2.5 มาเป็นระยะเวลานานคณะรัฐมนตรีจึงมีมติให้การแก้ไขปัญหามลภาวะด้านฝุ่นละอองเป็นวาระแห่งชาติ

โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 เป็นกลไกหลักในการจัดทำแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง”ต่อมา ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ได้มีมติในการประชุมครั้งที่ 5/2562 เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2562 เห็นชอบแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติดังกล่าว โดยการบูรณาการดำเนินงานร่วมกันทุกภาคส่วน และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนดขั้นตอนการปฏิบัติงานที่ชัดเจนในช่วงสถานการณ์วิกฤตปัญหาฝุ่น PM2.5 โดยกำหนดเป็น 4ระดับ คือ ระดับที่ 1 ฝุ่น PM2.5 มีค่าไม่เกิน 50 มคก./ลบ.ม. ระดับที่ 2 ฝุ่น PM2.5 มีค่าระหว่าง 51-75 มคก /ลบ.ม. ระดับที่ 3 ฝุ่น PM2.5 มีค่าระหว่าง 36-100 มคก/ลบ.ม. และระดับที่ 4 ฝุ่น PM2.5 มีค่ามากกว่า 100 มคก/ลบ.ม.

ซึ่งระดับที่ 4 ตามแผนดังกล่าวกำหนดให้ต้องมีการประชุมผู้ถูกฟ้องคดีที่เป็นกรณีเร่งด่วนพิเศษ และพิจารณากลั่นกรองแนวทางในการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 โดยนำเรียนผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 เป็นการเร่งด่วนเพื่อพิจารณาสั่งการต่อไป เมื่อข้อเท็จจริงปรากฎว่า นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562 เป็นต้นมา พื้นที่ภาคเหนือได้ประสบปัญหาฝุ่น PM2.5 เกินค่ามาตรฐาน แม้หน่วยงานของรัฐได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติดังกล่าวตลอดมา แต่เมื่อสถานการณ์ปัญหาฝุ่น PM2.5 ของภาคเหนือยังคงมีปริมาณเกินค่ามาตรฐานในช่วงเดือนธันวาคมถึงเมษายนของทุกปีมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในปี พ.ศ. 2566 ในพื้นที่ จ.เชียงราย เชียงใหม่ ลำปาง ลำพูนแม่ฮ่องสอน แพร่ น่าน ตาก สุโขทัย และพิษณุโลก มีปริมาณฝุ่น PM2.5 เกินกว่า 51 มคก./ลบ.ม. เป็นระยะเวลาติดต่อกันหลายวัน และบางช่วงมีปริมาณสูงเกินกว่า 100 มคก./ลบ.ม. (ระดับที่ 4) เป็นอย่างมาก ถือว่าเป็นปัญหามลพิษที่มีแนวโน้มที่ จะร้ายแรงถึงขนาดเป็นอันตรายต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนหรืออาจก่อให้เกิดผลกระทบเสียหายต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม

โดยไม่ปรากฏว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ได้กำหนดให้มีการประชุมเป็นกรณีเร่งด่วนเพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ที่อยู่ในสถานการณ์วิกฤตในระดับที่ 4 และพิจารณากลั่นกรองแนวทางแก้ไขปัญหาหรือบรรเทาผลร้ายจากฝุ่น PM2.5 เสนอต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 เป็นการเร่งด่วนในเวลานั้น ทำให้ผู้ฟ้องคดีทั้งสิบซึ่งอาศัยอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่และเดินทางในพื้นที่ภาคเหนือ ตกอยู่ในสภาวะเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบต่อสุขภาพทั้งในระยะสั้นและระยะยาว กรณีจึงถือว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ละเลยต่อหน้าที่หรือปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายล่าช้าเกินสมควร

เมื่อได้วินิจฉัยแล้วว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ละเลยต่อหน้าที่หรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร แต่เนื่องจากสถานการณ์ปัญหาฝุ่น PM2.5 เกินค่ามาตรฐานในพื้นที่ภาคเหนือได้คลี่คลายลงแล้ว ตั้งแต่ช่วงเดือนพฤษภาคม 2566 ศาลจึงไม่อาจกำหนดคำบังคับให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวได้ อย่างไรก็ตามปัญหาฝุ่น PM2.5 เกินค่ามาตรฐานในพื้นที่ภาคเหนือโดยมากจะเกิดขึ้นประจำในช่วงเดือนธันวาคมถึงเมษายนของทุกปีอย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มว่าจะทวีความรุนแรงขึ้น เพื่อเป็นการป้องกันเหตุดังกล่าวไว้ก่อนทั้งระยะสั้นและ ระยะยาวในรอบระยะเวลาข้างหน้าตามหลักการป้องกันล่วงหน้า (Preventive principle) และกฎหมายข้างต้น จึงมีเหตุผลเพียงพอ ที่ศาลจะพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองใช้อำนาจและปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 เพื่อป้องกัน ควบคุม แก้ไข ระงับหรือบรรเทาผลร้ายจากอันตรายและความเสียหายที่เกิดจากภาวะมลพิษได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันท่วงที

พิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ใช้อำนาจหรือร่วมกันใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2565 กำหนดมาตรการหรือจัดทำแผนฉุกเฉินที่มีประสิทธิภาพอย่างบูรณาการและยั่งยืน เพื่อป้องกัน ควบคุม แก้ไข บรรเทา หรือระงับภยันตรายอันเกิดจากฝุ่น PM2.5 ซึ่งเกินกว่าค่ามาตรฐาน และอยู่ในระดับที่มีผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนในพื้นที่ภาคเหนือให้ทันท่วงที ทั้งนี้ ให้ดำเนินการกำหนดมาตรการหรือจัดทำแผนฉุกเฉินดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน นับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

นายสุมิตรชัย หัตถสาร ผอ.ศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิมนุษยชนท้องถิ่น กล่าวว่า เป็นไปตามที่คาดหวังแต่เสียดายผู้ถูกฟ้องกรณี 3 และ 4 คือคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และคณะกรรมการกำกับตลาดทุน เราคาดหวังว่าสองบริษัทนี้จะช่วยในการมอนิเตอร์บริษัทเอกชนที่อาจจะมีผลมีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องการทำให้เกิด PM 2.5 ศาลไม่ได้รับ เข้ามาสู่ในการดำเนินการพิจารณาคดี แต่อย่างไรก็ตามผู้ถูกฟ้องคดีที่หนึ่งและคดีที่สอง ก็มีอำนาจสั่งการสองหน่วยงานนี้ได้หากเห็นว่าเกี่ยวข้องโดยตรง คำพิพากษาครั้งนี้ชัดเจนขึ้นกว่าครั้งก่อนไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการประกาศให้เป็นพื้นที่ควบคุมมลพิษ หรือศาลสั่งปฏิบัติหน้าที่ตาม พ.ร.บ. ส่งเสริมและควบคุมสิ่งแวดล้อม แต่ไม่ได้เจาะจงแต่ครั้งนี้ศาลกำหนดมาตรการที่ชัดเจนและเฉพาะเจาะจงให้ดำเนินการทำแผนฉุกเฉินภายใน 90 วัน

ซึ่งเป็นสิ่งที่ทีมคาดหวังตั้งแต่ต้นอยากให้รัฐบาลมีความชัดเจน ในเรื่องแผนปฏิบัติการที่เป็นรูปธรรม และมีหน่วยงานที่เข้ามาบูรณาการงานกันและมีอำนาจในการตัดสินใจที่ชัดเจนเร่งด่วนเพื่อประชาชนสามารถที่จะเข้าใจว่ากระบวนการของการดำเนินงานหน่วยงานรัฐอะไรที่เป็นเป้าหมายที่จะบรรลุให้ได้เพื่อจะลดปัญหามลพิษของภาคเหนือ ซึ่งเป็นไปตามสิ่งที่คาดหวังที่ให้เกิดขึ้น

ข้อเสนออื่นที่ภาคประชาชนฟ้องร้องที่ยกไปเป็นอย่างไร ?

โดยหลักศาลพิจารณาคดีถึงผู้ถูกฟ้องที่หนึ่งและผู้ถูกฟ้องที่สองนายกรัฐมนตรีคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมละเลยล่าช้าซึ่งเป็นประเด็นหลัก และข้อเท็จจริงที่ศาลวินิจฉัยขั้นต้นซึ่งสะท้อนภาพว่ากระบวนการของการมอนิเตอร์เรื่องนี้ไม่มีประสิทธิภาพ แม้ศาลจะไม่ได้ใช้คำนี้ตาให้เห็นว่าความล่าช้าการละเลยกระบวนการต่างๆที่กำหนดแผนไว้นั้นส่งผลกระทบอย่างไร ศาลอธิบายถึงผลกระทบได้ละเอียดและต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมาซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าคนภาคเหนือเผชิญกับสิ่งที่เป็นวิกฤติมาอย่างยาวนาน

นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ อาจารย์แพทย์โรคหัวใจ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ในส่วนของผลกระทบด้านสุขภาพ ครั้งนี้เป็นครั้งที่ชัดเจนที่สุดที่ศาลออกมายอมรับถึงผลกระทบทางสุขภาพทั้งระยะสั้นและระยะยาวเพราะที่ผ่านมาก่อนหน้านี้มีหลายคดีที่อาจจะออกมาพูดถึงเรื่องผลกระทบให้ชัดเจน ทำให้ทางทีมแพทย์ไม่สบายใจถึงต้องการสื่อสาร แต่ครั้งนี้เป็นที่สีชัดว่าผลกระทบทางสุขภาพเป็นที่ยอมรับในระดับในขั้นของศาลยุติธรรม เป็นครั้งแรกที่เราเริ่มมองเห็นและรู้สึกว่ามีโอกาสที่จะหายใจได้มากขึ้นและในอนาคต

เช่นเดียวกันรู้สึกว่ากลไกของการแก้ไขน่าจะต้องไปถึงเรื่องเกี่ยวกับมุ่งเน้น กับกลุ่มบริษัททุนที่เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยสิ่งนี้เราพยายามที่จะชี้แจงแต่น่าเสียดายที่ศาลไม่รับคำฟ้องจุดนั้นอย่างไรก็ตามอยากจะให้เห็นกลไกที่เกี่ยวข้องทั้งหมดและทำอย่างจริงจัง ที่ผ่านมาจะเห็นการบ่นแต่ครั้งนี้เป็นครั้งที่เป็นที่ประจักษ์อย่างชัดเจนผลกระทบทางสุขภาพและรัฐบาลยังไม่จริงจังและไม่ได้ใช้ ทรัพยากรทุกอย่างที่ตนเองมีอย่างเต็มที่

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นัทมน คงเจริญ คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ทรัพยากรทุกอย่างที่ตนเองมีอย่างเต็มที่ เสริมสองเรื่องคือเรื่องแรกปกติเวลาเรามีความพิพากษาสิ่งที่สำคัญมากกว่าคำพิพากษาคือการบังคับตามคำพิพากษา เราคาดหวังว่าจะได้เห็นผลของการดำเนินการที่แผนบูรณาการที่ศาลมีคำสั่งวันนี้ออกมาเป็นผลรูปธรรมตัวชี้วัดที่สำคัญคือค่าฝุ่นในปีนี้ ซึ่งประชาชนคาดหวังว่าค่าฝุ่นจะลดลง นี่คือเรื่องแรกของการนำเอาคำพิพากษาไปปฏิบัติให้เกิดประสิทธิผล

เรื่องที่สองแม้ว่าจะฟ้องที่เชียงใหม่แต่เราคาดหวังว่าการดำเนินการเพราะอากาศไม่มีพรมแดน เราคาดหวังผลวันนี้จะส่งผลให้เกิดการดำเนินการทั่วภูมิภาคของภาคเหนือโดยเฉพาะพี่น้องทางจังหวัด ติดชายแดน เชียงราย พะเยา น่าน แม่ฮ่องสอน ซึ่งได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงไม่แพ้กับที่เชียงใหม่รวมทั้งประเด็นศูนย์ข้ามแดน

รศ.ดร.สมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า เรื่องแรกที่สำคัญคือเป็นที่ยอมรับว่าเป็นปัญหาวิกฤตเรื่องฝุ่นที่ส่งผล กระทบต่อชีวิตของทุกคนอย่างแท้จริงเป็นที่ยอมรับ เรื่องที่สองคือรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาและคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติละเลยและปฏิบัติหน้าที่ล่าช้า หมายความว่าการแก้ไขของรัฐบาลชุดที่ผ่านมาที่ยกให้เป็นวาระแห่งชาติหรือรวมถึงการประกาศมาตรการต่างๆในหลายปีที่ผ่านมา พวกเรายืนยันว่านั่นเป็นมาตรการที่ล่าช้าและไม่ทันการณ์เพราะฉะนั้นหมายความว่าในการรับมือต้องมีการจัดการกับเรื่องนี้ในรูปแบบแบบใหม่ไม่ใช่การสั่งการแบบระบบราชการแบบเดิม คำพิพากษาในวันนี้ยืนยันในข้อเท็จจริงที่พวกเรามีความเห็น เรื่องที่สามคำพิพากษานี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นหมายความว่าพวกเราทั้งหมดยังต้องทำงานเรื่องนี้อยู่ นี่คือคำสั่งของศาลที่จะให้มีการจัดทำแผนเพื่อรับมือกับฝุ่นใน 90 วัน

ซึ่งหลังจากนี้เราจะยังคงไม่อาจรอให้คำพิพากษาได้และร่วมมือกันทำอย่างอื่นต่อไปการติดตามหรือแม้กระทั่งในเบื้องต้น ในที่สุดเราต้องมีหนังสือถึงอัยการอย่าอุทธรณ์คำสั่งนี้อย่าอุทธรณ์คำพิพากษานี้ คดีนี้เป็นข้อเท็จจริงที่ชัดเจนมากว่าเป็นปัญหาที่ต้องการการแก้ไขอย่างเร่งด่วนหากอัยการอุทธรณ์จะทำให้เวลาเรื่องนี้ทอดยาวออกไปอีกซึ่งขนาดนี้จะหมดเดือนมกราคมจะเข้าสู่เดือนกุมภาพันธ์แล้วฝุ่นกำลังจะกลับมา ซึ่งเป็นส่วนที่ยังไงพวกเรายังต้องผลักดันและเคลื่อนไหวกันต่อ คำพิพากษานี้มีนัยยะสำคัญอย่างไรคิดว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ชี้ให้เห็นว่าการทำงานที่ผ่านมาล้มเหลวไม่ทันการณ์ไม่มีประสิทธิภาพต่อการแก้ปัญหาเรื่องฝุ่นและหวังว่ามันจะเป็นจุดเริ่มต้นที่แท้จริง แต่ทำแบบนี้เราคงไม่อาจ ฝากความหวังให้กับหน่วยงานรัฐว่าจะทำผ่านพ้นไปได้ด้วยลำพังคิดว่าความใส่ใจความสนใจของประชาชนทั้งหมดจะได้รับแรงผลักดัน จะเป็นส่วนสำคัญที่ยังไงต้องทำร่วมกันต่อ เพื่อเป็นประโยชน์สำหรับพวกเราและคนที่ยังมีชีวิตอยู่ ณ ตอนนี้รวมถึงเจเนอเรชั่นคนรุ่นถัดไปที่จะต้องรวมกันเพราะเป็นประโยชน์ต่อสังคมโดยรวม

และอยากชี้ให้เห็นว่า รัฐบาลชุดใหม่ต้องฟังเสียงประชาชนมากขึ้น พร้อมบูรณาการหน่วยงานต่าง ๆ อย่าใช้แผนเดิม ในการแก้ไขปัญหาเรื่องฝุ่น

ทามไลน์ก่อนหน้านี้ ฟ้องคดีของเครือข่ายประชาชนในคดีฝุ่น PM 2.5

10 เมษายน 2566 ผู้มีภูมิลำเนาและอาศัยอยู่ในพื้นที่ จ.เชียงใหม่รวม 10 คน ได้ยื่นฟ้องนายกรัฐมนตรี (โดยตำแหน่ง) และหน่วยงานเกี่ยวข้อง 3 หน่วยงาน คือ คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กตล.) คณะกรรมการกำกับตลาดทุน (กตท.) เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1-4 ตามลำดับ โดยยื่นต่อศาลปกครองเชียงใหม่ กรณี “ไม่ได้ใช้มาตรการทางกฎหมาย กลไกทางสิทธิมนุษยชน นโยบาย และแผนที่มีอยู่ เพื่อกำหนดมาตรการป้องกัน และจัดทำแผนฉุกเฉินเพื่อแก้ไขสถานการณ์วิกฤตฝุ่นอย่างมีประสิทธิภาพ” และขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งใน 5 ประเด็น (ดูรายละเอียด) ซึ่งมีสาระสำคัญ 3 ประการดังนี้

1. ฟ้องนายกรัฐมนตรีให้ใช้อำนาจตามมาตรา 9 พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ 2535 (พรบ.สิ่งแวดล้อม 2535) ซึ่งเมื่อเกิดเหตุภัยพิบัติอย่างร้ายแรง ให้มีอำนาจสั่งการให้หน่วยงานทำหน้าที่อย่างเข้มข้น เนื่องจากนายกรัฐมนตรีไม่ได้ใช้อำนาจนี้จนการแก้ไขปัญหาวิกฤติฝุ่น PM 2.5 มีความล่าช้า ไม่ทันต่อความร้ายแรงของสถานการณ์ 

2. ฟ้องคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ให้ปฏิบัติตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” ซึ่งรัฐบาลประกาศแผนนี้มาตั้งแต่ปี 2562 เนื่องจากในระยะเวลา 4 ปี ในการใช้แผนนี้ แทบจะไม่เห็นความคืบหน้า และปัญหายังคงความรุนแรงอยู่ ถือเป็นความผิดปกติที่ไม่สามารถยอมรับได้ 

3, ฟ้องคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแล ซึ่งมีหน้าที่ครอบคลุมถึงพันธกรณีนอกอาณาเขตให้กำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข วิธีการจัดทำรายงาน การเปิดเผยข้อมูลอย่างรอบด้านเพิ่มในแบบรายงาน 66-1 One Report หรือแบบอื่นๆ ในฐานะเอกสารสำคัญ สำหรับการตรวจสอบข้อมูลตลอดห่วงโซ่อุปทาน อันเกี่ยวเนื่องกับแหล่งกำเนิดฝุ่น PM 2.5 ซึ่งส่งผลกระทบข้ามพรมแดนมาอย่างประเทศไทย” แถลงการณ์จากเครือข่ายฯ เมื่อ 10 เม.ย. 2566 ต่อสาเหตุการฟ้องคดี

19 เม.ย. 2566 ศาลปกครองเชียงใหม่ได้มีคำสั่งรับฟ้องคดีเฉพาะผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และ 2 แต่ไม่รับฟ้องในส่วนของผู้ถูกฟ้องที่ 3 และ 4 

18 พ.ค. 2566 เครือข่ายฯ ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองเชียงใหม่ 

5 ม.ค. 2567 ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งยืนตามศาลปกครองชั้นต้น “ไม่รับฟ้อง ทั้ง กตล. และ กตท.” ด้วยเหตุผลทั้ง 2 หน่วยงานไม่ได้มีหน้าที่ตาม พรบ.สิ่งแวดล้อม2535 หรือตามประกาศ กก.วล. เรื่อง “กำหนดมาตรฐานฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน” และปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายกำหนดให้ทั้ง 2 หน่วยงานต้องเปิดเผยข้อมูลผู้ประกอบธุรกิจที่ก่อ หรืออาจมลภาวะทางอากาศ ดังนั้น การปฏิบัติหน้าที่หรือการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ของทั้ง 2 หน่วยงาน จึงมิได้เป็นผลโดยตรงต่อความเดือดร้อนเสียหายในคดีฝุ่น PM2.5

12 ม.ค. 2567 ศาลปกครองเชียงใหม่กำหนดฟังคำพิจารณาคดี 

ขอบคุณภาพ : WEVO สื่ออาสา / สถานีฝุ่น

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ