แลนด์บริดจ์ (แลก) แลนด์เรียน กับโจทย์การพัฒนาที่คนพะโต๊ะต้องแลก?

แลนด์บริดจ์ (แลก) แลนด์เรียน กับโจทย์การพัฒนาที่คนพะโต๊ะต้องแลก?

บรรยากาศตอนเช้า อ.พะโต๊ะ จ.ชุมพร I ภาพโดย Thai PBS ศูนย์ข่าวภาคใต้

ชุมพรประตูสู่ภาคใต้ บนโจทย์ความท้าทายใหม่ยุครัฐบาลเศรษฐา กับโครงการแลนด์บริดจ์ที่รัฐบาลเดินหน้าโรดโชว์กับนักลงทุนต่างชาติมาตั้งแต่ปลายปี 2566 แลต๊ะแลใต้ ชวนทำความรู้จักกับพื้นที่ที่เป็นจุดกึ่งกลางของเส้นทางพัฒนาโครงการนี้อย่าง อ.พะโต๊ะ จ.ชุมพร ที่นั่นเทือกเขาและป่าไม้ยังคงอุดมสมบูรณ์ ด้วยลักษณะภูมิศาสตร์ของพะโต๊ะ ที่รายล้อมด้วยภูเขา ทำให้มีป่าไม้ สัตว์ป่า และมีน้ำอุดมสมบูรณ์ ที่นี่เป็นแหล่งกำเนิดแม่น้ำหลังสวน สายน้ำที่รองรับวิถีเกษตรของคนที่นี่มายาวนาน

คนพะโต๊ะ เวลานี้ส่วนมากยึดอาชีพในภาคเกษตรเป็นหลัก มีครัวเรือนเกษตรอยู่ที่ 6,178 ครัวเรือน หรือคิดเป็น 97.07% ของพะโต๊ะทำเกษตร และยังเป็นหนึ่งใน 3 อำเภอของชุมพรที่ปลูกทุเรียนมากที่สุด ซึ่งหากมีการก่อสร้างทางรถไฟ หรือเจาะอุโมงค์เพื่อการก่อสร้างเส้นทางของโครงการแลนด์บริดจ์เชื่อมทางเรือน้ำลึกระนอง-ชุมพร ชาวพะโต๊ะ กังวลว่า เส้นทางน้ำเดิมที่ชาวบ้านได้ใช้เพื่อการเกษตรอาจจะต้องเปลี่ยนแปลงไปเพื่อประโยชน์อื่นหรือไม่ เรื่องนี้ยังไม่ชัดเจน  และนี่เป็นเสียงส่วนหนึ่งที่ยืนยันความอุดมสมบูรณ์ของที่นี่

คลิปจากรายการคุณเล่า เราขยาย ออกอากาศเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2566

วิภาวดี พันธุ์ยางน้อย นักวิจัยอิสระ ที่ลงพื้นที่เก็บข้อมูลตลอดเส้นทางของโครงการนี้ ให้สัมภาษณ์ในรายการคุณเล่า เราขยาย ช่อง Thai PBS ว่า ด้วยสภาพปัจจุบันของพื้นที่พะโต๊ะเป็นชุมชนเกษตร ต้องใช้ที่ดินในการสร้างรายได้ ชาวบ้านจึงกังวลใจเป็นอย่างมากเมื่อมีการเข้ามาของโครงการแลนด์บริดจ์

“ชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร เมื่อเกษตรกรไม่มีที่ดินทำกินจะอยู่อย่างไร แต่สิ่งที่ชาวบ้านเป็นห่วงและกังวลใจจริง ๆ คือเรื่องกระบวนการและนโยบายของรัฐ เพราะโครงการนี้เป็นโครงการใหญ่ แต่รัฐบาลมาแยกศึกษาโครงการย่อยต่าง ๆ เพราะตอนนี้มีการศึกษาเพียงโครงการท่าเรือน้ำลึก 2 ฝั่ง มอเตอร์เวย์ รถไฟรางคู่ ซึ่งชาวบ้านจะรับรู้แค่โครงการย่อยเหล่านี้ ซึ่งชาวบ้านต้องมาประกอบภาพเอง โดยที่ผู้พัฒนาโครงการไม่ได้ให้ข้อมูลหรือภาพรวมของโครงการ เพราะฉะนั้นวันนี้ไม่ว่าเขาจะเห็นด้วย หรือเห็นต่างกับโครงการ มันเป็นการเห็นด้วยหรือเห็นต่างบนข้อมูลที่ได้อย่างจำกัด ไม่ได้ครอบคลุมแผนพัฒนาที่กำลังจะเกิดขึ้นในพื้นที่ของพวกเขา”

วิภาวดี พันธุ์ยางน้อย
วิภาวดี พันธุ์ยางน้อย ให้สัมภาษณ์ในรายการคุณเล่า เราขยาย ช่อง Thai PBS วันที่ 15 ธ.ค. 66

“เฉพาะตัวโครงการแลนด์บริดจ์ จะมีส่วนประกอบย่อยหลายส่วนคือมีท่าเรือน้ำลึกฝั่งอ่าวไทย และฝั่งอันดามัน หัวสะพาน และระบบคมนาคมสำหรับการขนส่งที่เป็นสะพานเชื่อมโยงระหว่างท่าเรือ 2 ฝั่ง และเมื่อมาดูสะพานที่ใช้เชื่อมโยงก็จะมีมอเตอร์เวย์ รถไฟรางคู่ ที่มีความยาว 98 กม. กว้าง 175 ม. ซึ่งต้องใช้พื้นที่ประมาณ 9,400 ไร่ แล้ว อ.พะโต๊ะ จ.ชุมพร อยู่ตรงกลางของเส้นทางนี้พอดี ซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่ของโครงการก็จะผ่าน อ.พะโต๊ะ ไม่เพียงแค่นั้น อ.พะโต๊ะ เองก็จะถูกกันไว้เป็นพื้นที่สำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ใช้พื้นที่ประมาณ 18,000 ไร่ นี่จึงเป็นความกังวลของชาวบ้าน เพราะถ้าเกิดโครงการนี้ขึ้นมา ก็จะกระทบต่อวิถีชีวิต ที่อยู่ ที่ทำกินของพวกเขาจะเป็นอย่างไรบ้าง บางคนมีพื้นที่กว่า 30 ไร่ แต่ติดพื้นที่โครงการไปเกือบหมด เหลือเพียงที่อยู่อาศัย 2-3 ไร่”

“ประเด็นเรื่องผลผลิตทางการเกษตร จะอยู่ในรายงานการศึกษาผลกระทบชุมชนในพื้นที่ ที่กำหนดให้เป็นพื้นที่โครงการพัฒนาประเทศ แต่ในมุมของชาวบ้านนั้นแตกต่างออกไป เพราะมองว่ายังไม่รับฟังความคิดเห็นจากพวกเขาอย่างเพียงพอ เช่นเดียวกับการให้ข้อมูลต่อชุมชน รัฐยังไม่ชี้แจงหรือให้ข้อมูลที่ครอบคลุมในความหมายที่ว่าโครงการแลนด์บริดจ์เป็นแผนพัฒนาขนาดใหญ่ เป็นโครงการสำคัญ เป็นโครงสร้างหลักภายใต้โครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้”

วิภาวดี พันธุ์ยางน้อย

ข้อมูลจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระบุว่าปี 2566 อ.พะโต๊ะมีพื้นที่ปลูกทุเรียน 40,174 ไร่ ได้ผลผลิตประมาณ 56,786 ตัน ทุเรียนวัยรุ่นอายุต้นยังไม่ถึง 20 จะให้ผลผลิตประมาณ 150-300 กิโลกรัม ต่อฤดูกาล ถ้าขายกิโลละ 120 บาท จะได้เงินประมาณ 18,000-36,000 บาทต่อต้น

แต่ถ้าสวนไหนทุเรียนโตเต็มที่อายุ 20 ปีขึ้นไป ผลผลิตจากทุเรียน 1 ต้น ต่อ 1 ฤดูกาลจะอยู่ที่ประมาณ 400 กิโลกรัมขึ้นไป ทำให้เกษตรจะมีรายได้จากทุเรียนต้นโตเต็มวัย ประมาณ 50,000 บาท ต่อทุเรียน 1 ต้น ในปีเดียว

ขณะเดียวกันค่าเวนคืนที่เกษตรกรจะได้รับจากโครงการแลนด์บริดจ์คือต้นละ 18,740 บาท และจ่ายแค่ครั้งเดียว

“ในช่วงงรัฐบาลใหม่จะเห็นได้ชัดว่าประชาชนเริ่มที่จะตื่นตัว และลุกขึ้นมาส่งเสียงถึงรัฐบาล ยื่นจดหมายถึงหน่วยงานต่าง ๆ ขณะเดียวกันรัฐบาลมีการผลักดันในการทำโรดโชว์ สื่อสารกับนักลงทุน ผลักดันกฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง แต่สิ่งที่ต้องไม่ทิ้งและไม่ละเลยก็คือการลงไปรับฟังความคิดเห็นของชาวบ้าน เพราะพวกเขาแสดงความกังวลใจออกมาแล้ว พื้นที่ในการรับฟัง พื้นที่ในการรับเรื่องราวร้องทุกข์ต่าง ๆ ของชาวบ้าน รัฐบาลควรให้ความสำคัญในระดับที่เท่า ๆ กัน”

“กรณีของโครงการอุตสาหกรรม ถ้าเราอ่านรายงานฉบับล่าสุดของ สนข. ก็จะพูดเรื่องแผนการจัดการน้ำแล้ว ในแผนการจัดการน้ำก็จะพูดว่าต้องใช้น้ำเท่าไหร่ในโครงการนี้ ซึ่งในรายงานดังกล่าวก็ยังระบุว่าการจัดการน้ำเป็นหน้าที่การนิคมอุตสาหกรรมที่จะต้องเข้ามาจัดการ เพราะฉะนั้นโครงการนี้ท้ายที่สุดแล้วจะมีหลายหน่วยงานมากที่เข้ามาเกี่ยวข้อง ที่บอกว่าชาวบ้านกังวล เพราะพวกเขาไม่รู้เลยว่าหน้าตาของโครงการเมื่อเสร็จแล้วจะเป็นอย่างไร”

วิภาวดี พันธุ์ยางน้อย

“ส่วนตัวเห็นด้วยกับข้อเสนอของชุมชน ที่ให้ทำ SEA หรือการประเมินสิ่งแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์ ไม่ได้เป็นการศึกษาในรายโครงการเพื่อจะทำโครงการ แต่เป็นการศึกษาว่าพื้นที่ตรงนั้นมีศักยภาพที่จะพัฒนาในด้านไหนบ้าง เพื่อนำไปกำหนดแผนความเป็นไปได้แล้วนำไปศึกษา EIA EHIA ต่อไป ข้อเสนอนี้ดีที่สุดในมุมที่เป็นการเปิดพื้นที่ให้ทั้งฝั่งรัฐ และชุมชนได้มีโอกาสในการปรึกษาหารือและกำหนดแผนพัฒนาร่วมกัน”

เครือข่ายรักษ์พะโต๊ะยื่นหนังสือถึงกสม. (28 พ.ย. 66)

“อีกประเด็นที่สำคัญและเป็นปัญหาในการผลักดันโครงการนี้มาตลอดคือกระบวนการศึกษาไม่ได้รับการยอมรับจากประชาชน เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลหรือหน่วยงานี่รับผิดชอบโครงการ หรือบริษัทที่ปรึกษาที่เข้ามาดำเนินการศึกษาและพัฒนาโครงการ ต่างไม่ได้รับการยอมรับจากประชาชน เพราะฉะนั้นกระบวนการจัดทำ SEA อาจไม่ใช่ว่ารัฐเป็นผู้กำหนดแล้วสั่งการลงไปให้ทำ แต่กระบวนการที่จะทำอาจจะเป็นการออกแบบร่วมกันตั้งแต่เริ่มต้นระหว่างชุมชนกับรัฐ และหน่วยงานวิชาการ หรือภาคประชาสังคม ภาคเอกชนในพื้นที่ร่วมกันหาพื้นที่ตรงกลาง หาตัวแทนที่เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย”

“ปี 2567 สิ่งที่จะเกิดและจะมีผลกระทบมากก็คือการผ่านกฎหมายพระราชบัญญัติระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (SEC) ซึ่งจะมีสาระสำคัญคือ การตั้งคณะกรรมการนโยบาย SEC ซึ่งชุดนี้จะมีนายกฯ เป็นประธาน มีรัฐมนตรีจาก 16 กระทรวง สสช. เป็นกรรมการด้วย ซึ่งทำให้คณะกรรมการชุดนี้มีอำนาจมาก มติของคณะกรรมการชุดนี้มีผลต่อทุกหน่วยงาน ที่อยู่ภายใต้กฎหมายนี้ (รวมถึง 16 กระทรวงที่มีชื่อเป็นคณะกรรมการ)”

วิภาวดี พันธุ์ยางน้อย

“กฎหมายฉบับนี้ยังกำหนดว่า ถ้าโครงการ SEC ในพื้นที่ต้องจัดทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพประชาชน ให้จัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาเฉพาะ เพื่อดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 120 วัน และคณะกรรมการ SEC ยังมีอำนาจในการจัดทำแผนพัฒนา จัดทำผังเมืองเพื่อใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่ดังกล่าวได้ เท่ากลับว่าถ้าคณะ SEC ออกผังเมืองฉบับใหม่ ก็จะทำให้ผังเมืองเดิมถูกยกเลิก อย่างกรณีพะโต๊ะ ปัจจุบันเป็นพื้นที่เกษตร ป่าไม้ และที่อยู่อาศัย ถ้าถูกเปลี่ยนพื้นที่อุตสาหกรรมก็จะจบเลย ผังเมืองก็จะเปลี่ยนทันที”

วิภาวดี พันธุ์ยางน้อย

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ