แล 10 ประเด็นภาคใต้ในปี 65 กับแลต๊ะแลใต้

แล 10 ประเด็นภาคใต้ในปี 65 กับแลต๊ะแลใต้

ก่อนก้าวสู่ปีใหม่ ชวนย้อนหลบไปแลบางส่วนของเรื่องราวที่ถูกถ่ายทอดผ่านมุมมองสื่อพลเมือง #ทีมแลต๊ะแลใต้ ที่หยิบสถานการณ์ วัฒนธรรม วิถีชีวิต และฐานทรัพยากร ถ่ายทอดออกมาผ่านเพจ แลต๊ะแลใต้ ใน 10 ประเด็นของปี 65

แล “มโนราห์” มรดกโลกทางวัฒนธรรม

ปลายปี 2564  “UNESCO” ยก “มโนราห์” เป็นมรดกโลก ทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ โนราเป็นศิลปะที่ไม่เพียงสะท้อนวัฒนธรรมที่อ้อนช้อยงดงามเท่านั้น แต่ยังเป็นเครื่องสะท้อนวิถีชีวิต ภูมิปัญญาและประวัติศาตร์ของผู้คนในพื้นที่อีกด้วย “มโนราห์ไข่เหลี้ยม” หนึ่งในคณะมโนราห์ที่มีชื่อเสียงและผู้ติดตามจำนวนมาก จากท่วงท่าร่ายรำที่ดุดัน พร้อมสอดแทรกมุขตลกตลอดช่วงการแสดง ให้ทั้งความบันเทิง และพิธีกรรมโรงครู ที่ยังคงสืบทอดประเพณีของมโนราห์ของครบถ้วน

แล “กลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล” กับการเป็นหุ้นส่วนในการพัฒนาพื้นที่

จากจุดเริ่มต้นเรื่องการพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2553 ที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบหลักการแนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล ตามแนวทางจัดทำพื้นที่วัฒนธรรมพิเศษชาวเลและมอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำแผนไปปฏิบัติ วันนี้ผ่านมากว่า 12 ปี แลต๊ะแลใต้ตรวจสำรวจวิถีชีวิตชาวเลกลุ่มต่าง ๆ เพื่อรับฟัง และทำความรู้จักในอีกหลายแง่มุมที่พวกเขาต้องเผชิญ

แลประมงพื้นบ้าน #ทวงคืนน้ำพริกปลาทู

สถานการณ์การจับสัตว์น้ำวัยอ่อนที่ส่งผลให้ปลา และทรัพยากรทางทะเล ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งหากรัฐบาลมีการประกาศใช้ กฎหมายประมง พ.ศ.2558 มาตรา 57 จะทำให้มีการจับสัตว์น้ำในขนาดที่เหมาะสม และมีสัตว์น้ำทดแทนสามารถจับได้ตลอด แน่นอนว่าไม่ใช่แค่ชาวประมง แต่ผู้บริโภคก็จะได้กินอาหารทะเลในราคาที่เหมาะสมเช่นกัน

แล “ผู้ประกอบการรุ่นใหม่” อยู่บ้านสร้างเศรษฐกิจชุมชน

ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ (Entrepreneur) ที่เกิดขึ้นทั้งจากกระแสคนรุ่นใหม่กลับบ้าน และการเดินทางกลับมาอยู่บ้านเกิดด้วยแนวคิดที่ต้องการสร้างธุรกิจส่วนตัวไปพร้อม ๆ กับการสร้างงานสร้างเศรษฐกิจในชุมชน ผ่านแนวคิดที่กระจายรายได้ถึงคนรอบข้าง

แลการจัดการศึกษาแบบคนใต้ ที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำให้เยาวชน

สถานการณ์เด็กหลุดออกจากระบบการศึกษายังคงเพิ่มขึ้นในพื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทย แต่ที่วัดสระเรียง จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้เปิดห้องเรียนสำหรับสามเณร พร้อมฝึกวิชาชีพ หากพวกเขาต้องสึกออกไปใช้ชีวิตในสังคม ส่วนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ กลุ่มเยาวชนบ้านบาโลย อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี ใช้เวลาในช่วงเช้าก่อนเดินทางไปโรงเรียน นำซาลาเปา และขนมจากกลุ่มแม่บ้านในชุมชน ไปส่งตามร้านน้ำชา โดยกำไรที่ได้จะแบ่งเป็นทุนการศึกษา และช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางในพื้นที่

แล “โมเดลแก้จน” ที่ฝีมือชุมชนสร้างงานคราฟท์ราคาสูง

จังหวัดพัทลุงเกิดโมเดลกระจูดแก้จน ที่เกิดขึ้นจากงานวิจัยที่ช่วยยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชน แก้ปัญหาปากท้องให้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่ทะเลน้อย อ.ควนขนุน จ.พัทลุง ส่วนจังหวัดนราธิวาส กลุ่มแม่เลี้ยงเดี่ยวรวมตัวกันสร้างสรรงานฝีมือวาดลายบนผ้าบาติก จนเป็นอาชีพหลักเลี้ยงครอบครัว และทำต่อเนื่องมากว่า 10 ปี

แล “โลมาอิรวดี” ฝูงสุดท้ายในทะเลสาบสงขลา

สถานการณ์โลมาอิรวดีฝูงสุดท้ายในทะเลสาบสงขลา กับกลุ่มคนอนุรักษ์ในพื้นที่ ทั้งประมงพื้นบ้าน นักอนุรักษ์ ที่ช่วยกันเก็บข้อมูลการพบเจอโลมา และส่ผลให้กับนักวิจัยเพื่อหาแนวทางป้องกันการสูญพันธุ์ของโลมาอิรวดี 14 ตัวสุดท้าย

แล “พื้นที่สาธารณะ” หัวใจสำคัญของการสร้างเมือง

พื้นที่สาธารณะ “กำปงกู” กลางเมืองปัตตานี ที่สร้างและจัดการโดยชุมชน เป็นพื้นที่ให้เยาวชนจัดกรรมหลากหลาย ทั้งไถเสก็ต นั่งเล่น และอ่านหนังสือ ส่วนหาดใหญ่ หัวเมืองท่องเที่ยวชื่อดังของภาคใต้ ที่อยู่ในช่วงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ได้เกิดกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ทำงานพัฒนาเมือง เพื่อช่วยให้เมืองกลับมามีกิจกรรมและเป็นเมืองที่มีชีวิตอีกครั้ง

แลผลิตภัณฑ์บ้าน ๆ ที่สร้างคุณค่าและเพิ่มมูลค่าได้พร้อม ๆ กัน

การแปรรูปสินค้าเกษตร และการสร้างเรื่องราวให้กับสินค้าชุมชน ผ่านประสบการณ์และวิธีคิดแบบใหม่ ๆ เป็นตัวอย่างการยกระดับสินค้าชุมชนและสร้างรายได้ให้คนในพื้นที่

แลคนใต้ แหลงจริง ทำได้จริง

จากบังไหว อาสาสมัครเก็บขยะชายหาด ในพื้นที่คลองปากบาง จ.ภูเก็ต ช่วยรักษาระบบนิเวศหาดป่าตอง ซึ่งเป็นแหล่งทำมาหากินของชุมชน และเป็นหน้าตาของเมืองท่องเที่ยวอันดับต้น ๆ ของประเทศ ถึงโชไอซ์ เยาวชนไทยพลัดถิ่น นักศึกษาจบใหม่ ที่เลือกเป็นเกษตรกร “เลี้ยงแพะ” เพื่อเลี้ยงชีพ พร้อมกับการขับเคลื่อนเรื่องสัญชาติ ให้กับ คนไทยพลัดถิ่น จ.ระนอง

แล้วกลับมาแลกันใหม่ในปี 66 กับเรื่องราวที่หลากหลายมากขึ้น เสนอให้เห็นถึงทางออก และสร้างการเปลี่ยนแปลงภาคใต้ ไปพร้อมกับพวกเรา #ทีมแลต๊ะแลใต้

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ