Chumphon Origin กรุ่นกลิ่นโรบัสตาจากเกษตรกรรุ่นใหม่

Chumphon Origin กรุ่นกลิ่นโรบัสตาจากเกษตรกรรุ่นใหม่

กาแฟโรบัสตาที่ปลูกร่วมกับกล้วยเล็บมือนาง

ชุมพร “ประตูภาคใต้ ไหว้เสด็จในกรมฯ ชมไร่กาแฟ แลหาดทรายรี ดีกล้วยเล็บมือ ขึ้นชื่อรังนก” หลายอย่างในชุมพรยังคงไม่เปลี่ยนแปลง แต่ก็มีพืชเศรษฐกิจอย่าง “กาแฟ” ที่เปลี่ยนไป จากเดิมที่เคยเป็นผลไม้ทองคำของคนชุมพรในยุคแรกที่เพาะปลูก จนมาถึงปัจจุบันที่กลายเป็นพืชแซมสวนผลไม้ แต่ถึงอย่างนั้นชุมพรยังคงได้ชื่อว่าเป็น เมืองหลวงโรบัสตา เช่นเดิม

จากข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ณ เดือนตุลาคม 2564 จังหวัดชุมพรมีพื้นที่ปลูกกาแฟโรบัสตาทั้งหมด 81,929 ไร่ ให้ผลผลิตรวมทั้งจังหวัด 8,322 ตัน/ปี สร้างรายได้ให้เกษตรกรเป็นเงินกว่า 1,200 ล้านบาทต่อปี  ซึ่งผลผลิตส่วนใหญ่จะแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์กาแฟสำเร็จรูป ปลูกมากในอำเภอท่าแซะ สวี พะโต๊ะ และ เมืองชุมพร เกษตรกรส่วนใหญ่นิยมปลูกแซมหรือผสมผสานในสวนผลไม้ เนื่องจากกาแฟเป็นพืชเศรษฐกิจที่สร้างมูลค่าให้กับจังหวัดปีละ 573.71 ล้านบาท

ด้วยตัวเลขของรายได้และความเป็นพืชของอนาคต ทำให้คนรุ่นใหม่หลายคนเลือกกลับบ้านมาเป็นเกษตรกร ตามอาชีพเดิมของครอบครัว แต่ด้วยวิธีคิด และความมุ่งมั่นที่จะยกระดับกาแฟโรบัสตาชุมพร ให้เป็นกาแฟ Fine Robusta หรือโรบัสตาคุณภาพ พวกเขาต้องเรียนรู้ และลองผิดลองถูกไม่รู้กี่ครั้งต่อกี่ครั้ง จนถึงวันที่โรบัสตาชุมพร ได้เป็นแชมป์ในงานประกวดกาแฟระดับประเทศ และถูกประมูลกาแฟสารไปที่ราคากิโลกรัมละ 20,000 บาท วันนี้เราชวนคุยตัวแทนเกษตรกรรุ่นใหม่ที่ตั้งใจพัฒนาคุณภาพกาแฟโรบัสตาชุมพรให้สูงขึ้นในทุก ๆ ปี

เกศกนก สุวรรณสายะ : เกษตรกรรุ่นใหม่ จ.ชุมพร

เรียนจบในช่วงที่มีสถานการณ์โควิด-19

แล้วเราก็กลับมาบ้าน

“ตอนนั้นรับปริญญาเสร็จ รัฐบาลประกาศล็อกดาวน์ ก็เลยกลับมาอยู่บ้าน แล้วบังเอิญได้ไปเที่ยวร้านกาแฟแถวบ้าน เพราะชุมพรขึ้นชื่อเรื่องกาแฟ และมีร้านกาแฟเยอะ ไปเจอเกษตรกรกำลังโปรเสซกาแฟด้วยการตากเมล็ดแดง(เมล็ดเชอร์รี่หรือผลกาแฟที่สุกสีแดงฉ่ำ) ลงบนแคร่ ก็แปลกใจและมีคำถามว่าทำไมถึงตากบนแคร่ เพราะตั้งแต่ที่เราเกิดมาก็จะเห็นการตากกาแฟบนพื้นมาตลอด”

จากคำถามคาใจในเรื่องกระบวนการแปรรูปกาแฟ สู่การมุ่งหน้าเข้าสวนกาแฟอย่างจริงจังของเกศ เกศกนก สุวรรณสายะ บัณฑิตจากมหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯ ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้ไม่สามารถเดินหน้าต่อในสายงานที่ตัวเองร่ำเรียนมาได้ และดูเหมือนการกลับบ้านของเธอจะไม่สูญเปล่า เมื่อเธอเลือกที่จะเป็นเกษตรกรตามรอยคุณแม่ และเลือกพัฒนากาแฟ ที่เป็นพืชแซมสวนผลไม้ของแม่

“เราก็เริ่มสนใจเรื่องการทำกาแฟคุณภาพ เริ่มสอบถามเรื่องการตาก การเก็บ ได้คำตอบว่าต้องตากให้โดนแดด เวลาฝนตกก็ให้ยกกลับเข้าที่ร่ม ไม่เอาผ้ามาคลุมไว้ และไม่ให้โดนน้ำค้าง แล้วเราก็กลับมาทำกาแฟในสวนของที่บ้านเรา ด้านคุณแม่ก็อยากให้ทำกาแฟเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว พอเจอสถานการณ์โควิด-19 ที่เราว่างงาน ไม่มีอะไรทำ เราก็เริ่มเข้ามาทำกาแฟ ทำมาเรื่อย ๆ เราเกิดความหลงใหล (Passion) ในกาแฟ เพราะว่า การทำโปรเสซ(แปรรูปกาแฟ) มันยากมากในการควบคุมแดด ควบคุมฝน การคัดเลือกเมล็ด ทำให้แตกต่างจากเมื่อก่อนที่มีแค่การตากกาแฟตามพื้น”

โรงตากกาแฟแบบยกพื้น

“ผมเริ่มเข้ามาประมาณช่วง 7 ปีที่แล้ว ด้วยเล็งเห็นว่า ในสวนมีต้นกาแฟโรบัสต้าที่อายุเยอะ โดยมีอายุต้นที่มากคือ 30 กว่าปี โดยคุณพ่อปรับเปลี่ยนจากวิถีการทำเกษตรด้วยระบบเคมีมาใช้วิถีอินทรีย์หรือออร์แกนิค โดยไม่ใช้สารเคมีเลย เมื่อมาทำเป็นระบบอินทรีย์แล้ว ด้านราคาการตลาดผมเข้ามาช่วยคุณพ่อในด้านการหาตลาดให้ และพัฒนาต่อยอด”

แขก ธนาสิทธิ์ สอนสุภา อดีตเจ้าของร้านไอทีใหญ่กลางเมืองชุมพร ที่ผันตัวมาเป็นเกษตรกร ด้วยเหตุผลที่อยากดูแลพ่อแม่ และมีเวลาให้ครอบครัวอย่างเต็มที่ เขาเลยเลือกทิ้งร้าน ที่เป็นธุรกิจส่วนตัวและเป็นหม้อข้าวหม้อแกงหลักของตัวเอง กลับมาอยู่บ้าน

“หลังเรียนจบก็กลับมาเปิดร้านไอทีในตัวเมืองชุมพร มีหน้าร้าน มีลูกน้องต้องดูแลเกือบ 10 คน จนร้านเข้าสู่ปีที่ 15-16 เริ่มรู้สึกว่ามันไม่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตเท่าไหร่ เพราะเปิดร้านอยู่ในตัวเมืองชุมพร บ้านอยู่ อ.ท่าแซะ (ห่างกันประมาณ 20 กม.) แต่ก็ไม่มีเวลากลับไปหาพ่อแม่ เลยเริ่มมีความคิดอยากกลับมาอยู่ถาวร และเลือกที่จะทดลองทำเกษตร เพราะเป็นอาชีพเดิมของที่บ้านอยู่แล้ว ช่วงแรกเลยใช้เวลาอาทิตย์ละ 1 วัน กลับบ้านไปลองทำเกษตร”

“ตอนกลับไปทดลองทำเกษตร ก็เลือกทำแบบอินทรีย์ โดยเริ่มจากกาแฟและใช้เวลาทดลองอยู่ 2 ปี เพื่อดูว่าผลผลิตที่ได้ และรายได้ที่เข้ามาพอจะดูแลครอบครัวได้หรือเปล่า และเมื่อกาแฟอยู่ได้ ก็ออกมาลุยเลย ปิดร้านไอที ย้ายกลับมาอยู่บ้านและเปลี่ยนสวนผลไม้เดิมให้เป็นสวนสมรมแบบเกษตรอินทรีย์เต็มตัว”

เมื่อประมาณ 7 ปีที่แล้ว เราทำกาแฟโดยเริ่มจากการทำเพื่อกินกันเอง แรก ๆ คือไม่ได้ขาย ทำกินและพาไปแบ่งปันให้ผู้คนที่รู้จักสนิทสนมได้ชิม ให้เพื่อนชิมประมาณ1ปีได้ ระยะหลังเริ่มมีคนถามบ่อยและด้วยความเกรงใจอยากจะซื้อกาแฟ จึงเกิดการขายและสร้างแบรนด์ขึ้นมา” พี่แขกเล่าถึงจุดเริ่มต้นของการทำกาแฟโรบัสตาในช่วงแรก พร้อมชงกาแฟโรบัสตาจากสวนหลังบ้านให้ชิม

ปี 2562 ส่งกาแฟเข้าประกวดในจังหวัดชุมพร

“รอบนั้นมีเกษตรกรส่งกาแฟเข้าประกวด 10 กว่าสวน และกาแฟเราได้รางวัลชนะเลิศอันดับหนึ่ง ถือว่าเป็นงานแรกที่เราลงสนามประกวด ต่อจากนั้นเราก็พัฒนากาแฟอยู่ตลอด จนปี พ.ศ.2564 ซึ่งเป็นการจัดการแข่งขันประกวดกาแฟโรบัสตาครั้งแรกของประเทศไทย Thai Coffee Excellence ครั้งที่ 1 (2564) เลยส่งกาแฟที่ทำไว้เข้าร่วมประกวดด้วย”

กาแฟผมอยู่อันดับที่ 1

“รางวัลที่ 2-3 เป็นของเชียงราย เมื่อคุณพ่อทราบว่าได้รางวัลชนะเลิศอันดับที่ 1 แกก็ร้องไห้ด้วยความดีใจ ไม่คิดว่ากาแฟในสวนจะไปได้ถึงขั้นนี้ เปรียบเหมือนกาแฟที่เรากินอยู่ทุกวันนี้เป็นกาแฟที่ดีแล้ว ซึ่งคะแนน Cupping Score อยู่ที่ 85.39 คะแนน ได้เป็นระดับยอดเยี่ยม (Excellent) ซึ่งกาแฟสารที่ส่งเข้าประกวดในครั้งนี้ได้รับการประมูลไปที่กิโลกรัมละ 20,000 บาท”

“คัปปิ้ง สกอร์” (Cupping Score) คือ การชิมทดสอบรสชาติกาแฟ เป็นเกณฑ์ที่ใช้ประเมินคุณภาพกาแฟพิเศษ กำหนดขึ้นโดยสมาคมกาแฟพิเศษ มีคะแนนโดยรวมอยู่ทั้งหมด 100 คะแนน กาแฟที่ได้คะแนนมากกว่า 80 คะแนน ถูกเรียกว่ากาแฟพิเศษ หรือกาแฟคุณภาพ กรณีที่เป็นกาแฟโรบัสตา จะนิยมใช้คำว่า “Fine Robusta” ไฟน์โรบัสตา

แต่ไม่ใช่ว่าทุกคนจะประสบความสำเร็จในครั้งแรกเหมือนกับพี่แขก เพราะเกศ ก็เป็นหนึ่งในเกษตรกรที่ส่งกาแฟโรบัสตาเข้าประกวดในงาน Thai Coffee Excellence ครั้งที่ 1 (2564) เช่นกัน แต่ผลที่เธอได้รับนั้นต่างจากพี่แขกโดยสิ้นเชิง

“หลังจากได้ทำโปรเสซ (แปรรูปกาแฟ) อย่างจริงจัง ซึ่งปีแรกเราก็ส่งกาแฟเข้าประกวดด้วย แต่เจอมอดเลยโดนปัดตกรอบไปในรายการ Thai Coffee Excellence ครั้งที่ 1 (ปี 2564) ส่วนปีนี้ (ปี 2565) เป็นปีที่ 2 ที่ส่งเข้าประกวด ได้มีพี่ ๆ แนะนำเรื่องการโปรเสซ พื้นที่ปลูก การหมัก ช่วยให้กาแฟมีเอกลักษณ์ของตัวเองมากขึ้น ทำให้ปีนี้ได้อยู่ในอันดับที่ 21 คะแนน Cupping Score 79.36 คะแนน ถือเป็นความภาคภูมิใจ เพราะปีแรกเราตกรอบ แต่ปีนี้ได้คะแนนที่น่าพอใจอยู่ หวังว่าจะพัฒนากาแฟให้ดียิ่งขึ้นในทุก ๆ ปี” 

เกศ เล่าความรู้สึกแรกหลังทราบว่ากาแฟที่เขาตั้งใจทำส่งเข้าประกวดได้คะแนนที่อยู่ในระดับที่เกือบได้เป็นกาแฟคุณภาพ แต่ถึงอย่างนั้นเขามองว่านี่เป็นก้าวที่สำคัญสำหรับเขาในฐานะเกษตรกร และเป็นการพัฒนาคุณภาพกาแฟโรบัสตาของจังหวัดชุมชนไปพร้อม ๆ กันกับเกษตรกรคนพื้นที่คนอื่น ๆ

ธนาสิทธิ์ สอนสุภา กำลังคัดกาแฟกะลา

“เมื่อก่อนมีพื้นที่การปลูกกาแฟเยอะ แต่เยอะในด้านปริมาณ แต่ตอนนี้ทีมที่พัฒนากาแฟด้วยกัน เราต้องการผลิตกาแฟโรบัสตาที่มีคุณภาพในจังหวัดชุมพร  เราต้องการสร้างเรื่องราวของกาแฟโรบัสตาชุมพรขึ้นมา เพื่อพัฒนาจังหวัดและเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟจะขายได้ในราคาที่ดีขึ้น ทั้งในด้านคุณภาพและราคาต้องไปควบคู่กัน ในเมื่อเกษตรกรทำมาดีลงทุนเยอะ ใช้ทุนสูง ก็ต้องให้ราคาผลผลิตแก่เกษตรกรในราคาดีที่สูงขึ้น เพื่อให้พวกเขาอยู่รอด”

พี่แขกชวนมองไปยังทางเลือกใหม่ของการทำสวนกาแฟในชุมพร ที่ไม่ได้มองแค่เรื่องปริมาณ แต่พูดถึงคุณภาพของกาแฟและคุณภาพชีวิตของแรงงานภาคเกษตรในจังหวัดไปพร้อม ๆ กันด้วย

ผมมองกาแฟโรบัสตาตอนนี้ยังไม่มีใครทำในด้านกาแฟโรบัสต้าคุณภาพ ทั่วโลกยังไม่ค่อยให้ความสนใจ แต่ถ้าเราเริ่มทำกันภายในกลุ่ม เราสามารถพัฒนาไปได้ระดับหนึ่งได้ ช่วยกันทำ ช่วยกันพัฒนา ผมมองว่าอยู่ได้และอยู่ได้อย่างยั่งยืน ถ้าจังหวัดชุมพรจะเป็นเมืองหลวงของกาแฟโรบัสตา ผมไม่ได้มองแค่ในภูมิภาคเอเชีย ผมมองว่าชุมพราสามารถเป็นเมืองหลวงกาแฟโรบัสตาของโลกได้

ธนาสิทธิ์ สอนสุภา : แชมป์กาแฟโรบัสตา “Thai Coffee Excellence” ครั้งที่ 1
กาแฟโรบัสตาชุมพรในช่วงเดือนสิงหาคม

“อยากให้ทุกคนมีความรู้ก่อน ว่าการดูแลต้นกาแฟควรทำในทิศทางไหน อย่างตัวเราเองตอนนี้ก็กำลังทำเกษตรอินทรีย์กับคุณแม่ เพราะเคยใส่ปุ๋ยแล้วทำให้เมล็ดกาแฟมีกลิ่นดิน กลิ่นปุ๋ยติดมา ตอนนี้เราเลยเปลี่ยนไปทำเกษตรอินทรีย์มากกว่า และกาแฟในระบบอินทรีย์มันจะหอมด้วยความเป็นธรรมชาติ เกษตรกรจะได้กาแฟที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น”

เกศ เป็นอีกคนที่ปรับมาทำเกษตรอินทรีย์ เพื่อช่วยยกระดับคุณภาพกาแฟในสวน รวมถึงผลไม้ชนิดอื่น ๆ ด้วย ซึ่งเขามองว่านี่จะเป็นทิศทางที่จะช่วยสร้างมูลค่าและความยั่งยืนให้เกษตรกรชุมพร ซึ่งนี่เป็นความท้าทายของเกษตรกรรุ่นใหม่แบบเขาที่ต้องการให้โรบัสตาชุมพรนั้นเป็นที่ยอมรับของคนทั่วโลก

“เราต้องไปเรียน ไปศึกษาความรู้เรื่องการโปรเสซ อยากให้เมืองชุมพรเป็นเมืองแห่งกาแฟโรบัสตา เราก็ช่วย ๆ กัน เพราะทุกคนมีความสามารถที่ต่างกัน ถ้าเข้ามาช่วยกันเราก็จะพัฒนากาแฟไปได้ไกลมากยิ่งขึ้น”

เกศกนก สุวรรณสายะ : เกษตรกรรุ่นใหม่ จ.ชุมพร

แม้ปีนี้กาแฟโรบัสตาจากสวนของพี่แขกที่ส่งเข้าประกวดในงาน Thai Coffee Excellence ครั้งที่ 2 จะได้คะแนน Cupping Score ที่ 83.30 รวมถึงกาแฟของวิสาหกิจชุมชนกลุ่มวิถีพอเพียงเกษตรอินทรี ที่พี่แขกเข้าไปช่วยดูแลได้คะแนน Cupping Score ที่ 82.74 จากปัญหาฝนฟ้าอากาศที่เป็นปัจจัยเหนือการควบคุม แต่ก็ยังมีคนมาประมูลกาแฟสารไปในราคากิโลกรัมละ 5,500 บาท และ 3,000 บาท ตามลำดับ

นี่ก็น่าจะพอตอกย้ำถึงรสชาติและคุณภาพของกาแฟที่นี่เป็นอย่างดี เพราะกลุ่มผู้ดื่มกาแฟนั้นจะตัดสินใจจ่ายเงินกันที่รสชาติของกาแฟนี่แหละ ซึ่งวันนี้เอกลักษณ์ของความเป็นชุมพรค่อย ๆ ชัดขึ้นพร้อมกับทิศทางการพัฒนาคุณภาพกาแฟ คุณภาพชีวิตของเกษตรกรที่นี่

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ